Skip to main content
sharethis

เพียงเห็นปกหนังสือ Rama X: The Thai Monarchy under King Vajiralongkorn งานล่าสุดที่ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ เป็นบรรณาธิการ มันก็ถูกรัฐไทยแบนโดยที่ยังไม่เห็นเนื้อหาภายใน ซ้ำในราชกิจจานุเบกษายังใช้ถ้อยคำเดียวกับมาตรา 112 หนังสือที่ถูกแบนตั้งแต่ยังไม่ทันตีพิมพ์ซึ่งพูดถึงความต่อเนื่องและความเปลี่ยนแปลงของสถาบันกษัตริย์จากรัชกาลที่ 9 สู่รัชกาลที่ 10 ผู้มีอำนาจทางการเมืองสูงที่สุดนับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองและทำให้พื้นที่ประชาธิปไตยค่อยๆ หดแคบลง

  • ปวินแสดงทัศนะว่าการแบนหนังสือของรัฐไทยเป็นความเชยในยุคดิจิทัล ยังติดกับความเชื่อว่าตนสามารถควบคุมทุกอย่างได้ และยังเป็นการลิดรอนเสรีภาพทางวิชาการ
  • หนังสือเล่มนี้ต่อยอดจากการสัมมนาวงปิดในปี 2562 โดยให้นักวิชาการนำเสนอบทความที่ตนเชี่ยวชาญเกี่ยวกับพลวัตความต่อเนื่องและความเปลี่ยนแปลงในสมัยรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 ซึ่งมีนักวิชาการจำนวนหนึ่งปฏิเสธเนื่องจากเกรงผลกระทบที่จะตามมา
  • บทความในหนังสือเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระราชอำนาจทั่วไป ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับกองทัพ สถานะด้านการเงินของสถาบันกษัตริย์ ปรากฏการณ์แปลกๆ อย่างการกำจัดมรดกตกทอดของคณะราษฎร์ การใช้พระราชอำนาจด้านกฎหมายในการถอดถอนและแต่งตั้งใครก็ได้ อารมณ์ความรู้สึกทั่วไปของคนไทยต่อรัชสมัยนี้ และเรื่องกษัตริย์ไทยกับต่างประเทศ
  • อำนาจของกษัตริย์ยิ่งสูงขึ้นมาเพียงใด พื้นที่ประชาธิปไตยไทยก็ยิ่งหดแคบลงเท่านั้น ถึงกระนั้นก็ยังเผชิญการท้าทายที่จะค้ำยันประชาธิปไตยเอาไว้ทำให้ประชาธิปไตยของไทยมีความยืดหยุ่น ไม่พังครืนลงมา

 

มีคำพูดว่า อย่าตัดสินหนังสือจากหน้าปก แต่เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2566 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่คําสั่งสํานักงานตํารวจแห่งชาติที่ 370/2566 เรื่อง ห้ามสั่งเข้าหรือนําเข้าสิ่งพิมพ์เพื่อเผยแพร่ในราชอาณาจักร เนื้อหาระบุว่า

‘ด้วยปรากฏสิ่งพิมพ์ต่างประเทศ “Rama X: The Thai Monarchy King Vajiralongkorn เขียนโดยนายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ มีลักษณะของภาพปกหนังสือและบทความที่นําเสนอสื่อถึงทัศนคติ ของผู้เขียนที่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ หรือจะกระทบต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

‘อาศัยอํานาจตามมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๕๐ จึงห้ามสั่งเข้า หรือนําเข้าสิ่งพิมพ์ “Rama X: The Thai Monarchy King Vajiralongkorn” เพื่อเผยแพร่ ในราชอาณาจักร

‘ผู้ใดฝ่าฝืนมีความผิดต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ รวมทั้งผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติมีอํานาจริบและทําลายซึ่งสิ่งพิมพ์ดังกล่าว ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป’

หนังสือดังกล่าวหรือชื่อที่ถูกต้องคือ ‘Rama X : The Thai Monarchy under King Vajiralongkorn’ จะเผยแพร่ในช่วงเดือนตุลาคมปีนี้ หมายความว่ายังไม่มีใครเห็นเนื้อหายกเว้น ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ จากศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต และผู้เป็นบรรณาธิการ นี่จึงเป็นการแบนหนังสือโดยที่ยังไม่รู้ว่าเนื้อหาภายในเป็นอย่างไร เพียงแค่เห็นหน้าปกเท่านั้น

ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ (ภาพจากเฟซบุ๊ก Pavin Chachavalpongpun)

‘ประชาไท’ พูดคุยกับปวินถึงการแบนหนังสือเล่มนี้ รวมถึงเนื้อหาภายใน (แบบไม่สปอยล์มาก) ซึ่งจะเผยให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์ รัชกาลที่ 10 การเมืองไทย และประชาธิปไตยในรัชสมัยใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่แปรผกผันกัน เพราะอำนาจกษัตริย์ยิ่งสูงมากเท่าไหร่ พื้นที่ประชาธิปไตยก็จะยิ่งหดแคบลงเท่านั้น แต่ไม่มีอำนาจใดไม่เคยถูกท้าทาย ประชาธิปไตยไทยยังมีความยืดหยุ่นพยุงตัวไม่ให้พังครืน

