Skip to main content
sharethis

“ผู้ออกนโยบายก็ไม่เห็นมาอยู่กับเราแบบนี้ เขาก็ไม่รู้สึกอะไรกับเรามากเท่าไร นโยบายห้ามเผา แต่เขาก็เผากันหมดแล้ว ตอนนี้ผมพยายามอยู่เฝ้าระวังและสกัดไม่ให้ไฟมันลามถึงในเขตของเรา พี่น้องเอ๋ย ช่วยกันภาวนาให้มันดับไวๆ นะครับ”

ไฟเปลวแล้วเปลวเล่าเกิดขึ้นและแผดเผาสรรพสิ่งในผืนป่าใหญ่ ในขณะที่เสียงตามสายของหมู่บ้านป่าวประกาศเรียกระดมพลเร่งด่วน เมื่อทราบว่าค่ำคืนนี้ไฟที่ไหม้จากนอกชุมชนเริ่มเข้าใกล้ขอบเขตการจัดการทรัพยากรของหมู่บ้านเข้าเรื่อยๆ ลมยังคงกระพือพัด ไฟยังคงลุกโชน เสียงฝีเท้าของผู้คนในผืนป่ายังคงดำเนินไป เสียงหารือถึงแนวทางการควบคุมไฟยังเล็ดลอดให้ได้ยิน

สมชาติ รักษ์สองพลู ในนามผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 ชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านกลาง ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ถ่ายทอดสดสถานการณ์ไฟป่าที่เกิดขึ้นใกล้แนวเขต ‘อิติแกละ’ หรือพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชุมชน เมื่อเวลาประมาณ 20.00 น. ของเมื่อคืนนี้ (3 เม.ย. 2566) ปรากฏภาพแนวไฟขนาดยาวไม่ต่ำกว่า 10 เมตร กำลังคืบคลานเข้ามาใกล้เรื่อยๆ ทราบภายหลังว่าไฟเปลวนี้ลุกลามมาจากพื้นที่ดินของทหาร ใกล้กับชุมชนบ้านห้วยตาด ห่างออกไปประมาณ 10 กิโลเมตร

“สภาพตอนนี้นะครับ ผมอยู่ที่อิติแกละ ไฟไหม้มาจะถึงศาลาอิติแกละแล้วครับ หนักมาก พื้นที่จิตวิญญาณของเรากำลังจะโดนไฟไหม้ ตอนนี้ผมก็มาติดตามไฟไหม้ในพื้นที่ ไม่รู้จะควบคุมอย่างไร เพราะมันหนักเกิน อันตรายต่อเรามาก พื้นที่ตรงนี้เป็นป่าเต็งรัง จะให้เข้าไปในไฟตอนนี้ก็เสี่ยงกับเรามากนะครับ จริงๆ ถ้าเรามีระบบการจัดการ ถ้าได้ชิงเผาเชื้อเพลิงตั้งแต่ต้น มันก็คงไม่หนักเท่านี้” สมชาติกล่าว

วิถีจัดการไฟชุมชน ถูกตัดทอนด้วยมาตรการ ‘ห้ามเผา’

ในเช้าวันต่อมา ธนากร อัฏฐ์ประดิษฐ์ นักวิชาการอิสระด้านการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ ได้แสดงความเห็นต่อกรณีดังกล่าว ระบุว่า ภาพจากไลฟ์สดเมื่อคืนของผู้นำชุมชนกะเหรี่ยงบ้านกลาง จ.ลำปาง ไฟไม่พึงประสงค์ลุกลามหนักข้ามเข้ามาโซนอันตราย แม้คนที่นี่พยายามปกป้องผืนป่ามายาวนาน จัดการแนวกันไฟอย่างหนักทุกปี เท่าที่จะสามารถทำได้ อย่างน้อยก็อย่าได้ให้ลุกลามเข้าพื้นที่ทำมาหากิน ป่าอนุรักษ์ของชุมชนและโซนบ้านเรือน

เขาชี้ว่า ชาวบ้านอยู่กับป่าอยู่กับไฟมาหลายชั่วอายุ รู้ว่าจุดไหนต้องเผาจัดการเชื้อเพลิงที่สะสมตามฤดูกาลโดยเฉพาะในโซนป่าผลัดใบ รู้ว่าช่วงเวลาไหน สภาพอากาศแบบใดเหมาะสมที่จะใช้ไฟจัดการป่าเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพ เผาไหม้เร็วที่สุด เกิดกลุ่มควันน้อย ต้องจัดสรรกำลังแรงงานจุดไหนเท่าไหร่ เพื่อให้หลายชีวิตรอดพ้นปลอดภัยที่สุด อย่างไรก็ตามเป็นมาตรการของภาครัฐที่ตัดทอน ลดความสำคัญขององค์ความรู้ชุมชนในการจัดการไฟป่า

