Skip to main content
sharethis

กสม. ตรวจสอบกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ. หาดใหญ่ ควบคุมตัวผู้ต้องหาหญิงปะปนกับชาย แนะ ตร. กำหนดมาตรฐานที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงความละเอียดอ่อนทางเพศภาวะ - เสนอกรมชลประทานทบทวนโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวมฯ ชี้ขาดการมีส่วนร่วม หนุนจัดทำแผนแม่บทลุ่มน้ำตามกลไกพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แจ้งข่าวว่าเมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2566 กสม. โดยนายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนางปรีดา  คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 36/2566 โดยมีวาระสำคัญดังนี้

1. กสม. ตรวจสอบกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ. หาดใหญ่ ควบคุมตัวผู้ต้องหาหญิงปะปนกับชาย แนะกำหนดมาตรฐานที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงความละเอียดอ่อนทางเพศภาวะตามหลักสากล

นายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องหญิงรายหนึ่ง ระบุว่า เมื่อเดือนมิถุนายน 2564 ผู้ร้องเดินทางไปสถานีตำรวจภูธรหาดใหญ่ เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาในความผิดฐานร่วมกันประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาตจากสภาสถาปนิก ซึ่งผู้ร้องให้การรับสารภาพ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจภูธรหาดใหญ่ (ผู้ถูกร้อง) ได้นัดหมายให้ผู้ร้องมาพบอีกครั้งในวันถัดมา แต่เมื่อผู้ร้องมาถึงในวันนัดหมาย ผู้ถูกร้องได้ควบคุมตัวผู้ร้องไว้รวมกับผู้ต้องหาชายรายอื่นในรถ โดยให้นั่งรถรวมกันไปยังสำนักงานอัยการคดีศาลแขวงสงขลา และจอดรถไว้กลางแดดเป็นเวลานานถึง 3 ชั่วโมง ผู้ร้องเห็นว่าตนได้ให้ความร่วมมือโดยตลอดและเข้าพบเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยตนเอง ไม่คิดจะหลบหนี มีหน้าที่การงานและที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับปฏิบัติต่อผู้ร้องเยี่ยงอาชญากรทั้งที่ข้อหาไม่ร้ายแรงและสามารถแจ้งให้ผู้ร้องไปพบที่สำนักงานอัยการหรือศาลด้วยตนเองได้ จึงขอให้ตรวจสอบ

กสม. เห็นว่า กรณีตามคำร้องมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า การนำตัวผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ต้องหาหญิงส่งฟ้องต่อโดยใช้วิธีการควบคุมตัวบนรถยนต์รวมกับผู้ต้องหาชาย เป็นการก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความปลอดภัยในชีวิตและร่างกายหรือไม่ เห็นว่า เมื่อผู้ร้องเดินทางมาพบพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจภูธรหาดใหญ่ ซึ่งพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหา และสอบปากคำ โดยไม่มีการจับกุมแล้ว พนักงานสอบสวนย่อมมีหน้าที่ส่งสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการ พร้อมกับสั่งให้ผู้ร้องไปพบพนักงานอัยการ แต่พนักงานสอบสวนกลับนัดให้ผู้ร้องมาพบที่สถานีตำรวจอีกครั้งในวันถัดมา เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนในการส่งมอบสำนวนการสอบสวน (ฟ้องด้วยวาจา) ไปยังพนักงานอัยการพร้อมกับตัวผู้ร้อง โดยเจ้าหน้าที่ได้นำตัวผู้ร้องขึ้นรถที่จัดไว้สำหรับนำส่งตัวผู้ต้องหาที่ถูกควบคุมตัวในคราวเดียวกัน ร่วมกับผู้ต้องหาชายอีก 4 คน ซึ่งมีทั้งผู้ต้องหาคดียาเสพติด คดีหมิ่นเจ้าพนักงาน และคดีทะเลาะวิวาทโดยใช้อาวุธ ประกอบกับสภาพของรถที่ใช้ในการควบคุมและนำส่งผู้ร้องยังมีลักษณะเป็นรถกระบะที่มีห้องควบคุมตัวแบบปิดมิดชิด โดยไม่มีการแบ่งแยกสัดส่วนหรือพื้นที่ในการควบคุมตัวระหว่างผู้ต้องหาชายกับหญิงอย่างชัดเจน ทำให้ผู้ร้องซึ่งเป็นหญิงเกิดความรู้สึกหวาดกลัวและอยู่ในสภาวะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความปลอดภัยในชีวิตและร่างกาย

