Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

อำนาจหน้าที่ที่แท้จริงของจุฬาราชมนตรี 
เรามักอ่านพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พศ.2540 ที่บอกว่าจุฬาราชมนตรีมีหน้าที่อะไรแบบผ่านๆ  

ข้อเขียนนี้ผมจะนำเอาสิ่งที่จุฬาราชมนตรีมีสิทธิและหน้าที่สำคัญตามลำดับจากน้อยไปหามาก พร้อมข้อเสนอแนะครับ

5. เป็นประธานอำนวยการงานเมาลิดกลาง 
หน้าที่ตรงนี้ก็แค่ให้เจ้าหน้าที่สำนักงานทำจดหมายเชิญประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดมาร่วมประชุม เพื่อคัดเลือกประธานจัดงานเมาลิดกลาง ที่ผู้ทรงอิทธิพลในคณะกรรมการกลางฯ ได้ล็อกเป้าเอาไว้ บางคนนะครับ บางคน แต่น่าจะเป็นส่วนใหญ่

4. เป็นอามีรุ้ลฮัจย์ 
ตลอดระยะเวลาการใช้ พ.ร.บ.2540 จุฬาราชมนตรี มักจะมอบหมายให้ท่านอื่นไปทำหน้าที่นี้ ผลงานที่จับต้องได้ก็แค่การต่อรองกับซาอุดีอาระเบีย ให้เพิ่มจำนวนผู้แสวงบุญเท่านั้น  ส่วนอำนาจที่แท้จริงอยู่ที่คณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจย์ (ราชการ) ปัญหาต่างๆ ที่ฮุจญาตถูกลอยแพ ทั้งที่ไม่ได้ไปและที่ได้ไปแบบลำบาก การกำหนดราคา การลงโทษ ไม่ได้อยู่ในอำนาจของจุฬาราชมนตรีเลย แล้วกรรมการฝ่ายกิจการฮัจย์ของกรรมการกลางฯ ทำอะไรบ้าง?

3. ประกาศผลการดูดวงจันทร์ 
ตรงนี้จะว่าสำคัญก็สำคัญแหละครับ ใครเป็นจุฬาราชมนตรีผมก็ตามทั้งนั้น

2. แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ 
อันนี้ผมว่าสำคัญมาก เพราะปัจจุบันและอนาคต ปัญหาทางศาสนาด้านสังคม ทางด้านวิทยาศาสตร์ ปัญหาอื่นเริ่มสลับซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาอิสลามโมโฟเบีย ปัญหาการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม ผู้ทรงคุณวุฒิควรมีบทบาทมากกว่าที่เป็นยู่ ต้องรวดเร็ว กระชับ ทันเหตุการณ์ ควรมีสำนักงานที่สมาร์ท  ไม่ยึดติดกับการประชุมในห้องประชุม ผู้ทรงคุณวุฒิต้องมาจากหลากหลายสาขาอาชีพ และต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญจริงๆ

1. การวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาศาสนา 
ผมเห็นการวินิจฉัยจากอุลามาคีย์บอร์ดจำนวนมากที่ทำให้สังคมสับสนและวุ่นวาย แตกแยก แม้ว่าจุฬาราชมนตรีตั้งคณะผู้ทรงคุณวุฒิแล้ว แต่ยังขาดถังข้อมูลที่สมาร์ทพอ มีการวินิจฉัยการเงินอิสลาม การวินิจฉัยด้านต่างๆ ที่ไม่ได้มาจากจุฬาราชมนตรี และหรือผู้ทรงคุณวุฒิ ตกลงว่าแต่ละองค์กรทำได้ใช่หรือไม่ สังคมสับสนจะทำอย่างไร

สิ่งสำคัญที่สุดที่อยู่ใน พ.ร.บ.การบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม 2540 
จุฬาราขมนตรีมีสิทธิและหน้าที่คัดสรรบุคคลเป็นกรรมการกลางฯ จำนวนหนึ่งในสามของกรรมการกลางฯ ผู้แทนจังหวัดที่มีอยู่ขณะนั้น อธิบายง่ายๆ หากมีกรรมการกลางฯ จากจังหวัดต่างๆ รวม 39 ท่าน จุฬาราชมนตรีสามารถคัดเลือกคนที่เป็นครีมของสังคมมาบริหารกรรมการกลางฯ ได้ 13 ท่าน เห็นมั้ยครับว่า ถ้าจุฬาราชมนตรีใช้ประโยชน์จาก พ.ร.บ.ฯ นี้ สังคมจะขยับขึ้นได้ดีขนาดไหน แน่นอนครับการคัดเลือกต้องเป็นไปตามมติที่ประชุม แต่ถ้าจุฬาราชมนตรีทำไม่ได้แล้วจะเป็นผู้นำที่สง่างามได้อย่างไร

ทีนี้เรามาดูว่า13ท่านที่ควรเข้ามาทำอะไรบ้าง

1. เลขาธิการ 
ตำแหน่งนี้มีบทบาทในการบริหาร ความจริงสำคัญรองมาจากจุฬาราชมนตรี แต่ที่ผ่านมา เรามีจุฬาราชมนตรีจาก พ.ร.บ.นี้สองท่าน มีเลขาธิการมาแล้วสามท่าน ผมบอกเท่านี้นะครับ ผู้อ่านจินตนาการเองเองว่าใครทรงอิทธิพลกว่าใคร