ความเชยของรัฐไทยที่ยังเชื่อว่าควบคุมทุกอย่างได้

ก่อนจะเป็นหนังสือ Rama X: The Thai Monarchy under King Vajiralongkorn ปวินในมีหน้าที่สองสามอย่าง เขาเล่าว่าอย่างแรกคือการเป็นบรรณาธิการที่ต้องอ่านและตรวจแก้งานทั้งหมด นอกจากนั้น เขายังเป็นผู้เขียนบทนำ และเนื้อหาอีกหนึ่งบทในหนังสือเกี่ยวรัชกาลที่ 10 ในชุมชนระหว่างประเทศ หนังสือเล่มนี้เป็นผลผลิตหนึ่งของการจัดเวิร์คช็อปหรือสัมมนาวงปิดเมื่อปี ค.ศ.2019 มีทั้งนักวิชาการไทยและนักวิชาการต่างประเทศ จากนั้นจึงคัดเลือกนักวิชาการมาส่วนหนึ่งเพื่อทำหนังสือเล่มนี้โดยให้แต่ละคนนำงานศึกษาของตนมาเสนอ

แต่แล้วหนังสือเล่มนี้ก็ถูกแบนจากรัฐไทย ปวินมองว่าเป็นเรื่องที่เชยมากและหลายคนก็เห็นไปในทางเดียวกัน เขาพูดว่าในปีพุทธศักราช 2566 ยังมีการแบนหนังสือโดยเฉพาะหนังสือวิชาการอีกหรือ มันไม่ใช่แค่การต้องปกป้อง academic freedom หรือเสรีภาพของนักวิชาการซึ่งเราต้องเคารพมัน แต่มันเป็นเรื่องวิธีการเผยแพร่หนังสือในยุคปัจจุบันนี้ซึ่งการสั่งซื้อหนังสือเล่มลดลงมาก ขณะที่การอ่านแบบอีบุ๊คเพิ่มสูงขึ้นซึ่งหนังสือเล่มนี้ก็มีโครงการจะทำเป็นอีบุ๊คด้วย

“หมายความว่าการที่คุณห้ามไม่ให้มีการนำเข้าหนังสือมันเกือบจะเป็นเรื่องที่ไร้ประโยชน์มาก เรื่องนี้สะท้อนว่ารัฐไทยยังคิดว่าตัวเองสามารถควบคุมเนื้อหาอะไรก็ตามที่ตัวเองคิดว่าอาจจะนำไปสู่การหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้ ยังคิดว่าตัวเองยังสามารถควบคุมได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งผมตอบไปแล้วว่าในที่สุดก็ควบคุมไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะโหมดของการได้รับข้อมูลแบบนี้มันผ่านทางดิจิทัลหมดแล้ว”

ปวินคิดว่าการแบนหนังสือที่ยังไม่เคยมีใครอ่านนี้มีอยู่สองสามประเด็น หนึ่งคือเพราะเขาเป็นบรรณาธิการ รัฐไทยจึงโฟกัสไปที่ตัวเขา ประการที่ 2 คือหน้าปก

Don't judge a book by its cover.

ปวินเล่าถึงกระบวนการทำหน้าปกว่าเขาไม่ได้เป็นคนสั่งให้ทำหน้าปกแบบนี้ เพียงแต่เล่าเนื้อหาของหนังสือให้กับผู้ออกแบบฟัง

“แล้วถ้าจะพูดตรงๆ เลยคือสถาบันกษัตริย์มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการเมืองไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการสานสัมพันธ์กับกองทัพเพื่อที่จะอยู่เหนือระบอบประชาธิปไตย มันสะท้อนออกมาในหน้าปกทันที เหมือนคนที่ออกแบบเขาเก็ทผมทันทีแล้วก็สเก็ตช์มาให้ตามแบบที่ผมบอก คือถ้าจะมีใครรับผิดชอบหน้าปกมันต้องเป็นผม แล้วผมก็ยินดีรับผิดชอบ แต่พอมันออกมาแบบนั้นมันตรงใจกับผมมากเลย พอผมเสนอไปกับสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเยล เยลก็ไม่มีปฏิเสธเลยเพราะคิดว่าหน้าปกก็เหมาะสมดี”

เพราะเป็นตัวเขา เมื่อหน้าปกเป็นดังที่เห็นก็เลยตัดสินทันทีว่าหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ  ซึ่งถ้อยคำที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาก็เหมือนกับในมาตรา 112 แต่เขาย้ำว่านอกจากเขาแล้วยังไม่มีใครได้อ่านเนื้อหาทั้งหมดแม้แต่ผู้เขียนบทต่างๆ

“ผมต้องย้ำอีกทีหนึ่งว่าคนพวกนี้ไม่เคยได้อ่านเนื้อหาหนังสือเลย ผมว่าเป็นอะไรที่ตลกมาก การที่คุณจะแบนหนังสืออะไรก็ตามโดยที่ยังไม่อ่านเนื้อหา คุณแบนได้ยังไง คุณแบนเพียงเพราะว่า บก. คือผมเหรอ คุณแบนเพียงเพราะว่าหน้าปกเป็นแบบนี้เหรอ มันมีภาษิตหนึ่งที่ตลกมาก Don't judge a book by its cover. ในที่สุดแล้วเขาก็ตัดสินหนังสือจากหน้าปกจริงๆ ย้ำเป็นครั้งสุดท้ายว่าแม้แต่คนที่เขียนหนังสือให้ผมเล่มนี้ ทุกคนยังไม่ได้อ่านฉบับไฟนอลที่อยู่ในโรงพิมพ์ เพราะฉะนั้นไม่มีใครอ้างได้เลย โดยเฉพาะรัฐไทย ว่าได้เห็นเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้แล้วจึงแบน”

