Skip to main content
sharethis

กสทช. มีมติเสียงข้างมากอนุญาตการรวมธุรกิจระหว่าง AWN และ TTTBB พร้อมกำหนดเงื่อนไข/มาตรการเฉพาะ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ส่งเสริมการแข่งขันและการพัฒนากิจการโทรคมนาคม

เมื่อวันที่ 10 พ.ย.2566 ที่ประชุม กสทช. ได้พิจารณาการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (บริษัท AWN) และบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) (บริษัท TTTBB) โดยกรณีการรวมธุรกิจดังกล่าว เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและมีผลกระทบต่อสาธารณะ กสทช. ทุกท่านจึงได้ใช้เวลาในการศึกษาข้อมูลทุกด้านอย่างละเอียดรอบคอบ ซึ่งในวันนี้ ที่ประชุม กสทช. ได้มีการหารือ อภิปราย รวมถึงแสดงความคิดเห็นในการพิจารณาร่วมกันในทุกๆ ด้าน จากนั้นที่ประชุม กสทช. เสียงข้างมากอนุญาตการรวมธุรกิจ และกำหนดข้อกังวล (Points of concern) จำนวน 3 ประเด็น และเห็นชอบเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะ เพื่อให้บริษัท AWN และบริษัท TTTBB ปฏิบัติ ดังนี้

1.ประเด็นเรื่องอัตราค่าบริการและคุณภาพการให้บริการ

1.1 ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลอัตราค่าบริการของ กสทช. อย่างเคร่งครัด

1.2 ห้ามขึ้นราคาและลดคุณภาพการให้บริการ โดยให้คงรายการส่งเสริมการขาย (Package) ซึ่งมีราคาต่ำที่สุด ที่มีอยู่ก่อนการรวมธุรกิจ และแจ้งให้ กสทช. ทราบ พร้อมทั้งจะต้องคงคุณภาพการให้บริการและราคาสำหรับรายการส่งเสริมการขาย (Package) ดังกล่าว เป็นระยะเวลา 5 ปี นับจากวันที่ได้รับอนุญาตให้รวมธุรกิจ

1.3 มีทางเลือกของราคาที่แยกรายบริการ

1.4 คุ้มครองผู้ใช้บริการรายปัจจุบัน โดยให้คงรายการส่งเสริมการขาย (Package) คุณภาพการให้บริการ และราคาแก่ลูกค้า ที่มีการใช้บริการอยู่ก่อนการรวมธุรกิจจนกว่าจะครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญาให้บริการซึ่งทำไว้กับผู้ให้บริการรายนั้น เว้นแต่ผู้ใช้บริการตกลงยกเลิกการใช้บริการ หรือผู้ใช้บริการประสงค์จะเปลี่ยนแปลงรายการส่งเสริมการขาย (Package) ภายหลังการรวมธุรกิจด้วยตัวเอง เป็นระยะเวลา 5 ปี นับจากวันที่ได้รับอนุญาตให้รวมธุรกิจ

1.5 รักษาคุณภาพการให้บริการ (QoS)  ตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานของคุณภาพการให้บริการโทรคมนาคมอย่างเคร่งครัด และต้องมีความพร้อมเพื่อรองรับจำนวนลูกค้าที่จะเพิ่มขึ้นจากการรวมธุรกิจ เพื่อให้คุณภาพในการให้บริการต่อผู้ใช้บริการไม่ด้อยไปกว่าเดิม เช่น จำนวนเจ้าหน้าที่ที่เพียงพอเพื่อรองรับการให้บริการทั้งในส่วนของศูนย์บริการ และพนักงานรับสาย (Call center) รวมถึงขนาดพื้นที่ของศูนย์บริการลูกค้าที่สามารถรองรับการเข้ามาติดต่อของผู้ใช้บริการ

1.6 อำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการ โดยต้องจัดช่องทางการให้บริการที่สะดวก รวดเร็ว เข้าถึงง่าย ครอบคลุมและง่ายต่อการเลือกซื้อ เปลี่ยนแปลง (เพิ่ม /ลด) การใช้บริการอินเทอร์เน็ตประจำที่ได้ตามความต้องการของผู้ใช้บริการปลายทาง โดยปราศจากข้อจำกัด ทั้งนี้ ต้องแสดงรายละเอียดของบริการ อัตราค่าบริการแยกตามรายบริการ หรืออัตราค่าบริการแบบส่งเสริมการขาย ตลอดจนวิธีการ เงื่อนไขการเลือกรับบริการไว้โดยชัดแจ้ง และเป็นปัจจุบัน

