Skip to main content
sharethis

'เศรษฐา' ขึ้นรถไฟขบวนพิเศษ 995 จากหัวลำโพงไปแหลมฉบัง ลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.ชลบุรี-จ.ระยอง - ตรวจเยี่ยมท่าเรือแหลมฉบัง หารือศักยภาพของพื้นที่สำหรับการรองรับสินค้าอุตสาหกรรมหนัก กำชับเร่งรัดดำเนินงานโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ให้เป็นไปตามแผน - เผย 10 พ.ย. มีความชัดเจนเรื่องดิจิทัลวอลเล็ต ยืนยันพร้อมรับฟังข้อเสนอแนะ ทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย ให้ประชาชนได้รับผลประโยชน์สูงสุด ย้ำทุกนโยบายมีความสำคัญ

4 พ.ย. 2566 เวลา 08.30 น. ณ ชานชาลาที่ 5 สถานีรถไฟกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกเดินทางจากสถานีรถไฟกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) โดยรถไฟขบวนพิเศษ 995 ไปยังสถานีรถไฟแหลมฉบัง ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เพื่อลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดชลบุรีและจังหวัดระยอง โดยมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายพงศ์ศรัณย์ อัศวชัยโสภณ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง นายศุภนิจ จัยวัฒน์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี นายสนธยา คุณปลื้ม ประธานที่ปรึกษาเมืองพัทยา นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ร่วมคณะเดินทาง ซึ่งระหว่างการเดินทาง นายกรัฐมนตรีได้ประชุมร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องการพัฒนาและการคมนาคมขนส่งในพื้นที่ EEC

ตรวจเยี่ยมท่าเรือแหลมฉบัง หารือศักยภาพของพื้นที่สำหรับการรองรับสินค้าอุตสาหกรรมหนัก กำชับเร่งรัดดำเนินงานโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ให้เป็นไปตามแผน

เวลา 11.30 น. ณ หอบังคับการพัฒนาแหลมฉบัง ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี นายเศรษฐา ได้ตรวจเยี่ยมท่าเรือแหลมฉบังและพูดคุยประเด็นศักยภาพของพื้นที่สำหรับการรองรับสินค้าอุตสาหกรรมหนักในการนําเข้าและส่งออกของท่าเรือแหลมฉบัง โดยมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และคณะ เข้าร่วมด้วย นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
 
นายกรัฐมนตรีรับฟังบรรยายสรุปเกี่ยวกับศักยภาพของท่าเรือแหลมฉบัง โดยในปี 2566 ท่าเรือแหลมฉบังมีศักยภาพในการรองรับจำนวนเรือสินค้าผ่านท่า 11,700 เที่ยว ปริมาณสินค้าผ่านท่า 94.1 ล้านตัน 8.67 ล้าน TEU (Twenty-Foot Equivalent Unit) รถ 1.5 ล้านคัน คิดเป็นสัดส่วนส่งออก ร้อยละ 49.8 และนำเข้า ร้อยละ 50.2 ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 และบูรณาการเพิ่มศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานร่วมทั้งระบบราง ระบบถนน และทางทะเล เพื่อเพิ่มศักยภาพและรองรับการขยายตัว ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้ท่าเรือแหลมฉบังเป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาคต่อไป สำหรับความคืบหน้างานรับเหมาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 นั้น พื้นที่ถมทะเลพื้นที่ 1 ส่งมอบพื้นที่ 31 สิงหาคม 2565 พื้นที่ถมทะเลพื้นที่ 2 ส่งมอบพื้นที่ 1 ตุลาคม 2566 พื้นที่ถมทะเลพื้นที่ 3 คาดว่าส่งมอบมิถุนายน 2567 ทั้งนี้ กำหนดแล้วเสร็จ 29 มิถุนายน 2569 โดยสัญญาร่วมลงทุนกับภาคเอกชน (บริษัท จีพีซีฯ) การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) จัดส่งมอบ พื้นที่ F1 ของโครงการฯ ให้แก่บริษัท จีพีซีฯ ภายในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2568
 
สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เป็นการเพิ่มขีดความสามารถของท่าเรือเพื่อรองรับความต้องการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นในอนาคต โดยจะดำเนินการก่อสร้างท่าเทียบเรือสำหรับจอดเรือน้ำลึกและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ รวมทั้งการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง (Single Rail Transfer Operator, SRTO) ก่อสร้างท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรภายในท่าเรือ ตลอดจนโครงข่ายและระบบการขนส่งต่อเนื่องที่จำเป็นในเขตพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง ที่จะเชื่อมต่อกับภายนอกให้เพียงพอและพร้อมที่จะรองรับการขยายตัวของปริมาณเรือและสินค้าประเภทต่าง ๆ
 
นายกรัฐมนตรีกำชับกระทรวงคมนาคม และเจ้าหน้าที่รัฐเร่งรัดการดำเนินงานโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ให้เป็นไปตามแผนการดำเนินการก่อสร้าง ตามระยะเวลา และเป้าหมายของโครงการฯ เพื่อสร้างความมั่นใจและความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย รวมทั้งนายกรัฐมนตรีรับทราบถึงการที่ กทท. จะเร่งดำเนินการพัฒนาท่าเรือกรุงเทพให้สามารถรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) ยกระดับสู่ Smart Port รองรับกรุงเทพฯ ในการที่เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของไทย
 