เล่มที่ 3 ของซีรีส์สถาบันกษัตริย์กับการเมืองไทย

ก่อนหน้านี้ ปวินออกหนังสือมาแล้ว 2 เล่มที่เกี่ยวสถาบันกษัตริย์กับการเมืองไทยคือ Good Coup Gone Bad: Thailand's Political Development Since Thaksin's Downfall พูดถึงเรื่องเกี่ยวกับการทำรัฐประหารเมื่อปี ค.ศ.2006 และ Coup, King, Crisis: A Critical Interregnum in Thailand ออกเมื่อปี 2021 พูดถึงการทำรัฐประหารเมื่อปี ค.ศ.2014

ปวินจึงถือว่า Rama X: The Thai Monarchy under King Vajiralongkorn เป็นหนังสือเล่มที่ 3 ในซีรีส์เดียวกัน โดยหลังจากเขียนเล่มสองจบ เขาต้องการทำหนังสืออีกเล่มที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับรัชสมัยใหม่ที่เพิ่งเริ่มขึ้น ในปี 2019 เขาจึงจัดสัมมนาวงปิดโดยเชิญนักวิชาการทั้งไทยและต่างประเทศมาร่วมพูดคุย แม้จะมีคนติงว่ารัชสมัยใหม่เพิ่งเริ่มต้นได้เพียง 3 ปีอาจจะเขียนอะไรไม่ได้มากนัก อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นปวินได้คัดเลือกนักวิชาการจำนวนหนึ่งในนำเสนองานที่ตนศึกษาและปรับให้ทันสมัยที่สุด

“ผมก็ให้คนที่เขียนให้ผมไปเพิ่ม ดัดแปลง แก้ไขให้มันอัพเดทให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ถ้าหนังสือออกปีนี้คือปี 2023 รัชสมัยใหม่ได้เริ่มขึ้นมา 7 ปีแล้ว ผมคิดว่ามันโอเค เพราะในการส่งไปที่โรงพิมพ์เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ผมอัพเดทจนถึงการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาเพราะฉะนั้นก็ถือว่ามันค่อนข้างอัพเดทมากๆ”

ปวินยอมรับว่าการหาคนมาช่วยเขียนหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย หลายคนปฏิเสธคำเชิญของเขา จากปัจจัยสองประการ หนึ่งคือตัวเขาเองที่เป็นที่จับจ้องของรัฐไทยและสองคือตัวเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์

“ผมเลยต้องคิดว่า หนึ่ง ผมจะเชิญใครที่พอเขียนได้บ้างและในการเชิญใครที่พอเขียนได้บ้างเนื้อหาต้องเป็นประเภทไหน เวิร์คช็อปมันมาก่อนการชุมนุมในปี 2020 ด้วยซ้ำ พอเราเห็นข้อเรียกร้องของเยาวชนให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ ในหลายๆ ข้อมัน run parallel กับเนื้อหาที่ผมจัดเมื่อปี 2019 เหมือนผมมีตาทิพย์ (หัวเราะ) อาจจะไม่รู้ว่าจะมีการชุมนุม แต่ถ้าจะมีการพูดถึงเรื่องสถาบันกษัตริย์ในยุคใหม่คุณต้องพูดเรื่องนี้หนึ่งสองสามสี่ห้าหก คุณหนีไปจากนี้ไม่ได้

“เพราะฉะนั้นมันมีเรื่องอะไรบ้าง ก็มีเรื่องเกี่ยวกับพระราชอำนาจทั่วไป เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับกองทัพซึ่งหนีไม่ได้ มีเรื่องเกี่ยวกับสถานะด้านการเงินของสถาบันกษัตริย์ มีเรื่องเกี่ยวกับปรากฏการณ์แปลกๆ ที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่รัชสมัยนี้ได้เริ่มขึ้น เช่น การกำจัดมรดกตกทอดของคณะราษฎร์ เรื่องเกี่ยวกับพระราชอำนาจและการใช้อำนาจด้านกฎหมายในการถอดถอน แต่งตั้งใครก็ได้

“แล้วก็มีเรื่องเกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึกทั่วๆ ไปของคนไทยที่มีต่อรัชสมัยนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมู้ดของความกลัว เราอาจจะไม่มีมู้ดของความกลัวแบบนี้ในรัชสมัยที่แล้ว แต่สมัยนี้เห็นชัดมากกว่า คือจะบอกว่าไม่มีเลยก็ไม่ใช่เพราะแม้แต่ในสมัยที่แล้วกฎหมาย 112 ก็ยังมีอยู่ ทุกครั้งที่พูดถึงเรื่องกษัตริย์คนจะกลัวที่จะพูดถึงมัน แต่สมัยนี้ความกลัวมันแพร่รวดเร็วมาก แล้วก็อันสุดท้ายเป็นเรื่องเกี่ยวกับกษัตริย์ไทยกับต่างประเทศซึ่งผมเป็นคนเขียน”

