Skip to main content
sharethis

กรณีการหายตัวไปของผู้นำระดับสูงกองทัพจีน หลี่ฉางฟู กลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึง ซึ่งต่อมาเขาก็กลายเป็นผู้ต้องหาในคดีทุจริตคอร์รัปชั่นและถูกปลดจากตำแหน่ง แต่หลี่ฉางฟูก็เป็นแค่คนหนึ่งในกระแสการล้างบางคนในรัฐบาลจีน โดยสีจิ้นผิงที่อ้างเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นมาใช้เล่นงาน แต่ด้วยความไม่โปร่งใสก็ทำให้คนได้แต่คาดเดาว่าเป็นเพราะการทุจริตจริงหรือ


หลี่ฉางฟู รัฐมนตรีกลาโหมจีน | ที่มาภาพ: wikipedia

หลี่ฉางฟู รัฐมนตรีกลาโหมจีนหายตัวไปเป็นเวลาหลายสัปดาห์ก่อนหน้านี้ ในปัจจุบันเขาตกเป็นผู้ต้องหาที่ถูกสอบสวนในข้อหาทุจริตคอร์รัปชั่นและถูกขับออกจากตำแหน่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจำนวนมากในจีน จากการที่มีเจ้าหน้าที่ทางการรายอื่นๆ ถูกทำให้หายหน้าไปจากสาธารณชน ก่อนที่จะมีข่าวว่าพวกเขาถูกขับออกจากตำแหน่ง

มีการตั้งข้อสังเกตจากสื่อ Vox ว่าเรื่องการกวาดล้างคนในรัฐบาลด้วยข้ออ้างต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ไม่ใช่เรื่องใหม่ภายใต้ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ผู้ที่สร้างภาพลักษณ์ให้ตัวเองเป็นผู้ปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นที่แพร่กระจายในรัฐบาลจีนโดยเฉพาะในกองทัพจีน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

แต่พอสีจิ้นผิงสร้างภาพลักษณ์แบบนี้ มันก็กลับกลายเป็นการสื่อให้เห็นว่า ถึงแม้เขาจะพยายามสร้างภาพว่ามีการปราบปรามมากเท่าใดก็ตาม แต่ก็ยังคงมีการกระทำผิดเกิดขึ้นจากคนในระดับสูงของรัฐบาลและจากคนที่มองเห็นได้ง่ายที่สุดในกองทัพประชาชนจีน (PLA) ซึ่งการทุจริตเหล่านี้อาจจะกลายเป็นการขัดขวางเป้าหมายของสีจิ้นผิงที่ต้องการพัฒนากองทัพให้ทันสมัย

วาระการดำรงตำแหน่งของหลี่นั้นสั้นมาก เขาเพิ่งจะได้รับแต่งตั้งเข้าดำรงตำแหน่งเมื่อเดือน มี.ค. 2566 และหายหน้าไม่ปรากฏตัวต่อสาธารณะไม่นานนักหลังจากที่มีการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ 2 นาย จากกองกำลังขีปนาวุธของกองทัพจีนมาแทนที่ผู้ดำรงตำแหน่งเดิมเมื่อเดือน ก.ค. ที่่ผ่านมา กลไกการเมืองของจีนนั้นมีความโปร่งใสน้อยมากและมักจะถูกเปรียบเทียบได้กับเป็น "กล่องดำ" และในยุคสมัยของสีจิ้นผิง การไร้ความโปร่งใสของรัฐบาลจีนก็หนักข้อยิ่งกว่าเดิม

สื่ออย่างไฟแนนเชียลไทม์และวอลล์สตรีทเจอนัลรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวเป็นเจ้าหน้าที่ทางการสหรัฐฯ ว่า หลี่ถูกขับออกจากตำแหน่งแล้วเมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่ผ่านมา ในวันเดียวกันนั้น เหมาหนิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนไม่ได้พูดอะไรเกี่ยวกับเรื่องการหายตัวไปของหลี่หรือเรื่องที่ว่าเขาถูกขับออกจากตำแหน่งแต่อย่างใด โดยบอกกับนักข่าวว่าเธอไม่ได้รับทราบเกี่ยวกับสถานการณ์นี้

