Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 20 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบให้ตั้งคณะ กมธ.วิสามัญศึกษาโครงการแลนบริดจ์ภาคใต้ เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน เพื่อศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ความคุ้มค่าของงบประมาณลงทุน และผลตอบแทนทางเศรษฐกิจในทุกมิติ หวังให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนในพื้นที่และประเทศชาติ

เว็บไซต์สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา รายงานว่าเมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2566 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายพิเชษฐ์  เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยมีวาระพิจารณาญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาการเชื่อมสะพานเศรษฐกิจเพื่อเชื่อมภูมิภาคระหว่างฝั่งอันดามันและอ่าวไทย โดย นายสฤษฏ์พงษ์  เกี่ยวข้อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จังหวัดกระบี่ พรรคภูมิใจไทย เป็นผู้เสนอ โดยประธานที่ประชุมฯ ได้ขอให้ที่ประชุมให้นำญัตติ 4 ฉบับ ที่มีเนื้อหาทำนองเดียวกันมาพิจารณารวมกัน

นายสฤษฏ์พงษ์ กล่าวชี้แจงสาระสำคัญของญัตติดังกล่าวว่า เนื่องจากกระทรวงคมนาคมมีโครงการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้นประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาลงทุน (Business Development Model) โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมโยงขนส่งระหว่างอ่าวไทยและทะเลอันดามัน (Land Bridge) เป็นการเชื่อมระบบท่อแก๊ส น้ำทะเล น้ำจืด ซึ่งถือเป็นการเชื่อมต่อภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่จากจังหวัดชุมพรไปยังจังหวัดระนอง เพื่อยกระดับท่าเรือสินค้า และดำเนินการตามแผนขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน (Southern Economic Corridor : SEC) หากโครงการแล้วเสร็จประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมในภูมิภาค จะช่วยเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในพื้นที่ภาคใต้ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเกือบ 500,000 ล้านบาท รวมทั้งเป็นการเชื่อมโยงในภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมทุกภาคส่วน อีกทั้งในการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจดังกล่าว จะต้องมีกฎหมายควบคุมและบังคับใช้เป็นการเฉพาะเช่นเดียวกับระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC)

ด้านนางสาวศิริกัญญา  ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายญัตติดังกล่าวว่า ที่ผ่านมามีการศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจในการลงทุนโครงการแลนด์บริดจ์มาแล้วหลายครั้ง เช่น รายงานที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ว่าจ้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ทำการศึกษาเมื่อเดือน เม.ย.65 และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ศึกษาในปีงบประมาณ 2566 โดยทั้งรายงานทั้ง 2 ฉบับ มีการประเมินความคุ้มค่าของโครงการนี้แตกต่างกัน โดยรายงานฉบับของสภาพัฒน์ฯ ระบุว่าโครงการแลนด์บริดจ์ไม่คุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์และไม่เหมาะที่จะลงทุน เช่นเดียวกับโครงการคลองไทยที่ไม่คุ้มค่ายิ่งกว่า ขณะที่รายงานของ สนข.กลับระบุว่าโครงการแลนด์บริดจ์คุ้มค่ามาก มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจเป็นอัตราการคืนทุนอยู่ที่ 16.18% ภายในระยะเวลา 40-49 ปี นอกจากนี้ ยังมีผลการศึกษาล่าสุดของคณะรัฐมนตรีที่ระบุว่า โครงการแลนด์บริดจ์คุ้มค่ามาก มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจเป็นอัตราการคืนทุนถึง 17.43% ภายในระยะเวลา 24 ปี ดังนั้น สภาผู้แทนราษฎร จึงจำเป็นต้องตั้งคณะ กมธ.วิสามัญ เพื่อศึกษาลงรายละเอียดต่อไป

อย่างไรก็ตาม มี สส. หลายคนอภิปราย ให้ข้อเสนอแนะว่า โครงการแลนด์บริดจ์เป็นโครงการที่มีประโยชน์เพราะเป็นการพัฒนาพื้นที่เชื่อมเส้นทางเชื่อมระหว่างจังหวัดชุมพรและจังหวัดระนอง เพื่อเป็นศูนย์ทางโลจิสติกส์ เชื่อมโยงการเดินทางทางเรือ ประชาชนจะได้รับผลประโยชน์อย่างมาก เกิดการจ้างงานในพื้นที่ พลิกฟื้นเศรษฐกิจภาคใต้ ส่วนข้อกังวลว่าโครงการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และอุทยานแห่งชาติหลายแห่งนั้น จำเป็นต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่มีความเข้าใจ รวมถึงกรณีที่หากต้องมีการเวนคืนพื้นที่ด้วย เพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่ ที่อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนทั้งในมิติเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้โครงการนี้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนในพื้นที่กับประเทศชาติ และมีความคุ้มค่ากับงบประมาณในการลงทุน และต้องมีการชดเชยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างยุติธรรม

ภายหลังจาก สส. อภิปรายเสร็จสิ้นแล้ว ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติเห็นชอบให้ตั้งคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาการเชื่อมสะพานเศรษฐกิจเพื่อเชื่อมภูมิภาคระหว่างฝั่งอันดามันและอ่าวไทย จำนวน 35 คน กำหนดระยะเวลาพิจารณา 90 วัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net