Skip to main content
sharethis
  • อัยการยื่นฟ้อง "ธีรภัทร-ปฐวีกานต์" กล่าวหาปาวัตถุคล้ายระเบิดใส่รถสายตรวจ ในม็อบทะลุแก๊ส 31 ต.ค. 64 ก่อนศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว เหตุคดีมีโทษสูง เกรงผู้ต้องหาหลบหนี หากปล่อยตัวชั่วคราว ส่งผลให้มีผู้ถูกคุมขังระหว่างสอบสวน เพิ่มเป็น 13 คน
  • ด้านศูนย์ทนายฯ ระบุผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 2 คน เคยถูกควบคุมตัวโดยตำรวจมีการกันไม่ให้ทนายความ และผู้ไว้วางใจ อยู่ด้วยระหว่างการสอบสวน แม้เป็นสิทธิตามกฎหมาย 


22 ส.ค. 2566 เว็บไซต์ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานวันนี้ (22 ส.ค.) สืบเนื่องจากเมื่อ 18 ส.ค. 2566 ที่ศาลอาญา รัชดาฯ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ธีรภัทร (สงวนนามสกุล) อายุ 22 ปี และปฐวีกานต์ (สงวนนามสกุล) อายุ 27 ปี ในข้อหา ร่วมกันกระทําให้เกิดระเบิด และร่วมกันพยายามทําร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน จากการปาวัตถุที่ทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนคล้ายระเบิดใส่รถสายตรวจ ในระหว่างการชุมนุมของกลุ่ม #ทะลุแก๊ส คืนวันที่ 31 ต.ค. 2564 บริเวณแยกดินแดง 

ถูกจับกุมและสอบปากคำโดยไม่มีผู้ไว้วางใจและทนายความ

สำหรับคดีนี้ ศูนย์ทนายความฯ ระบุว่า ธีรภัทร และปฐวีกานต์ ถูกจับกุมและสอบสวนโดยไม่มีทนายความ ธีรภัทร ถูกจับกุมที่บริเวณหน้าโรงแรม "Oh Bangkok Hostel" ซอยสามเสน 4 ในช่วงเวลา 16.50 น. ของวันที่ 23 พ.ย. 2564 ขณะที่ปฐวีกานต์เดินทางไปยัง สน.มักกะสัน ในช่วงราว 13.00 น. ตามที่ตำรวจโทร.นัดหมาย แต่ภายหลัง สน.มักกะสัน ได้ส่งตัวเขามาที่ สน.ดินแดง โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจากเขาฝ่าฝืนไม่ไปตามหมายเรียกของ สน.ดินแดง

ในกรณีของปฐวีกานต์ หลังถูกจับกุมมา สน.ดินแดง เขายังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวขึ้นรถไปทำการตรวจค้นบ้านโดยไม่มีหมายค้น แต่พ่อเป็นผู้อนุญาตให้เข้าค้น ก่อนตำรวจนำตัวกลับมาที่ สน.ดินแดง ควบคุมตัวเข้าห้องสืบสวน เช่นเดียวกับธีรภัทร 

ในขั้นตอนการทำบันทึกจับกุมและสอบปากคำในชั้นจับกุม เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบได้กันทนายความและแม่ที่เพิ่งทราบข่าวการจับกุมและตามไปที่ สน.ดินแดง ในช่วงค่ำ ไม่ให้อยู่ร่วมในกระบวนการ แม้ว่าสิทธิในการมีทนายและผู้ไว้วางใจจะเป็นสิทธิตามกฎหมายก็ตาม กระทั่งราว 23.00 น. ธีรภัทร และปฐวีกานต์ จึงถูกนำตัวออกจากห้องสืบสวน 