สำหรับประเด็นที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จอดรถไว้กลางแดดเป็นเวลานานนั้น ปรากฏข้อเท็จจริงอันเชื่อได้ว่า ผู้ร้องถูกควบคุมตัวไว้ในรถที่ใช้ในการนำส่งตัวผู้ต้องหาเป็นเวลานานถึง 3 ชั่วโมง นับตั้งแต่สำนักงานอัยการคดีศาลแขวงสงขลาได้รับสำนวนฟ้องด้วยวาจาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ถูกร้อง ณ เวลา 09.30 น. จนถึงช่วงเวลาเที่ยงวัน เนื่องจากในแต่ละวันสำนักงานอัยการคดีศาลแขวงสงขลาจะต้องพิจารณาสำนวนเพื่อส่งฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลหลายคดี และแต่ละคดีไม่สามารถกำหนดระยะเวลาที่ใช้ในการพิจารณาได้อย่างแน่นอน เป็นผลให้ผู้ร้องต้องอยู่ในรถควบคุมตัวที่มีสภาพไม่เหมาะสมสำหรับผู้ต้องขังหญิงเป็นระยะเวลานาน

กสม. เห็นว่า การดำเนินการของเจ้าหน้าที่ผู้ถูกร้องในลักษณะดังกล่าว เป็นวิธีการที่ไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้กับการควบคุมตัวผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ต้องหาหญิง และไม่ได้คำนึงถึงความละเอียดอ่อนด้านเพศสภาพ และเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามพฤติการณ์แห่งกรณี ซึ่งโดยทั่วไปแล้วผู้หญิงย่อมมีความจำเป็นและความต้องการเฉพาะด้านที่ต่างไปจากผู้ชาย ทั้งในเรื่องสุขอนามัย สภาพจิตใจ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความต้องการเกี่ยวกับความปลอดภัยและความเสี่ยงที่จะถูกล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งผู้ต้องขังต่างประเภทกันพึงแยกคุมขังไว้คนละแห่ง โดยคำนึงถึงเพศ อายุ ประวัติด้านอาชญากรรม เหตุผลในทางคดีในการคุมขัง และความจำเป็นต่าง ๆ ในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังเหล่านั้น ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องตระหนักถึงความเสี่ยงที่ผู้หญิงอาจถูกล่วงละเมิดขณะถูกควบคุมตัวช่วงก่อนและระหว่างการพิจารณาคดีด้วย ดังนั้น การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจภูธรหาดใหญ่ จึงเป็นการกระทำที่ไม่สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำแห่งองค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง (Mandela Rules) และข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง (United Nations Rules for the Treatment of Women Prisoners and Non - custodial Measures for Women Offenders) อันเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2566 จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนไปยังสถานีตำรวจภูธรหาดใหญ่ (สภ. หาดใหญ่) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) สรุปได้ ดังนี้

(1) ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติใช้ข้อมูลตามรายงานผลการตรวจสอบนี้ สอบสวนหาสาเหตุการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ. หาดใหญ่ นำตัวผู้ร้องซึ่งเป็นผู้หญิงไปควบคุมตัวบนรถยนต์ร่วมกับผู้ต้องหาชาย แล้วดำเนินการไปตามหน้าที่และอำนาจเพื่อไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในลักษณะนี้อีก และให้จัดรถที่เอื้อต่อความปลอดภัยและมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมให้ สภ. หาดใหญ่ใช้ในการนำส่งตัวผู้ต้องหาในจำนวนที่เพียงพอต่อการควบคุมตัวผู้ต้องหาหญิงแยกต่างหากจากผู้ต้องหาชาย รวมทั้งกรณีของผู้ต้องหาที่เป็นเด็กและเยาวชนด้วย

นอกจากนี้ ให้กำหนดมาตรการที่เหมาะสมในการควบคุมตัวผู้ต้องหาหญิงในชั้นพนักงานสอบสวน โดยคำนึงถึงความละเอียดอ่อนทางเพศภาวะ (gender sensitivity) และความต้องการหรือความจำเป็นเฉพาะของผู้หญิง โดยกำหนดเป็นนโยบายหรือแนวทางปฏิบัติในการนำส่งตัวผู้ต้องหาไปสำนักงานอัยการหรือศาล เพื่อประกันความปลอดภัยให้กับผู้ต้องหาผู้หญิง

