Skip to main content
sharethis

จำนวนผู้ที่ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ จากข้อมูลของ ศูนย์ทนายความสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่ช่วง 24 พ.ย. 63 - 26 พ.ค. 66 โดนดำเนินคดีอย่างน้อย 250 คน ใน 269 คดี หลังจากวันที่ 19 พ.ย.2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศว่าต้องบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับ ทุกมาตราต่อผู้ชุมนุมที่กระทำความผิด ฝ่าฝืนกฎหมายเพื่อให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมของประเทศ โดยหลังจากนั้นสถิติการใช้ข้อหา ฐานหมิ่นกษัตริย์ฯ ก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตามหน้าสื่อ

คนเหล่านี้บางคนอาจเป็นเพื่อน เป็นลูกของใครสักคน เป็นแม่หรือพ่อของใครสักคน ที่ต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ โดนดำเนินคดี โดนคุกคาม ไม่ได้รับความเป็นธรรมระหว่างดำเนินคดี ถูกล่าแม่มด 

ปัญหาของมาตรา 112 ยังมีให้สังคมได้ถกเถียงมากมาย จนเป็นวาระที่พรรคการเมืองต่างๆ ต้องแสดงออกจุดยืนของพรรคตามเวทีดีเบทว่าจะแก้ไขหรือไม่แก้ไขในช่วงการหาเสียงช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมา 

แม้สถิติผู้ที่ถูกดำเนินคดีทั้งหมดนี้จะเป็นเพียงตัวเลข แต่ก็เป็นจำนวนที่มีชีวิต จิตใจ เนื้อหนังและความฝัน 

เรื่องราวของแต้ม

แต้ม วัย 33 ปี ที่ใช้ชีวิตกว่า 12 ปีกับ 15 ตัวยาจิตเวช ก็เป็นอีกคนที่ถูกถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 จากเหตุทุบทำลายป้ายพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2564

แต้ม (สวมเสื้อเหลือง) ภาพจาก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

แต้มเริ่มต้นชีวิตการเป็นผู้ใหญ่เมื่อวัย 14 ปีที่กรุงเทพฯ เขาเคยถูกแทงเพราะมีเรื่องทะเลาะวิวาทช่วงวัยรุ่น ก่อนจะตัดสินใจด้วยความตั้งใจที่ว่า “ผมอยากได้ดี ผมอยากรับใช้ชาติ” จึงสมัครใจไปสมัครเป็นทหารเรือ ในปี 2554

ทหารเรือเป็นความฝันเริ่มต้นของแต้มและความฝันนั้นมันก็เปลี่ยนชีวิตแต้มไป

“โชคชะตามันเล่นตลกกับผม ผมคิดไม่ถึง เพราะว่าอีกเดือนผมก็จะเป็นอิสระแล้ว” 

หนึ่งเดือนก่อนที่เขาจะสามารถเลื่อนขั้นเป็นจ่าตรี มีคนเข้ามาทำร้ายหัวหน้าของเขาและเขาได้เอาศีรษะด้านซ้ายเข้าไปรับแท่นเหล็กเพื่อปกป้องหัวหน้า แต้มเล่าว่า “เจ็บเหมือนปางตาย” เลือดไหลจากปากและจมูก ก่อนเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ สัตหีบ ร่วม 2 เดือนก่อนจะได้รับการวินิจฉัยว่าเลือดคั่งในสมองซีกซ้าย 

“ถ้าผ่าตัดก็ 50:50 แต่มันจะกระทบเส้นประสาทผม อาจทำให้เป็นอัมพฤกษ์อัมพาตได้ ผมจึงตัดสินใจว่าไม่ผ่าตัด” 

ทุกอย่างไม่เป็นไปตามเป้าหมายชีวิต เขายอมรับว่ามันคือชะตากรรมและบาปกรรมที่ทำไว้ “ผมทำบุญมาแค่นี้” ก่อนจะฮึดสู้รักษาตัวเอง

แม้รอยแผลบนร่างกายจะเลือนหายแต่สภาพจิตใจยังคงบอบช้ำ

“ผมนอนคิดทุกคืนว่าจะมีคนมาทำร้าย” เป็นสิ่งที่ทำให้แต้มต้องพึ่งยารักษาจิตใจกว่า 15 ชนิด แต้มอยากเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง เขาจึงตัดสินใจหางานทำ 

