Skip to main content
sharethis

นักเศรษฐศาสตร์คาดธนาคารกลางสหรัฐฯ ตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ระดับสูงสุดในรอบ 22 ปีแม้นมีแรงกดดันเงินเฟ้อเพิ่ม การนัดหยุดงานครั้งใหญ่ของสหภาพแรงงาน UAW สร้างต้นทุนและความเสียหายทางเศรษฐกิจทันทีไม่ต่ำกว่า 5-9.1 พันล้านดอลลาร์ แต่ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจลดลงในระยะยาว


ที่มาภาพ: UAW International Union

17 ก.ย. 2566 รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการและกรรมการตรวจสอบ ธนาคารแห่งประเทศไทย แจ้งข่าวต่อสื่อมวลชนเปิดเผยว่าคาดธนาคารกลางสหรัฐตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ระดับสูงสุดในรอบ 22 ปีแม้นมีแรงกดดันเงินเฟ้อเพิ่ม อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของสหรัฐเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 3.7% ส่วนอัตราเงินเฟ้อฟื้นฐานอยู่ที่ 4.3% เงินเฟ้อทั่วไปเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าเพิ่มขึ้น 0.6% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดในปีนี้ อัตราเงินเฟ้อที่ระดับดังกล่าวยังต่ำกว่าระดับสูงสุดที่ขึ้นไปสูงถึง 9.1% เดือนมิถุนายนปีที่แล้ว สะท้อนว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยช่วงที่ผ่านมาเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อได้ผลดีระดับหนึ่ง อัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นผลจากปัจจัยด้านอุปทานราคาพลังงานและอาหารปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าเป็นผลจากปัจจัยด้านอุปสงค์จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจร้อนแรง ตัวเลขการจ้างงานในตลาดแรงงานและอัตราการว่างงานล่าสุดยังกระเตื้องขึ้นต่อเนื่อง ในการประชุมสัปดาห์หน้า 19-20 ก.ย. ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาน่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับปัจจุบัน คือ 5.25%-5.50% และ อาจจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับนี้หรือปรับขึ้นช่วงปลายปีอีกครั้งหนึ่งขึ้นอยู่กับตัวเลขเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อในไตรมาสสี่ปีนี้ โดยคาดว่า อัตราดอกเบี้ยในระดับสูงสุดซึ่งสะท้อนนโยบายการเงินเข้มงวดจะดำเนินไปจนกว่าอัตราเงินเฟ้อกลับคืนสู่เป้าหมาย 2% ซึ่งคาดการณ์จะเกิดขึ้นได้ในช่วงกลางปีหน้า และ มองว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยหลังจากนั้นในช่วงครึ่งหลังของปี พ.ศ. 2567 การทำนโยบายเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจระยะสั้นนั้น จะต้องดำเนินการในลักษณะ “กฎ” (Rule-based Stabilization Policy) มากกว่าการใช้วิจารณาญาณ (Discretionary Policy) หมายความว่า ผู้ทำนโยบายรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจจะต้องแสดงให้สาธารณชนเห็นถึงเป้าหมายของนโยบาย โดยการตั้งเป้าหมายชัดเจน และระบุถึงเครื่องมือของการทำนโยบายด้วย เนื่องจากสามารถส่งผ่านผลของการทำนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่านการคาดการณ์ของภาคเอกชน ภาคการผลิต ภาคการลงทุนและภาคครัวเรือน ข้อได้เปรียบของนโยบายการเงินเมื่อเทียบกับนโยบายการคลังหรือนโยบายเศรษฐกิจอื่นๆ คือ มีความยืดหยุ่นสูงและสามารถปรับตามพลวัตเศรษฐกิจและตลาดการเงินได้อย่างรวดเร็ว จึงมีความสำคัญต่อการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจในระยะสั้น

ปัญหาความเชื่อมั่นต่อระบบสถาบันการเงินโลกยังไม่คลี่คลายดีนัก สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้ฝากเงินและนักลงทุนในสหรัฐอเมริกาต่อระบบธนาคารกลางเริ่มกระเตื้องขึ้น อีกปัญหาหนึ่งที่ต้องติดตามใกล้ชิด คือ จะเกิดภาวะเงินตึงตัวจากปัญหาเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินโลกหรือไม่ และ การดำเนินมาตรการเข้มงวดทางการเงินจะมีผลต่อภาวะเงินตึงตัวในอนาคตหรือไม่ ตอนนี้ หลายประเทศยังไม่สามารถควบคุมอัตราเงินเฟ้อได้ตามเป้าหมาย ยังอาจต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมเงินเฟ้อให้ได้ แต่ปัญหาที่น่าเป็นห่วงตอนนี้ คือ อาจเกิดภาวะเงินตึงตัว (Tight Money) ขึ้นมาได้ในบางประเทศที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ทำให้อุปสงค์ต่อเงินทุนมีมากกว่าอุปทานของเงินทุน เป็นภาวะที่มีความต้องการสินเชื่อและเงินทุนเพิ่มขึ้นแต่ปริมาณเงินและสินเชื่อมีจำกัด ครัวเรือนและผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อได้ยากขึ้น ขณะที่ในบางประเทศที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวดีนัก ธนาคารในประเทศก็ปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวังและเข้มงวด ทำให้ภาคธุรกิจและภาคการลงทุนไม่ได้สินเชื่อ จะไปกู้หรือหาแหล่งเงินทุนระหว่างประเทศ ก็เกิดปัญหาเสถียรภาพของสถาบันการเงินโลกขึ้นมาอีก และ ตลาดการเงินโลกผันผวนรุนแรง เกิดความยากลำบากในการหาเงินทุน