หนังสือเล่มนี้ให้การวิเคราะห์

เมื่อถามว่ากลุ่มเป้าหมายของหนังสือเล่มนี้คือใคร เพราะก็มีการแสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์ว่าเรื่องราวเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์และรัชกาลที่ 10 คนไทยทั่วไปก็รับรู้อยู่แล้วไม่มากก็น้อย หรือว่าต้องการสื่อสถานการณ์ในไทยกับนานาชาติ

ปวินตอบว่าเขาไม่ได้มีวาระแฝงใดๆ หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือวิชาการภาษาอังกฤษ ถูกออกแบบมาให้คนที่อยู่ในแวดวงวิชาการหรือนักศึกษาอ่าน ไม่ใช่คนทั่วไป

“แต่ถ้าจะมี hidden agenda อื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำถามของคุณซึ่งก็น่าสนใจมากว่า เอ๊ะ แล้วหลายเรื่องคนไทยรู้แล้ว อาจารย์ต้องการเขียนให้ใคร เขียนให้คนไทยรู้อีกเหรอ คนรู้แล้วนะ ถึงแม้จะอ่านภาษาอังกฤษออกก็เถอะหรือฝรั่งยังไม่รู้ ในสิ่งที่คุณคิดว่ารู้แล้ว คุณรู้แค่ไหน ผมกำลังจะบอกว่าคุณรู้แค่ไหน ไม่ใช่ผมกำลังจะท้าทายว่าหนังสือเล่มนี้มีอะไรที่คุณยังไม่รู้อีกเยอะ ก็ไม่ถึงขนาดนั้น แต่สิ่งที่หนังสือเล่มนี้ให้คือมันให้การวิเคราะห์

“ยกตัวอย่างเช่นคุณรู้อยู่แล้วว่ากษัตริย์ไทยเป็นกษัตริย์ที่รวยที่สุดในโลก แต่ในหนังสือเล่มนี้พูดถึงเรื่องนี้ด้วย แล้วมันวิเคราะห์ลงไปว่าการที่รวยที่สุดในโลกเราตีความยังไง รวยแล้วไปเกี่ยวข้องกับสถานะด้านการเมืองของสถาบันกษัตริย์หรือเปล่า รวยเพราะว่าเป็นการแท็คทีมของสถาบันกษัตริย์กับธุรกิจใหญ่ๆ ของไทยหรือเปล่า แล้วมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไร รวยแบบนี้ทำให้กษัตริย์มีการต่อรองได้สูงมากขึ้นหรือเปล่า มันให้แง่มุมอื่นๆ ได้อีกเยอะ ไม่ใช่เป็นแค่ให้ข้อเท็จจริงว่าสถาบันกษัตริย์รวยที่สุด แล้วไง คนรู้หมดแล้ว ไม่ มันไปมากกว่านั้นอีก นี่เป็นแค่บทเดียวนะ”

ปวินยกตัวอย่างต่อเกี่ยวกับแหล่งที่มาของอำนาจด้านกฎหมายของสถาบันกษัตริย์ คนไทยรู้แต่เพียงว่ารัชกาลปัจจุบันมีการแต่งตั้ง ถอดถอนบ่อยมาก ปวินนั่งอ่านราชกิจจานุเบกษาตั้งแต่ปี 2016 จนถึงปี 2020 พบว่ามีทั้งหมด 100 กว่ากรณี

“แต่คำถามคือสถาบันกษัตริย์เอาอำนาจด้านกฎหมายแบบนี้มาจากไหน สถาบันกษัตริย์มีอำนาจเหรอในการแต่งตั้งถอดถอน สถาบันกษัตริย์ไม่ได้ปฏิบัติอยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญเหรอ ซึ่งรัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจเหล่านี้นะ แล้วอำนาจมาจากไหน เพราะฉะนั้นบทนี้ถึงพูดว่าอำนาจมันมาก่อนตั้งแต่ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แล้วมันถูก carry forward คือถูกเอามาใช้ แม้แต่ในยุคที่สถาบันกษัตริย์ควรจะอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

“แล้วมันไปไกลกว่านั้นโดยการเปรียบเทียบกรณีของไทยกับกรณีของสถาบันกษัตริย์ในยุโรปช่วงยุคกลางด้วย เพราะว่ามันคือสถาบันกษัตริย์ของยุโรปในช่วงยุคกลางเลย ยุคที่กษัตริย์ชี้เป็นชี้ตายทุกคนได้หมด ชี้นกเป็นนกชี้ไม้เป็นไม้ ฉันให้เธออยู่ เธออยู่ ฉันให้เธอไป เธอไป เพราะฉะนั้นมันมีอะไรที่มากกว่าสิ่งที่คนไทยคิดว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ฉันรู้แล้ว มันไปไกลกว่านั้นเลย”

พลวัตจาก RAMA IX สู่ RAMA X: continuity and change

“ในบทนำผมเขียนทำนองว่าแน่นอน การจะมอง 10 โดยไม่มอง 9 มันเป็นไปไม่ได้เพราะมันมีการเปลี่ยนผ่าน แล้วมันยังมี 2 คำที่เกี่ยวโยงกันเสมอคือ continuity and change ความต่อเนื่องและความเปลี่ยนแปลง สิ่งที่ผมจะบอกคือมันมีความเปลี่ยนแปลง มันง่ายมากเลย การเปลี่ยนตัวบุคคลคือการเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว แล้วไม่ต้องพูดถึงเรื่องนโยบายของกษัตริย์สององค์นี้ นโยบายก็ค่อนข้างต่างกัน เพราะฉะนั้นการเขียนเรื่องความเปลี่ยนแปลงอาจจะไม่ได้ยากอย่างที่คิด”