(2) ให้สถานีตำรวจภูธรหาดใหญ่กำชับให้พนักงานสอบสวนและเจ้าหน้าที่ในสังกัด แจ้งให้ผู้ต้องหาทราบถึงสิทธิที่จะเดินทางไปพบพนักงานอัยการด้วยตนเองในกรณีที่ผู้ต้องหาไม่ได้ถูกจับกุมหรือควบคุมตัว และให้ใช้วิธีการนัดหมายกับพนักงานสอบสวนหรือเจ้าหน้าที่นำส่งสำนวนการสอบสวน

2. กสม. แนะกรมชลประทานทบทวนโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวมฯ ชี้ขาดการมีส่วนร่วม หนุนจัดทำแผนแม่บทลุ่มน้ำตามกลไกพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561

นางปรีดา  คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน เมื่อเดือนกันยายน 2564 ระบุว่า กรมชลประทาน (ผู้ถูกร้อง) มีแผนดำเนินโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล โดยว่าจ้างมหาวิทยาลัยและบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) เนื่องจากโครงการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชน ชุมชน ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดตาก รวมถึงส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่ในกระบวนการจัดทำรายงาน EIA โดยเฉพาะกระบวนการให้ข้อมูลและการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นไม่ได้มีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการอย่างแท้จริง รวมถึงขาดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการอย่างครบถ้วนรอบด้าน จึงขอให้ตรวจสอบ

กสม. ได้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวและเห็นว่า กรณีตามคำร้องมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่าการดำเนินการของกรมชลประทานเกี่ยวกับโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม–อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล มีการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือไม่ ใน 3 ประเด็น ดังนี้

(1) ความคุ้มค่าในการดำเนินโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม–อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล เห็นว่า หากมีการดำเนินโครงการย่อมส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่โครงการเป็นวงกว้าง แต่ในขณะเดียวกันข้อมูลปริมาณความต้องการใช้น้ำกับน้ำต้นทุนที่มีของลุ่มน้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับยังไม่สอดคล้องกัน อีกทั้งโครงการต้องใช้งบประมาณก่อสร้างรวมค่าดำเนินงานผันน้ำและบำรุงรักษา ในระยะเวลา 25 ปี สูงถึง 170,000 ล้านบาท นอกจากนี้หากมีการร่วมทุนระหว่างภาครัฐกับบริษัทเอกชนจากต่างชาติ อาจขัดต่อพันธกรณีของรัฐในการคุ้มครองสิทธิเรื่องน้ำ (Right to the water) ของประชาชนในประเทศ ซึ่งรัฐไม่ควรดำเนินกิจกรรมใด ๆ ที่จะเป็นการกีดกั้นหรือจำกัดสิทธิในการเข้าถึงน้ำ หรือเข้าไปแทรกแซงการจัดสรรน้ำที่เป็นวิถีหรือธรรมเนียมดั้งเดิมโดยพลการ จึงเห็นว่า โครงการดังกล่าวของกรมชลประทานยังขาดข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณน้ำและความต้องการใช้น้ำที่ชัดเจนครบถ้วนรอบด้าน โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำ จึงไม่อาจสร้างความเชื่อมั่นได้ว่าโครงการจะเป็นไปเพื่อความต้องการใช้น้ำที่แท้จริงหรือมีหลักประกันความคุ้มค่าในการดำเนินโครงการได้

(2) การดำเนินการด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนตามกระบวนการจัดทำรายงาน EIA จากการตรวจสอบ ปรากฏข้อเท็จจริงและข้อห่วงกังวลของผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่ในหลายประเด็น เช่น ความกังวลของชาวบ้านต่อการสูญเสียที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย และวิถีชีวิตของคนในชุมชน โดยเฉพาะวิถีชีวิต วัฒนธรรม และพื้นที่ทางจิตวิญญาณของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่มีความเชื่อเรื่องสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติและเป็นการกระทบต่อพื้นที่เคารพบูชาของชาวชุมชน การเข้าไม่ถึงหรือไม่ได้รับทราบข้อมูลหรือบอกแจ้งข้อมูลข่าวสารล่วงหน้าหรือแจ้งล่วงหน้ากระชั้นชิดเพียง 1 วัน การจัดเวทีในช่วงฤดูฝนซึ่งเป็นช่วงที่เดินทางยากลำบาก การกำหนดเขตสำรวจศึกษาไม่ครอบคลุมพื้นที่และจำนวนคนตลอดทั้งแนวโครงการ ขั้นตอนที่เจ้าหน้าที่เข้ามาพบปะแนะนำโครงการ แต่ถูกอ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการจัดรับฟังความคิดเห็น รูปแบบการสื่อสาร การใช้ภาษา การมีล่ามที่ยังไม่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งการให้ลงชื่อในเอกสารที่ชาวบ้านไม่ทราบว่าเป็นเอกสารเกี่ยวกับเรื่องใด ทำให้ไม่สามารถเข้าใจหรือแสดงความคิดเห็นต่อโครงการดังกล่าวได้อย่างเต็มที่ และขาดความเชื่อมั่นต่อข้อมูลในรายงาน EIA เป็นต้น

