Skip to main content
sharethis

เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน ร้องผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบ EIA ผันน้ำยวม ชี้คลาดเคลื่อน-ผิดพลาดร้ายแรง-ขาดการมีส่วนร่วม ผู้ใหญ่บ้านแฉกดตัวเลขผู้ได้รับผลกระทบต่ำกว่าความเป็นจริง

 

1 มิ.ย. 2566 สำนักข่าวชายขอบรายงานว่า ระหว่างวันที่ 29-30 พฤษภาคม 2566 คณะทำงานเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน ซึ่งประกอบด้วยชาวบ้านใน 3 จังหวัดภาคเหนือได้แก่เชียงใหม่ ตากและแม่ฮ่องสอน รวมถึงนักวิชาการ นักกฎหมายและตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคม รวม 30 คนได้จัดประชุมขึ้นที่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ และได้ส่งหนังสือร้องเรียนยังผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้ตรวจสอบโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล แนวผันน้ำยวม (หรือ โครงการผันน้ำยวม) และทุกโครงการที่เกี่ยวข้อง

หนังสือดังกล่าวระบุว่า เครือข่ายฯ ได้ติดตามโครงการผันน้ำยวม มาอย่างต่อเนื่องด้วยความกังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และมีคำถามต่อผลประโยชน์ของโครงการที่ระบุไว้ จึงขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินดำเนินการ ดังนี้

1. ตรวจสอบโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ของกรมชลประทาน ในเรื่องความคุ้มทุนทางเศรษฐศาสตร์ และผลประโยชน์ของโครงการที่ระบุไว้ ซึ่งสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดิน สร้างผลกระทบต่อประชาชนและทรัพยากรธรรมชาติ

2. ตรวจสอบรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล ฉบับสิงหาคม 2564 ซึ่งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและคณะกรรมการผู้ชำนาญการ ในปี 2564 ซึ่งอนุมัติโดยรายงานดังกล่าวขาดความสมบูรณ์ตามมาตรฐานการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ดังที่ระบุไว้ข้างต้น  3. ตรวจสอบกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน และการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการดำเนินโครงการ ของกรมชลประทาน 4. ตรวจสอบทุกโครงการที่เกี่ยวข้อง อาทิ โครงการสายส่งไฟฟ้าแรงสูงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นต้น

หนังสือดังกล่าวยังระบุว่าเครือข่ายฯ ทราบว่าโครงการดังกล่าวผลักดันโดยกรมชลประทาน โดยได้มีการทำโครงการศึกษาวิเคราะห์โครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (4Ps) แล้วพบว่า ค่าใช้จ่ายโครงการ งานดำเนินงาน บำรุงรักษา และค่าลงทุนจะสูงถึง 1.7 แสนล้านบาท ซึ่งยังไม่เคยมีการลงทุนในลักษณะนี้โดยเอกชนมาก่อน และไม่ชัดเจนว่าเอกชนจากชาติไหนจะมาลงทุนดังกล่าว นอกจากนี้กฟผ. กำลังดำเนินงานการศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) สำหรับโครงการระบบโครงข่ายไฟฟ้า 230 กิโลโวลต์ ลำพูน-สบเมย (ส่วนที่พาดผ่านพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการผันน้ำยวมด้วย นั้นประชาชนในพื้นที่มีความเห็นว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวจะส่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างรุนแรงและกว้างขวาง

หนังสือระบุว่า ตลอดระยะเวลาอย่างน้อย 6 ปีที่ผ่านมา ทางเครือข่ายฯ ได้ยื่นหนังสือต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบ อาทิ กรมชลประทาน สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะรัฐมนตรี เพื่อแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการดำเนินโครงการผันน้ำยวมข้ามลุ่มน้ำดังกล่าวตลอดมา เนื่องจากเห็นว่า ไม่มีความไม่จำเป็น ไม่เหมาะสม และไม่สอดคล้องกับหลักการจัดการทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำ พร้อมทั้งยังขอให้มีการทบทวนรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และกระบวนการที่เกี่ยวข้อง ให้มีการศึกษาที่ครอบคลุมรอบด้านในทุกมิติ และจะเป็นการใช้งบประมาณแผ่นดินที่จะไม่เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า

“เครือข่ายฯ มีความกังวลในหลายประเด็นสำคัญ ได้แก่ กระบวนการจัดทำ EIA บกพร่องและผิดพลาดอย่างร้ายแรง ขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยเฉพาะชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ ความเห็นต่างๆ ของผู้ได้รับผลกระทบที่ได้เสนอไปไม่ได้รับการพิจารณาไว้ในรายงาน EIA กระบวนการจัดทำและเนื้อหาในรายงาน EIA ผิดพลาดจากข้อเท็จจริง ไม่ครอบคลุมพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบอย่างครบถ้วน ขาดความน่าเชื่อถือ ไม่มีความโปร่งใส มีข้อมูลเท็จ ไม่เป็นไปตามมาตรฐานของกระบวนการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม เมื่อรายงาน EIA มีช่องโหว่หรือข้อบกพร่องสำคัญในลักษณะดังกล่าว ย่อมไม่สมควรที่จะใช้เป็นฐานในการตัดสินใจผลักดันโครงการที่มีมูลค่างบประมาณสูงถึงเกือบสองแสนล้านบาท แต่รายงานฉบับนี้กลับได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ แม้จะมีการส่งหนังสือทักท้วงอย่างต่อเนื่องจากประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ” หนังสือร้องเรียนระบุ

หนังสือระบุว่า ชาวบ้านจำนวนมากในพื้นที่ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากโครงการ เป็นป่ารอยต่อ 3 จังหวัด (เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก) ต่างได้พึ่งพาอาศัยทรัพยากรธรรมชาติ ดังนั้น การมีโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ สร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำ เจาะอุโมงค์ทะลุภูเขา ผืนป่า และต้นน้ำลำธาร เป็นระยะทางกว่า 62 กิโลเมตร การเข้ามาของคนงานก่อสร้างจำนวนมหาศาลในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ การตัดถนนและการจราจรของรถขนวัสดุก่อสร้าง การทิ้งกองดินและวัสดุปริมาณมหาศาล การตัดไม้ทำลายป่าเพื่อทำสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ฯลฯ จะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพระบบนิเวศป่าที่ชาวบ้านใช้ทำมาหากิน เลี้ยงสัตว์ การเกษตร มีผืนป่าเป็นฐานทรัพยากรในการเลี้ยงชีพ อันเป็นผลกระทบโดยตรงจากโครงการ โดยความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบระยะยาวนี้ไม่เคยมีการศึกษาหรือรวมไว้ในต้นทุนของโครงการแต่อย่างใดทั้งสิ้น  

วันไชย ศรีนวน ผู้ใหญ่บ้านแม่งูด ต.นาคอเรือ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ และตัวแทนเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน จาก จ.เชียงใหม่ จ.ตาก และ จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวว่าขณะนี้ชาวบ้านต้องการความชัดเจนของโครงการดังกล่าวเนื่องจากใน EIA ระบุว่าชาวบ้านนาคอเรือ อ.ฮอด จะได้รับผลกระทบจากจุดทิ้งกองดินในการขุดอุโมงค์เพียง 3 รายแต่ในงานวิจัยของคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่ามีชาวบ้านอย่างน้อย 200 รายที่ใช้น้ำจากลำห้วยแม่งูดทำสวนเกษตรโดยเฉพาะลำไยที่เป็นพืชเศรษฐกิจของชุมชน

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net