Skip to main content
sharethis

ศาลครอบครัวของญี่ปุ่นตัดสินให้กฎหมายที่บังคับให้บุคคลต้องผ่าตัดแปลงเพศก่อนถึงจะเปลี่ยนเพศสภาพทางกฎหมายได้ ขัดรัฐธรรมนูญ หลังถูกชายข้ามเพศยื่นฟ้องร้อง ถือเป็นก้าวสำคัญต่อสิทธิการรับรองเพศสภาพในญี่ปุ่น

 

20 ต.ค. 2566 ศาลครอบครัวของญี่ปุ่นตัดสินคว่ำกฎหมายที่บังคับให้บุคคลต้องผ่าตัดแปลงเพศก่อนถึงจะเปลี่ยนเพศสภาพทางกฎหมายได้ โดยให้เหตุผลว่ากฎหมายนี้ขัดต่อหลักรัฐธรรมนูญ

คำตัดสินนี้เป็นการสื่อว่าศาลยอมรับให้คนข้ามเพศและบุคคลที่แสดงออกทางเพศแบบไม่ตรงกับขนบของสังคมที่เป็นพลเมืองชาวญี่ปุ่น สามารถเปลี่ยนแปลงเพศในเอกสารราชการของตัวเองได้โดยไม่ต้องผ่านการผ่าตัดอวัยวะเพศของตัวเอง เรื่องนี้ได้รับการชื่นชมจากกลุ่มส่งเสริมสิทธิ LGBTQ+ ว่าเป็นหมุดหมายความก้าวหน้าสำคัญ

เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นหลังจากที่ ชายข้ามเพศ เกน ซูซุกิ ได้ยื่นเรื่องขอให้มีการเปลี่ยนเพศตัวเองเป็นชายบนเอกสารราชการเมื่อปี 2564

ซูซุกิ อายุ 40 ปี เคยได้รับการวินิจฉัยว่ามีความทุกข์ใจในเพศสภาพ (gender dysphoria) เคยรับการบำบัดด้วยฮอร์โมนเพศ และได้รับการผ่าตัดหน้าอกมาก่อน เขารู้สึกไม่สบายใจที่จะเข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศอวัยวะเพศของตัวเอง

ในกฎหมายปัจจุบันของญี่ปุ่นยังคงระบุให้ผู้ที่มีความทุกข์ใจในเพศสภาพต้องทำการผ่าตัดแปลงเพศในแบบที่จะเป็นการจำกัดความสามารถในการสืบพันธุ์ เพื่อเป็นเงื่อนไขหนึ่งในการที่จะอนุญาตให้พวกเขาเปลี่ยนแปลงเพศสภาพได้

ซูซุกิ โต้แย้งว่าข้อกำหนดเงื่อนไขแบบนี้เป็นเงื่อนไขที่ไร้มนุษยธรรมและไม่เป็นไปตามหลักรัฐธรรมนูญ

กฎหมายดังกล่าวของญี่ปุ่นที่ออกมาเมื่อปี 2546 ยังได้กำหนดเงื่อนไขอื่นๆ อีกเช่น การที่คนข้ามเพศต้องได้รับการวินิจฉัยว่ามีความทุกข์ใจในเพศสภาพจากแพทย์อย่างน้อย 2 คน ต้องมีอายุ 18 ปี ขึ้นไป  และจะต้องไม่เป็นบุคคลที่แต่งงานอยู่ และไม่มีลูกที่อายุต่ำกว่าเกณฑ์

เมื่อวันที่ 12 ต.ค. ที่ผ่านมา ศาลครอบครัวที่จังหวัดชิซุโอกะก็ได้สนับสนุนคำร้องของซูซุกิ โดยระบุเห็นชอบว่าการกำหนดเงื่อนไขว่าต้องทำการผ่าตัดแปลงเพศก่อนถึงจะสามารถเปลี่ยนแปลงเพศทางกฎหมายได้นั้น "ชวนให้ตั้งคำถามถึงความจำเป็นและความสมเหตุสมผล" ทั้งจากมุมมองทางการแพทย์และมุมมองทางสังคม