1.7 ให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการให้บริการที่ครบถ้วนแก่ผู้ใช้บริการ โดยต้องกำหนดและแสดงอัตราค่าบริการแยกตามรายบริการ (Unbundle) หรือการส่งเสริมการขายแบบแยกรายบริการ (Unbundle Package) เช่น แยกอัตราค่าบริการเฉพาะอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงประจำที่ออกจากอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และกล่องรับชมรายการโทรทัศน์และคอนเทนต์ ความบันเทิง เพื่อให้ผู้ใช้บริการปลายทางได้รับทราบก่อน

1.8 ประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ต่อสาธารณชนว่าจะคงไว้ซึ่งบริการที่มีคุณภาพ และราคาค่าบริการที่เป็นธรรมต่อผู้ใช้บริการ

1.9 นำส่งข้อมูลตามประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำรายงานบัญชีแยกประเภทในกิจการโทรคมนาคม ให้ครบถ้วน โดยให้แยกรายละเอียดเป็นรายเดือน และนำส่ง กสทช. ทุก 3 เดือน หรือเมื่อ กสทช. ร้องขอ

1.10 จัดให้มีที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญด้านการสอบทาน (Verify) ข้อมูลโครงสร้างต้นทุน อัตราค่าบริการ หรือข้อมูลด้านอัตราต่างๆ ของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในต่างประเทศมาไม่น้อยกว่า 5 ปี โดยให้ กสทช. เป็นผู้กำหนด และให้บริษัท AWN เป็นผู้รับผิดชอบภาระค่าใช้จ่ายทั้งปวงที่เกิดขึ้นจากการจัดหาและจัดจ้างที่ปรึกษา ทั้งนี้ ที่ปรึกษาจะต้องไม่มีความเกี่ยวข้อง เชื่อมโยง หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมของทั้งสองบริษัท เพื่อสอบทาน (Verify) ความถูกต้องของข้อมูลตามข้อ 1.9 ของทั้งสองบริษัท โดยจัดให้มีที่ปรึกษานี้เป็นระยะเวลา 5 ปี โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือนหลังการรวมธุรกิจ

1.11 ยึดหลักความเป็นกลางทางอินเทอร์เน็ต (Net Neutrality) โดยไม่จัดให้คุณภาพบริการแตกต่างกันเพียงเพราะว่าเข้าถึงเนื้อหาจากผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้ให้บริการรายอื่น

1.12 แจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบถึงการรวมธุรกิจและการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการให้บริการบางประการ เช่น การเปลี่ยนชื่อผู้ให้บริการ ช่องทางในการติดต่อ แอปพลิเคชัน และศูนย์รับเรื่อง

2. ประเด็นเรื่องการสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย       

เงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะเพื่อแก้ไขข้อกังวลในเรื่องภูมิศาสตร์ที่อาจมีการแข่งขันน้อยรายในบางพื้นที่ และเพื่อคงระดับการแข่งขันให้อยู่ในระดับเดิม โดยแก้ไขอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบการ รายใหม่ และเพื่อส่งเสริมให้มีผู้ประกอบกิจการอินเทอร์เน็ตที่ไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเองในพื้นที่เฉพาะ เพื่อแก้ไขปัญหาการแข่งขันในทางภูมิศาสตร์ (Geographic Coverage) ในบางพื้นที่ที่อาจมีผู้แข่งขัน น้อยราย ดังนั้น เพื่อส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันในตลาดมากขึ้น และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายเล็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการที่ไม่ได้เป็นเจ้าของโครงข่ายหรือโครงสร้างพื้นฐาน สามารถเข้ามาแข่งขันใน ตลาดได้ รวมทั้งเพื่อป้องกันไม่ให้มีการใช้อำนาจตลาดกีดกันหรือสร้างอุปสรรคในการประกอบธุรกิจของผู้รับ ใบอนุญาตรายอื่น จึงกำหนดเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะภายหลังการรวมธุรกิจ (Ex Post) สำหรับผู้รวมธุรกิจ สำหรับบริษัท AWN และบริษัท TTTBB ดังต่อไปนี้

