Skip to main content
sharethis

พบประกาศพระราชทานเครื่องราชฯให้แก่ชาวต่างประเทศ เปลี่ยนจากประกาศสำนักนายกฯ โดยมีนายกฯ เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการนาม เป็นพระบรมราชโองการ และไม่ปรากาฎชื่อผู้รับสนองพระบรมราชโองการเหมือนก่อนหน้า

เปรียบเทียบประกาศพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้แก่ชาวต่างประเทศ จาก 21 เม.ย.2566 และก่อนหน้านั้น ที่ออกเป็นประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี และมีนายกฯ เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ กับประกาศล่าสุดเมื่อวันที่ 13 พ.ย.ที่ผ่านมา ออกเป็นพระบรมราชโองการ และไม่ปรากาฎชื่อผู้รับสนองพระบรมราชโองการเหมือนก่อนหน้า

14 พ.ย.2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (13 พ.ย.) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระบรมราชโองการ ประกาศ เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้แก่ชาวต่างประเทศ [1. นางทาเลีย เจรัลดีน ลิน (Mrs. Thalia Geraldine Lyn) 1. นายโฮเซ กิเยร์โม โรโม โรเมโร (Mr. José Guillermo Romo Romero)]

โดยทั้ง 2 เป็น อดีตกงศุลใหญ่กิตติมศักดิ์ ณ กรุงคิงส์ตัน จาเมกา และกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ เมืองกวาดาฮารา สหรัฐเม็กซิโก เนื่องจากมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนภารกิจของสถานเอกอัครราชทูตไทยในต่างประเทศ ในการส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างประเทศกับต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง รวมถึงให้ความช่วยเหลือและคุ้มครองดูแลคนไทยในต่างประเทศ และเป็นผู้มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากการสืบค้นในเว็บไซต์เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา พบว่า ประกาศ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้แก่ชาวต่างประเทศ เป็นครั้งที่ 2 ที่ไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ โดยครั้งก่อนหน้าคือวันที่ 10 ต.ค.2566 ในพระบรมราชโองการ ประกาศ เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้แก่ชาวต่างประเทศ [1. นางทาเลีย เจรัลดีน ลิน (Mrs. Thalia Geraldine Lyn) 2. นายโฮเซ กิเยร์โม โรโม โรเมโร (Mr. José Guillermo Romo Romero)] 

ภาพตัวอย่างการสืบค้น ประกาศพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้แก่ชาวต่างประเทศ จากเว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา ย้อนหลัง

ทั้งที่ก่อนหน้านั้นออกเป็นประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี และมีนายกฯ เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ เช่น เมื่อวันที่ 21 เม.ย.2566 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี  เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้แก่ชาวต่างประเทศ [จำนวน 4 ราย 1.นายว็อล์ฟกัง คีสลิง (Mr. Wolfgang Kiessling) ฯลฯ] 19 ม.ค.2566 ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้แก่ชาวต่างประเทศ [จำนวน 3 ราย 1. นายอาคิลเล เบนัซโซ (Mr. Achille Benazzo) ฯลฯ] หรือ 31 พ.ค.2565 ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้แก่ชาวต่างประเทศ [จำนวน 5 ราย 1. นายโยะชิฮิโระ มิวะ (Mr. Yoshihiro Miwa) ฯลฯ] เป็นต้น

อนึ่ง กรณีการมีผู้ลงนามรับสนองฯ นั้น  iLaw เขียนไว้ใน หลักพระมหากษัตริย์ทรงกระทำผิดมิได้ (The King Can Do No Wrong) ตามรัฐธรรมนูญ 20 ฉบับ เมื่อพ.ย. 2563 (ดู https://www.ilaw.or.th/node/5785) ว่า ตามระบอบประชาธิปไตย เมื่อกษัตริย์ถูกคุ้มครองไม่ให้ถูกฟ้องร้องได้แล้ว การกระทำของกษัตริย์นั้นย่อมต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายด้วย และการกระทำต่างๆ ต้องมีผู้ลงนามรับสนอง และบุคคลนั้นจะเป็นผู้รับผิด ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า กษัตริย์มิได้ใช้พระราชอำนาจในทางที่ริเริ่ม (Active) แต่เป็นการใช้อำนาจแบบเชิงรับ (Passive) เช่น กษัตริย์มีพระราชอำนาจในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี แต่การแต่งตั้งนั้นมิใช่ว่าจะแต่งตั้งผู้ใดก็ได้ตามอำเภอใจ แต่ต้องเป็นผู้ที่ได้รับเลือกผ่านมติมหาชน (จากประชาชนโดยตรงหรือจากรัฐสภา) เมื่อมีผู้ทูนเกล้าเสนอรายชื่อแล้ว กษัตริย์จึงลงปรมาภิไธยเพื่อแต่งตั้งผู้นั้นเป็นนายกฯ และผู้ที่ลงนามรับสนอง คือผู้ที่ทูนเกล้ารายชื่อนั้น ก็จะต้องเป็นผู้รับผิด ซึ่งหลักเช่นนี้เองที่ทำให้กษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยมีความแตกต่างจากกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีความผันผวนทางการเมืองมาก เนื่องด้วยวงจรการรัฐประหาร ออกประกาศคณะปฏิวัติและยกเลิกรัฐธรรมนูญ ทำให้ในประวัติศาสตรร์มีระยะเวลาที่อยู่ในสภาวะไร้รัฐธรรมนูญอยู่เป็นช่วงๆ จากนั้นจึงมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และประกาศใช้ ดังนี้ โฉมหน้าของ “ผู้ลงนามรับสนอง” ตามรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับจึงแตกต่างกันออกไป โดยแยกพิจารณาได้สองกรณี คือกรณีทั่วไป และกรณีพิเศษ โดย ผู้รับสนองพระบรมราชโองการในกรณีปกติ จึงวนเวียนอยู่ที่นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี หรือประธานสภา ส่วนกรณี “พิเศษ” ด้วยเหตุที่ประเทศไทยมีการรัฐประหารและต้องเขียนรัฐธรรมนูญใหม่อยู่บ่อยครั้ง โฉมหน้าของผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการจึงเปลี่ยนแปลงไปบ้าง และในบางครั้งอาจไม่ได้เป็นผู้แทนของปวงชน ในบางกรณีคณะรัฐประหารก็อาจจะแปรสถานะอยู่ในรูปแบบอื่น และกลายเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net