2.  ฝ่ายกิจการฮาลาล 
ตำแหน่งนี้ถูกจับตามองจากสังคมและเป็นเป้าให้กลุ่มที่อคติต่ออิสลามนำไปใช้ประโยชน์ มิใช่แต่พวกเขา พวกเราเองก็ไม่เชื่อถือ ใครมีเพื่อนเป็นนักธุรกิจอาหารจะทราบดี ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาตาม พ.ร.บ.ฯ นี้ คนที่ทำหน้าที่นี้มักคุยโม้ว่าเป็นฝ่ายหาเงินให้กรรมการกลางฯ ส่วนผมมองว่าเด็กมัธยมก็ทำได้ ไม่ได้ด้อยค่าท่านเหล่านั้นนะครับผมมองแบบนั้นจริง ถ้าจะให้ดีนะ ผมมั่นใจว่าสังคมมุสลิมเรามีนักบริหารที่เก่งๆ และสามารถมาช่วยงานด้านนี้ได้เยอะและดีกว่าที่ทำอยู่

3. ฝ่ายสังคมสงเคราะห์ 
ตำแหน่งนี้ต้องมีบทบาทมากกว่าเดิม ต้องหูตากว้างไกล ต้องมีเครือข่าย เพราะ นับวันก็จะมีภัยพิบัติและเหตุการณ์ต่างๆ เพิ่มมากขึ้น รวมถึงผลกระทบจากความรุนแรงในที่ต่างๆ ฝ่ายนี้สามารถจัดการบริหารซะกาตได้เลย ผมไม่แน่ใจว่าฝ่ายนี้รวมเป็นฝ่ายซะกาตและสังคมสงเคราะห์หรือเปล่า รวมได้ก็จะดี  ซะกาตเรามีมากมาย จะเรียกว่าเพียงพอก็ได้  ลำพังซะกาตฟิตเราะหฺ(ข้าสารหรือธัญพืช)ก็หลายร้อยล้านบาทแล้ว จัดการให้ดีสิครับ เราเคยใช้ประโยชน์จากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์หรือยัง ถ้าเราทำ เราจะได้รับการสนับสนุนและความช่วยเหลืออีกมากมาย ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้เปราะบางและผู้ด้อยโอกาส

4. ฝ่ายการศึกษา 
ตำแหน่งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด องค์กรเราไม่เคยถกกันอย่างจริงจังกันเรื่องการพัฒนาการศึกษาของเยาวชน เราจะถกกันแต่เรื่องดูดวงจันทร์ อามีรุ้ลฮัจย์ ประธานเมาลิดกลาง อย่างเก่งก็นั่งรอประเทศไหนจะให้ทุนการศึกษา   การแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิ์นักเรียนมุสลิม การร่วมพัฒนาสถานศึกษาต้นแบบ การให้ทุนนักเรียนดีที่เก่ง จนจบปริญญาตรี โท เอก หลายที่เขาทำกันครับ 

5. ฝ่ายกฎหมาย 
จุฬาราชมนตรีอาศิส พิทักษ์คุมพล มีความประสงค์จะทำให้กระบวนการยุติธรรมในคณะกรรมการกลางฯ สมาร์ท แต่ระยะเวลา13ปีที่ท่านดำรงตำแหน่ง มีอุปสรรคมาก มีการแทรกแซงมาก มีการทำแบบลูบหน้าปะจมูกมาก มีการนึกถึงพวกพ้องมากเกินไป เสียดายที่ท่านป่วยจึงไม่เห็นผลงานด้านนี้ ท่านใหม่ช่วยหน่อยนะครับ สังคมเราแตกแยกมากเกินไปแล้ว

6. ฝ่ายกิจการสตรีเยาวชนและครอบครัว 
ฝ่ายนี้มักเป็นวอลเปเปอร์ให้เหล่าบุรุษ ในการขนคนเข้ามาร่วมงาน จังหวัดไหนก็จังหวัดนั้น  มีกิจกรรมอื่นบ้างนะครับ บางงานใช้ชื่อวันมุสลิมะหฺ แต่คนบนเวทีมีแต่มุสลิมีน ระยะเวลาที่ผ่านมาสังคมเรายังจับต้องผลงานฝ่ายนี้ไม่ได้มากนัก สตรีควรมีบทบาทในคณะทำงานด้านนี้ด้วย สตรีที่ถูกกระทำมักไม่ได้รับการเหลียวแลจาก กอจ. กอฎีมักไกล่เกลี่ย สตรีจึงถูกทำร้ายซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ฝ่ายนี้ควรไปดูงานที่คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาสครับว่าทางนั้นทำอะไรได้ผลขนาดไหน ส่วนงานเยาวชนและครอบครัวจะไปหาดูงานที่ไหนได้บ้าง ใครคิดออกครับ

7-13. เพื่อนลองมาคิดดูทีครับว่า จุฬาราชมนตรีควรคัดคนที่เป็นครีมของสังคมในสาขาอาชีพใดมาเป็นกรรมการกลางฯ วะบิ้ลลาฮิเตาฟิกวัลฮิดายะหฺ 

ผมมิได้เขียนบทความนี้เพื่อตำหนิติติงหรือสอนใคร ผมเขียนตามสิ่งที่ผมเห็นมา ณ เวลานี้ผมยังไม่ทราบเลยว่าเรามีกรรมการอิสลามประจำจังหวัดกี่จังหวัด และจุฬาราชมนตรีมีสิทธิ์ตั้งกรรมการกลางฯ ได้กี่ท่าน ใครรู้ช่วยบอกที

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net