“ระบบเหล่านี้ถูกผลักออกให้ไปอยู่ภายใต้วิธีคิดแบบ ‘มาตรการห้ามเผา’ อย่างเหมารวมและเชิงเดี่ยว นโยบายปิดป่าแสนเพ้อเจ้อ ถูกควบคุมสั่งการจากหน่วยงานรัฐราชการรวมศูนย์ที่มีดาวเทียม จอคอมพิวเตอร์ แอพพลิเคชัน เครื่องวัดค่าฝุ่น พร้อมขึงขังใช้กฎหมายหลายฉบับคาดโทษทัณฑ์ เมื่อศักยภาพที่มีถูกบั่นทำลายลง เมื่อไฟที่เคยควบคุมจัดการได้บ้างกลายเป็นไฟเรือนยอดที่กระโดดข้ามแนวป้องกันได้อย่างเสรี เกินจุดที่คนในชุมชนจะกำราบจัดการ ต้องปล่อยให้เปลวแผ่เผาดั่งเสรี เหนื่อยเมื่อใดเขาคงหยุดมอดลงเอง ส่วนคนถอยร่นกลับไปดูแลแนวชั้นในอย่าให้เข้ามากลืนกินบ้านเรือนได้ก็นับว่าผีป่าผีไฟเมตตาพอแล้ว” ธนากรกล่าว

เขายังกล่าวทิ้งท้าย ว่าวันพรุ่ง รอผู้มีอำนาจออกมาตรการใหม่ สั่งการ มอบหมาย คาดโทษ รายงาน ออกสื่อ อย่างเป็นปกติฤดูไฟ ฤดูแพะ ฤดูอำนาจ

จากสถานการณ์ฝุ่นควัน ถึงงบจัดการไฟที่ถูกปัดตก

ประกาศจังหวัดลำปาง เรื่อง ห้ามเผาป่าและพื้นที่โล่ง ยกเว้นพื้นที่ตามแผนการบริหารจัดการเชื้อเพลิง ที่ประกาศ ณ วันที่ 6 ก.พ. 2566 ให้ทั้ง 13 อำเภอของจังหวัดลำปางงดเว้นการเผาป่า เผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เผาขยะ และเผาวัชพืชข้างทาง เผาในพื้นที่โล่งแจ้งทุกกรณีในพื้นที่จังหวัดลำปาง ตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. 2566 ถึงวันที่ 30 เม.ย. 2566 ยกเว้นพื้นที่ตามแผนบริหารจัดการเชื้อเพลิง แต่ชุมชนก็ยังกังวลเกี่ยวกับการใช้ไฟในพื้นที่ไร่หมุนเวียน และการใช้ไฟองค์ความรู้ของชุมชนในการจัดการเชื้อเพลิงในป่า เช่น การชิงเผา

ชุมชนบ้านกลางนั้นตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และมีพื้นที่บางส่วนทับซ้อนกับอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท (เตรียมการ) มีพื้นที่จัดการทรัพยากรและพื้นที่จิตวิญญาณของชุมชน หรือ อิติแกละ ประมาณ 16,000 ไร่ โดยแต่ละปีชุมชนจะทำแนวกันไฟยาว 36 กิโลเมตรรอบพื้นที่อิติแกละ ในช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน รวมถึงจะลาดตระเวนเฝ้าระวังไฟ และมีกฎกติกาของชุมชนในการดูแลรักษาป่ามาอย่างยาวนาน

