Skip to main content
sharethis

สหภาพคนทำงาน ประมวลสถานการณ์ความคืบหน้าหลังจากผ่านมา 100 วัน การต่อสู้เรียกร้องของคนเขียนบทในอุตสาหกรรมบันเทิงสหรัฐฯ ของสหภาพนักเขียนอเมริกัน พร้อมย้อนทวนทำความเข้าใจว่าพวกเขาคือใคร ทำไมถึงออกมาประท้วง

เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม ภาพการประท้วงของสหภาพนักเขียนอเมริกัน (WGA) ได้ถูกเผยแพร่บนสื่อโซเชียลเป็นวงกว้าง ทำให้กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาทันที จากการประท้วงลงถนนและนัดหยุดงานของสหภาพดังกล่าว ทำให้อุตสาหกรรมบันเทิงในอเมริกาหยุดชะงัก หนังและซีรีย์หลายเรื่องต้องเลื่อนฉาย สูญเงินอีกมหาศาล เรามาทำความเข้าใจกันว่าทำไมพวกเขาต้องออกมา เกิดปัญหาอะไรในอุตสาหกรรมนี้ และสหภาพต้องการสิ่งใด

สหภาพนักเขียนอเมริกัน WGA พวกเขาคือใคร

สหภาพนักเขียนอเมริกัน (Writers Guild of America-WGA) แบ่งออกเป็น 2 สหภาพย่อยคือ สหภาพนักเขียนอเมริกันทางตะวันออก และทางตะวันตก ซึ่งเป็นตัวแทนของเหล่านักเขียนบทภาพยนตร์ที่ส่วนใหญ่ทำงานให้รายการโทรทัศน์และภาพยนต์ในฮอลลีวู้ด โดยมีสมาชิกประมาณ 11,500 คน ซึ่งสหภาพเหล่านี้มีหน้าที่เจรจากับสมาพันธ์ผู้ผลิตภาพยนตร์และโทรทัศน์ (AMPTP) ซึ่งมีสมาชิกเป็นบริษัทผลิตภาพยนต์ยักษ์ใหญ่หลายแห่ง เช่น Disney และ Paramount บริษัทสตรีมมิ่ง เช่น Netflix และ Apple

ทำไมถึงออกมาประท้วง?

เมื่อวันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา สหภาพนักเขียนอเมริกัน (WGA) ได้โหวตถามความเห็นของเหล่าสมาชิกต่อประเด็นการประท้วงนัดหยุดงานเพิ่อเรียกร้องการจ้างงานที่เป็นธรรม ผลคือมีสมาชิกตอบตกลงถึงร้อยละ 97.85 จึงประกาศนัดหยุดงานอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค.66 เป็นต้นไป

ซึ่งถือเป็นการประท้วงครั้งแรกของ WGA ในรอบ 15 ปี เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมในอุตสาหกรรมความบันเทิง

พวกเขาจะไม่หยุดจนกว่าจะบรรลุข้อเรียกร้องของสหภาพ หรือจนกว่าสมาชิกทั้งหมดในสหภาพจะมีมติเป็นเอกฉันท์ให้หยุดการประท้วง ซึ่งระหว่างนั้นสมาชิกจะไม่เขียนบทให้รายการโทรทัศน์หรือภาพยนต์ใดๆ หมายความว่า หลายคนยอมขาดรายได้ในระหว่างการประท้วงเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเรียกร้องอย่างเป็นธรรมและยั่งยืนในอนาคต

เกิดปัญหาอะไรขึ้น?