จากนั้น นายกรัฐมนตรีรับชมพื้นที่ภาพรวมการดำเนินงานของท่าเรือแหลมฉบัง จากหอบังคับการพัฒนาแหลมฉบัง ก่อนเดินทางไปตรวจเยี่ยมระบบการบริหารจัดการน้ำอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล เพื่อรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ณ อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง

เผย 10 พ.ย. มีความชัดเจนเรื่องดิจิทัลวอลเล็ต ยืนยันพร้อมรับฟังข้อเสนอแนะ

ทั้งนี้ระหว่างการเดินทางเพื่อลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.ชลบุรี และ จ.ระยอง โดยรถไฟขบวนพิเศษ 995 จากสถานีรถไฟกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) ไปยังสถานีรถไฟแหลมฉบัง ต.ทุ่งสุขลา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี นายเศรษฐา ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงความคืบหน้าเรื่องเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ว่า วันที่ 10 พ.ย. นี้ จะรู้เรื่องทุกอย่าง อย่างที่ตนเรียนแล้วไม่ได้ไปว่าใครที่ไปพูดอะไรทั้งสิ้น วันนี้การสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญ วันที่ 10 พ.ย. นี้จะรู้ที่มาที่ไปทุกอย่าง มีขั้นตอนไทม์ไลน์ กฎกติกาที่ชัดเจน และต้องให้เกียรติคณะกรรมการด้วย ซึ่งตนอยากให้เป็นไปตามขั้นตอน เพราะเดี๋ยวจะเกิดความสับสน อย่างที่บอกว่าเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตเป็นเรื่องสำคัญ อาจจะมีความเห็นต่างบ้าง ต้องยอมรับว่าจะต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ลักษณะหรือขอบเขต หรือปริมาณการกระตุ้นเศรษฐกิจเท่าไรอย่างไรต้องมาพูดคุยกัน อย่างที่ตนยืนยันตลอดเวลาว่าหากใครมีข้อเสนอแนะก็รับฟังตลอด
 
นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า นโยบายดิจิทัลวอลเลตที่จะออกมานั้น ขอให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินจะดีกว่า ทุกนโยบายสำคัญ และกรณีที่สื่อบางสำนักได้ทำโพลสำรวจมา เห็นว่าเรื่องเศรษฐกิจปากท้องเป็นสิ่งสำคัญ ดิจิทัลวอลเล็ตก็เป็นเรื่องสำคัญ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องหนี้ครัวเรือน ซึ่งตนก็ได้ประชุมไปแล้วในเรื่องของหนี้ครัวเรือน โดยได้หารือกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพราะเห็นว่าเรื่องนี้สำคัญ รวมไปถึง 30 บาทรักษาทุกโรค และมีอีกหลายเรื่องสำคัญ แม้แต่เรื่องการบริหารจัดการน้ำก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเกษตรกร 30-40 ล้านคนรอเรื่องนี้อยู่ ภาคอุตสาหกรรมและเรื่อง EEC ก็เป็นเรื่องสำคัญ ไม่มีเรื่องอะไรที่ตนจะด้อยค่า ซึ่งต้องทำเรื่องเหล่านี้อย่างจริงจัง โดยวันนี้ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังก็ทำงานหนัก แต่เวลามีไมค์มาจ่อปาก ท่านก็ต้องตอบ ก็เป็นเรื่องที่เราอยู่ระหว่างการทำงาน ซึ่งอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงบ้าง พูดวันนี้อย่างหนึ่ง แต่ก็อาจจะมีการเปลี่ยน ถ้าจะบอกว่าท่านพูดกลับไปกลับมาก็ไม่ใช่ เพราะอยู่ระหว่างการพูดคุย
 
นายกรัฐมนตรียังกล่าวว่า เมื่อมีคำเตือนมาตนก็รับฟัง สื่ออาวุโสหลายท่านก็เตือนมา ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติก็บอกไม่ได้ติดอะไร แต่ให้ระวังในเรื่องนี้ ให้เขียนภาพระยะยาว เวลาที่ออกมาแล้วจะกระทบกับเศรษฐกิจในเชิงบวกอย่างไร รวมถึงการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ ดังนั้น เวลาที่จะแถลงก็ต้องแถลงให้ครบทั้งหมด เมื่อเวลามีคำถามอะไรตนจะได้ตอบได้ ตนเองเห็นใจนายจุลพันธ์ฯ ที่ทำงานหนักมากในฐานะที่ดูแลเรื่องนี้ และไปคุยกับทุกภาคส่วน ขณะเดียวกันก็ยังมีคณะกรรมการกฤษฎีกา รวมถึงคณะกรรมการการเลือกตั้งด้วย ที่เราได้หาเสียงและพูดอะไรไปก็ต้องไปปรึกษา เมื่อมีข้อคิดเห็นมาเราก็ต้องฟัง
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกรัฐมนตรีมาจากนักธุรกิจ ประชาชนก็คาดหวังสูงในเรื่องเศรษฐกิจปากท้องจะดีขึ้น นายกรัฐมนตรีมีความตั้งใจแบบนั้นหรือไม่ว่าภายในกี่เดือนประชาชนจะยิ้มอย่างมีความสุข โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แต่ความตั้งใจของตนอยากให้ยิ้มทุกวัน อยากให้ยิ้มเร็ว ๆ ตนกระตือรือร้น มีความอยากจะทำ แต่ไม่ได้หมายว่าจะทำไม่ได้ นิสัยของตนไม่ใช่คนแบบนั้น อยากทำให้ได้ ทุกคนก็รู้ดีว่าไม่ได้อยู่ที่ตนคนเดียว ซึ่งก็มีปัญหาต่าง ๆ เข้ามาและมีปัจจัยภายนอกรุมเร้าอยู่มาก
 