แต่การเขียนเรื่องความต่อเนื่องค่อนข้างยากกว่า ซึ่งหลายเรื่องมีความต่อเนื่องจากรัชกาลก่อน เพียงแต่ว่าความต่อเนื่องอาจจะไม่ได้อยู่ในรูปแบบเดิม

“ยกตัวอย่างเช่นความต่อเนื่องในเรื่องความต้องการมีบทบาทด้านการเมืองของสถาบันกษัตริย์ อันนี้เป็นความต่อเนื่องตั้งแต่รัชสมัยที่แล้วจนถึงรัชสมัยนี้ เพียงแต่ว่าความต้องการที่จะมีบทบาทด้านการเมืองของสถาบันกษัตริย์ในยุคนี้แตกต่างไป แต่นั่นไม่ได้หมายความว่ากษัตริย์ 2 องค์นี้ไม่เหมือนกันในเรื่องความต้องการมีส่วนร่วมทางด้านการเมือง”

continuity and change หรือความต่อเนื่องและความเปลี่ยนแปลงจึงเป็นโจทย์ที่ปวินมอบให้แก่นักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละประเด็นที่ตนศึกษาไปหาคำตอบมา

“ผมสปอยล์ไปบ้างแล้วเล็กน้อย แต่อาจจะสปอยล์ต่อนิดหนึ่งก็คือเรื่องสถาบันกษัตริย์กับชุมชนระหว่างประเทศที่ผมเขียนเอง อันนี้อาจจะเป็นบทที่ controversial น้อยที่สุดมั้ง เพราะอันนี้เป็นอะไรที่เปลี่ยนไปมากเลยคือในสมัยของกษัตริย์ภูมิพล สถาบันกษัตริย์มีความสำคัญมากในระบบระหว่างประเทศเพราะสหรัฐอเมริกาต้องการใช้ไทย รวมถึงสถาบันกษัตริย์ไทยด้วยในการเป็นแนวหน้าสู้ในสงครามเย็นกับคอมมิวนิสต์ แต่ตอนนี้สงครามเย็นหมดไปแล้วก็เลยนำไปสู่คำถามที่ว่าแล้วสถาบันกษัตริย์ไทยยังมีความสำคัญต่อระบบระหว่างประเทศหรือไม่ ผมฟันธงเลยว่าความสัมพันธ์แทบจะน้อยมาก”

ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ (ภาพจากเฟซบุ๊ก Pavin Chachavalpongpun)

ความรักและความกลัว

บทหนึ่งในหนังสือที่ปวินชอบมากคือเรื่องเกี่ยวกับความรักและความกลัว เขาอธิบายว่าสิ่งที่ไม่เปลี่ยนคือรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 ต่างก็มีวิธีปกครองราษฎรของตัวเองซึ่งถือเป็นความต่อเนื่อง หมายความว่ายังมีความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับประชาชน แต่เนื้อในของความสัมพันธ์กลับเปลี่ยนไป

“คนที่เขียนบทนี้ต้องการจะบอกว่าในยุคก่อนมันขึ้นอยู่กับสิ่งที่เป็นความรัก สมัยนี้ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เรียกว่าความกลัว แต่เรื่องความรักกับความกลัวไม่ใช่เป็นสีขาวและดำ ทั้งสองอันมีเทาทั้งคู่ หมายความว่าในความรัก คุณเองก็กลัว แต่ผมไม่ได้บอกว่าในความกลัวก็มีความรักนะ (หัวเราะ) ที่มันน่าสนใจมาก ผมพูดแล้วตื่นเต้นกับบทนี้มากคือในความรักมีความกลัว อันนี้ทุกคนเข้าใจได้ ถ้าจำได้ในช่วงท้ายๆ รัชกาลจะมีแคมเปญเรารักในหลวง บอกให้ทุกคนออกมารักๆๆๆ แต่ถ้าเธอไม่รัก...เธอตาย หมายความว่าเธอจะโดน 112

“ในความกลัวปัจจุบัน คนคิดว่ามีความกลัว แต่ทำไมในความกลัวปัจจุบันจึงมีคนต่อต้านมากกว่าในสมัยความรัก อันนี้วัดได้จาก 2 ดัชนี ดัชนีแรกคือจำนวนคดี 112 มันสูงๆๆๆ ปี๊ดเลย ทั้งที่มีการปกครองด้วยความหวาดกลัวเพราะถ้ากลัวมันเวิร์คจริง คนต้องกลัวสิ แต่ทำไมคนถึงกบฏมากขึ้น อันที่สองคือการออกมาชุมนุมปี 2020 แล้วเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ มันมีความย้อนแย้งในตัวเองและน่าสนใจมาก เพราะฉะนั้นบทนี้เป็นบทที่ผมอ่านแล้วชอบมาก”

อาจจะสายไปแล้ว

ปวินกล่าวว่าหนังสือเล่มไม่ได้ให้คำแนะนำว่าถ้าไม่ปฏิรูปจะเกิดอะไรขึ้น เพราะไม่ใช่วัตถุประสงค์ของหนังสือวิชาการที่เขียนขึ้นเพื่อทำความเข้าใจประเด็นปัญหานั้นๆ แต่เขาคิดว่าเมื่อผู้อ่านเข้าใจแล้วว่าปัญหาคืออะไร คุณสามารถตีความต่อได้เลยว่าถ้าไม่ปฏิรูป ปัญหาจะเกิดอะไรขึ้น