ก่อนหน้าฤดูกาลไฟป่าปีนี้ ชุมชนบ้านกลาง และบ้านแม่ส้าน อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ได้ทำหนังสือแจ้งความประสงค์ขอเข้าดำเนินการตามโครงการจัดทำแนวกันไฟและเข้าดับไฟป่าในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ 3 (ลำปาง) ได้มีหนังสือถึงประธานกองทุนหมู่บ้าน บ้านดง เรื่อง ขอสอบถามการใช้พื้นที่สำหรับการดำเนินการโครงการชุมชน “โครงการจัดทำแนวกันไฟ บ้านกลาง ม.5” ลงวันที่ 25 พ.ย.2565 ระบุว่า “…หากท่านประสงค์จะขอเข้าดำเนินการจัดทำแนวกันไฟในพื้นที่ป่า จะต้องได้รับการอนุมัติจากอธิบดีกรมป่าไม้ก่อน…” แสดงให้เห็นว่า มีการผูกขาดการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอยู่ที่หน่วยงานรัฐเท่านั้น แม้ชุมชนบ้านกลางและบ้านแม่ส้านจะแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของชุมชนอยู่กับป่าที่สามารถดูแลจัดการป่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทำให้งบประมาณที่ชุมชนควรได้นำมาจัดการไฟป่าต้องถูกปัดตกไป

สู่ข้อเสนอจัดการไฟโดยชุมชน ถึงรัฐบาล และการเมือง

“หวังว่ารัฐบาลหน้าน่าจะมีนโยบายที่ดีกว่านี้ ไม่งั้นคนที่ดูแลป่า รักษาป่าก็จะเหนื่อย เพราะว่าตอนนี้เรายังไม่เห็นพรรคการเมืองที่มีนโยบายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม การดูแลป่า การจัดการทรัพยากรที่ชัดเจน” สมชาติ รักษ์สองพลู ผู้ใหญ่บ้านชุมชนบ้านกลางยังคงกล่าวต่อไป ท่ามกลางเปลวไฟที่ลุกไหม้รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

ก่อนหน้านั้นชุมชนบ้านกลาง หนึ่งในชุมชนที่ร่วมกับศูนย์สนับสนุนชุมชนสู้ไฟป่า ร่วมกับอีก 20 ชุมชนในนามสมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ (มพน.) ได้ร่วมประชุมเพื่อพัฒนาข้อเสนอการจัดการไฟป่าและฝุ่นควัน PM 2.5 ในพื้นที่ป่าภาคเหนือ ระหว่างวันที่ 6-7 กุมภาพันธ์ 2566 ณ โรงแรมฮอลิเดย์ การ์เดน จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีข้อเสนอที่สำคัญ 6 ประเด็นดังนี้

1. ยกเลิกใช้นโยบายที่มุ่งกำจัดไฟโดยไม่แยกแยะ (Fire Exclusion Policy) ด้วยอุดมคติที่ฝืนสภาพความจริง โดยไม่พิจารณาถึงเงื่อนไขสำคัญอื่นตามบริบทที่แตกต่าง โดยเฉพาะลักษณะทางนิเวศที่แตกต่างกันแม้กระทั่งในพื้นที่หนึ่งชุมชนท้องถิ่น ลักษณะทางสังคมวัฒนธรรม ส่งผลให้มาตรการที่ผ่านมาล้มเหลวและสร้างภาวะสะสมเชิงผลกระทบสืบเนื่องมา โดยรูปธรรมที่สำคัญคือ ต้องยกเลิกมาตรการห้ามเผาอย่างเหมารวมโดยทันที เนื่องจากการใช้วิธีฝืนห้ามไม่ให้เกิดไฟทุกประเภท จะส่งผลโดยตรงกับการลดศักยภาพของระบบจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่าผลัดใบ การทำแนวกันไฟ รวมไปถึงระบบการจัดการป่าและระบบไร่หมุนเวียนของชุมชนกะเหรี่ยง และกลายเป็นการสร้างความเสี่ยงต่อการเกิดไฟที่มิอาจควบคุมได้ตามระบบปกติ

2. แยกแยะ ทำความเข้าใจ และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสังคมเกี่ยวกับระบบการเกษตรแบบ ‘ไร่หมุนเวียน’ ของชุมชนกะเหรี่ยง ซึ่งจำเป็นต้องมีการใช้ไฟตามวิถีชีวิตและมักถูกหน่วยงานรัฐเหมารวมเป็นการเผาป่า เนื่องจากชุมชนมีความจำเป็นต้องใช้ไฟเพียงหนึ่งครั้งตลอดทั้งปีเพื่อให้มีข้าวและพืชอาหารเป็นความมั่นคงทางอาหารของครัวเรือนตลอดทั้งปี โดยระบบการเกษตรรูปแบบนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมประจำปี 2556 และได้รับการคุ้มครองตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 ส.ค. 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง

