Skip to main content
sharethis

มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือจับตานโยบายด้านป่าไม้-ที่ดิน ยุค “เศรษฐา” และพัชรวาท วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพย์ฯ ว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาเรื้อรัง 32 ปี ของการต่อสู้ในพื้นที่เตรียมการประกาศ “อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท” และหยุดสืบทอดอำนาจนโยบายป่าไม้-ที่ดิน ยุค คสช. ได้หรือไม่ เนื่องจากส่งผลกระทบวิถีชีวิตของผู้คนในเขตป่าอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์

 

6 ก.ย. 2566 มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือรายงาน ก่อนการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2566 หนี่งในนโยบายของพรรคการเมืองที่ภาคประชาชนจับตามากที่สุดด้านหนึ่ง คือนโยบายด้านป่าไม้-ที่ดิน นั่นอาจเป็นเพราะประเทศไทยมีประชาชนมหาศาลที่เข้าไม่ถึงความมั่นคงในที่ดิน เนื่องจากอยู่อาศัยและทำกินในที่ดินของรัฐรูปแบบต่างๆ รวมถึงที่ดินในเขตป่า ซึ่งประเทศไทยนั้นมีเนื้อที่ทั้งหมด 326.62 ล้านไร่ มีที่ดินในพื้นที่ป่าอนุรักษ์จำนวน 69.64 ล้านไร่ (ร้อยละ 21.01) พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติจำนวน 60.38 ล้านไร่ (ร้อยละ 18.49) และพื้นที่ป่าชายเลน จำนวน 2.48 ล้านไร่ (ร้อยละ 0.76) อยู่ในการดูแลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

หากมองจากกรณีที่ร้อนแรงในขณะนี้อย่าง ‘อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท’ ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อประกาศเป็นอุทยานแห่งชาตินั้น จะเห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวยังอยู่ในสถานะป่าสงวนแห่งชาติ และกำลังถูกผนวกเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ท่ามกลางความไม่ชัดเจนในแนวเขตการประกาศอุทยานฯ และความกังวลต่อผลกระทบวิถีชีวิตของผู้คนในเขตป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองซึ่งเป็นกลุ่มประชากรส่วนใหญ่ที่ออกมาส่งเสียงคัดค้านในขณะนี้

32 ปี ของการต่อสู้ในพื้นที่เตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท จากนโยบายอพยพคนออกจากป่าในยุครัฐประหารยุคหนึ่ง สู่การรัฐประหารอีกครั้งหนึ่งในปี 2557 ที่มาพร้อมนโยบายทวงคืนผืนป่า รวมถึงแผนของคณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ ที่ต้องการเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ร้อยละ 40 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ประเทศ (25 เปอร์เซ็นต์ คือเป้าหมายป่าอนุรักษ์) ทุกสายตากำลังจับจ้องไปที่ท่าทีของรัฐบาลใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่าจะแก้ไขปัญหาเรื้อรังยาวนานนี้ได้หรือไม่

ตัวเลข 40 เปอร์เซ็นต์ ที่ไม่ใช่แค่ตัวเลข แต่มีชีวิตของผู้คน

อันที่จริงข้อเรียกร้องของชาวบ้านให้กันพื้นที่แนวเขตของชุมชนออกจากการประกาศอุทยานฯ นั้นเป็นข้อเรียกร้องที่เรียบง่ายในฐานะชุมชนดั้งเดิมที่อยู่อาศัยในพื้นที่มาก่อนการประกาศเขตป่าของรัฐ อย่างไรก็ตามในยุครัฐบาลที่แล้วซึ่งเป็นรัฐบาลสืบทอดอำนาจ คสช. และหน่วยงานภายใต้การกำกับของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมักอ้างตัวเลขการเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ 40 เปอร์เซ็นต์เป็นตัวตั้งเสมอ โดยไม่มีใครเคยตอบคำถามง่ายๆ ได้เช่นกัน ว่าจะเอาพื้นที่มากขนาดนั้นไปทำอะไร เอาอะไรเป็นตัวตั้งว่าต้อง 40 เปอร์เซ็นต์ และสังคม-คนไทยจะได้ประโยชน์ในนั้นการรักษาระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมตามที่กล่าวอ้างจริงหรือไม่

