Skip to main content
sharethis

ครม.มีมติตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางแก้รัฐธรรมนูญมี “ภูมิธรรม” นั่งหัวโต๊ะ ย้ำไม่แก้หมวด 1 และ 2 แต่พร้อมรับฟังจากประชาชนเพิ่มและจะนำคำถามที่เสนอโดยประชาชน 211,904 ชื่อและข้อเสนอจากคณะกรรมการที่เคยตั้งมาก่อนหน้านี้มาร่วมพิจารณาด้วย อย่างไรก็ตามทางกลุ่ม "ประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ" แถลงย้ำข้อเสนอว่าร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับด้วย สสร.ที่เลือกตั้งจากประชาชน

13 ก.ย.2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ในประเด็นเรื่องการแก้ไขปัญหาความเห็นต่างในรัฐธรรมนูญ 2560

เศรษฐากล่าวในประเด็นนี้ว่า ครม.เห็นชอบให้ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับผิดชอบแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ โดยยึดตามแนวทางของศาลรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ โดยจะใช้เวทีรัฐสภาในการหารือรูปแบบแนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการทำประชามติเพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วนร่วมออกแบบกฎกติกาที่เป็นประชาธิปไตยร่วมกัน

หลังจากการแถลงข่าวของนายกฯ แล้ว ชัย วัชรงค์  โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับมติ ครม.ในเรื่องนี้เพิ่มเติมด้วยว่าวันนี้ ครม.มีมติจะแก้รัฐธรรมนูญให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ส่วนจะแก้ไขอย่างไรเป็นไปตามคำสั่งศาลรรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ ตามที่พรรคเพื่อไทยเคยยื่นขอแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่เมื่อผ่านไปสองวาระก็มาติดคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญว่าต้องให้เอากลับไปฟังเสียงประชาชนก่อนจึงต้องทำประชามติ

โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องวิธีการทำประชามติจะทำอย่างไรนั้น ครม.ก็จะให้ประชาชนได้มาร่วมแสดงความคิดเห็นว่าจะให้ถามเรื่องอะไรบ้างเพื่อเป็นการเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม และเมื่อได้แนวทางแล้วก็จัดทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป

ชัยกล่าวต่อว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้มีจุดสำคัญอยู่ 2 เรื่องคือ เรื่องแรกคือทำให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น สอง ไม่แก้หมวดที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์

มีผู้สื่อข่าวถามระหว่างการแถลงถึงประเด็นที่ทาง iLaw มีการยื่นรายชื่อเสนอคำถามประชามติ 211,904 ชื่อไปถึง กกต.แล้วสภาเองก็มีการตั้งกรคณะกรรมการมาแล้ว ทำไมทาง ครม.จึงต้องคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาแนวทางอีกและยังไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้และเป็นการดึงเวลาหรือไม่?

โฆษกประจำสำนักนายฯ ตอบในประเด็นนี้ข้อเสนอจาก iLaw และคณะกรรมการของสภา ครม.จะรับฟังมาพิจารณาแน่นอน ถ้าพิจารณาแล้วไม่มีความเห็นอื่นก็จะพิจารณาจากสองแหล่งนี้เป็นหลัก แต่อาจมีความเห็นจากประชาชนกลุ่มอื่นๆ  อีกจึงต้องรอดูว่าจะมีประชาชนที่อยากแสดงความเห็นและเข้ามามีส่วนร่วมอีกหรือไม่ เพราะถ้ายึดถือแต่ของ iLaw หรือข้อเสนอที่มีการเสนอมาก่อนหน้านี้คนที่ยังไม่ได้ให้ความเห็นผ่าน iLaw ก็จะบอกว่าทำไมฟังอยู่ที่เดียวแต่พวกเขายังไม่ได้เสนอความเห็น

“มันจะรอบด้านกว่ามั้ยถ้าฟังทุกด้าน  ไม่ใช่ไม่ฟังนะครับอย่าไปมองว่ารัฐบาลดึงเวลาเลย เราตระหนักว่าไอลอว์เป็นองค์กรที่มีคุณภาพและหวังดีกับประเทศชาติ แต่อย่าลืมว่าประเทศนี้เนี่ยมันมีความหลากหลาย คนกลุ่มที่เขามีความเห็นต่างก็มี ขอเวลารัฐบาลนิดเดียว ขอทำความเข้าใจกับทุกกลุ่มจะได้เป็นเรื่องที่ออกมาแล้วไม่ต้องไปเถียงกันทีหลังอีก”

ทั้งนี้โฆษก ครม.กล่าวว่าสำหรับเรื่องนี้ยังไม่ได้มีกรอบเวลาว่าคณะกรรมการศึกษาแนวทางดังกล่าวจะใช้เวลานานเท่าไหร่ แต่นายกฯ ได้ขอให้ดำเนินการโดยเร็ว

วันเดียวกันนี้ทางกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญที่ก่อนหน้านี้รวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อเสนอคำถามประชามติว่า “ให้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน” จนได้ผู้ร่วมลงชื่อ 211,904  ชื่อ ได้ออกแถลงการณ์ในเรื่องผ่านทางแฟนเพจของ iLaw ด้วยเช่นกัน

แถลงการณ์ดังกล่าวระบุถึงความกังวลต่อแนวทางการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ของรัฐบาลเศรษฐาในคำแถลงนโยบายของ ครม.นั้นไม่ชัดเจนและยังสวนทางกับที่พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นแกนนำรัฐบาลเคยหาเสียงเอาไว้ แม้ว่าจะเข้าใจว่ารัฐบาลต้องการลดความขัดแย้งจึงต้องหารือแนวทางในการทำรัฐธรรมนูญใหม่และยังหลีกเลี่ยงที่จะแก้ไขหมวดที่ 1 และ 2 ในรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นประเด็นละเอียดอ่อน

“แต่เมื่อเป้าประสงค์ของรัฐบาล คือ การเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นประชาธิปไตย ทันสมัย และเป็นที่ยอมรับร่วมกัน รัฐบาลจึงควรเปิดพื้นที่ให้ประชาชนทุกคนได้เป็นผู้ตัดสินใจเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และรัฐบาลหรือรัฐสภาไม่ควรสร้างเงื่อนไขที่จะเป็นข้อจำกัดในการร่างรัฐธรรมนูญโดยประชาชน เพราะท้ายที่สุด การตัดสินใจใดๆ เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญล้วนเป็นฉันทามติของประชาชน ต่างจากการร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่ร่างขึ้นโดยคนเพียงกลุ่มเดียว และนำไปสู่วิกฤติและความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรง” แถลงการณ์ระบุ

ในแถลงการณ์ระบุข้อเรียกร้องต่อ ครม. ไว้ 2 ประเด็นดังนี้

1. ทบทวนนโยบายเกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่อีกครั้ง และพิจารณานำแนวทางการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ประชาชนเสนอ ได้แก่ ‘ให้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน’ มาเป็นแนวทางหลัก เนื่องจากประชาชนเสียงข้างมากได้ให้การสนับสนุนแนวทางดังกล่าวผ่านการออกเสียงเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค.2566

2. คณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติที่คณะรัฐมนตรีจะตั้งขึ้นควรจะพิจารณานำคำถามประชามติที่ประชาชนได้ระดมชื่อกันกว่าสองแสนรายชื่อเสนอมาเป็นแนวคิดหลักในการกำหนดคำถามประชามติ เพราะเป็นคำถามที่มีความครอบคลุมและชัดเจนในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน เพื่อเป็นหลักประกันให้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญต่อจากนี้เป็นไปอย่างชอบธรรมและเป็นที่ยอมรับทั่วกัน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net