การที่รัฐบาลจีนไม่มีความตั้งใจที่จะให้คำตอบใดๆ เกี่ยวกับการหายตัวไปและการขับออกจากตำแหน่งของเจ้าหน้าที่ระดับสูงในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ยิ่งกลายเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการคาดเดาและข่าวลือต่างๆ ทั้งจากในจีนเองและในระดับโลก

ในฐานะที่หลี่ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของจีน เขาไม่ได้เป็นผู้บังคับบัญชาการศึกหรือการสู้รบใดๆ แต่จะเล่นบทเชิงการทูตมากกว่า โดยการสื่อสารกับรัฐมนตรีกลาโหมของประเทศอื่นๆ หรือสำหรับกรณีของสหรัฐฯ คือ เป็นคนบอกปฏิเสธที่จะรับโทรศัพท์ที่ต่อสายมาจาก ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ หลังจากที่มีเหตุข้อพิพาทเรื่องที่บอลลูนของจีนบินอยู่เหนืออาณาเขตน่านฟ้าของสหรัฐฯ ในเดือน ก.พ. 2566

ราห์ม เอมานูเอล เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำญี่ปุ่นตั้งข้อสังเกตเมื่อวันที่ 8 ก.ย. ที่ผ่านมาว่าหลี่หายตัวไป โดยโพสต์ทางทวิตเตอร์ว่า "ไม่ได้พบเห็นเขาปรากฏตัวต่อสาธารณะเป็นเวลา 2 สัปดาห์แล้ว" โดยที่หลี่ปรากฏตัวต่อสาธารณะครั้งล่าสุดคือเมื่อวันที่ 29 ส.ค. ที่ผ่านมา ในงานประชุมซัมมิทด้านความมั่นคงจีน-แอฟรืกา ที่เขาเป็นผู้กล่าวสุนทรพจน์ในงาน

การทุจริตกลายเป็นวัฒนธรรมฝังรากในกองทัพจีน?

กรณีของหลี่เป็นกรณีล่าสุดที่ทางการจีนขับคนในกองทัพออกจากตำแหน่ง ก่อนหน้าที่หลี่จะเข้ามาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม เขาเคยดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมพัฒนายุทโธปกรณ์ (EDD) สังกัดคณะกรรมการกลางกองทัพจีน ที่เป็นหน่วยงานซึ่งคอยดูแลกองทัพประชาชนจีน ในฐานะอธิบดี EDD หลี่ผู้ที่ได้รับการฝึกอบรมเป็นวิศวกรการบิน ทำหน้าที่กำกับดูแลการจัดหายุทโธปกรณ์และโครงสร้างพื้นฐานให้กับแผนกของกองทัพ

เมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา สื่อบลูมเบิร์กรายงานว่า กรมที่หลี่เคยเป็นอธิบดีตกอยู่ภายใต้การสืบสวนสอบสวนในเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นหลายด้านสืบย้อนไปได้ถึงปี 2560 เช่น เรื่องที่มีการ "ปล่อยข้อมูลรั่วไหลเกี่ยวกับโครงการและหน่วยกองกำลัง" ซึ่งเป็นกรณีที่คาบเกี่ยวกับสมัยที่หลี่เคยดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดี ซึ่งยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าหลี่เกี่ยวข้องกับการทุจริตที่เกิดขึ้นในตอนนั้นจริงหรือไม่ และเป็นไปได้ว่าเราอาจจะไม่มีวันรู้แน่ชัดในเรื่องนี้

แต่สิ่งที่มีความเกี่ยวข้องกันคือการที่สีจิ้นผิงสร้างภาพให้ตัวเองเป็นผู้ปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สีจิ้นผิง เน้นเล่นงานเป้าหมายจากในกองทัพจีน ที่การทุจริตคอร์รัปชั่นกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบในกองทัพ

