Skip to main content
sharethis

สรุปปราศรัยนโยบายผู้สมัครฯ ตำแหน่งผู้แทนบุคลากร กทม. โค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง 30 ส.ค. 66 พบส่วนใหญ่ต้องการยกระดับสิทธิรักษาพยาบาลลูกจ้างทุกกลุ่ม เพิ่มค่าเสี่ยงภัยผู้ปฏิบัติงาน ปรับอัตราบรรจุงาน มองปัญหาภาระค่าครองชีพ เป็นเรื่องเร่งด่วน 

 

สืบเนื่องจากเมื่อ 25 ส.ค. 2566 ที่ห้องนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร จัดการแถลงนโยบายและแสดงวิสัยทัศน์ ผู้สมัครเลือกตั้งผู้แทนบุคลากรกรุงเทพมหานคร เพื่อเข้ามาเป็นกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานครและบุคลากรกรุงเทพมหานคร (ก.ก.) โดยการแถลงครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนมีการเลือกตั้งในวันที่ 30 ส.ค. 2566 ที่สำนักงานเขตที่ลูกจ้าง กทม. ปฏิบัติงานในเขตนั้นๆ  

ประชาไท สรุปการแถลงนโยบายและแสดงวิสัยทัศน์ของผู้สมัครฯ ผู้แทนบุคลากรกรุงเทพมหานคร พบผู้สมัครส่วนใหญ่ให้ความสำคัญสวัสดิการการรักษาพยาบาล ค่าเสี่ยงภัยจากการปฏิบัติงาน ปรับการบรรจุงาน สวัสดิการบำเหน็จ การเลื่อนขึ้น/ปรับตำแหน่งงาน ทุนการศึกษาสำหรับลูกจ้าง และอื่นๆ

ทั้งนี้ ผู้สมัครเลือกตั้งผู้แทนบุคลากรกรุงเทพมหานคร มีจำนวนทั้งหมด 9 หมายเลข แต่มีผู้สมัครฯ มาแถลงนโยบาย จำนวน 6 หมายเลข ได้แก่ หมายเลข 1 ขวัญจิต จุลวัฒจะ, หมายเลข 3 โชติกา ยุภิญโญ, หมายเลข 4 ชูศักดิ์ ขันอาสา, หมายเลข 6 สุมาลี วงษ์ครุฑ, หมายเลข 7 สรรพสิทธิ์ เสนาะศัพท์ และหมายเลข 9 ประพันธ์ วงศ์เปี่ยม

ทั้งนี้ กำหนดการเลือกตั้งตัวแทนข้าราชการกรุงเทพมหานครและบุคลากรกรุงเทพมหานคร เพื่อเข้าไปเป็นกรรมการ ก.ก. จะมีใน 30 ส.ค. 2566 ณ หน่วยเลือกตั้งที่สำนักงานเขตในพื้นที่ที่ปฏิบัติงาน ตั้งแต่เวลา 8.00-15.00 น. 

โดยผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการ ก.ก. จะสามารถเข้าไปเสนอนโยบายด้านสิทธิแรงงาน และสวัสดิการในที่ประชุมของ ก.ก. เพื่อให้มีการผลักดันนโยบายต่างๆ 

ตรวจสอบหมายเลขผู้สมัคร ผู้แทนบุคลากรกรุงเทพมหานคร ในกรรมการ ก.ก. (ที่มา: เฟซบุ๊ก สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร)

หมายเลข 1: เสนอลูกจ้างชั่วคราวสามารถอาศัยแฟลต กทม.-ปรับเกณฑ์เลื่อนขึ้นตำแหน่งงาน

หมายเลข 1 ขวัญจิต จุลวัฒจะ พี่เลี้ยง ส.1 โรงเรียนเคหะทุ่งสองห้องวิทยา 2 สำนักงานเขตหลักสี่ เสนอว่า เนื่องจากการลงพื้นที่สำรวจปัญหาของคนทำงาน กทม. เธอพบว่าปัญหาใหญ่คือเรื่องรายได้ต่ำ สวนทางกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น โดยเฉพาะด้านที่อยู่อาศัย เธอจึงอยากเสนอให้ลูกจ้างชั่วคราวสามารถพักอาศัยในแฟลต กทม. ซึ่งตอนนี้ว่างเยอะมาก และไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร อย่างน้อย ถ้าให้ลูกจ้างชั่วคราวเข้ามาพักอาศัย ก็จะช่วยเรื่องการแบ่งเบาภาระด้านค่าครองชีพได้ ส่งผลให้ชีวิตของบุคลากร กทม. ดีขึ้น 