2.1 เปิดให้ผู้ให้บริการรายอื่นเช่าใช้โครงข่าย (open access) ให้ผู้ให้บริการรายอื่นเช่าใช้โครงข่ายของตัวเองในการให้บริการ โดยมีหน้าที่จัดทำข้อเสนอการใช้โครงข่ายโทรคมนาคมของบริการค้าส่งบริการเข้าถึงบรอดแบนด์ในทุกเทคโนโลยีที่ให้บริการ พร้อมทั้งเอกสารประกอบข้อเสนอดังกล่าวที่แสดงหลักการและวิธีการคำนวณอัตราค่าตอบแทน

การใช้โครงข่ายโทรคมนาคมในลักษณะที่อ้างอิงต้นทุน และนำส่งให้สำนักงาน กสทช. ภายใน ๖๐ วันหลังจากที่มีการรวมธุรกิจ

2.2 เปิดการให้บริการ Fixed Broadband Service Unbundling ในระดับค้าส่ง (Wholesale) ทุกพื้นที่บริการของทั้งสองบริษัท ภายใต้หลักการ Cost-based Basis  และราคาไม่เกินอัตราที่ กสทช. กำหนดสำหรับผู้ร้องขอใช้บริการดังกล่าว โดยต้องสามารถเริ่มให้บริการได้ภายในระยะเวลา 60 วัน นับแต่วันที่ผู้ร้องขอแสดงความประสงค์ขอใช้บริการ

2.3 จัดทำแผนขยายโครงข่าย Fixed Broadband Access ไปยังพื้นที่ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจต่ำ โดยอาจใช้รูปแบบ Fixed Wireless Access เพื่อขยายโครงข่ายไปยังพื้นที่ที่ยังไม่มีโครงข่ายในปัจจุบัน โดยเพิ่มเติมจากแผนการลงทุนปกติประจำปีและไม่นับรวมโครงการที่ได้รับการอุดหนุนจาก ภาครัฐ ทั้งนี้ แผนดังกล่าวให้ครอบคลุมระยะเวลา ๕ ปี โดยต้องมีรายละเอียดแผนการลงทุนรายปี และ กำหนดจำนวนเงินที่จะนำไปลงทุนในการขยายโครงข่าย Fixed Broadband Access ดังกล่าวข้างต้นไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาทในระยะเวลา 5 ปี ทั้งนี้ต้องเสนอแผนดังกล่าวให้ กสทช. เห็นชอบก่อน และให้ดำเนินการตามแผนที่ กสทช. เห็นชอบ โดยให้นำส่งผลการดำเนินการ แก่ กสทช. ทุก 6 เดือน หรือเมื่อ กสทช. ร้องขอ เพื่อใช้ในการติดตามตรวจสอบ

2.4 ให้ผู้รับใบอนุญาตที่ไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเองได้รับสิทธิ เงื่อนไขในการเข้าใช้โครงข่าย (Open Access) ได้เช่นเดียวกับบริษัทในกลุ่มหรือบริษัทในเครือของทั้งสองบริษัท

2.5 ให้ผู้รับใบอนุญาตที่ไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเองที่เข้าใช้บริการโครงข่ายต้องได้รับการประกันสิทธิในการได้รับบริการภายใต้คุณภาพการให้บริการ (QoS) ตามมาตรฐานการให้บริการตามประกาศของ กสทช. หรือที่ กสทช. กำหนด

2.6 ห้ามปฏิเสธการให้บริการแก่ผู้รับใบอนุญาตที่ไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง อันเกิดมาจากเหตุผลความไม่เพียงพอของโครงข่าย หรือตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไขที่ กสทช. กำหนด

2.7 ไม่กำหนดปริมาณและราคาขั้นต่ำของการเช่าใช้บริการโครงข่ายของผู้รับใบอนุญาตที่ไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง เพื่อให้สามารถเช่าใช้บริการโครงข่ายของทั้งสองบริษัทเฉพาะพื้นที่ที่ต้องการได้ โดยไม่จำเป็นต้องครอบคลุมทั้งประเทศ ทั้งนี้ การเรียกเก็บค่าบริการให้เป็นไปตามการใช้งานที่เกิดขึ้นจริง

2.8 เปิดโครงข่ายให้ผู้ให้บริการรายอื่นเช่าใช้โครงข่ายของตนเองในการให้บริการภายในอาคารหรือพื้นที่ส่วนบุคคลโดยไม่เลือกปฏิบัติทั้งในด้านการเข้าถึงบริการและด้านราคา