“ถ้าถามผมตอนนี้ ถึงแม้ว่าผมจะไม่ได้เขียนในเชิงแนะนำแบบนั้นในหนังสือเล่มนี้ แต่ผมกล้าบอกได้ทันทีเลยว่ามันเป็นการบอกที่มาจากการวิจัยของหนังสือเล่มนี้คือถ้าไม่ปฏิรูปคือจบ ถึงแม้ปฏิรูป ณ วันนี้ เดือนนี้คือเดือนกรกฎาคมปี 2023 ผมคิดว่ามันอาจจะสายไปแล้วด้วยซ้ำ”

สังคมไทยต้องการ fundamental change

ต่อกรณีชัยชนะในการเลือกตั้งของพรรคก้าวไกลที่ประกาศนโยบายชัดว่าจะมีการแก้ไขมาตรา 112 ปวินกล่าวว่าคนที่เลือกก้าวไกลอาจจะไม่ใช่คนที่ต้องการแก้มาตรา 112 ทั้งหมด เขาคิดว่าข้อโต้แย้งนี้ฟังไม่ขึ้น เขาเปรียบเทียบว่าการเลือกตั้งเป็นเหมือนการซื้อสินค้าแบบแพ็กเกจ ในที่สุดแล้วถ้าคุณมีความไว้วางใจและศรัทธาให้กับพรรคการเมืองนี้ก็ต้องปล่อยให้เขาทำในสิ่งที่หาเสียงไว้พราะคุณให้เสียงคุณไปแล้ว

“แล้วไม่ต้องมานั่งเถียงกันว่า 14 ล้านคนไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่เพราะว่าในบริบทของการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยแล้ว พรรคที่ได้เสียงมากที่สุดก็คือพรรคที่ได้เสียงส่วนใหญ่ คือเสียงส่วนใหญ่ต้องการการเปลี่ยนแปลงและต้องการการเปลี่ยนแปลงที่ไปถึงเรื่องสถาบันกษัตริย์ด้วย ไม่อย่างนั้นพรรคก้าวไกลก็คงไม่ได้เสียงข้างมากขนาดนี้ นั่นยังหมายถึงอะไรต่อไป

“ผมยังคิดว่าหมายถึงว่าประชาชนคนส่วนใหญ่ในสังคมต้องการการเปลี่ยนแปลงที่ผมเรียกว่าเป็น fundamental change ไม่ใช่เป็นแค่ change เล็กๆ change เกี่ยวกับปากท้อง นี่มันเป็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงรุก ในเชิงโครงสร้าง ซึ่งเผอิญดันมีพรรคก้าวไกลที่ให้ได้พรรคเดียว เพราะฉะนั้นจึงอาจจะไม่แปลกหรอกว่าทำไมพรรคก้าวไกลถึงได้เสียงมากที่สุดในครั้งนี้ เพราะผมคิดว่าในจุดที่คนไทยหลายคนต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแปลงแบบทำให้ตัวเองรู้สึกอิ่มท้องเท่านั้น แต่มันไปมากกว่านั้น มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับจิตวิญญาณ เกี่ยวกับสิ่งที่ผมเรียกว่าอุดมการณ์ด้วย เป็นการเติมเต็มด้านความมุ่งหวังด้านอุดมการณ์ของตนเองด้วย เพราะฉะนั้นเรื่องพวกนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างทั้งสิ้น ผมจึงคิดว่ามันเป็น fundamental change ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยตอนนี้”

การ ‘ไม่ทำ’ ของพรรคเพื่อไทย

เราอ้างอิงบทสัมภาษณ์ อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์: '14 ล้านเสียง' สะท้อนคนต้องการปลดล็อกโครงสร้างความสัมพันธ์แบบเดิม ที่กล่าวไว้ว่าความพ่ายแพ้ของพรรคเพื่อไทยส่วนหนึ่งเกิดจากการก้าวตามไม่ทันความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชนบท แต่ปวินมีความเห็นต่างออกไป

“ผมจะแก้อาจารย์นิดหน่อยเองว่า ไม่ใช่ไม่เห็น เขาอาจจะเห็น ไม่เชิงไม่กล้า แต่ไม่ทำ เพราะคำว่าไม่กล้ากับไม่ทำมันต่างกัน ไม่กล้าอาจจะมีนัยของอยากทำ แต่ไม่ทำมันมีนัยของ...เอ่อ ไม่ทำ เพราะทำแล้วฉันเสียประโยชน์ ผมบอกตรงๆ ว่าผมมองพรรคเพื่อไทย cynical มากกว่า ใครจะว่าผมอคติก็เถอะ แต่อย่าลืมว่าผมก็เป็นคนคนหนึ่งที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยมาระยะหนึ่งพอสมควรแล้วและผมก็ทำงานกับคนเสื้อแดง จะบอกว่าผมอคติร้อยเปอร์เซ็นต์ ผมคิดว่าเป็นการดูถูกผมไปนิดหนึ่ง