ต่อมา ขวัญจิต เสนอนโยบายการปรับระดับชั้นงาน ควรมีการปรับขึ้นหรือเลื่อนตำแหน่งขึ้นตามประสบการณ์ทำงาน และวุฒิการศึกษา เพื่อให้การงานมั่นคง และยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น สุขภาพจิตดี เวลาเกษียณ ก็เกษียณอย่างภาคภูมิ และมีความสุข

นโยบายต่อมา ผู้สมัครฯ หมายเลข 1 เสนอว่า  หากกรณีมีการยุบตำแหน่งงาน หรืออัตรากรอบกำลัง กทม. ต้องหาตำแหน่งทดแทน ในเมื่อมีการเลิกจ้างงานของลูกจ้างชั่วคราวก็ต้องมีการเยียวยา 

ขวัญจิต ระบุต่อว่า ในเรื่องการดูแลบุคลากร ทุกคนทราบดีว่า การดูแลบุคลากรยังไม่ทั่วถึง และบุคลากรเวลาทำงานมีการประสบอุบัติเหตุทุกวัน เราเสียจำนวนบุคลากรไปไม่ใช่น้อย เลยอยากเสนอให้ดูแลในยามเจ็บป่วย เช่น เจออุบัติเหตุ รักษาตัวในโรงพยาบาล ทางหน่วยงานควรจะมีกระเช้าเยี่ยม เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ หรือกรณีที่เสียชีวิตระหว่างปฏิบัติหน้าที่ จะมีการส่งพวงหรีด และแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้เสียชีวิต  

หมายเลข 3: ลูกจ้างชั่วคราวทำงาน 3 ปีขึ้นไป ได้รับพิจารณาการบรรจุงาน-รับสิทธิพยาบาลลูกจ้างเกษียณ-ลูกจ้างหญิงได้รับโอกาสในตำแหน่งงานที่สูงขึ้น

โชติกา ยุภิญโญ พนักงานทั่วไป (กวาด) ลูกจ้างประจำ เขตยานนาวา หมายเลข 3 เสนอนโยบายเร่งด่วน ยกระดับสวัสดิการทุกตำแหน่ง และทุกกลุ่มงาน อย่างเท่าเทียม โดยเบื้องต้น เธอขอให้มีการผลักดันให้พนักงานหญิง กทม. มีโอกาสเข้ามาพัฒนา และทำงานในตำแหน่งที่สูงขึ้น 

โชติกา เสนอว่า นโยบายแรก อยากผลักดันเร่งด่วนลูกจ้างประจำ หลังเกษียณ ให้ได้รับสิทธิรักษาโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร 11 แห่ง

ต่อมา ผลักดันเร่งด่วนลูกจ้างประจำที่มีอายุงาน 10-20 ปี ให้ได้รับการบำเหน็จรายเดือน ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการกรุงเทพมหานครและบุคลากร พ.ศ. 2554 มาตรา 44(11) ให้ไปทิศทางเดียวกับสมาคมลูกจ้างส่วนข้าราชการ แห่งประเทศไทย ที่กำลังผลักดัน 

ข้อ 3 ผลักดันเร่งด่วนให้ลูกจ้างประจำทุกกลุ่มงานของ กทม. ให้ปรับระดับชั้นงานให้สูงขึ้นทิศทางเดียวกับพนักงานของทุกทบวง และกรม โดยแบ่งดังนี้ กลุ่มงานพัฒนาบริหารพื้นฐาน บ.1 ถึง บ.2 ให้ปรับขึ้นเป็น บ.2 หัวหน้า กลุ่มงานสนับสนุน ส.1 ถึง ส.2 ปรับให้เป็น ส.3 หัวหน้า กลุ่มงานช่าง ช.1 ถึง ช.4 ปรับให้เป็น ช.4 หัวหน้า ตามหนังสือกรมบัญชีกลางที่ กค.0420/ว370 

