Skip to main content
sharethis

สช. จับมือภาคีเครือข่าย รวม 5 หน่วยงาน เปิดพื้นที่กลางผ่านเวทีสนทนานโยบายสาธารณะ ครั้งที่ 3 เพื่ออัพเดทสถานการณ์ “โรคไตวาย” ในปัจจุบัน ตลอดจนทบทวนนโยบาย-ระบบการรักษา เพื่อแสวงหาข้อเสนอเชิงวิชาการในการดูแล-ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ป่วย ก่อนสังเคราะห์เป็นนโยบายสาธารณะเสนอ “พรรคการเมือง-รัฐบาลชุดใหม่”

เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2566 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่าย อันประกอบด้วย สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย สมาคมพยาบาลโรคไตแห่งประเทศไทย และสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย จัดเวทีสนทนานโยบายสาธารณะ หรือ Policy Dialogue ครั้งที่ 3 หัวข้อ “สิ่งท้าทายและข้อเสนอระบบทดแทนไตของไทยในปัจจุบันและอนาคต” เพื่อฉายภาพสถานการณ์โรคไตในปัจจุบัน ตลอดจนระบบการรักษา และร่วมกันแสวงหาข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยทั้งในปัจจุบันและอนาคต ณ “ห้องสมุด 100 ปี เสม พริ้งพวงแก้ว” อาคารสุขภาพแห่งชาติ จ.นนทบุรี
    
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า โรคไตนับเป็นโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง ต้องรักษาต่อเนื่องตลอดชีวิต ในอดีตมีผู้ป่วยโรคไตจำนวนมากที่ต้องล้มละลายจากการจ่ายค่ารักษาพยาบาล แต่ปัจจุบันการรักษาโรคไตเป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทั้งระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ประกันสังคม และสวัสดิการรักษาพยาบาลของราชการ นั่นทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้ารับการรักษาได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

สำหรับวิธีการรักษาผู้ป่วยไตวาย เพื่อบำบัดทดแทนไตเดิมที่เสื่อมสภาพ ปัจจุบันมี 3 วิธีหลัก ได้แก่ การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (HD) การทดแทนไตทางช่องท้อง (PD) และการปลูกถ่ายไต (KT) ซึ่งเป็นวิธีการรักษาที่ดีที่สุด แต่ด้วยอัตราการได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะที่จำกัด และปริมาณผู้แทนไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่มีจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ตลอดจนการเข้าถึงบริการที่เพิ่มมากขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการทบทวนสถานการณ์และมองถึงอนาคต เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจเชิงนโยบายที่เหมาะสม

นพ.ประทีป กล่าวว่า หลักการสำคัญของเรื่องนี้คือ ต้องทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างเสมอหน้า ไม่ใช่เพียงแค่เฉพาะในชุมชนเมืองเพียงอย่างเดียว และประเทศไทยต้องมีกลไกระดับชาติ ประกอบจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ทั้งรัฐ เอกชน ประชาชน ฯลฯ ทำหน้าที่กำหนดทิศทางนโยบาย รวมทั้งต้องมีการจัดทำระบบฐานข้อมูลกลางโรคไตเพื่อติดตามและปรับปรุงระบบ 

“ที่สำคัญคือรัฐต้องลงทุนเพื่อขยายระบบบริการให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ช่วยให้ประชาชนไม่ล้มละลายจากค่ารักษา และรัฐต้องดูแลไม่ปล่อยให้เรื่องการรักษาโรคไตเป็นไปตามกลไกการตลาด มิเช่นนั้นจะเกิดปัญหาตามมาจำนวนมาก เช่น คุณภาพบริการ ค่าใช้จ่าย-กำแพงราคา นำไปสู่การเข้าถึงบริการที่ลดลง ท้ายที่สุด รัฐจะไม่สามารถดูแลประชาชนให้เข้าถึงบริการได้” นพ.ประทีป กล่าว