วันเกิดเหตุแต้มไม่ได้รับยามาแล้ว 3-4 เดือน อาการทางจิตจึงกลับมา แต้มบอกว่าเห็นป้ายพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 เป็นภาพสีดำ มีตัวอักษรขึ้นมาว่าให้ทำลายสิ่งที่กีดขวางตรงหน้า เขาจินตนาการว่าอยู่ในโลกของวิดีโอเกมที่ต้องผ่านด่านไปให้ได้ จึงทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ไปทั้งหมด 3 ที่ ก่อนจะตั้งสติได้และเข้ามอบตัว ในอำเภอตระการพืชผล

“แต้มไม่กล้าอาจเอื้อมเลย ถ้าเห็นเป็นภาพในหลวง ถ้าแต้มไม่ทำลาย แต้มจะออกจากตรงนั้นไม่ได้ ท่านอยู่สูงไม่อาจเอื้อมได้ แต่แต้มขาดยา มองขึ้นไปมันเป็นภาพดำๆ เขียนว่าทำลายสิ่งกีดขวางตรงหน้า”

แม้ว่าคดีของแต้มตอนแรกจะมีเพียงข้อหาทำลายทรัพย์สินราชการ แต่ภายหลังอัยการยื่นฟ้องมาตรา 112 เพิ่มเติม ระบุว่าเป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้าย ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ทําให้รัชกาลที่ 10 ทรงเสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น และมีเจตนาทําลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของปวงชนชาวไทย ไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้

กว่า 2 ปีแล้วที่ “แต้ม” ต้องเดินทางไปกลับกว่าศาลมีคำพิพากษา ทุกครั้งเขาต้องเดินทางไกลกว่า 60 กิโลเมตรจากบ้านสะพือ อ.ตระการพืชผล ไปรายงานตัวในเมือง จ.อุบลราชธานี โดยทนายได้ให้เหตุผลว่าเขาเป็นผู้ป่วยจิตเวชและอาจารย์จากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีมาเป็นนายประกัน เสนอยื่นประกันเป็นเงินสด 100,000 บาท  

แม่ของแต้มเล่าว่าก็มีทนายช่วยค่ารถบ้าง ยืมพี่ยืมน้องเหมารถไปบ้าง เสียเวลาทั้งวัน ตั้งแต่เช้าจรดค่ำ 

“เป็นเรื่องที่หนักอกหนักใจในการไปแต่ละครั้ง แต้มต้องกินยาทีละ 6-7 เม็ด ฉีดด้วย ช่วงที่เขานัดไปศาลตรงกับวันหมอนัดไปเอายาพอดี ต้องแวะไปรับยาก่อน”

นอกจากนี้ หลังจากโดนคดี แม่แต้มเล่าถึงการคุกคามจากเจ้าหน้าที่ว่า

“ช่วงที่มีเสด็จ ตำรวจจะมากำชับว่าห้ามออกจากบ้านไปไหน บางทีตำรวจก็มาถ่ายรูปกับแม่บ้าง กับพ่อบ้าง บอกให้แต้มอยู่ในพื้นที่” แม่แต้ม เล่าเสริม

ในเดือนสิงหาและคาร์ม็อบ กับข้อความ “ไม่มีจะแดกในรัชกาลที่ 10” 

ฟลุค กิตติพล กราฟิกฟรีแลนซ์ อายุ 20 ปี จบ ปวช. จากวิทยาลัยอาชีวะศึกษาอุบลราชธานี เขาเองอยากเรียนต่อมหาวิทยาลัยแต่มีปัญหาด้านค่าใช้จ่ายที่ต้องแบกรับ เพราะดูแลยายที่พิการไม่สามารถพูดได้และมือผิดรูป แม้บางครั้งมีน้ามาคอยช่วยดูแลแต่เขาก็ต้องทำงานพาร์ทไทม์ช่วยเหลือครอบครัวด้วย  

ฟลุค ก็เหมือนกับวัยรุ่นทั่วไปแม้เขาจะมีภาระที่ต้องรับผิดชอบมากกว่าปกติ แต่เขามีฝันที่อยากจะเป็นส่วนหนึ่งในการแต่งแต้มโลกใบนี้ด้วยการทำงานศิลปะ สนใจด้านกราฟิก ภาพยนตร์ ดนตรี งานประดิษฐ์ แต่เขามองไม่เห็นอนาคตนั้นในประเทศนี้