ข้อที่ 4 ผลักดันเร่งด่วน ลูกจ้างชั่วคราวที่ปฏิบัติงานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ให้ได้รับการบรรจุลูกจ้างประจำเพิ่มขึ้น โดยต้องมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน อาทิ มาสาย ลางาน หรือขาดงาน และมีการสะสมปีที่บรรจุงานนับเป็นคะแนน นอกจากนี้ ลูกจ้างชั่วคราวที่อายุงาน 3 ปี ที่มีวุฒิการศึกษา ป.ตรี ให้มีการสอบเข้าเป็นข้าราชการภายใน เหมือนลูกจ้างที่มีวุฒิ ปวช. และ ปวส.อย่างที่ผ่านมา  

ผลักดันเร่งด่วน ลูกจ้าง กทม. ทุกกลุ่มงาน ที่ปฏิบัติงานภาคสนามทุกตำแหน่ง ให้ได้รับค่าตอบแทน หรือเรียกว่าค่าเสี่ยงภัย อันเกิดขึ้นจากทั้งทางบก และทางน้ำ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดอันตราย และมีผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานภาคสนาม

ข้อ 5 คนที่พ้นโทษ หรือเสร็จสิ้นคดีความ 3-5 ปี  ให้ได้รับเข้ามาเป็นลูกจ้างประจำ และสามารถบรรจุงานได้ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของผู้ว่า กทม. ว่า คนที่พ้นโทษควรได้ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ในสังคมได้ 

อย่างไรก็ตาม โชติกา ระบุว่า นี่เป็นเพียงส่วนเดียวที่นำมาเสนอ แต่เธออยากให้มีการปรับค่าเงินเดือนของพนักงาน และลูกจ้าง กทม. ทุกกลุ่มงาน ให้สอดคล้องกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นด้วย 

หมายเลข 4: เสนอเพิ่มอัตราบรรจุงานหลายช่องทาง-เพิ่มเงินค่าครองชีพ-เพิ่มหลักสูตรการเลื่อนตำแหน่งงาน/เปลี่ยนสายงาน

ชูศักดิ์ ขันอาสา ฝ่ายเทศกิจ สำนักงานเขตปทุมวัน หมายเลข 4 เสนอนโยบายข้อที่ 1 สำหรับลูกจ้างชั่วคราวให้ได้รับการบรรจุเป็นลูกจ้างประจำ และหลายช่องทางมากขึ้น เพื่อเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการได้ทั่วถึง และครบถ้วน โดยลูกจ้างชั่วคราวจะได้รับบรรจุผ่าน 2 ช่องทาง 1. บรรจุตามเปอร์เซ็นต์ จากการประชุมของคณะผู้บริหาร เมื่อ 28 ก.พ. 2566 มีมติเพิ่มการบรรจุพนักงานประจำอีก 4 เปอร์เซ็นต์ 

ช่องทางที่ 2 ชูศักดิ์ เสนอว่า เขาจะออกนโยบายรองรับให้มีบัญชีสำรองของลูกจ้างประจำที่ผ่านคุณสมบัติการประเมิน 

ผู้สมัคร หมายเลข 4 ระบุด้วยว่า นโยบายนี้จะป้องกันการขาดแคลนกำลังพลในหน่วยงานนั้นๆ โดยไม่ต้องไปขอ ก.ก. เพื่อรับสมัครลูกจ้างชั่วคราวมาทดแทน ยกตัวอย่าง ช่วง COVID-19 ที่ผ่านมา มีหลายหน่วยงานขาดแคลนกำลังพล ก็จะได้นำคนจากบัญชีสำรองเข้ามาทดแทน โดยผู้ที่แต่งตั้งคือหัวหน้าหน่วยงานนั้นๆ  

ชูศักดิ์ เสนอนโยบายข้อที่ 2 เพิ่มหลักสูตรอบรม หรือตำรา สำหรับบุคลากรที่ปรับชั้นงานเฉพาะหมวดงานของเขา หรือผู้ที่ต้องการเปลี่ยนสายงาน ยกตัวอย่าง ผู้ที่เลื่อนชั้นจาก บ.2 เป็น บ.3 หรือคนที่ต้องการเปลี่ยนสายงาน จาก บ. ไปเป็น ส. ตำแหน่งพนักงานขับรถ ก็ต้องผ่านหลักสูตรดังกล่าว และหลักสูตรต้องมีการทำงานกับนักวิชาการ เพื่อพัฒนาบุคลากรให้มีมาตรฐานตามหลักเกณฑ์ของสายงานที่จะเปลี่ยน และสามารถเปลี่ยนสายงานได้