ผู้ที่พูดถึงเรื่องดังกล่าวนี้คือ รอเดอริก ลี ประธานฝ่ายวิจัยของสถาบันศึกษาอากาศยานจีน (CASI) สังกัดวิทยาลัยการบินสหรัฐฯ ลีบอกว่าการทุจริตคอร์รัปชั่นในกองทัพจีนนั้นเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยถ้าหากต้องการจะไต่เต้าขึ้นไปสู่ผู้นำระดับสูงของกองทัพ คุณก็ต้องจ่ายส่วยให้กับระบบนี้ ทำให้ในกองทัพจีน "ไม่มีใครที่ใสสะอาด" โดยเฉพาะกลุ่มคนในระดับสูงของกองทัพ

ลีระบุว่า ระบบแบบนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ก่อนหน้าที่สีจิ้นผิงจะประกาศกวาดล้างคอร์รัปชั่นในปี 2557 แล้ว โดยที่การทุจริตในกองทัพจีนเกิดขึ้นในสองภาคส่วนใหญ่ๆ คือภาคส่วนการทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างและภาคส่วนการเลื่อนขั้น สถานการณ์แบบนี้จะนำไปสู่การที่สีจิ้นผิงและกองทัพจีนเหลือแค่ "เจ้าหน้าที่กลุ่มที่พวกเขายอมรับได้มากที่สุด แต่ก็ยังมีประวัติการทุจริตมาก่อน"

ทั้งนี้ในเดือน ก.ค. ที่่ผ่านมา ยังมีกรณีที่ หลี่ยู่เชา ผู้บัญชาการกองกำลังขีปนาวุธของจีนถูกปลดออกจากตำแหน่ง พร้อมกับอีกสองคนคือ หลิวกวงบิน รอง.ผบ. กองกำลังขีปนาวุธฯ และ จางเจิ้นจง อดีตรอง.ผบ. กองกำลังขีปนาวุธฯ ทั้งสามคนถูกสืบสวนสอบสวนโดยหน่วยงานต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันของคณะกรรมการกลางกองทัพจีน

กรณีการหายตัวไปของอดีต รมต. อีกคนหนึ่ง

สื่อจากสหรัฐฯ รายงานเกี่ยวกับหลี่ฉางฟูว่า เขาถูกนำตัวไปสอบปากคำเมื่อต้นเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ถ้าหากว่าหลี่ถูกปลดออกจากการเป็นคณะกรรมการกลางกองทัพจีนด้วยแล้ว เขาก็จะประสบชะตากรรมเดียวกับ ฟางเฟิงฮุ่ย ผู้ที่เคยถูกขับออกจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนและถูกตัดสินลงโทษจำคุกตลอดชีวิตด้วยข้อหาทุจริตคอร์รัปชันในปี 2562 ซึ่งด้วยความที่จีนขาดความโปร่งใสก็อาจจะทำให้เราไม่มีทางรู้ว่าความจริงมีอะไรเกิดขึ้นกันแน่หรือทำไมถึงมีการลงโทษเช่นนี้

แต่สิ่งที่น่าสังเกตได่ว่ากำลังเกิดขึ้นจริงคือการที่สีจิ้นผิงในตอนนี้ดูรุกหนักในเรื่องการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น เพราะนอกจากกรณีของหลี่แล้ว เมื่อไม่นานนี้ยังมีกรณีของฉินกัง รัฐมนตรีต่างประเทศที่ถูกปลดแบบฟ้าผ่า และมีการปราบปรามอุตสาหกรรมการแพทย์ แต่การปราบปรามเช่นนี้ก็เป็นส่วนใหญ่ๆ ส่วนหนึ่งของวาระทางการเมืองของสีจิ้นผิงเสมอมา

การปลดฉินกัง มีลักษณะเหตุการณ์คล้ายคลึงกับการปลดหลี่ และการปลดกลุ่มผู้นำกองกำลังฝ่ายขีปนาวุธ คือพวกเขาจะหายตัวไปสัก 2-3 สัปดาห์ หลังจากนั้นก็ถูกสั่งปลด แล้วก็จะมีข่าวลือสกปรกเกี่ยวกับว่าทำไมพวกเขาถึงถูกปลด แต่ก็จะไม่มีคำอธิบายอย่างเป็นทางการออกมาจากปากของรัฐบาลจีน

