Skip to main content
sharethis

ทนายความเผย ประชาชนเสียค่าคัดถ่ายเอกสาร EIA 'ผันน้ำยวม' 5,000 หน้า ให้ สผ. (สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) จำนวน 20,526 บาท ชี้ ได้ EIA ฉบับถมดำ มีการปกปิดข้อมูลหลายจุด ระบุ มีข้อมูลเท็จอ้างภาพ 3 นักวิชาการ สมชาย ปรีชาศิลปกุล, อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์, ชยันต์ วรรธนะภูติ ลงใน EIA ทั้งที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง

 

18 ต.ค. 2566 เวลา 10.00 น. ที่ศาลปกครอง เชียงใหม่ เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน จำนวน 66 คนลงชื่อเป็นโจทก์ยื่นฟ้องศาลปกครองเชียงใหม่ “ยกเลิก” โครงการผันแม่น้ำยวมของกรมชลประทาน รวมทั้งขอ “เพิกถอน” EIA โครงการที่ขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชน และมีการระบุข้อมูลอันเป็นเท็จ

ส.รัตนมณี พลกล้า ตัวแทนทนายความผู้ฟ้องคดีให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชลว่า วันนี้ (18 ต.ค. 2566) ที่มาเนื่องจากโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล หรือโครงการผันแม่น้ำยวม จริงๆเป็นโครงการที่มีมานานแล้ว แต่เพิ่งเริ่มมีการทำ EIA กันในช่วงปี 2559 ถึง ปี 2563 มีการพิจารณาผ่าน EIA กันในปี 2564 โดย คชก. (คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม)

ทางประชาชนที่ได้รับผลกระทบพยายามเข้าไปมีส่วนร่วมกับโครงการโดยการขอข้อมูล แต่ว่า EIA ที่ผ่านมาพี่น้องก็ไม่ได้ มาได้ตอนปี 2564 ก็เป็นฉบับถมดำ ก็คือมีข้อมูลไม่ครบและมีการปกปิดข้อมูล ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้ จนกระทั่งเราได้เอกสารในเดือนกรกฎาคมปีนี้ (2566) จากกรมชลประทานส่งมาให้ ทั้งๆ ที่ EIA ผ่านไปแล้วเกือบ 2 ปี

ทนายความตั้งข้อสังเกตว่า ในเนื้อหาของ EIA มีข้อเท็จจริงที่มีปัญหาอยู่หลายประเด็น

“โดยเฉพาะเรื่องของการรับฟังความคิดเห็นที่มีการอ้างว่าไปพบคนนั้นคนนี้ เป็นที่มาของการมีการพูดกันเรื่อง EIA ร้านลาบ จริงๆ หนึ่งในผู้ฟ้องคดีของเรายืนยันว่าเป็นเพียงการที่เพื่อนชวนไปกินข้าว แล้วมีเจ้าหน้าที่มา แต่ไม่ได้บอกเลยว่าการมาครั้งนั้นจะถ่ายรูปแล้วเอาไปลงรายงาน

 

ที่เราเจอมากกว่านั้น เราพบว่ามีภาพที่อ้างไปรับทราบข้อมูลพูดคุยเรื่องสาระวิน โดยการเสวนาเกี่ยวกับสาระวิน แต่ปรากฏว่าภาพนั้นเป็นภาพที่มีการจัดเสวนาเรื่องเขื่อนน้ำโขง คนละเรื่อง คนละวัน คนละปี ที่สำคัญในภาพมีอาจารย์สมชาย (สมชาย ปรีชาศิลปกุล) อาจารย์อรรถจักร (อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์) อาจารย์ชยันต์ (ชยันต์ วรรธนะภูติ) อยู่ในนั้นด้วย เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมากที่เราเห็นว่าคุณจะทำงานแบบนี้ไม่ได้ ข้อเท็จจริงพวกนี้ใน EIA มีปัญหาแน่นอน เพราะใช้ข้อมูลที่เป็นเท็จ” ส.รัตนมณี กล่าว