“การที่จะทำงานศิลปะในประเทศนี้ได้ ต้องมีต้นทุนสูงแต่ค่าแรงที่ได้มันค่อนข้างต่ำ” ฟลุค กล่าว

ช่วงม็อบวิ่งไล่ลุง ได้จุดประกายให้ฟลุคเริ่มหันมาสนใจการเมืองและเรื่องรัฐสวัสดิการ ฟลุคเริ่มตั้งคำถาม ว่าทำไมยายที่พิการถึงได้สวัสดิการค่อนข้างน้อย ทำไมต้องแบ่งเงินเก็บส่วนตัวมาดูแลยาย และย้อนกลับมานึกได้ว่าช่วงรัฐประหาร ครอบครัวได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจโดยตรงจากการจากเคอร์ฟิวทำให้ร้านขายลูกชิ้นขายกลางคืนของแม่ไม่ราบรื่น

ภาพจาก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

19 ก.ย. 63 ณ สนามหลวง คือจุดเริ่มต้นการเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองของเขา และตามด้วยการเข้าร่วมกับคณะอุบลปลดแอก และในเดือนสิงหาคม ปี 2564 ท่ามกลางผู้คนของกิจกรรมคาร์ม็อบ ฟลุคไม่ได้ปราศรัย ไม่ได้เอ่ยเสียง แต่ชูกระดาษใส่กรอบข้อความว่า “ไม่มีจะแดกใน ร. 10” มีคนถ่ายรูปและถูกแชร์ต่อไป ผ่านไปหลายเดือนตำรวจก็มาปรากฏตัวถึงที่บ้านในเดือนมีนาคม ปี 2565 

“เป็นช่วงที่ตกงานอยู่พอดี ช่วงนั้นกำลังไปหางานทำ ตำรวจ 2-3 คนมายื่นหมายที่บ้าน”

“ผมไม่ได้คิดว่าชีวิตผมจะมีโอกาสขนาดนั้น”

เป็นคำตอบของเขาหลังจากถูกถามว่าคดีนี้ทำให้เขาเสียโอกาสอะไรไปบ้าง ฟลุคบอกว่าเรียนจบช่วงโควิดพอดี เริ่มรับงานพนักงานร้านหมูกระทะ พนักงานโรงแรม พนักงานส่งของ แต่สุดท้ายก็ว่างงานยาวเพราะถูกเลิกจ้างไป 2 ปีในช่วงโควิด 

“ผมอยากเห็นภาพประเทศไทยที่งานศิลปะได้รับการสนับสนุนมากขึ้น อยากให้ผู้มีอำนาจจริงใจกับประชาชน เราควรพูดเรื่องมาตรา 112 ได้เป็นปกติ ผมไม่กังวลว่าตัวผมเป็นยังไง เป็นห่วงยายมากกว่า พี่สาวเงินไม่มั่นคง อยากเห็นประเทศมีสวัสดิการที่ดีขึ้น” 

“ผมคิดว่าภาพที่ชูนั้นมันบรรลุวัตถุประสงค์ของมันแล้ว” ฟลุค กิตติพล

ภาพจาก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

“ไม่มีใครที่สามารถผูกขาดความเคารพศรัทธาไว้ฝ่ายเดียว แล้วปรามาสผู้คนอีกฝั่งว่าไม่เคารพศรัทธาได้” 

พินิจ ทองคำ หรือจอร์จ ผู้ช่วยหาเสียงพรรคก้าวไกล เขต 3 จังหวัดลำปาง เป็นอีกคนที่ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก ฉุกเฉินฯ และมาตรา 112 จากการเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง 

จอร์จไม่ได้บอกเรื่องนี้กับครอบครัวที่สงขลาเพราะเป็นห่วงความรู้สึก แต่วันที่จอร์จเข้าไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.เมืองลำปาง สื่อเข้าไปทำข่าว ทำให้ครอบครัวรับรู้ว่าเขาถูกดำเนินคดีทางการเมือง

“ครอบครัวไม่เห็นด้วยกับการที่เราเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง แต่เราเคลื่อนไหวมาตลอดเราเป็นคนหนึ่งที่ตั้งคำถามกับสังคมที่เป็นอยู่ เราอยากเปลี่ยนแปลงให้สังคมดีกว่านี้” จอร์จ กล่าว 

จอร์จขณะกำลังปราศรัยบนรถเครื่องเสียง

เขาโดนดำเนินคดีมาตรา 112 พร้อมกับเพื่อนอีก 4 คน จากการแขวนป้าย 

“งบสถาบันกษัตริย์ > วัคซีน covid 19” 