-รายได้ลดลงจากอุตสาหกรรมสตรีมมิ่ง

โดยปกติแล้ว เมื่อรายการโทรทัศน์หรือภาพยนตร์ถูกนำกลับมาฉายใหม่ (rerun) บริษัทยักษ์ใหญ่จะจ่ายเงินจำนวนมากให้ลงโฆษณา ซึ่งกำไรส่วนหนึ่งจะมอบให้กับนักเขียนบท หมายความว่ายิ่งตอนต่างๆ ของเหล่านักเขียนได้ฉายออกอากาศมากเท่าไหร่ นักเขียนบทก็จะได้รับค่าตอบแทนมากขึ้นเท่านั้น

แต่การเติบโตของอุตสาหกรรมสตรีมมิ่งซึ่งกอบโกยรายได้จากการสมัครสมาชิกแบบรายเดือนหรือรายปี ทำให้นักเขียนบทมีรายได้ต่ำลง เพราะสัญญาของนักเขียนบทส่วนใหญ่คิดรายได้จากการนำมาฉายใหม่เท่านั้น แต่บนแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งผลงานของพวกเขาจะอยู่ในนั้นตลอด ทำให้รายได้ส่วนนี้หดหายไป

ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณเขียนบทซีรีย์เรื่อง Stranger Things ต่อมาได้รับความนิยมถล่มทลาย สร้างประโยชน์ให้ Netflix มีสมาชิกเพิ่มขึ้นและสร้างรายได้มหาศาล แต่นักเขียนบทจะไม่ได้กำไรส่วนแบ่งจากผลพลอยได้ตรงนี้เลย

โดยในการเจรจาก่อนการนัดหยุดงานเกี่ยวกับประเด็นนี้ WGA ระบุว่า เงื่อนไขดังกล่าวต้องมีการเปลี่ยนแปลงในสัญญา แต่ AMPTP ปฏิเสธ

-ปัญหาการใช้ AI

ซีรีย์หลายตอนและภาพยนตร์จำนวนมากของฮอลลีวูดนั้นมักจะมีบทสูตรสำเร็จในตุวมันเอง ทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่หันมาใช้ AI เพื่อเขียนโครงเรื่อง หรือแม้แต่สคริปต์ฉบับสมบูรณ์ จากนั้นจึงจ้างนักเขียนบทให้แก้ไขหรือทำให้สมบูรณ์มากขึ้น การกระทำเช่นนี้ช่วยลดค่าใช้จ่ายแก่สตูดิโอได้มากมาย และทำให้เกิดความกังวลว่า ในอนาคต บริษัทจะไม่จ้างนักเขียนบทเพื่อผลิตไอเดียอีกต่อไป

บริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งมองว่า AI มีศักยภาพเช่นเดียวกับนักเขียนบทและเร็วกว่ามาก ซึ่งการใช้ AI ไม่เพียงลดการจ่ายค่าจ้างต่อนักเขียนบทเท่านั้น แต่ยังทำลายการจ้างงานจำนวนมากในภาคอุตสาหกรรมบันเทิงของพวกเขาด้วย

แม้ว่า WGA จะไม่สามารถหยุดยั้งการพัฒนาเทคโนโลยีได้ แต่พวกเขาสามารถเจรจาต่อรองกับสตูดิโอยักษ์ใหญ่ต่างๆ และหาหลักประกันให้กับสมาชิกนักเขียนบทได้

-ค่าจ้างคนเขียนบทไม่สัมพันธ์กับปริมาณงาน

ปัจจุบัน บริษัทจ้างนักเขียนบทไม่กี่คน ( 2-3 คน แทนที่จะจ้างตามปกติประมาณ 7-8 คน) ให้เขียนบทตอนต่างๆ ของรายการโทรทัศน์หรือภาพยนต์ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยระหว่างเขียนร่วมกันถือเป็นบทที่ยังไม่ได้รับการอนุมัติ ซึ่งอาจเป็นโครงเรื่องที่ไม่ผ่าน นักเขียนบทจึงต้องรับภาระงานที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น แต่ได้รับค่าจ้างน้อยกว่าปกติ

อีกกรณีคือ เมื่อก่อนการผลิตซีรีย์เรื่องหนึ่งมีประมาณ 25 ตอน แต่ปัจจุบันบริษัทหันมาผลิตซีรีย์ที่มีตอนสั้นๆ เพียง 5-8 ตอนเท่านั้น แต่กลับทำสัญญาจ้างคนเขียนบทในระยะเวลาเท่ากัน ซึ่งการลดตอนลงทำให่รายได้ของคนเขียนบทลดลงด้วย กล่าวโดยสรุปคือ ผลิตตอนลดลงทำให้รายได้ลดลง แต่ยังใช้ปริมาณงานและเวลาเท่าเดิม

แล้วการประท้วงหยุดงานของสหภาพนักเขียนที่ผ่านมาล่ะ?