กสม. เห็นว่า การดำเนินการมีส่วนร่วมของประชาชนตามกระบวนการจัดทำรายงาน EIA โครงการของกรมชลประทาน ไม่สอดคล้องกับหลักการด้านสิทธิมนุษยชนที่บัญญัติรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ทั้งในส่วนสิทธิของบุคคลและชุมชนในการมีส่วนร่วมรักษา จัดการ และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หน้าที่ของรัฐในการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนหรือชุมชนผู้มีส่วนได้เสีย แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐในการส่งเสริมและให้ความคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ รวมทั้งปฏิญญาว่าด้วยสิทธิในการพัฒนา ซึ่งได้กล่าวถึงหน้าที่ของรัฐในการกำหนดนโยบายการพัฒนาที่เหมาะสมบนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมและมีการกระจายผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม จึงเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนและชุมชนในพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการ

(3) ประเด็นการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียหรืออาจได้รับผลกระทบจากโครงการ จากการตรวจสอบพบว่า ประชาชนได้มีหนังสือขอสำเนารายงาน EIA ฉบับที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการผู้ชำนาญการโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ (คชก.) เพื่อนำมาประกอบการพิจารณา แต่กลับได้รับรายงาน EIA ที่มีการปกปิดข้อมูลบางส่วน ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า การให้ข้อมูลของบุคคลที่ถูกอ้างอิงมีความถูกต้องหรือไม่ และข้อเท็จจริงที่ปรากฏในรายงาน EIA สอดคล้องกับข้อมูลในพื้นที่หรือไม่ จึงเห็นว่าการดำเนินการของกรมชลประทาน ไม่สอดคล้องกับสิทธิของบุคคลและชุมชนในการได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะของหน่วยงานรัฐ และหน้าที่ของรัฐในการส่งเสริมให้บุคคลและชุมชนได้รับข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยงานของรัฐก่อนการดำเนินการหรืออนุญาตในการดำเนินโครงการใดที่อาจมีผลกระทบต่อชุมชน ซึ่งจะต้องเป็นข้อมูลที่ชัดเจน ครบถ้วน ถูกต้องรอบด้าน ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ได้บัญญัติรับรองสิทธิไว้

จากเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2566 จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะไปยังกรมชลประทาน (ผู้ถูกร้อง) สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) สรุปได้ดังนี้

(1) ให้ กรมชลประทาน และ สทนช. ทบทวนโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม–อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล และเร่งดำเนินการจัดทำผังน้ำ และแผนแม่บทในระดับลุ่มน้ำในพื้นที่โครงการ ซึ่งประกอบด้วยลุ่มน้ำสาละวิน ลุ่มน้ำปิง และลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งในการดำเนินการต้องจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน คณะกรรมการลุ่มน้ำ องค์กรผู้ใช้น้ำ ผู้มีส่วนได้เสีย หน่วยงานของรัฐ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภายใต้วิธีการและกลไกตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนและนำไปสู่แผนการปฏิบัติด้านการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ซึ่งสอดรับกับสภาพพื้นที่และความต้องการของประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริง รวมถึงเพื่อให้เกิดการกระจายทรัพยากรน้ำอย่างเป็นธรรม

(2) กนช. ควรชะลอการพิจารณาโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม–อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล และควรมอบหมายให้ สทนช. เร่งดำเนินการจัดทำผังน้ำ และแผนแม่บทในระดับลุ่มน้ำในพื้นที่โครงการ ซึ่งประกอบด้วยลุ่มน้ำสาละวิน ลุ่มน้ำปิง และลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตามข้อ 1 ข้างต้น เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาแนวทางการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ดังกล่าวต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net