ก่อนพนักงานสอบสวนเริ่มแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำในช่วงราวเที่ยงคืน ซึ่งธีรภัทร และปฐวีกานต์ ได้ยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยเฉพาะธีรภัทร ซึ่งได้ให้ข้อมูลกับทนายความว่า ตัวเขาไม่ได้เข้าร่วมในการชุมนุมวันที่ 31 ต.ค. 2564 ตามที่ตำรวจกล่าวหา โดยระหว่างถูกจับกุมเขาเล่าให้ทนายความฟังว่าถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบข่มขู่โดยการเอาปืนจ่อหัว

ภายหลังทั้งคู่ถูกตำรวจนำตัวไปขออำนาจศาลฝากขังและไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างสอบสวน โดยถูกขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จนครบ 7 ผัด หรือ 84 วัน ตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย. 2564 ถึง 15 ก.พ. 2565 ก่อนได้รับการปล่อยตัว เนื่องจากอัยการยังไม่ได่ยื่นฟ้องคดีต่อศาล

อัยการสั่งฟ้อง 2 ข้อหา ข้อหาร่วมกันกระทําให้เกิดระเบิด-ร่วมกันพยายามทําร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน

วิชชากร สุขานุศาสน์ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 บรรยายฟ้องว่า  เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2564 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จําเลยทั้งสองได้ร่วมกันกระทําความผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ 

จําเลยทั้งสองร่วมกันกระทําให้เกิดระเบิดโดยขว้างสิ่งของที่ทําให้เกิดแรงสั่นสะเทือนคล้ายวัตถุระเบิดใส่รถยนต์วิทยุสายตรวจ ยี่ห้อโตโยต้า รุ่น Camry  ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้เสียหายที่ 1 ขณะที่ ร.ต.อ.เอกณัฐ ปาสุวรรณ ผู้เสียหายที่ 2 ขับรถยนต์วิทยุสายตรวจออกตรวจป้องกันอาชญากรรมในพื้นที่กรุงเทพมหานครถึงบริเวณดินแดง และทำร้ายร่างกาย ร.ต.อ.เอกณัฐ ขณะขับรถย้อนกลับเส้นทางเดิม โดยจําเลยทั้งสองได้ขับขี่รถจักรยานยนต์ติดตาม และกระทําให้เกิดระเบิดจํานวนหลายครั้งจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น 

จําเลยทั้งสองลงมือกระทําความผิดไปตลอดแล้ว แต่การกระทําไม่บรรลุผล เนื่องจาก ร.ต.อ.เอกณัฐ ขับรถออกจากบริเวณที่เกิดเหตุได้ทัน จึงไม่ได้รับอันตรายแก่กาย และแรงระเบิดถูกประตูหลังด้านซ้ายของรถยนต์คันดังกล่าว ได้รับความเสียหาย มีรอยบุบ ยุบและรอยถลอกของสีเป็นรูปวงกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10 เซนติเมตร  

การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 221 ฐานทำให้เกิดระเบิดจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289, 296 ฐานพยายามทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน

ท้ายคำฟ้อง อัยการไม่ได้คัดค้านการปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้งสองระหว่างพิจารณา โดยให้อยู่ในดุลยพินิจของศาล

ภายหลังศาลรับฟ้องและอ่านฟ้องให้ฟัง ธีรภัทร และปฐวีกานต์ ให้การปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหา ต่อมา ในเวลา 16.40 น. พริษฐ์ ปิยะนราธร รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ได้ยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยมีคำสั่งว่า 

"พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อกล่าวหาเป็นคดีร้ายแรง คดีมีอัตราโทษสูง หากปล่อยชั่วคราวแล้ว เชื่อว่าจำเลย 1-2 จะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว"

จากผลของคำสั่งดังกล่าวทำให้ธีรภัทร และปฐวีกานต์ ถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในทันที และทำให้ยอดผู้ต้องขังคดีแสดงออกทางการเมืองที่ไม่ได้รับสิทธิประกันในระหว่างต่อสู้คดีเพิ่มขึ้นเป็น 13 ราย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net