“ผมขอแบบว่าเป็นนักวิชาการที่มีสิทธิเสรีภาพในการวิจารณ์และผมไม่ได้พูดว่าผมเป็นกลางเพราะผมก็ไม่ได้เป็นกลางหรอก ผมคิดว่าเป็นการยากมากที่ใครจะเคลมว่าตัวเองเป็นกลาง เพียงแต่พูดตามเนื้อผ้าจริงๆ เลยว่าผม cynical กับพรรคเพื่อไทยมาก แล้วความ cynical ที่มีกับพรรคเพื่อไทยก็มาจากการที่ผมสังเกตการณ์สิ่งที่เกิดขึ้นในพรรคเพื่อไทยเอง แม้แต่การแคมเปญของเขาเอง แม้แต่คำพูดของทักษิณเองก็เถอะ มันทำให้ผมคิดว่าการที่เขาไม่ต้องส่งเสริมเรื่องเกี่ยวกับ fundamental change ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เขามองไม่เห็นหรือไม่กล้า เขารู้ทั้งหมด แต่เขาเพียงไม่เข้าไปตรงนั้นเองเพราะเขารู้ว่าการทำแบบนั้นเขาจะเสียประโยชน์ ซึ่งสำหรับผมเห็นว่ามันไม่แฟร์กับผู้ใช้สิทธิ์ เพราะถ้าพรรคการเมืองคิดแต่เรื่องผลประโยชน์ของตัวเองก่อน ผมคิดว่ามันไม่แฟร์มากๆ”

อำนาจกษัตริย์ยิ่งสูง พื้นที่ประชาธิปไตยยิ่งหดแคบ

เมื่อกล่าวถึง The Thai Monarchy under King Vajiralongkorn เราขยายความต่อไปถึง The Thai Democracy under King Vajiralongkorn ว่าเป็นอย่างไร ปวินตอบเลยว่าประชาธิปไตยไทยถดถอยลงไปมาก

“ในรัชสมัยที่แล้วยังมีความพยายามที่จะ pretend ที่จะแสร้งว่าเป็นประชาธิปไตย แม้ว่าเนื้อในจะมีความเป็นเผด็จการสูง แต่อย่างน้อยเปลือกนอกยังมีความ pretend อยู่บ้าง เช่น ในจุดหนึ่งที่สถาบันกษัตริย์จำเป็นต้องทำงานกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง สถาบันกษัตริย์ก็ต้องทำ แล้วค่อยไปกำจัดทีหลัง

“แต่ผมคิดว่าสมัยนี้ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าเป็น pretend ด้วยซ้ำ คือไม่ต้องเสแสร้งกันอีกแล้ว เพราะฉะนั้นจะมีบทหนึ่งเลยที่พูดถึง เป็นบทเปิดเลยด้วยซ้ำหลังจากผมเขียนอินโทรดักชั่นแล้ว คนเขียนบทนี้เขียนวิเคราะห์เรื่องประชาธิปไตยแบบรัชกาลที่ 10 ว่าสิ่งที่กำลังเกิดอยู่คือเรากำลังถอยหลังกลับไปสู่สมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่คราวนี้ผมคิดว่าคนเขียนจงใจไม่ใช่คำว่า absolute monarchy เพราะมันอาจจะเป็นไปไม่ได้ คือการถอยหลังไปขนาดนั้นในแง่ของการประกาศเป็นทางการว่าไทยจะกลับไปเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ผมคิดว่าคงเป็นไปไม่ได้ แต่ผมคิดว่าที่จะเกิดขึ้นคือสถาบันกษัตริย์จะมีอำนาจเพิ่มสูงขึ้นๆ ไปเรื่อยๆ มันกลายมาเป็นตาชั่งแบบหนึ่ง ที่ผมกำลังจะพูดคือไม่ใช่ว่าประชาธิปไตยจะอยู่คงที่เมื่อสถาบันกษัตริย์มีอำนาจมากขึ้น มันไม่ใช่อย่างนั้น

“อำนาจของสถาบันกษัตริย์ที่สูงขึ้นจะทำให้ขอบเขตของประชาธิปไตยลดต่ำลง ถ้าเกิดว่าสถาบันกษัตริย์สูงขึ้น นี่คือ argument ที่เรากำลังพูดกันว่านี่แหละเป็นการเมืองในสมัยรัชกาลที่ 10 ถ้าคุณจะพูดถึงเรื่องประชาธิปไตย ด้วยความที่สถาบันกษัตริย์มีอำนาจสูงมากขึ้นโดยตัวมันเองทำให้ยิ่งทำให้พื้นที่ของประชาธิปไตยยิ่งหดน้อยลงๆๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าแล้วสถาบันกษัตริย์จะไปสูงขนาดไหน ยิ่งไปสูงเท่าไหร่ พื้นที่ของประชาธิปไตยยิ่งลดน้อยลงๆๆ”

นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ประเทศไทยมีกษัตริย์ 4 พระองค์นับตั้งแต่รัชกาลที่ 7 ถึงรัชกาลที่ 10 ปวินกล่าวว่ารัชสมัยของรัชกาลที่ 10 สถาบันกษัตริย์ถือว่ามีอำนาจด้านการเมืองแบบทางการมากที่สุด กล่าวคือตั้งแต่ 2475 เป็นต้นมาสถาบันกษัตริย์ทุกองค์แล้วต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่รัชกาลที่ 10 เป็นกษัตริย์องค์เดียวเท่านั้นที่มีอำนาจทางการด้านการเมืองมากกว่ากษัตริย์ที่ผ่านมา