3. กลไกการติดตามและประเมินผลการรวมธุรกิจ

3.1 รายงานผลการประกอบธุรกิจ ภายใต้การดำเนินการตามกำหนดระยะเวลาและเงื่อนไขที่ได้รับจาก กสทช. เป็นราย 6 เดือน หรือตามแต่ระยะเวลาที่ กสทช. กำหนด ตามแบบที่ กสทช. กำหนด ไว้เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 5 ปี

3.2 ภายหลังการรวมธุรกิจ หาก กสทช. พิจารณาหรือได้รับการร้องเรียนว่ามีการกระทำ พฤติกรรม หรือเหตุอันเป็นการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการ กิจการโทรคมนาคมมีการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญทำให้เงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะไม่เหมาะสมหรือไม่มีประสิทธิภาพ กสทช. อาจระงับ ยกเลิก เพิ่มเติม หรือปรับปรุงเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะใหม่ก็ได้ตามความเหมาะสมและความจำเป็น

สื่อเผยเบื้องหลังการโหวต

เพจกรุงเทพธุรกิจ รายงานเมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2566 ว่าที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ผลสรุปมติที่ประชุม 5 คน ประกอบด้วย 1.พล.อ.ท. ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ (รักษาการประธานในที่ประชุม) 2.นางสาวพิรงรอง รามสูต 3.นายต่อพงศ์ เสลานนท์ 4.นายศุภัช ศุภชลาศัย และ 5.นายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ ลงมติโหวต 4:1 เสียง อนุญาตให้ AIS ควบรวมธุรกิจกับ 3BB 

ทั้งนี้ การประชุมบอร์ดวาระพิเศษเริ่มตั้งแต่เวลา 9.00 น. ตามที่สำนักงาน กสทช. กำหนดจัดการประชุมนัดพิเศษ ครั้งที่ 12/2566 เรื่องการสรุปอนุญาตให้ AIS และ 3BB เข้ารวมธุรกิจ

โดยที่ประชุมได้ใช้เวลาพิจารณา 3.30 ชั่วโมง ผลปรากฎว่า แหล่งข่าวจากห้องประชุมระบุว่า นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกสทช. เสนอทางเลือกให้ที่ประชุมลงคะแนนเสียงเพียงแค่ "รับทราบ" และ "ไม่รับทราบ" เท่านั้น โดยอ้างข้อบังคับตามประกาศ กสทช.ปี 2549 ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับกรณีการรับทราบการควบรวมทรูและดีแทค แต่กรรมการกสทช.เสียงข้างมาก 4 คน เห็นว่า AIS ได้ทำหนังสือขออนุญาตมายังสำนักงาน กสทช.จึงควรลงมติเป็น เพราะกสทช. มีอำนาจและหน้าที่ในการพิจารณาสั่ง “อนุญาต” หรือ “ไม่อนุญาต” การควบรวมธุรกิจของผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553  มาตรา 27 (11) และพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544  มาตรา 21 แต่พฤติการณ์ที่ประธานให้ลงคะแนนโหวตเพียงแค่รับทราบการรวมธุรกิจของเอกชนเหมือนเช่นดีลทรูและดีแทค กรรมการเสียงข้างมากที่เหลือคนมองว่า ไม่ถูกต้องเพราะ กสทช. มีอำนาจในการพิจารณาเรื่องดังกล่าว

แหล่งข่าว กล่าวว่าในการประชุมนั้นมีการถกเถียงถึงอำนาจของตัวเองอีกครั้ง และประธานกสทช. รวมถึง พล.ต.อ. ณัฐธร เพราะสุนทร ได้ Walkout ออกจากห้องประชุม ทำให้ที่ประชุมคงเหลือ 5 คน ดังกล่าวอย่างไรก็ตาม จากนั้นเวลา 13.00 น. ประธานกสทช.บอกว่า จะต้องมีภารกิจไปทอดกฐินหลวงที่วัดยานนาวา เวลา 14.00 น. ดังนั้น จึงขอให้ยุติการประชุมและจะกลับมาประชุมต่ออีกครั้งในเวลา 15.30 น. แต่นพ.สรณ ประธาน กสทช. และ พล.ต.อ. ณัฐธร ไม่ได้กลับเข้ามาประชุมทั้งที่ก่อนหน้านี้ยืนยันว่า จะกลับเข้ามาหารือลงคะแนนโหวตให้แล้วเสร็จอีกครั้งหนึ่ง แต่แท้จริงแล้วประธานฯให้ทีมงานแจ้งมายังสำนักงาน กสทช.ว่าได้ออกความเห็นไปแล้วคือการรับทราบการรวมธุรกิจเท่านั้น เช่นเดียวกับพล.ต.อ.ณัฐธร คือ กสทช.มีอำนาจแค่รับทราบการควบรวมธุรกิจเท่านั้น ทำให้ที่ประชุมเหลือองค์ประชุม 5 คนตามที่ระบุข้างต้น และมีผลการลงคะแนนเสียงโหวต 4:1 เสียง