คำถามของชาวปกาเกอะญอจาก อ.งาว ในเวทีการรับฟังความคิดเห็นการประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไทเมื่อวานนี้เช่นกัน ว่าทำไมหน่วยงานจึงคิดว่าการกันแนวเขตชุมชนออกจากการประกาศอุทยานฯ จะทำให้ป่าลดลง ทั้งป่าก็อยู่ตรงนั้น ไม่มีใครกินป่าให้หายเข้าไปในท้อง และประเทศชาตินี้ไม่ใช่จะล่มสลายจากการกันพื้นที่ชาวบ้านออก แต่เบื้องลึกเบื้องหลังของการตุกติกไม่กันพื้นที่ชาวบ้านออกคืออะไรกันแน่ ซึ่งชาวบ้านต้องการคำตอบที่ชัดเจนมากกว่าการอ้างว่าเป็นนโยบายของรัฐบาล หน่วยงานจึงต้องปฏิบัติตาม

ยังไม่นับว่าชุมชนมากมายได้ลงแรง ลงใจ ปกป้องผืนป่าทั้งจากขบวนการตัดไม้เถื่อน ไฟป่า หรือแม้แต่ครั้งหนึ่งหน่วยงานรัฐเสียเองที่เปิดให้พื้นที่ป่าเหล่านี้เป็นพื้นที่สัมปทานป่าไม้ให้นายทุนทั้งในไทยและต่างประเทศ แต่เมื่อชุมชนต่อสู้จนสามารถฟื้นฟูป่ากลับขึ้นมาอุดมสมบูรณ์ กลับถูกหน่วยงานรัฐเล่นงานโดยการเตรียมการประกาศอุทยานฯ ขีดเส้นทับไปบนผืนดิน ผืนป่า ที่ทำกิน และพื้นที่จิตวิญญาณของชาวบ้าน แล้วผลักให้เป็นภาระประชาชนต้องออกมาเรียกร้องให้มีการพิสูจน์สิทธิ์ กันที่ดินออกทีละแปลง ทีละหมู่บ้าน ทั้งที่การกันแนวเขตออกนั้นควรเป็นภารกิจขั้นต้นก่อนการเตรียมการประกาศอุทยานฯ เพื่อไม่ให้ทับซ้อนกับที่ดินที่มีคนอาศัยอยู่ก่อน

ผลที่เกิดขึ้นคือระหว่างกระบวนการนั้นเกิดเป็นข้อพิพาทความขัดแย้งและโศกนาฏกรรมในผืนป่า กรณีอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไทถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่รูปธรรมความรุนแรงโดยรัฐ อาทิ กรณีทวงคืนผืนป่า อาแม อามอ ชาวอาข่า และ แสงเดือน ตินยอด ใน อ.งาว รวมถึงกรณีความพยายามในการจับกุมชาวบ้านที่ใช้ประโยชน์จากไม้ในป่าชุมชนของตนเองตามวิถี ในพื้นที่บ้านกลาง อ.แม่เมาะ ประชาชนถูกละเมิดสิทธิ สูญเสียที่ดิน มีคดีความติดตัว แต่ป่าไม่ได้เพิ่มขึ้น สังคมได้อะไรจากความขัดแย้งแบบนี้

ตลกร้ายคือกฎหมายป่าอนุรักษ์อย่างพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ และ พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า นั้นล้วนออกมาในปี 2562 โดยการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่แต่งตั้งโดย คสช.

ปัจจุบันมีพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ซึ่งคือพื้นที่ประเภท วนอุทยาน อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ประกาศแล้ว 227 แห่ง มีชุมชนอาศัยอยู่ 4,196 ชุมชน ประชากรอย่างน้อย 316,560 ราย เนื้อที่ 4,273,726 ไร่ และมีพื้นที่เตรียมการประกาศเป็นป่าอนุรักษ์ 23 แห่ง พื้นที่ 3,916,665 ไร่ (ยังไม่รวมเขตห้ามล่าสัตว์ป่าและวนอุทยาน) นั่นหมายถึงชะตากรรมของประชาชนจำนวนเหยียบล้านนี้เป็นเดิมพันของรัฐบาลใหม่นี้ด้วย หากยังยืนยันจะเดินหน้าเพิ่มพื้นที่ป่าตามตัวเลขเดิม

ถึง ‘เศรษฐา-พัชรวาท’ หยุดสืบทอดอำนาจ คสช.