ต่อมา ผู้สมัคร หมายเลข 4 เสนอนโยบายข้อที่ 3 ออกระเบียบ ก.ก. โดยวิธีพิเศษ โดยให้ลูกหลานของพนักงานสามารถเข้ามาทำงานได้ ต่อมา ข้อที่ 4 ยกระดับการทำงานปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน 

ชูศักดิ์ เสนอนโยบายข้อที่ 5 ว่าด้วยเรื่องบำเหน็จของผู้ที่ทำงานเกิน 10 ปี ยังไม่มีระบุในบัญญัติกรุงเทพมหานคร แต่เขาอยากให้มีเงินสักก้อนหนึ่งเป็นเสมือนเงินขวัญถุง เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ 

ชูศักดิ์ เสนอนโยบายที่ 6 ว่า สำหรับลูกจ้างชั่วคราวที่ทำงานหนัก เพื่อมาเป็นหน้าตาให้กับผู้บริหาร กทม. เขาได้เพียงค่าตอบแทน และวันหยุดนักขัตฤกษ์เท่านั้น อยากให้มีการดูแลเรื่องสวัสดิการเพิ่มมากขึ้น  โดยผู้สมัครหมายเลข 4 อยากเสนอให้มีการเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว ซึ่งแต่เดิมไม่น่าจะพอ กทม.สามารถปรับขึ้นได้ โดยการแก้ไขข้อบัญญัติเรื่องค่าครองชีพ กทม. เพิ่มเติม เนื่องจากไม่สามารถปรับฐานเงินเดือนให้พวกเขาได้ แต่มันสามารถเพิ่มเงินค่าครองชีพให้น้องๆ ได้ดำรงชีพได้ เนื่องจากทุกคนต้องหาเลี้ยงชีพตัวเอง และครอบครัว 

ส่วนสุดท้าย หลายคนถามเขาเยอะว่าทำไมไม่มีนโยบายเบิกค่ารักษาพยาบาลหลังเกษียณ ชูศักดิ์ ชี้แจงว่า เขาเคยผลักดันมาแล้วรวม 8 ครั้ง โดยทุกครั้ง ทาง กทม. ระบุว่า ติดเรื่องข้อระเบียบกติกา

หมายเลข 6: เสนอสิทธิรักษาพยาบาลลูกจ้างเทียบเท่าประจำ-อายุงานลูกจ้างชั่วคราว 1 ปี ควรได้พิจารณาบรรจุ

สุมาลี วงษ์ครุฑ พนักงานทั่วไป (กวาด) บ.1 ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ สำนักงานเขตหนองแขม ผู้สมัครหมายเลข 6 ระบุว่า นโยบายอันแรกคือสิทธิการรักษาของลูกจ้างชั่วคราว ควรได้รับสิทธิการจ่ายตรงเหมือนลูกจ้างประจำ บางครั้งไปรักษาตัวกรณีการฟอกไต ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง แต่ลูกจ้างชั่วคราวต้องสำรองจ่ายเอง 

สุมาลี ระบุต่อว่า เพื่อคุณภาพที่ดีของลูกจ้างชั่วคราว ลูกจ้างชั่วคราวอายุงานตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป ควรได้รับการพิจารณาบรรจุเป็นพนักงานประจำ เพราะเธอมั่นใจว่า 1 ปีที่ผ่านมาลูกจ้างชั่วคราวสามารถคิดวิเคราะห์แก้ไขปัญหาต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี บุคลากรเหล่านี้มีศักยภาพ และคุณภาพตามที่ กทม.ต้องการ 

ผู้สมัครหมายเลข 6 เสนอนโยบายเพิ่มเงินค่าเสี่ยงภัยในงานภาคสนามทั้งลูกจ้างชั่วคราวและประจำเป็นรายเดือน  โดยเสริมว่าบุคลากรที่อยู่ในงานภาคสนามควรจะได้รับค่าเสี่ยงภัยเพิ่มขึ้น 

เธอเสนอให้มีการตั้งงบประมาณว่า งบเสี่ยงภัยมีเท่าใด และจัดสรรปันส่วนให้เท่ากัน ทั้งลูกจ้างชั่วคราว และประจำ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่ลูกจ้าง อย่างในสำนักโยธาฯ สำนักระบายน้ำ กองงานกวาด กองงานเก็บขน หรือบุคลากรท่านอื่นๆ ทำงานมีความเสี่ยงทั้งสิ้น เสี่ยงจากการติดเชื้อในการทำงาน เสี่ยงกับวัตถุระเบิดที่ปะปนมากับขยะ หรือเพื่อการอำพรางจากเหตุการณ์อื่นๆ การเข้าไปทำงานในพื้นที่การก่อจราจล หรือพื้นที่ชุมนุมทางการเมือง ที่ไม่ทราบว่าจะมีเหตุความรุนแรงเกิดขึ้นเมื่อใด  