ทางด้าน นพ.วุฒิเดช โอภาศเจริญสุข นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง (NCDs) ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโรคเบาหวาน ความดัน โรคอ้วน เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้จำนวนผู้ป่วยโรคไตเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับทุกวันนี้ ผู้ป่วยเข้าถึงบริการได้มากขึ้นเพราะประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จึงส่งผลไปถึงปัญหาอัตรากำลังที่ไม่เพียงพอ 

ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีแพทย์เฉพาะทางด้านไต 1,100 คน มีการผลิตเพิ่มปีละ 50-55 คน ขณะที่มีพยาบาลโรคไต 2,400 คน ผลิตเพิ่มปีละ 400-600 คน ซึ่งก็ถือว่าเพียงพอระดับหนึ่ง แต่ปัญหาที่ลึกลงไปคือภาวะหมดไฟจากภาระงานที่เพิ่มขึ้น ทำให้บุคลากรไหลออกจากระบบ

สำหรับแนวทางแก้ปัญหาคือ เราต้องร่วมกันควบคุมไม่ให้โรคเบาหวาน-ความดัน เพิ่มขึ้น และต้องให้ความสำคัญกับการคัดกรองโรคไตในระยะแรก ซึ่งปัจจุบันได้ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดำเนินการอยู่ เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าสู่การรักษาเร็ว-ค่าใช้จ่ายน้อย ตลอดจนขณะนี้สมาคมโรคไตฯ ได้ร่วมกับภาควิชาชีพในการออกแนวปฏิบัติให้แพทย์ที่ไม่เฉพาะทาง สามารถประเมินการรักษาผู้ป่วยโรคเรื้อรังได้เอง และตัดสินใจส่งต่อไปยังแพทย์เฉพาะทางได้เมื่อมีความจำเป็น

“ขณะนี้อยู่ระหว่างผลักดันยารักษาโรคไตตัวใหม่ ซึ่งมีประสิทธิภาพสูง เข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ที่สุดแล้วคณะกรรมการฯ ก็จะนำประเด็นความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์เข้ามาพิจารณาด้วย” นพ.วุฒิเดช กล่าว

นอกจากนี้ ภายในเวทีเสวนายังมีข้อเสนอที่น่าสนใจ อาทิ การให้ผู้ป่วยในสิทธิประกันสังคมไม่ต้องรับการอนุมัติจากผู้บริการกองทุนในการปลูกถ่ายไต เหมือนกับอีก 2 สิทธิ เพื่อให้สถานพยาบาลที่ได้รับการส่งต่อผู้ป่วยให้เข้ารับการปลูกถ่ายไตสามารถดำเนินการได้ทันท่วงที ไม่จำเป็นต้องให้สถานพยาบาลเซ็นรับก่อนและให้ผู้ป่วยกลับไปยื่นเพื่อรอการอนุมัติจากสำนักงานประกันสังคม (สปส.) อีกหลายเดือน

การให้ทั้ง 3 กองทุนควรทำให้ระบบเบิกจ่ายเรื่องการให้การดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) แก่ผู้ป่วยที่ไม่ต้องการ หรือไม่เหมาะสมกับวิธีการบำบัดทดแทนไต มีความเหมาะสม ซึ่งจะช่วยลดภาระทางงบประมาณในการรักษาได้อีกจำนวนมาก การเปิดพื้นที่ในการพูดคุย เพื่อต่อยอดไปถึงเชิงนโยบายถึงการให้ทุกคนในประเทศไทยยินยอมบริจาคไตหลังเสียชีวิต

อนึ่ง ข้อเสนอทั้งหมดนี้ สช. จะร่วมกับภาคีเครือข่าย ในการรวบรวมและสังเคราะห์ เพื่อผลักดันไปสู่ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะพรรคการเมือง และรัฐบาลชุดใหม่ เพื่อให้เกิดการตัดสินใจเชิงนโยบายต่อไป
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net