ซูซุกิพูดถึงคำตัดสินที่ชวนให้มีความหวังกับอนาคตนี้ว่า "ผมอยากให้เด็กๆ ยังคงเก็บรักษาความหวังของพวกเขาเอาไว้ ผมต้องการที่จะเห็นสังคมที่มีการยอมรับความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องปกติทั่วไป"

คำตัดสินดังกล่าวนี้ออกมาในช่วงเดียวกับที่ศาลสูงสุดของญี่ปุ่นกำลังพิจารณาคดีที่ใกล้เคียงกัน สำหรับกรณีของศาลสูงสุดนี้เป็นกรณีที่ผู้หญิงข้ามเพศรายหนึ่งระบุว่าเธอ "ใช้ชีวิตในสังคมเป็นผู้หญิง" แต่กลับถูกระบุในทะเบียนครอบครัวว่าเป็นชายเพราะเธอยังไม่ได้ผ่าตัดอวัยวะเพศ

ทีมทนายของหญิงข้ามเพศรายดังกล่าวนี้โต้แย้งว่ากฎหมายในปัจจุบันละเมิดสิทธิในการแสวงหาความสุขและสิทธิในการมีชีวิตอยู่โดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติ

นอกจากนี้ทีมทนายของหญิงข้ามเพศรายดังกล่าวยังระบุอีกว่าโจทก์ของพวกเขาเผชิญกับ "ความเสียเปรียบอย่างมีนัยสำคัญ, ความยากลำบาก และ ทุกข์ทางอารมณ์" เนื่องมาจาก "ความแตกต่างกันระหว่างเพศสภาพที่เธอใช้ชีวิตอยู่ในสังคม กับเพศสภาพที่กฎหมายระบุให้เธอเป็น" คำตัดสินในคดีนี้น่าจะออกมาภายในช่วงก่อนสิ้นปีนี้

ถ้าหากว่ามีคำตัดสินออกมาในเชิงที่สนับสนุนคำร้องของโจทก์ก็จะทำให้ญี่ปุ่นปรับตัวตามทันแนวทางของโลก อย่างขององค์การอนามัยโลกและของสำนักงานสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ และขององค์กรนานาชาติอีกหลายแห่ง ที่เคยเรียกร้องเมื่อปี 2557 ให้มีการขจัดการบังคับ ขู่เข็ญ ให้ทำหมันหรือให้ทำโดยไม่สมัครใจ

นอกจากนี้การปรับปรุงกฎหมายยังจะนับเป็นชัยชนะของชุมชน LGBTQ+ ในญี่ปุ่นด้วย ซึ่งในปีนี้ความฝันที่ญี่ปุ่นจะได้รับการรับรองเรื่องสมรสเท่าเทียมกลับเข้าใกล้ความเป็นจริงมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว จากเดิมที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศ G7 ประเทศเดียวที่ยังไม่มีการรับรองสมรสเท่าเทียม แต่เมื่อเดือน พ.ค. 2566 ศาลสองแห่งได้ตัดสินว่าการสั่งห้ามการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันเป็นสิ่งที่ผิดหลักการรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น

ในตอนนี้คู่รักเพศเดียวกันในญี่ปุ่นยังทำได้มากที่สุดแค่จดทะเบียนคู่ชีวิตได้แค่ในบางพื้นที่ เช่น ที่โตเกียว เท่านั้น ในขณะที่รัฐธรรมนูญของญี่ปุ่นระบุว่าการแต่งงานเป็นเรื่องระหว่างชายกับหญิง อย่างไรก็ตามจากการสำรวจความคิดเห็นของ Ipsos ระบุว่ามีประชากรญี่ปุ่นอย่างน้อยร้อยละ 69 ที่ยอมรับการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกัน มีเพียงแค่ร้อยละ 6 เท่านั้นที่ต่อต้านความคิดนี้

 

 

เรียบเรียงจาก

Japan: Family court rules it’s unconstitutional to require surgery for gender change, Pink News, 16-10-2023

https://www.thepinknews.com/2023/10/16/japan-surgery-gender-change-unconstitutional

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net