สหภาพนักเขียนเคยนัดหยุดงานประท้วงมาแล้ว 6 ครั้ง ครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 2503 โดยใช้ระยะเวลาในการหยุดงานประท้วงเป็นเวลาเกือบห้าเดือน ครั้งถัดมาเกิดขึ้นในปี 2516 ปี 2524 และปี 2528 โดยการประท้วงนัดหยุดงานครั้งที่ 5 เป็นครั้งที่ใช้เวลามากที่สุด เป็นเวลา 5 เดือนในปี 1988

ครั้งที่ 6 เกิดการนัดหยุดงานประท้วงในปี 2550-2551 หลังจากประท้วงผ่านไปสามเดือนก็บรรลุข้อเรียกร้องของสหภาพนักเขียนได้ โดยระบุให้รายการสตรีมมิ่งที่ยังไม่มีประสบการณ์ต้องจ้างสมาชิกนักเขียนบทของสหภาพ หากมีงบประมาณเพียงพอ

ความคืบหน้าหลังจากผ่านมา 100 วัน

ข่าวของ Reuters เมื่อวันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา ระบุว่า ช่วงสุดสัปดาห์ก่อน ได้มีการเปิดโต๊ะเจรจาระหว่าง WGA และ AMPTP ซึ่งยังคงไม่ได้ข้อตกลงที่ชัดเจน และจะนัดเจรจาอีกครั้งในสัปดาห์หน้า ซึ่งตลอดระยะเวลา 100 วันของการประท้วงนัดหยุดงานที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายไม่ได้นั่งเจรจาร่วมกันเลย

แหล่งข่าวอีกรายระบุกับ Reuters ว่า สตูดิโอยักษ์ใหญ่ตอบรับข้อเสนอประเด็นหนึ่งนั่นคือ การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) มีการเห็นชอบที่จะให้นักเขียนบทที่เป็นมนุษย์ได้รับเครดิตจากผลงานของพวกเขา นอกจากนี้รายงานข่าวจาก Bloomberg ซึ่งอ้างอิงจากแหล่งข่าวนิรนามระบุว่า บริษัทยักษ์ใหญ่ต่างๆ ตกลงจะแชร์ข้อมูลสถิติการเข้าถึงผู้ชมทั้งหมดให้ผู้เขียนบทได้รับรู้ ซึ่งจะทำให้ผู้เขียนบทสามารถประเมินความนิยมซีรีส์ของตนได้

แต่ AMPTP ปฏิเสธข้อตกลงโควต้าการจ้างงาน ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องของ WGA สำหรับการว่าจ้างจำนวนคนขั้นต่ำต่อห้องในการเขียนบท ส่วนข้อเสนอควบคุมการใช้ปัญญาประดิษฐ์ เหล่าสตูดิโอเห็นว่า เป็นหัวข้อที่ซับซ้อนมาก จึงต้องการอภิปรายกันมากกว่านี้

จากการประท้วงนัดหยุดงานเป็นเวลาหลายเดือน เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้บริหารสตูดิโอยักษ์ใหญ่หลายคนแสดงให้เห็นว่า พวกเขาต้องการให้รีบเจรจาหาข้อสรุปกับกลุ่มแรงงานอย่างเร่งด่วน

อ้างอิง :

สมัครสมาชิกสหภาพคนทำงาน: https://tr.ee/lvqo0nL-f7

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net