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวถึงการนัดหยุดงานครั้งใหญ่ของ UAW อาจสร้างต้นทุนและความเสียหายทางเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาทันทีไม่ต่ำกว่า  5-9.1 พันล้านดอลลาร์หากการประท้วงยืดเยื้อเกิน 2 เดือน แต่ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจลดลงในระยะยาวหากมีการปรับเพิ่มค่าแรงและสวัสดิการตามที่สหภาพแรงงาน UAW เรียกร้อง Anderson Economic Group ประเมินเบื้องตัน การนัดหยุดงานของสมาชิกสหภาพแรงงาน UAW ของบริษัท Ford บริษัท General Motors บริษัท Stellantis หยุดงานประท้วงประมาณ 10 วัน เบื้องต้นจะเกิดความเสียหายและต้นทุนทางเศรษฐกิจประมาณ 5 พันล้านดอลลาร์หรือ    179,500 ล้านบาท ผลผลิตรถยนตร์หายไปจากตลาด 25,000 คันต่อการหยุดงาน 10 วัน ขณะที่ หน่วยงานวิจัยเศรษฐกิจอย่าง Ehrlich Research Group มหาวิทยาลับมิชิแกน ระบุว่า การกระจายตัวของผลกระทบต่อรายได้ รายได้ประชาชาติสหรัฐอเมริกายังจำกัดในระยะสั้น หากมีการประท้วงหยุดงานประมาณสองสัปดาห์จะกระทบต่อรายได้ประชาชาติประมาณ 440 ล้านดอลลาร์หรือ 15,796 ล้านบาท ขณะที่ หากการประท้วงหยุดงานยืดเยื้อมากกว่า 2 เดือนขึ้นไป การประท้วงหยุดงานจะขยายวง ความเสียหายทางเศรษฐกิจจะขยายวงสู่ 9.1 พันล้านดอลลาร์หรือ 329,690 ล้านบาท สมาชิกสหภาพแรงงานที่นัดหยุดงานจะได้รับเงินสนับสนุนจาก UAW สัปดาห์ละ 500 ดอลลาร์ อันเป็นการสนับสนุนที่ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพหากมีนัดหยุดงานนานๆ การชุมนุมประท้วงหยุดงานจะส่งผลต่อธุรกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่หยุดงานประท้วง  

อุตสาหกรรมยานยนต์ได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนคอมพิวเตอร์ชิป (Computer Chip) ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และ มีการปิดโรงงานในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด หลายโรงงานและหลายบริษัทปิดโรงงาน ล้มละลาย ปลดคนงานและลดเงินเดือน ค่าตอบแทนและสวัสดิการของคนงานในช่วงปี พ.ศ. 2563 โดยธุรกิจอุตสาหกรรมยานยนต์มีการฟื้นตัวอย่างชัดเจนตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2564 และมีผลกำไรเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ค่าตอบแทนผู้บริหารเพิ่มขึ้นประมาณ 40% จากระดับปี พ.ศ. 2562 การเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงาน UAW จึงมีความชอบธรรมเพื่อให้ได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรม จากระดับที่ถูกลดลงอย่างมากในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจโควิดปี 63 จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนพบว่า ส่วนใหญ่มากกว่า 70% สนับสนุนให้มีการนัดหยุดงานเพื่อเรียกร้องค่าจ้างที่เป็นธรรม จึงคาดว่า การประท้วงไม่น่าจะยืดเยื้อ การเจรจาน่าจะจบเร็ว   อย่างไรก็ตาม การประท้วงยืดเยื้อส่งผลต่อเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ทิศทางของนโยบายการเงินในระดับหนึ่ง รวมทั้งผลต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีปีหน้า โจทย์ของบริษัทยานยนต์สหรัฐอเมริกาทำอย่างให้แข่งขันได้เมื่อต้นทุนเพิ่มขึ้น สิ่งที่ต้องติดตามตอนนี้ คือ การประท้วงนัดหยุดงานจะขยายวงไปยังโรงงานอื่นๆหรือไม่ และ ส่งผลอย่างไรต่ออุตสาหกรรมยานยนต์โลก ส่งผลอย่างไรต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ในไทย ซึ่งมีผลกระทบทั้งทางบวกและลบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยได้  

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า ไทยเคยเป็น “ดีทรอยต์ออฟเอเชีย” ในยุคผลิตรถยนต์แบบเครื่องยนต์สัปดาปภายใน อนาคตของอุตสาหกรรมยานยนต์ อยู่ที่รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ไม่ใช่รถยนต์สันดาปภายในที่ปล่อยมลพิษอากาศมากกว่า ไทยเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนของรถยนต์สันดาปภายในรายใหญ่ รถอีวีไม่ต้องใช้ชิ้นส่วนพวกนี้ โรงงานผลิตชิ้นส่วนภายในจะหายไป ขณะเดียวกัน หากจะปรับตัวไปทำแบตเตอรี่ ประเทศไทยก็ไม่มีทรัพยากรสินแร่สนับสนุนอย่างพวกลิเทียมหรือโคบอลต์ต่างๆ โรงงานในไทยจะเป็นเพียงโรงงานฐานการผลิตประกอบแบตเตอรี่ ผู้ประกอบการประกอบแบตเตอรี่จะมีมูลค่าเพิ่มไม่มาก อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์จะลดขนาดลงไปมาก รัฐบาลและภาคธุรกิจอุตสาหกรรมยานยนต์ต้องเร่งปรับโครงสร้างเพื่อเตรียมรับพลวัตการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net