Skip to main content
sharethis
  • หลังสภามีมติไม่ให้เสนอชื่อ 'พิธา' โหวตนายกฯ ซ้ำในสมัยประชุมนี้ เลขาฯ ก้าวไกล ระบุยังไม่เผยแนวทางให้สิทธิพรรคเพื่อไทยนำตั้งรัฐบาล ต้องรอการพิจารณา มองการได้นายกฯเร็วที่สุดจะดีที่สุด เชื่อ 'พิธา' ยังมีกำลังใจเต็มร้อย
  • รอง หน.ก้าวไกล ชี้มติรัฐสภาไม่ให้เสนอชื่อซ้ำ สร้างบรรทัดฐานผูกพันการเสนอชื่อผู้ดำรงตำแหน่งอื่นในอนาคต ขณะที่ 'จาตุรนต์' ชี้เป็นการหักล้างเจตนารมณ์ของประชาชน หวั่นเปิดช่องให้เสนอชื่อนายกฯคนนอกหรือไม่

19 ก.ค.2566 ภายหลังรัฐสภามีมติไม่ให้มีการพิจารณาชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรีซ้ำในสมัยประชุมนี้

ชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคก้าวไกล ปฏิเสธที่จะเปิดเผยแนวทางที่จะให้สิทธิพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยระบุเพียงว่ายังต้องมีการพูดคุยกันก่อน และเชื่อว่าคงใช้เวลาในการพูดคุยไม่นาน เพราะมองว่าการได้นายกรัฐมนตรีเร็วที่สุดจะดีที่สุด  ส่วนกำลังใจของ พิธา ภายหลังที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งมีคำสั่งให้หยุดปฎิบัติหน้าที่ ส.ส. จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยในคดีการถือครองหุ้นไอทีวีนั้น ชัยธวัช เชื่อว่าพิธายังมีกำลังใจเต็มร้อย

รอง หน.ก้าวไกล ชี้มติรัฐสภาไม่ให้เสนอชื่อซ้ำ สร้างบรรทัดฐานผูกพันการเสนอชื่อผู้ดำรงตำแหน่งอื่นในอนาคต

ขณะที่ พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล มองว่า ส.ส. ของพรรคก้าวไกลพยายามต่อสู้อย่างเต็มที่ ในเรื่องการตีความการเสนอชื่อบุคคลที่สมควรได้รับการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 2 และพยายามสู้เต็มที่ในการให้เหตุผลต่อที่ประชุมรัฐสภาว่าเป็นญัตติหรือไม่ ทั้งนี้ มองว่าการพิจารณาตามข้อบังคับ จะสร้างบรรทัดฐานที่ส่งผลต่อการเสนอชื่อตำแหน่งอื่นๆ ที่ต้องให้รัฐสภารับรอง ซึ่งหากในอนาคตมีเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกันเกิดขึ้น เช่น การเสนอชื่อเพื่อนายกรัฐมนตรี หรือตำแหน่งอื่นๆ  สมาชิกรัฐสภาที่โหวตเห็นชอบว่าขัดกับข้อบังคับการประชุม จะต้องรับผิดชอบ

รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ตอบข้อถามถึงแนวทางมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความการพิจารณาตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อ 41 หรือไม่ว่า ต้องมีการพูดคุยกัน เนื่องจากที่ประชุมรัฐสภาในวันนี้ มีสมาชิกให้เหตุผลว่าข้อบังคับดังกล่าวขัดกับรัฐธรรมนูญ แต่หากไปพิจารณาความตามมาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญบัญญัติว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้ เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทำการนั้นหรือวินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

'จาตุรนต์' ชี้เป็นการหักล้างเจตนารมณ์ของประชาชน หวั่นเปิดช่องให้เสนอชื่อนายกฯคนนอกหรือไม่

จาตุรนต์ ฉายแสง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่าการลงมติดังกล่าวเป็นการหักล้างเจตนารมณ์ของประชาชน ไม่เป็นผลดีต่อการพัฒนาทางการเมือง และเชื่อว่าจะเกิดปัญหาในอนาคต เนื่องจากการเสนอชื่อแล้วไม่ผ่านความเห็นชอบ และไม่สามารถเสนอชื่อซ้ำได้ในสมัยประชุมนั้น ตนตั้งข้อสังเกตว่า อาจจะทำให้ไม่สามารถเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีได้จนจบสมัยการประชุมหรือไม่ และอาจกลายเป็นการเปิดทางให้มีการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากคนนอกหรือไม่ ผลที่เกิดขึ้น คือ พรรคการเมืองเอง เริ่มไม่มั่นใจว่า แคนดิเดตของพรรคตนเองจะผ่านความเห็นชอบหรือไม่ ซึ่งอาจนำไปสู่การลุกลามปานปลายไปจนถึงการเสนอชื่อบุคคลอื่นที่ไม่ผ่านความเห็นชอบของประชาชน หรือไม่

ตอบข้อถามผู้สื่อข่าวว่า ผลการลงมติครั้งนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนสูตรการจัดตั้งรัฐบาลโดยพรรคเพื่อไทยหรือไม่ นั้น จาตุรนต์ กล่าวว่า ส่วนตัวยังไม่สามารถตอบได้ เพราะต้องมีการหารือกับหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และคณะกรรมการบริหารพรรคก่อน

ที่มา : สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net