Skip to main content
sharethis

3 นักกิจกรรมผู้หญิงข้ามเพศและมุสลิม เล่าประสบการณ์เคยถูกคุกคามทางเพศ ขู่ฆ่า และไล่ออกจากศาสนา ทั้งทางออนไลน์และกายภาพ

  • การถูกคุกคาม ข่มขู่ ล้อเลียนทางโลกออนไลน์และกายภาพ เกิดขึ้นกับนักกิจกรรมมานาน โดยเฉพาะในกลุ่มนักเคลื่อนไหวเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ มักมาในหลายช่องทาง และมีเป้าหมายคือการทำให้หวาดกลัวหรืออับอาย 
  • อย่างไรก็ตาม นักกิจกรรมผู้หญิงข้ามเพศและมุสลิม ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอัตลักษณ์ทับซ้อน มีแนวโน้มตกเป็นเป้ามากกว่า และถูกคุกคามรุนแรงยิ่งกว่านักกิจกรรมชายตรงเพศและหญิงตรงเพศ
  • ชวนอ่านคำบอกเล่าจาก 3 นักกิจกรรมผู้หญิงข้ามเพศและมุสลิม อั๊ส-อิชย์อาณิคม์ ชิตวิเศษ นักสื่อสารนโยบาย พรรคก้าวไกล นาดา ไชยจิตต์ นักการเมืองพรรคเสมอภาค และ นุ่น-มนูญ วงษ์มะเซาะห์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

คลุมฮิญาบไม่ช่วยให้ปลอดภัย

“การเป็นมุสลิม ผู้หญิงข้ามเพศ ปกป้องสิทธิทางเพศ และทำงานการเมืองไปด้วยไม่ง่าย และมันไม่เคยง่าย” 

อิชย์อาณิคม์ ชิตวิเศษ หรืออัสซารี่ นักกิจกรรมผู้หญิงข้ามเพศและมุสลิม และนักสื่อสารนโยบาย พรรคก้าวไกล  โพสต์ข้อความลงโซเชียลมีเดียถึงประเด็นที่เธอโดนคุกคามทางเพศจากบุคคลนิรนามผ่านช่องทางต่างๆ

 

อิชย์อาณิคม์ ชิตวิเศษ

“อั๊สตกเป็นเป้าของการคุกคามมาตลอด 2 เดือน ทุกช่องทางที่เขาคนนี้จะสามารถติดต่อได้ เช่น เพจ แชท อีเมล เขามาหมด แม้จะกดบล็อคแล้ว ก็หาอีเมลใหม่มาคุกคามเราเรื่อยๆ”

อั๊สเล่าถึงประสบการณ์การถูกคุกคามออนไลน์ในหลายช่องทาง เช่น ส่งข้อความมาทางแชทในแอคเคานต์ส่วนตัว โทรศัพท์มาหาแบบนิรนามทำให้เกิดความรู้สึกหวาดกลัว การถูกขุดรูปเก่าๆ มาโจมตีอัตลักษณ์ทางเพศ

“พื้นที่ส่วนตัวเรายังแบบ เออ หยวนๆ แต่ที่ทำงานเนี่ยมากเกินไป เพราะเราต้องใช้อีเมลในการสื่อสาร มันทำให้เราขยาดกับการจะเข้าอีเมล”

อั๊สบอกด้วยว่าการถูกคุกคามเชิงกายภาพที่ทำให้ตนตัดสินใจคลุมฮิญาบ แต่ถึงอย่างไรก็ยังคงโดนคุกคามอยู่ดี

 

ข้อความที่อั๊สได้รับทางอีเมล

คอมเมนต์ใต้คลิปที่อั๊สให้สัมภาษณ์กับสื่อ

“ปอแน ปอแน โดนลงโทษ”

“สมัยก่อนความรุนแรงมันถึงขั้นที่แบบว่า ไม่รู้เลยว่าจะถูกส่งสายลับมาถล่มบ้านเราหรือเปล่า เราเลยคุยกับครอบครัวว่าจะสื่อสารเรื่องนี้เฉพาะวงวิชาการเท่านั้น”

ด้าน นาดา ไชยจิตต์ นักกิจกรรมเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมทางเพศ ปัจจุบันเป็นนักการเมืองพรรคเสมอภาค

