Skip to main content
sharethis

สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ออกแถลงการณ์ให้ยกเลิกการปฏิรูปเส้นทางที่ส่งผลกระทบให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 

6 พ.ย. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (สร.ขสมก.) ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 1 ถึงสมาชิกสหภาพแรงงาน ประชาชน และสื่อมวลชน ชี้แจงเรื่อง ให้ยกเลิกการปฏิรูปเส้นทางที่ส่งผลกระทบให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน

โดยแถลงการณ์ระบุว่า  ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติ เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2559 ยกเลิกมติ ครม. เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2526 โดยให้กรมการขนส่งทางบก มีอำนาจควบคุมดูแลการเดินรถในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล เป็นผู้มีอำนาจในเส้นทางสัมปทานเดินรถทั้งหมดที่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เป็นผู้กำกับดูแล โดยให้กรมการขนส่งทางบกเป็นผู้ควบคุมดูแลแทน ตามความทราบแล้ว นั้น

สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (สร.ขสมก.) ได้จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 โดยมีวัตถุประสงค์รักษาผลประโยชน์ของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งในเรื่องดังกล่าวสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (สร.ขสมก.) ได้คัดค้านไม่เห็นด้วยมาโดยตลอด กล่าวคือ

1. องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ได้จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกา เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2519 โดยรวมกิจการรถโดยสารทั้งหมดจากบริษัท มหานครขนส่ง จำกัด มาขึ้นอยู่กับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจประเภทกิจกาสาธารณูปโภค สังกัดกระทรวงคมนาคม โดยมีภารกิจบริการจัดรถโดยสารประจำทางวิ่งรับ-ส่งผู้โดยสารในขอบเขตความรับผิดชอบกรุงเทพมหานคร และจังหวัดใกล้เคียง 5 จังหวัด (ปริมณฑล) มีวัตถุประสงค์ให้บริการแก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยเป็นหลัก การดำเนินการจึงมุ่งสนองตอบนโยบายของรัฐบาลในด้านความช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย โดยไม่หวังผลกำไรจากการจัดเก็บอัตราค่าโดยสาร จึงอยู่ในอัตราต่ำกว่าต้นทุนตามที่รัฐบาลเป็นผู้กำหนด

2. เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2566 องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ได้ยุติการให้บริการรถโดยสารปรับอากาศ จำนวน 5 เส้นทาง ตามที่กรมการขนส่งทางบก มีหนังสือถึงองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ โดยให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพปฏิบัติตามมติคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) และคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบก ยกเลิกใบอนุญาตประกอบการขนส่งในเส้นทางขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ที่มีเส้นทางเดินรถที่ทับซ้อน กับเส้นทางเดินรถของเอกชน ตามแผนปฏิรูปเส้นทาง

3. เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2559 สมัยรัฐบาล พล.อ ประยุทธ์ จันโอชา เป็นนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีได้มีมติยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2526 เรื่องนโยบายการเดินรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานคร และเสนอร่างกฎหมาย จำนวน 4 ฉบับ มิให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ กำกับดูแลเส้นทางสัมปทานทั้งหมด ในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล

4. สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ได้ทำหนังสือคัดค้านผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนผู้ใช้บริการรถโดยสารในอนาคต แต่ก็มิได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลในสมัยนั้นแต่ประการใด ทำให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เป็นเพียงผู้ประกอบการรายหนึ่งเท่านั้น โดยมิได้มีอำนาจใดๆ ในการบริหารเส้นทางเดินรถ

5. สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เห็นว่าควรยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2559 ที่นำไปสู่การปฏิรูปเส้นทาง เมื่อปี 2560 และการประมูลเส้นทางเดินรถ จำนวน 54 เส้นทาง ในปี 2563 ซึ่งปัจจุบันกรมการขนส่งทางบก ได้อนุมัติเส้นทางปฏิรูปให้เอกชนไปแล้ว จำนวน 77 เส้นทาง เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนที่เข้ามาประมูลเส้นทางเดินรถในสายต่างๆ ทำให้ประชาชนผู้ใช้บริการรถโดยสารได้รับผลกระทบในการเดินทาง ไม่มีรถโดยสารเพียงพอต่อความต้องการของประชาชน ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนอย่างเช่น สาย 140 และสายอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นในการปฏิรูปเส้นทาง

ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ จะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ในวันศุกร์ที่ 10 พฤศจิกายน 2566 เพื่อกำหนดทิศทางช่วยเหลือความเดือดร้อนของประชาชน ผู้ใช้บริการรถโดยสารผู้มีรายได้น้อย กรณีรถโดยสารขาดระยะไม่เพียงพอต่อผู้ใช้บริการ

จึงแถลงการณ์มาให้สมาชิกสหภาพแรงงาน ประชาชน และสื่อมวลชน ได้รับทราบโดยทั่วกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net