Skip to main content
sharethis

ผบ.ทอ.ไทย ร่วมประชุม ผบ.ทอ.อาเซียนที่พม่า แม้หลายชาติคว่ำบาตร พบเลี่ยงการเมือง-การทหารไปคุยเรื่องสิ่งแวดล้อม

14 ก.ย. 2566 วานนี้ (13 ก.ย.) ข่าวประชาสัมพันธ์จากเว็บไซต์สำนักงานผู้บัญชาการทหารสูงสุด กระทรวงกลาโหมเมียนมา เผยแพร่ภาพ พล.อ.อ.อลงกรณ์ วัณณรถ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ร่วมการประชุมผู้บัญชาการทหารอากาศอาเซียน ครั้งที่ 20 (20th ASEAN Air Chiefs Conference) ระหว่างวันที่ 12 – 15 ก.ย. 2566 ณ กรุงเนปยีดอ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา โดย พล.อ.อ.ทุน อ่อง (General Htun Aung) ผู้บัญชาการทหารอากาศ กองทัพอากาศของรัฐบาลเผด็จการเมียนมา เป็นเจ้าภาพจัดประชุมฯ

พล.อ.อ.ทุน อ่อง ผบ.ทอ.พม่า (คนที่ 4 จากซ้าย)

พล.อ.อ.อลงกรณ์ วัณณรถ ผบ.ทอ.ไทย (ทางขวาของทุนอ่อง)

การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “ความร่วมมือของกองทัพอากาศอาเซียนเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน” หรือ “ASEAN Air Forces’ Cooperation for Sustainable Environment”

วาสนา นาน่วม นักข่าวสายความมั่นคง ตั้งข้อสังเกตว่า “เลี่ยงการเมือง การทหาร คุยเรื่องสิ่งแวดล้อม”

วาสนา รายงานด้วยว่า ผู้บัญชาการทหารอากาศ ได้กล่าวเชิญชวน ผู้บัญชาการทหารอากาศอาเซียน พิจารณาเข้าร่วมในการฝึกการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติกองทัพอากาศอาเซียน ASEAN HADR Exercise 2025 ในประเทศไทย เพื่อทบทวนมาตรฐานการปฏิบัติงาน ในหัวข้อ การปฏิบัติภารกิจค้นหาและช่วยชีวิต, การปฏิบัติการทางการแพทย์ตอบสนองภาวะฉุกเฉิน และการส่งกลับสายแพทย์ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ในการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ และพัฒนาศักยภาพกองทัพอากาศอาเซียนในการเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยคุกคามทางธรรมชาติร่วมกัน

นอกจากไทย ประเทศที่ส่งผู้แทนระดับสูงเข้าร่วมประชุมยังมี บรูไน กัมพูชา ลาว และเวียดนาม

ขณะที่ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ไม่ส่ง ผบ.ทอ.เข้าร่วมประชุม

ปัจจุบัน พล.อ.อ.ทุน อ่อง ถูกคว่ำบาตรโดยสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป และแคนาดา

นับตั้งแต่ พลเอกอาวุโส มินอ่องหล่าย ทำรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งภายใต้การนำของอองซานซูจี รัฐบาลทหารพม่าเดินหน้าใช้ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศใส่กลุ่มติดอาวุธและแนวร่วมพลเรือนที่ออกมาต่อต้านอย่างต่อเนื่อง 

พล.อ.อ.ทุน อ่อง ได้รับการแต่งตั้งเป็น ผบ.ทอ.กองทัพเมียนมา เดือน ม.ค. 2565

ข้อมูลจากกลุ่ม Armed Conflict Location & Event Data Project (ACLED) ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตถึง 1,000 คน จากการโจมตีทางอากาศ 930 ครั้ง ในช่วงวันที่ 10 ม.ค. 2565 จนถึง 31 ก.ค. 2566 ภายใต้คำสั่งการของเขา

ยาดานาร์ หม่อง โฆษกกลุ่มสิทธิมนุษยชน Justice For Myanmar กล่าวว่า “การดำเนินการประชุมกองทัพอากาศครั้งนี้และการมีส่วนร่วมของทหารและตำรวจกับรัฐบาลทหาร อาเซียนและรัฐสมาชิกสื่อถึงถึงการไม่คำนึงถึงชีวิตของชาวเมียนมา และบ่อนทำลายเจตจำนงในการแก้ไขวิกฤตการณ์ในเมียนมาผ่าน Five Point Consensus

“ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าอาเซียนกำลังสร้างความชอบธรรมและให้กำลังใจอาชญากรสงครามผ่านความร่วมมือด้านการป้องกันและความมั่นคง เป็นอันตรายต่อชีวิตของชาวเมียนมา และทำให้วิกฤตเลวร้ายลง” โฆษกกลุ่ม Justice For Myanmar กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net