“ผมยกตัวอย่างง่ายๆ คืออำนาจในการสั่งให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้ว่ารัฐธรรมนูญนั้นจะผ่านการทำประชามติไปแล้ว เป็นอำนาจที่ล้นมาก จริงๆ แล้วกษัตริย์ไม่มีสิทธิ์เลยในการขอให้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะยิ่งผ่านประชามติไปแล้ว แล้วการแก้ไขนั้นเป็นการแก้ไขเพื่อเพิ่มอำนาจให้ตัวเองด้วย ข้อหนึ่งเลยคือไม่จำเป็นต้องแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการเมื่อตัวเองอยู่ต่างประเทศ อันนี้เป็นการคงไว้ซึ่งอำนาจโดยตรงแม้จะอยู่ต่างประเทศ แล้วก็รวมถึงการเอาบางกองทัพเข้ามาอยู่ภายใต้พระราชอำนาจของสถาบันกษัตริย์ เป็นการให้อำนาจที่เป็นทางการมากๆ ต่อสถาบันกษัตริย์ ทั้งหมดนี้มันขัดต่อหลักประชาธิปไตยมาก มันก็เลยกลับไปสู่สูตรที่ผมบอก ยิ่งพระมหากษัตริย์มีอำนาจด้านการเมืองสูงเท่าไหร่ มันทำให้ประชาธิปไตยของเราถดถอยไปเรื่อยๆ”

ความยืดหยุ่นของประชาธิปไตยไทย

แม้สถานการณ์ดูจะเป็นอย่างที่ปวินกล่าว แต่เราก็มองเห็นการท้าทายเพื่อค้ำยันเพดานประชาธิปไตยไม่ให้ต่ำลงมาอยู่มิใช่หรือ

“เป็นคำถามที่ดีมากและตลกมากที่คุณถามผมคำถามนี้ เพราะว่าผมเพิ่งได้รับ assignment ในการเขียนหัวข้อนี้พอดีเพื่อจะลงในวารสารที่จะตีพิมพ์เดือนมีนาคมปีหน้า คำถามที่เขาตั้งโจทย์มาให้ผมคือ democratic resilience ถ้าจะแปลเป็นภาษาไทยคือความยืดหยุ่น หัวข้อนี้คือความยืดหยุ่นของประชาธิปไตยไทยอยู่ตรงไหนในเมืองไทย อะไรคือความยืดหยุ่นของประชาธิปไตย หมายความว่าต่อให้สถานการณ์เลวร้ายมากๆ อย่างกรณีพระราชอำนาจสูงขึ้นๆ แล้วในที่สุดประชาธิปไตยก็จะพังเลยเหรอ

“แต่คุณก็พูดเองว่ามันก็มีสิ่งท้าทายเกิดขึ้นมาก หนึ่งในสิ่งท้าทายมาจากการชุมนุมของเยาวชน และเอาจริงแล้วการเกิดขึ้นของพรรคก้าวไกลและการได้รับชัยชนะของก้าวไกลก็เป็นสิ่งท้าทายอันหนึ่งเช่นกัน สองอันนี้แหละที่ผมกำลังเขียนว่ามันกลายมาเป็นปัจจัยที่ทำให้ประชาธิปไตยของไทยยังพอมีความยืดหยุ่นเหลืออยู่บ้าง มันอาจจะไม่พังเพราะสถาบันกษัตริย์ขึ้นไปสูงมาก แต่ขณะเดียวกันก็ยังพอยืดหยุ่นอยู่ได้บ้าง ยังพอมีปัจจัยบางตัวที่ทำให้ประชาธิปไตยของไทยยังพออยู่ได้ ไม่พังครืนลงมา นั่นก็คือการที่เรามี active social movements ในรูปแบบของการชุมนุม การประท้วง”

นอกจากการชุมนุมของเยาวชนและการเกิดขึ้นของพรรคก้าวไกลแล้ว ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ปวินคิดว่ามีบทบาทสำคัยญที่จำเป็นต้องให้เครดิตด้วยคือ civil society organization หรือกลุ่มภาคประชาสังคมซึ่งเขาเองก็ทำ advocacy ต่างประเทศ และเขายังทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมในเมืองไทยอยู่บ้าง โดยเฉพาะองค์กรภาคประชาสังคมที่ส่งเสริมเกี่ยวกับประชาธิปไตย การแก้ไขมาตรา 112 ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญถ้าจะพูดถึงการเพิ่มความยืดหยุ่นของประชาธิปไตยไทย

“ถ้าเราจินตนาการว่าพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์สูงขึ้นมาก แล้วไม่มีสิ่งท้าทายเลยให้เตรียมทำใจว่าประชาธิปไตยพังแน่นอน และแม้ว่าตอนนี้อาจไม่ใช่จุดที่ดี แต่ประชาธิปไตยยังไม่พังเพราะมีปัจจัยบางอย่างหนุนให้ประชาธิปไตยลืมตาอ้าปากได้ คราวนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าปัจจัยเหล่านั้นจะผลักให้ประชาธิปไตยขึ้นไปสูงเพื่อจะดึงอำนาจสถาบันกษัตริย์ลงมาได้มากน้อยแค่ไหนซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องรอดูต่อไป”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net