ทนายความระบุว่า ประเด็นที่ฟ้องคือหนึ่งรายงาน EIA ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะมีใช้ข้อมูลที่เท็จ และในกระบวนการพิจารณา EIA ไม่เปิดช่องให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการเข้าไปให้ข้อมูล

“รวมทั้งขอ EIA มาก็ได้แบบถมดำ กว่าจะได้มาก็ยากลำบาก พี่น้องต้องรวมเงินกัน ขอรับเงินบริจาคในครั้งแรก 20,000 บาท เพื่อจะขอคัดถ่าย EIA จาก สผ. (สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)” ส.รัตนมณี กล่าว

ใบเสร็จค่าขอคัดถ่ายเอกสาร EIA โครงการผันน้ำยวม

ส่วนหนึ่งของการถมดำข้อมูลใน EIA โครงการผันน้ำยวม

นอกจากนี้ ประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใช้ภาษาไทยได้น้อยมาก การมีล่ามในการจัดรับฟังความคิดเห็นเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องมี ทนายความระบุว่า ในการจัดรับฟังความคิดเห็นครั้งแรกไม่มีล่าม ครั้งต่อมามีการจัดหาล่ามมา แต่เป็นคนละภาษากัน ทำให้สื่อสารกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบไม่ได้

ส.รัตนมณีกล่าวว่า โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล หรือโครงการผันแม่น้ำยวม เป็นโครงการที่ถูกโต้แย้งและตั้งคำถามจากหลายฝ่ายในเรื่องความคุ้มทุน การได้สัดส่วน แต่ EIA โครงการก็ยังผ่านออกไป และปัจจุบันโครงการอยู่ระหว่างการเตรียมลงทุน ทำให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบไม่อาจรอได้ จึงได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง

การยื่นฟ้องคดีครั้งนี้มีตัวแทนประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน รวม 66 คน เป็นผู้ฟ้องคดี โดยมีผู้ถูฟ้องคดี 5 ราย ได้แก่ กรมชลประทาน, คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ, สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี โดยมีผู้รับมอบอำนาจผู้ฟ้องคดี ได้แก่ ส.รัตนมณี พลกล้า, ธรธรร การมั่งมี, เฉลิมศรี ประเสริฐศรี, ทนายความเครือข่าย และนักกฎหมายของมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน เป็นผู้รับมอบอำนาจในการดำเนินคดีแทนผู้ฟ้องคดี

ผู้ฟ้องคดีขอศาลได้โปรดพิจารณาพิพากษา ดังนี้

1 ขอให้พิพากษาว่า โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล เป็นโครงการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการดำเนินการต่างๆของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าเกี่ยวกับโครงการเป็นการดำเนินการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขอให้เพิกถอน/ยกเลิกโครงการดังกล่าวเสีย

2 ขอให้พิพากษาว่า การจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ของโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล เป็นรายงานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขอให้เพิกถอนรายงานและการให้ความเห็นชอบดังกล่าวเสีย

3 ขอให้พิพากษาว่า การจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนของโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล เป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขอให้เพิกถอนการดำเนินการดังกล่าวเสีย

4 ขอให้พิพากษาว่า ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้า ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง การแจ้งข้อมูลและการเผยแพร่ข้อมูลอย่างเหมาะสมและจริงจัง จัดให้มีกระบวนการมีส่วนร่วม และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ก่อนที่จะดำเนินการและระหว่างดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับการดูแล ปกป้อง รักษาแม่น้ำยวม แม่น้ำเงา แม่น้ำเมย และแม่น้ำสาละวิน

5 ขอให้พิพากษาว่า ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้า ดำเนินการออกกฎหมาย หรือกฎ หรือระเบียบ เพื่อดำเนินการการคุ้มครอง อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ในลุ่มแม่น้ำแม่น้ำยวม แม่น้ำเงา แม่น้ำเมย และแม่น้ำสาละวิน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net