สุมาลี เสนอว่า ค่าล่วงเวลา ที่ลูกจ้างควรจะได้เป็นอัตรากลับโดนหารเฉลี่ย เพราะว่างบฯ ทางการเงินที่เบิกไปไม่เพียงพอต่อค่าล่วงเวลา เธอมองเห็นแล้วว่า ปัญหาตรงนี้ไม่ใช่ปัญหาของลูกจ้างที่ทำงานล่วงเวลา และต้องมาโดนหารเฉลี่ย แต่เป็นปัญหาทางงบฯ การเงิน ดังนั้น การเงินต้องเบิกค่าล่วงเวลามาให้เพียงพอ เพราะทราบอยู่แล้วว่า บุคลากรทำงานล่วงเวลามีจำนวนเท่าไรในแต่ละปี

นอกจากนี้ สุมาลี ขอเสนอนโยบาย ยกเลิกวัฒนธรรมการตกเบิก หรือถ้าไม่ได้จริงๆ ตกเบิกต้องไม่ควรเกิน 14 วันทำการ เนื่องจากก่อนหน้านี้ เธอพบปัญหาของกลุ่มคนทำงาน บางเขตตกเบิกนานถึง 4 เดือน ซึ่งปัญหานี้สัมพันธ์กับปากท้องของคนทำงานและการวางแผนการใช้ชีวิต คนทำงานต้องจัดสรรปันส่วนในแต่ละเดือนว่าจะใช้เงินเท่าใดบ้าง แต่พอมีการตกเบิก ทำให้เกิดปัญหาสภาพคล่องและติดขัดการใช้จ่ายในแต่ละเดือน จนต้องไปกู้หนี้ยืมสิน ทำให้ส่งผลกระบทต่อสุขภาพด้านจิตใจของคนทำงาน พะว้าพะวงกับการใช้ชีวิต

สำหรับนโยบายร้องขอ สุมาลี เสนอว่า ผู้ที่เคยต้องคดี หรือคดีความสิ้นสุดแล้ว เมื่อเขานำหลักฐานแสดงตนเองว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ เขาควรได้รับการพิจารณาบรรจุเป็นลูกจ้างประจำโดยไม่ต้องให้คณะกรรมการพิจารณาซ้ำ เนื่องจากเธอมองว่าคนที่เคยต้องโทษมานั้นเขาสามารถใช้ชีวิต และควรได้รับโอกาสกลับคืนสู่สังคม 

นโยบายสุดท้าย คือ เพิ่มอัตราลูกจ้างที่ทดแทน เพราะบุคลากรที่ขาดไปมาจากการเสียชีวิตในขณะปฏิบัติหน้าที่ หรือการเกษียณงาน ส่งผลให้บุคลากรที่เหลืออยู่ต้องทำงานเพิ่มมากขึ้น ทดแทนผู้ที่ขาดหายไป ทำให้เกิดความเหนื่อนล้า สภาวะจิตใจย่ำแย่ ส่งผลต่อศักยภาพและคุณภาพการทำงานที่ลดลง  

หมายเลข 7: ผลักดันสิทธิรักษาหลังเกษียณ ทุนการศึกษาสำหรับลูกจ้าง เพิ่มค่าเสี่ยงภัย

หมายเลข 7 สรรพสิทธิ์ เสนาะศัพท์ พนักงานขับรถยนต์ ฝ่ายบริหารงานทั่วไป และการประชุมกองบริหารงานทั่วไป สำนักงาน ก.ก. กล่าวว่า เขามีนโยบายหลักสำคัญอันดับหนึ่งคือ ทุกคนอยากได้สิทธิการรักษาพยาบาลหลังเกษียณ เป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับบุคลากร ก็จะพยายามทำให้ใกล้เคียงที่สุด และเข้าใจว่ามีการพยายามผลักดันกันมานานแล้ว แต่ไม่สำเร็จเท่าไร