“เรายืนยันว่าข้อความดังกล่าว คือ ข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ได้ ไม่ได้มีความคิดที่จะดูหมิ่นสถาบันฯ แต่อย่างใด เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องสาธารณะ เป็นหน้าที่ของ ส.ส. รัฐบาลในการจัดสรรงบประมาณ  ภายใต้การตรวจสอบของประชาชน”

จอร์จบอกว่ากำลังใจในกลุ่มเพื่อนก็เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เขาสู้ต่อ เพราะหลังจากเพื่อนที่ถูกดำเนินคดีด้วยกันไปสมัครงานก็ถูกบริษัทปฏิเสธรับเข้าทำงานจากประวัติคดีอาญา  และเมื่อเวลาผ่านไปแม่ของเขาก็เริ่มเปิดใจยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นและกลายเป็นผู้สนับสนุนในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของจอร์จและเพื่อนๆ ด้วย

“ชีวิตของเราไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป”

จอร์จเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.เมืองลำปาง โดยทางกองบังคับการตำรวจภูธร จ.ลำปาง ตั้งคณะทำงานสอบสวนชุดพิเศษในการทำคดีนี้  ซึ่งเขารู้สึกแปลกใจที่ตำรวจมาเก็บเยื่อบุกระพุ้งแก้มกับเพื่อนๆ เขาไปด้วยแต่ก็ให้ความร่วมมือไปหลังจากปรึกษากับทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนแล้ว 

“การใช้ชีวิตของเราไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป” จอร์จถูกติดตามจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงอย่างต่อเนื่อง เขาเล่าว่ามีการติดตามทั้งทางโทรศัพท์ การมาหาถึงที่พักอาศัย ติดตามผ่านทางสัญญาณโทรศัพท์หรือมาเฝ้าในช่วงที่มีบุคคลสำคัญมาพื้นที่ภาคเหนือ 

ก่อนหน้านี้จอร์จเดินทางไปต่างประเทศ แต่ทางสำนักงานตรวคนเข้าเมือง หรือ ตม. แจ้งว่าไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ ต้องให้ผู้ปกครองที่เป็นข้าราชการรับรอง 

“ช่วงที่มีการเปิดเผยข้อมูลว่า ตม. มีเอกสารรายชื่อนักกิจกรรมทางการเมืองที่ถูกจับตามอง มีชื่อเราปรากฎอยู่ รวมทั้งเอกสารที่มีการขออนุมัติติดตามจากกองทัพบก มีรายชื่อเราอยู่ในการติดตามของกองทัพภาคที่ 3 ซึ่งมีเพียงแค่สามรายชื่อในภาคเหนือเท่านั้น” จอร์จ 

ผู้แทนของผู้คน

นอกจากชื่อเล่น “จอร์จ” ที่พี่ชายตั้งให้ตามประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช แล้วการได้เป็นผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกตั้งจากประชาชนก็เป็นความฝันที่เขาเคยรับปากไว้กับแม่ก่อนที่แม่จะเสียชีวิตไปไม่กี่เดือน 

“เราชื่นชอบการเมืองมาตั้งแต่เด็ก สิ่งแวดล้อมรอบตัวเรากลายเป็นพื้นที่การถกเถียงแลกเปลี่ยนความคิดเห็น พูดคุยกันในเรื่องการเมือง นโยบายของรัฐบาล ความเดือดร้อนของประชาชน สภาพปัญหาของพื้นที่ เราซึมซับและไม่เคยทิ้งความฝันนี้เลยตั้งแต่เยาว์วัย ช่วงที่มาเรียนที่ลำปางมีโอกาสได้พบปะพูดคุยกับประชาชนแทบทุกวัน ยิ่งทำให้ความฝันของเราชัดเจนยิ่งขึ้นว่าเราต้องเป็นผู้แทนราษฎรให้ได้ เราจึงพยายามฝึกฝน หาวิชาความรู้ เพิ่มเติมประสบการณ์ ค้นหาสิ่งใหม่ ผจญภัยรับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้น ทุกวันนี้เรายังคงฝึกฝนตัวเองเพื่อให้มีความพร้อมมากที่สุดและควรค่าแก่โอกาสที่ประชาชนจะมอบอำนาจให้เรา” 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net