Skip to main content
sharethis

'เศรษฐา' เตือนไม่อยากให้ฝ่ายค้านใช้วาทกรรมด้อยค่ากองทัพ จะทำให้ทำงานลำบาก เบื้องต้น ทางกองทัพยินดีใช้งบฯ ดูแล ปชช.ช่วงวิกฤต ซื้อยุทโธปกรณ์เท่าที่จำเป็นช่วงเศรษฐกิจเปราะบาง และพร้อมจัดสรรที่ดินกองทัพให้ประชาชนใช้ทำมาหากิน เครื่องยนต์เรือดำน้ำจีนที่เป็นปัญหา จะหาทางคุยกับฝั่งเยอรมนี

 

12 ก.ย. 2566 ยูทูบ "TP Channel" ถ่ายทอดสดออนไลน์วันนี้ (12 ก.ย.) ที่รัฐสภา เกียกกาย มีการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 เป็นวันที่ 2 โดยมีวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม 

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ลุกขึ้นอภิปรายหลังจากที่ จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการ และ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่อภิปรายวิจารณ์มุ่งเน้นไปที่นโยบายเกี่ยวกับการปฏิรูปกองทัพ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เศรษฐา มองว่าการเลือกตั้งเมื่อ 14 พ.ค. 2566 เป็นจุดเริ่มต้นของการเข้ามาแก้ไขปัญหาที่สะสมมานาน และประเด็นที่ได้ยกมาอภิปรายคือทหารและประชาชน โดยส่วนตัวเขายืนยันใช้คำว่า "พัฒนากองทัพ" ซึ่งเชื่อว่าความหมายใกล้เคียงกันกับการปฏิรูปกองทัพ แต่ผลลัพธ์อาจจะแตกต่างกันบ้างขึ้นอยู่ขีดจำกัด และการทำงาน 

เศรษฐา กล่าวต่อว่า เขาไม่เห็นด้วยกับวิธีการนำเสนอ และคำพูดของพรรคฝ่ายค้าน แทนที่จะทำให้บรรยากาศในการทำงานร่วมกัน เจรจา และพัฒนาสถาบันทหาร จะราบรื่น กลับลำบากขึ้น ในฐานะผู้นำรัฐบาลมีความเป็นห่วงเรื่องการใช้วาทกรรมด้อยค่ากัน เพราะการจะพัฒนากองทัพร่วมกันเป็นเรื่องที่ต้องให้เกียรติทางกองทัพและพรรคการเมืองที่ต้องมีเวลาในการทำงานร่วมกัน อย่างการเกณฑ์ทหารโดยสมัครใจที่ต้องค่อยๆ ลดหลั่นกันไป

เศรษฐา ระบุว่า ก่อนหน้านี้มีการพูดคุยกับผู้นำเหล่าทัพ เรื่องของการใช้งบประมาณเพื่อช่วยพัฒนา และดูแลประชาชนในยามเกิดปัญหา เช่น เอลนีโญ ภัยแล้ง น้ำท่วม หรือวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งทางกองทัพยืนยันว่าพร้อมที่จะช่วยเหลือประชาชน

นายกรัฐมนตรี ระบุต่อว่า ประเด็นเรื่องการลดขั้นตอนในการดูแลเรื่องของการจัดซื้ออาวุธ มีการพูดคุยว่าซื้อเท่าที่จำเป็นเท่านั้นในห้วงที่เศรษฐกิจเปราะบาง และในช่วงเวลาที่รัฐบาลต้องการงบประมาณไปสู่การจัดสรรไปสู่ภาคส่วนอื่นๆ ที่จำเป็นมากกว่า 

เศรษฐา ระบุด้วยว่า ท้ายสุดเรื่องการนำพื้นที่ทหารมาให้ประชาชนทำมาหากิน ก็เป็นเรื่องที่ได้มีการพูดคุยกัน ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากภาคทหาร ก็เป็นเรื่องที่คาดหวังไว้ แต่ทหารได้พูดมากกว่านั้นคือไม่ใช่ให้ปล่อยให้มีการเช่าและให้เขาทำมาหากินกันเอง แต่จะมีการพัฒนาพื้นที่เหล่านั้นให้มีความพร้อมไม่ว่าจะเป็นในด้านชลประทาน หรือด้านอื่นๆ เพื่อให้ประชาชนเข้ามาใช้ทำมาหากินได้ และจะขยายไปเรื่อยในทุกภูมิภาค 

"ขอเวลาหน่อย วันนี้เพิ่งเข้ามา ไม่อยากได้ยินการด้อยค่าของกันและกัน เตือนกันนิดหนึ่ง โตกันแล้ว ผู้หลักผู้ใหญ่เข้าใจ" เศรษฐา กล่าว

ต่อมา ขณะที่เศรษฐายังอภิปรายไม่จบ รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ลุกขึ้นเพื่อประท้วงนายกรัฐมนตรี เนื่องจากมีการใช้ข้อความเสียดสีพรรคก้าวไกล โรม ระบุต่อว่า ทางพรรคก้าวไกลอภิปรายด้วยเหตุด้วยผล ถ้าทางนายกรัฐมนตรีรู้สึกว่า พวกเราเสียดสีท่าน สิ่งที่ท่านต้องทำเป็นอย่างแรกคืออย่าเสียดสีทางพรรคก้าวไกล 

จากนั้น นายกฯ กลับมาอภิปรายต่อว่า ปัญหาการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ที่เป็นปัญหาค้างมาจากรัฐบาลที่แล้ว ยุทโธปกณ์ที่ได้มาแล้วเดี๋ยวจะไปตรวจสอบ รวมถึงกรณีเครื่องยนต์เรือดำน้ำจีนด้วย 

กรณีเครื่องยนต์เรือดำน้ำจีนที่มีปัญหาว่าทางการเยอรมันไม่ยอมขายเครื่องยนต์ให้นั้น เศรษฐา กล่าวว่าจะมีการเดินทางไปที่ UNGA78 ณ มหานครนิวยอร์ก สหรัฐฯ และให้กระทรวงต่างประเทศนัดหมายทางเจ้าหน้าที่ระดับสูง หรือประธานาธิบดี ของเยอรมนี ว่าจะมีทางไหนที่จะพยายามเจรจา และทำให้ปัญหานี้จบลงไป 

"ยืนยันว่าประเทศเราต้องการความสมัครสมานสามัคคี มีทั้งคนดีและคนไม่ดี และปัญหาต้องถูกแก้ไขอย่างมีบูรณาการ พูดจาด้วยกันด้วยความเข้าอกเข้าใจ มีความไทม์ไลน์ที่ชัดเจน เดี๋ยวถ้าได้บริหารจัดการแล้วจะมีการแถลงร่วมระหว่างรัฐบาล และกองทัพ ถึงไทม์ไลน์ที่ชัดเจน

"ในหลายๆ เรื่องที่ให้ความกรุณานำเสนอมา และหลายๆ เรื่องที่เสนอก่อนใกล้จะจบ เกี่ยวกับเรื่องอาจจะมีการทุจริตและเรื่องการประพฤติมิชอบ จะมีการตรวจสอบ และนำเสนอกัน" เศรษฐา ทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net