ต่อมา สรรพสิทธิ์ ระบุต่อว่า นโยบายหลักข้อที่ 2 ที่เขาต้องการผลักดัน คือ ให้มีทุนการศึกษาสำหรับบุคลากร เพราะว่าเวลาเขาเดินไปมีป้ายประชาสัมพันธ์ตามที่ต่างๆ จะมีทุนการศึกษาให้ข้าราชการ แต่กลับไม่มีป้ายประชาสัมพันธ์ทุนการศึกษาของบุคลากร ทำให้เขาอยากผลักดันเรื่องนี้ เพราะถ้าเรามีวุฒิการศึกษา เพราะสำหรับตัวเขาเองมีวุฒิการศึกษา ปวช. และกำลังศึกษาปริญญาตรีตอนที่เข้ามาทำงานปีแรกจนถึงปีที่สอง ตอนแรกไม่ได้มองเห็นความสำคัญของวุฒิการศึกษา เพราะว่าเรามีงานแล้ว แต่พอได้ซึมซับหรือมองเห็นการทำงานของตำแหน่งอื่นๆ ที่ไม่ใช่ลูกจ้าง เช่น ช้าราชการ หรือตำแหน่งอื่นๆ เลยทำให้เกิดแรงผลักดัน และมองว่าถ้าเรียนต่อ จะสามารถเพิ่มความมั่นคงของชีวิตมากขึ้น 

ท้ายสุด สรรพสิทธิ์ ระบุว่า สำหรับนโยบายอื่นๆ ของเขาจะคล้ายคลึงกับผู้สมัครท่านอื่นๆ อาทิ เพิ่มค่าเสี่ยงภัยของผู้ปฏิบัติงานภาคสนามทุกคน 

หมายเลข 9: ยกระดับสวัสดิการลูกจ้างเทียบเท่า ขรก. เพิ่มค่าเยียวยา-อุบัติเหตุของผู้ปฏิบัติงานภาคสนาม อายุงาน 20 ปี ได้สวัสดิการบำเหน็จ 

หมายเลข 9 ประพันธ์ วงศ์เปี่ยม พนักงานสถานที่ บ.2 ฝ่ายบริหารงานทั่วไป กองระบบท่อระบายน้ำ สำนักการระบายน้ำ มาบอกเล่าประสบการณ์การทำงานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ต้องการให้ระบบสวัสดิการของลูกจ้างมีความแตกต่างจากระบบราชการ ทั้งที่เป็นคนทำงานเพื่อเมืองหลวงเหมือนกัน จึงอยากเรียกร้องให้ดูแลอย่างเท่าเทียมกัน 

ประพันธ์ ตั้งคำถามว่า ปัญหาสิทธิเรื่องการรักษาหลังปลดเกษียณ สามารถแก้ไขเรื่องข้อกฎหมายได้หรือไม่ เพราะว่าบางคนหลังปลดเกษียณใช้สิทธิรักษา 30 บาท แต่ได้รับการรักษาไม่ดี ได้เพียงยาพาราฯ แล้วให้กลับบ้าน หรือบางคนไม่มีเงินรักษา รักษาแต่ละทีใช้เงิน 2-3 แสนก็มี บางคนไม่มีเงิน

ผู้สมัคร หมายเลข 9 ระบุต่อว่า เขาอยากทำให้เรื่องการได้รับบำเหน็จรายเดือนลดหลั่นลงมาจาก 25 ปี เป็น 20 ปี เนื่องจากลูกจ้างบางรายทำงานมาจนเกษียณ อายุงานไม่ครบ 25 ปี ขาดแค่ 1-2 เดือน หรือไม่กี่วัน ก็ไม่ได้รับสิทธิสวัสดิการตรงนี้

ท้ายสุด ประพันธ์ ระบุว่า เขาอยากดูแลจัดการเรื่องการเยียวยา และอุบัติเหตุ เนื่องจากทำงานเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ และติดเชื้อโรค ยกตัวอย่างสำนักสิ่งแวดล้อม หรือสำนักระบายน้ำ ทำงานลงท่อระบายน้ำ เสี่ยงได้รับบาดเจ็บ มีกรณีที่คนทำงานลงท่อฯ และติดเชื้อโรค จนต้องออกจากงานไปรักษาตัวเองก็มี หากรักษาไม่ทัน ก็เสี่ยงต้องกลายเป็นผู้พิการ หรือกรณีกองกวาด ทำงานตั้งแต่เช้าตรู่ เสี่ยงอุบัติเหตุจากจราจร คนเมาแล้วขับ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net