3. เลิกรวมศูนย์อำนาจรัฐและผูกขาดกลไกการบริหารจัดการ มุ่งกระจายอำนาจการจัดการทรัพยากรสู่ชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยการสร้างนโยบายการแก้ไขปัญหาที่เป็นฉันทามติร่วมทางสังคมและเป็นธรรม สอดคล้องกับความซับซ้อนของปัญหา ตอบสนองต่อช่วงฤดูวิกฤติผ่านกระบวนการวางแผน กำหนดยุทธศาสตร์และยุทธวิธีในการแก้ไขปัญหาที่มีความเหมาะสมกับสภาพทางภูมิศาสตร์ สภาพแวดล้อม เงื่อนไขความพร้องทางสังคมทั้งในระดับภาค ระดับจังหวัด ระดับอำเภอและหมู่บ้าน บนฐานของการพิจารณาชุดขององค์ความรู้ ระบบฐานข้อมูล ระบบสนับสนุน การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน

4. สนับสนุนแผนการจัดการไฟและ PM 2.5 ของชุมชนและ อปท. โดยการสร้างแผนการบูรณาการจัดการไฟป่าเชิงระบบ ที่มาจากฐานศักยภาพและบริบทเฉพาะของชุมชนท้องถิ่น เพื่อยกระดับสู่แผนการจัดการอย่างมีส่วนร่วมภายใต้ระบบการสนับสนุนทรัพยากรโดยตรงที่ทันต่อสถานการณ์จากหน่วยงานหลักระดับจังหวัดและระดับประเทศ นอกจากนั้น ยังต้องสนับสนุนการกระจายงบประมาณหรือจัดตั้งกองทุนในด้านการจัดการไฟป่าและ PM 2.5 สู่ชุมชนและ อปท. โดยการปรับแก้ระบบบริหารงบประมาณฯ ของ ทส. และงบประมาณฯ ประเทศให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์เร่งด่วนฉุกเฉินประจำฤดูและสอดคล้องกับแผนในระยะยาว

5. สนับสนุนการกระจายอำนาจในการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติโดยชุมชน โดยการสนับสนุน ‘โฉนดชุมชน’ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ. 2553 ซึ่งปัจจุบันรองรับโดยมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 1 ก.พ. 2565 ว่าด้วยแนวทางแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม เนื่องจากเป็นแนวนโยบายที่ผลักดันโดยภาคประชาชนเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทภูมิประเทศ ฐานทรัพยากรในพื้นที่ รวมถึงองค์ความรู้และภูมิปัญญาของแต่ละชุมชนที่มีความแตกต่างหลากหลาย และเราขอปฏิเสธแนวทางตามโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) และมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 26 พ.ย.2561 ว่าด้วยมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าไม้ (ทุกประเภท) ที่ยังดำรงอยู่ภายใต้แนวคิดการรวมศูนย์อำนาจการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และอยู่ภายใต้แผนแม่บทพัฒนาการป่าไม้แห่งชาติ พ.ศ. 2562

6. แก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการป่าไม้ 3 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562, พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และ พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ. 2562 โดยเปิดให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนที่มีวิถีชีวิตที่หลากหลาย เนื่องจากการบังคับใช้กฎหมายที่ผ่านมาสร้างผลกระทบและตัดตอนการมีส่วนร่วมของประชาชนในหลายพื้นที่ ยืนอยู่บนหลักการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่คุ้มครองสิทธิชุมชน รวมถึงสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ และหากไม่สามารถดำเนินการแก้ไขกฎหมายตามเจตนารมณ์ของประชาชนได้ เราขอเสนอให้เพิกถอนพื้นที่การจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนออกจากกฎหมายป่าไม้ทุกฉบับ

เสียงความทุกข์ร้อนของประชาชนคนบ้านกลางยังคงดำเนินต่อไป ข้อเรียกร้องจากระดับพื้นที่อื่นๆค่อยๆ รวมกันจากเสียงแผ่วกระซิบสู่เสียงที่ดังขึ้นท่ามกลางบรรยากาศทางการเมืองใกล้เข้าสู่การเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ สุดท้ายนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมจะลงเอยด้วยการรับรองสิทธิของชุมชนในการปกป้องดูแล พร้อมกับมีสิทธิใช้ประโยชน์จากฐานทรัพยากรของชุมชนอย่างยั่งยืน รวมถึงรองรับวิถีชีวิตของผู้คนที่มีความหลากหลายหรือไม่ ยังคงต้องติดตาม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net