ทบทวนข้อเรียกร้องของสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) จ.ลำปาง ที่ยื่นถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวานนี้ (4 ก.ย. 2566) ณ ที่ว่าการอำเภองาว จ.ลำปาง ได้แก่

1. ดำเนินการสำรวจข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดินร่วมกับชุมชนให้เป็นที่ยุติร่วมกัน และกันแนวเขตที่ดินเดิมของชุมชนออกจากพื้นที่เตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท

2. กำกับดูแลหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ โดยเฉพาะหน่วยงานภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มิให้ดำเนินการใดๆ อันเป็นการกระทบต่อสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ละเมิดสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง และวิถีวัฒนธรรมของชุมชน ไม่ข่มขู่ คุกคาม และผลิตซ้ำอคติทางชาติพันธุ์และอคติต่อคนอยู่กับป่า

3. เร่งปรับแก้กฎหมายด้านการจัดการป่าไม้ให้รับรองหลักสิทธิชุมชนท้องถิ่นตามรัฐธรรมนูญ และให้เร่งบรรจุแนวทางการบริหารจัดการที่ดิน ป่าไม้ รูปแบบสิทธิชุมชน โฉนดชุมชน ในนโยบายของรัฐบาล ให้เป็นไปตามปฏิญญาสากลที่ประเทศไทยได้ลงนามไว้ โดยเฉพาะปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง นายกรัฐมนตรีควรแถลงขอโทษต่อกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยต่อกรณีการดำเนินนโยบายต่างๆ ที่ละเมิดต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยต้องแถลงต่อสาธารณะ

4. เร่งผลักดันกฎหมายส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ที่มีแนวทางตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 ส.ค. 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง

5. นายกรัฐมนตรีควรแถลงขอโทษต่อกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยต่อกรณีการดำเนินนโยบายต่างๆ ที่ละเมิดต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยต้องแถลงต่อสาธารณะ

ข้อ 1-2 คือข้อเรียกร้องในระดับพื้นที่ แต่เดิมพันไม่ได้มีแค่นั้น เพราะข้อเรียกร้อง 3-5 ต้องอาศัยความกล้าหาญและจิตใจที่เห็นถึงความเดือดร้อนของประชาชนเป็นตัวตั้งจึงจะดำเนินการได้ นัยหนึ่งคือความกล้าหาญในการยุติการสืบทอดอำนาจและนโยบายจากระบอบ คสช. ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลชุดนี้แม้จะมีแกนนำจัดตั้งรัฐบาลคือพรรคเพื่อไทย แต่ในคณะรัฐมนตรีก็เต็มไปด้วยนักการเมืองหน้าเดิมๆ จากยุคสืบทอดอำนาจ คสช.

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ต้องเดินหน้าพิสูจน์ตนว่าจะแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน คนจน ได้หรือไม่ หรือเป็นเพียงนักการเมืองฝ่ายนายทุน และค้ำจุนฝ่ายอำนาจนิยม

พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควบตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี จะสืบทอดนโยบายอัปยศในยุค คสช. ที่ยิ่งรวมศูนย์การผูกขาดและที่และทรัพยากร เดินหน้านโยบายป่าไม้-ที่ดินที่ละเมิดสิทธิของประชาชนต่อไปหรือไม่

หรือจะใช้อำนาจที่ตนมีในการลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมในสังคม ซึ่งบทพิสูจน์ที่ท้าทายอย่างยิ่งคือ ‘อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท’ แห่งนี้ ที่จะมีเวทีรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไปจนถึงวันที่ 8 ก.ย. 2566

และหมายรวมถึงเปิดทางให้ประชาชนร่วมร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นประชาธิปไตย หยุดการสืบทอดอำนาจ คสช. และนำพา ‘สิทธิชุมชน’ กลับสู่หมวด ‘สิทธิเสรีภาพ’ ของประชาชนต่อไป

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net