หลังจากที่บอร์ด กสทช.มีมติออกมาดังกล่าวแล้ว หากพิจารณาจากผลประกอบการไตรมาส 3/2566 จะพบว่า AIS มีลูกค้าอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์จำนวน 2.38 ล้านราย ขณะที่ TRUE มีลูกค้าบรอดแบนด์จำนวน 3.8 ล้านราย ส่วน 3BB จากการตรวจสอบล่าสุดมีลูกค้าจำนวน 2.31 ล้านราย ดังนั้น หากควบรวมธุรกิจแล้วเสร็จจะทำให้ AIS มีลูกค้าอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์อยู่ที่ 4.69 ล้านราย ขึ้นเป็นเบอร์ 1 ของตลาดทันที ส่วนผู้เล่นอีกรายคือ NT ปัจจุบันมีลูกค้าราว 1.8 ล้านราย

ทั้งนี้ การขออนุญาตรวมธุรกิจระหว่าง AIS และ 3BB สืบเนื่องจากที่ประชุมคณะกรรมการ AIS ประกาศ เมื่อวันที่ 3 ก.ค.2565 เข้าซื้อหุ้นในบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ 3บีบีจำนวน 7,529,242,385 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 99.87 มูลค่ารวม 19,500 ล้านบาท และเข้าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิส (JASIF) จำนวน 1,520,000,000 หน่วย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 19.00 ของจำนวนหน่วยลทุนทั้งหมดของ JASIF ในราคาหน่วยละ 8.5 บาท คิดเป็นมูลค่ารวม 12,920 ล้านบาทรวมสองธุรกรรมว่า “ธุรกรรมซื้อหุ้นและซื้อหน่วยลงทุน” มีมูลค่ารวม 32,420 ล้านบาท นับจนถึงวันนี้ดีลดังกล่าวใช้เวลาการพิจารณายาวนานถึง 1 ปี 4 เดือน มากกว่าดีลควบรวมทรูและดีแทคที่ใช้เวลาพิจารณา 10 เดือน

โดยการรวมธุรกิจนี้สำนักงาน กสทช.ระบุว่า เข้าข่ายเป็นการรวมธุรกิจเป็นไปตามข้อ 3 (3) ในระเบียบของประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ระบุว่า “การที่ผู้รับใบอนุญาตหรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้รับใบอนุญาตเข้าซื้อหุ้นตั้งแต่ร้อยละยี่สิบห้าขึ้นไปของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของผู้รับใบอนุญาตรายอื่น หรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้รับใบอนุญาตรายอื่น เพื่อควบคุมนโยบาย การบริหารกิจการ การอำนวยการ หรือการจัดการ”

นอกจากนี้ ได้รวบรวมข้อมูลภายหลังจากเกิดการควบรวมธุรกิจโดยใช้การวัดค่าดัชนี HHI (Herfindahl-Hirschman Index : HHI) หรือการคำนวณค่าการกระจุกตัวเพื่อวิเคราะห์สภาวะการแข่งขันในตลาดของธุรกิจ โดยจะเกิดผลกระทบ 2 ลักษณะ คือ 1.ตลาดค้าปลีกบริการอินเตอร์เน็ตบรอดแบรนด์ประจำที่ (Fixed Broadband Internet) ดัชนี HHI ก่อนรวมธุรกิจอยู่ที่ 2,716 ดัชนี HHI หลังรวมธุรกิจอยู่ที่ 3,624 และดัชนี HHI หลังการรวมธุรกิจ - ก่อนรวมธุรกิจ อยู่ที่ 908 เพิ่มขึ้น 33.43% และ 2.ตลาดค้าส่งบริการเข้าถึงบรอดแบรนด์ (Wholesale Broadband Access) ดัชนี HHI ก่อนรวมธุรกิจอยู่ที่ 3,893 ดัชนี HHI หลังรวมธุรกิจอยู่ที่ 5,167 และดัชนี HHI หลังการรวมธุรกิจ - ก่อนรวมธุรกิจ อยู่ที่ 1,274 เพิ่มขึ้น 32.72%

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net