ส่วนที่ถามว่านโยบายดิจิทัลวอลเล็ตเดินหน้าต้องระวัง ถอยหลังก็ไม่ได้ใช่หรือไม่นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวไม่มีความคิดที่จะถอยหลัง จะต้องทำ และต้องทำออกไปให้ดีที่สุด ให้ถูกต้องตามกฎหมายที่สุด ให้คนได้รับผลประโยชน์สูงสุด ซึ่งสาธารณชนต้องเข้าใจด้วยว่าระบบนี้วิธีการนี้ ไม่มีการคอร์รัปชัน ในเชิงปฏิบัติไม่มีที่ให้ประชาชนต้องสงสัยว่าใครได้อะไร เป็นเรื่องที่ธรรมดา เรื่องทุจริต ประพฤติมิชอบ ตนก็ไม่สบายใจ แต่ไม่ต้องห่วง ส่วนแอปพลิเคชันเป๋าตังมีส่วนร่วมแน่นอน เพราะเป็นเรื่องของการให้ความสะดวกและง่ายให้กับประชาชนใช้นโยบายนี้ได้อย่างสบายใจ ส่วนการกำหนดพื้นที่การใช้ หรือการระบุให้ถอนใช้เป็นเงินสด แล้วไปใช้ที่จังหวัดอื่นนั้นตนบอกว่าไม่ได้ อย่างที่ จ.เชียงใหม่หรือ กทม. เมืองเหล่านี้เขียวอยู่แล้ว อยากให้ไปใช้ในเมืองที่มีจีดีพีรายได้ต่อหัวต่ำ อยากให้หญ้าพื้นที่ตรงนั้นเขียว ก็จะทำให้ชุมชนและเศรษฐกิจพื้นที่เหล่านั้นเฟื่องฟูลืมตาอ้าปากได้ ส่วนที่มีการบอกว่าให้ไปซื้อของออนไลน์ได้นั้น ตอบไม่ได้หมดตรงนี้
 
นายกรัฐมนตีกล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำเรื่องใหญ่ ๆ อย่างนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีผู้มีความรู้ต่าง ๆ มากมายที่ให้คำแนะนำ ซึ่งรัฐบาลเองก็ต้องรับฟังทุกส่วน และเป็นคนตัดสินว่าตรงไหนมีความเหมาะสมมากที่สุด ไม่ได้มีความตั้งใจที่จะไม่ทำ ไม่รับฟังหรือดื้อที่จะทำ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เศรษฐศาสตร์ ไม่ใช่คณิตศาสตร์ เพราะคณิตศาสตร์ 1 + 1 เป็นสอง ส่วนเศรษฐศาสตร์เขามีมุมมองของแต่ละคน อย่างที่ได้คุยกับผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ เป็นการคุยกันแบบผู้ใหญ่ คุยกันด้วยความเข้าใจที่ตรงกัน คุยกันด้วยดี และมีความเข้าใจซึ่งกันและกัน สำคัญที่สุดคือต้องเดินไปข้างหน้าด้วยกัน วันนี้ประชาชนเดือดร้อนกันมากแล้ว ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าจีดีพีเฉลี่ย 10 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 1.8% ถึงเวลาแล้วที่จะต้องแก้ไขตรงนี้และทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนดีขึ้น ขอย้ำว่า เรามาวันนี้ มาตรงนี้เพื่อที่จะทำ ซึ่งเรื่องความยุติธรรม ความซื่อสัตย์สุจริตในการบริหารจัดการปัญหาเหล่านี้ต้องไม่ให้สังคมมีข้อกังขา ก็พยายามทำให้ดีที่สุด หลายเรื่องก็ต้องพยายามทำไป วันเสาร์อาทิตย์รัฐมนตรีหลายท่านก็ทำงาน ไม่มีที่จะไม่เห็นความสำคัญเรื่องเหล่านี้ และสำหรับตนไม่มีสิทธิ์เหนื่อย อาสาเข้ามาแล้วก็ต้องทำ ถ้าเหนื่อยก็พัก ไม่เป็นไร


ที่มาเรียบเรียงจากเว็บไซต์สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล [1] [2] [3]

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net