เดวิด สเตราป์ อาจารย์ด้านการเมืองจีนที่มหาวิทยาลัยแห่งแมนเชสเตอร์กล่าวว่า ในกรณีของหลี่นี้เหมือนกับกรณีของฉินกัง ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ มันเป็นเรื่องชวนให้สนเท่ห์ว่าทำไมมีการสั่งปลดเร็วมากหลังจากที่มีการแต่งตั้งคนระดับสูงของรัฐบาลได้ไม่นาน ทำให้สเตราป์ประเมินว่ามีความเป็นไปได้ที่อาจจะมีอะไรเกิดขึ้นภายในพรรคคอมมิวนิสต์จีนในแบบที่คนภายนอกมองไม่เห็น หรือไม่เช่นนั้นก็เป็นไปได้ว่าสีจิ้นผิงทำได้ไม่ดีพอในการคัดกรองคนที่จะได้เลื่อนขั้น

เป็นไปได้อีกเช่นกันว่าการขับฉินกังออกจากตำแหน่งกับการสั่งปลดคนในกองทัพและการสืบสวนเรื่องการทุจริตอาจจะไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกันเลยก็เป็นไปได้ ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะรับรู้ได้เมื่อพิจารณาจากการที่จีนขาดความโปร่งใสทางการเมือง

สิ่งที่สีจิ้นผิงและรัฐบาลจีนแสดงให้เห็นคือการที่จีนต้องการปรับปรุงกองทัพ "ให้ทันสมัย" ภายในปี 2570 ซึ่งถ้าหากว่าข้อกล่าวหาเรื่องการทุจริตเป็นเรื่องจริงตามข่าวลือ ก็เป็นไปได้ที่รัฐบาลจีนจะทำเช่นนี้เพราะมองว่าเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงเหล่านี้เป็นตัวขัดขวางการปรับให้กองทัพทันสมัย

นอกจากนี้สีจิ้นผิงยังเคยกล่าวไว้ว่าเขาต้องการให้กองทัพจีนโดยทั้งหมดอยู่ภายใต้การควบคุมของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งถ้าพูดในทางเทคนิคแล้วกองทัพจีนก็อยู่ภายใต้การควบคุมของพรรคคอมมิวนิสต์จีนอยู่แล้วเมื่อพิจารณาจากโครงสร้างคณะกรรมการกลางของกองทัพจีนที่มีสีจิ้นผิงเป็นประธาน แต่ในความเป็นจริงกองทัพอาจจะมีส่วนที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของรัฐบาลได้เช่นกันถ้าหากพวกเขามีเศรษฐกิจผ่านการทุจริตคอร์รัปชั่นของตัวเองอยู่

สรุปแล้ว กองทัพจีนมีการทุจริตคอร์รัปชั่นภายในเกิดขึ้นนานมากก่อนหน้าที่สีจิ้นผิงจะดำรงตำแหน่งผู้นำ วัฒนธรรมคอร์รัปชั่นเช่นนี้ฝังรากในกองทัพจีนมายาวนานจนอาจจะยากมากในการกำจัดให้หมดไป ถึงแม้ว่าเจ้าหน้าที่คนรุ่นใหม่ๆ จะมองเรื่องนี้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตกองทัพน้อยกว่าเจ้าหน้าที่รุ่นก่อนๆ ก็ตาม ตราบใดที่ยังคงมีการสืบสวนสอบสวนในเรื่องนี้จากรัฐบาลจีนก็เป็นไปได้ว่าจะมีกรณีการสั่งปลดและจับกุมคนในรัฐบาลเกิดขึ้นอีก แต่ความไม่โปร่งใสก็อาจจะทำให้ผู้คนไม่รู้แน่ชัดว่าพวกเขาถูกปลดและถูกจับเพราะอะไรกันแน่


เรียบเรียงจาก
What’s up with China’s disappearing senior military officers?, Vox, 16-09-2023

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net