นาดา โพสต์รูปว่าได้รับหมายศาลแพ่ง จากกรณีเปิดโปง สก. เขตวัฒนา พรรคก้าวไกล ล่วงละเมิดทางเพศลูกจ้างหญิงข้ามเพศ

นาดาเล่าว่าตลอดระยะเวลา 17  ปีในการเป็นนักกิจกรรม เวลาที่จะสื่อสารประเด็นต่างๆ ต้องประเมินความเสี่ยงอยู่ตลอดเวลาเพื่อไม่ให้ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นนั้นไปยังตนเองและครอบครัว แต่การถูกคุกคามก็ยังคงเกิดขึ้น

นาดาเล่าว่าตอนที่ตนไปสอนใหม่ๆ ที่ปัตตานีในช่วงเวลาเดียวกับการที่เขามีจัดนิทรรศการบริเวณพื้นที่ของมูลนิธิมัสยิดกลางจังหวัด ขณะนั้นพื้นที่ด้านหลังมัสยิดมีถนนชำรุด ฝาท่อพัง และตนจำเป็นต้องเดินทางมัสยิดด้านหลัง ณ ตอนนั้นพื้นที่ด้านหลังมัสยิดมืดมากทำให้นาดาเดินตกท่อ ในขณะที่ไปโรงพยาบาลคนในพื้นที่พูดกันในภาษาท้องถิ่น “ปอแน ปอแน โดนลงโทษ”

“ตอนที่เราตกท่อตอนนั้นเรายอมรับว่ามันสั่นคลอนความเชื่อเราเลยนะตอนที่ได้ยินคนเล่าให้ฟังว่าเขาว่าเราว่ายังไง พระเจ้าลงโทษเรา เราก็รู้สึกว่ามันไม่ปลอดภัย ไม่รู้ว่าเขาคิดอะไรในใจ ดูเหมือนเขาต้อนรับเราอย่างดี แต่ลึกๆ เขาคิดกันแบบนี้เหรอ ซึ่งนำมาสู่ความรู้สึกว่าเรากลัว จนเราต้องคุยกับแกนนำบางคน ให้เขาช่วยสื่อสารให้” 

นาดา เล่าอีกว่าตอนที่ตนเข้าไปร่วมผลักดันร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ณ เวทีที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีมุสลิมนักการศาสนาแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าสีดำประมาณ 7-8 คน มาด่าทอนักกิจกรรมมุสลิมอีกคนที่หน้าเวทีในลักษณะเหยียดเพศ และบอกว่าเป็นเรื่องที่รับไม่ได้หากจะให้ พ.ร.บ.คู่ชีวิตผ่าน

“อีนี่น่าตายคนแรก”

อีกคำบอกเล่าจาก นุ่น-มนูญ วงษ์มะเซาะห์ นักกิจกรรมผู้หญิงข้ามเพศและมุสลิม เป็นอีกคนหนึ่งที่ออกมาพูดเรื่องความเท่าเทียมทางเพศสภาพ ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์แอมเนสตี้  อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

 

นุ่น-มนูญ วงษ์มะเซาะห์

“แต่ละคนจะโดนแมสเสจที่มันบอกถึงตัวบุคคลที่มันแตกต่างกันออกไป เราจะโดนในมุมที่ว่า เราเป็นคนแรง คนตรงประเด็น เราจะโดนเชิงว่า เนี่ยหรอคนที่จะมาบอกว่าเป็นมุสลิมที่ดีในอิสลามได้ เอาความไม่เรียบร้อยหรือความเป็นเด็กที่ไม่ได้แบบสุภาพอ่อนน้อมถ่อมตนหรือไม่แต่งตัวตามแบบฉบับของมุสลิมมาตัดสิน มันมีหลายประเด็นที่ทับซ้อนเข้ามา ข้อความขู่ฆ่าเราก็จะเยอะ”

นุ่นยกตัวอย่างคำด่าทอที่เคยเจอ เช่น “อีนี่น่าตายก่อนเลยคนแรก” และ “อยากไปคุยกับพระเจ้าเลยมั้ยตอนนี้ เห็นเก่งเหลือเกิน”

นุ่นบอกด้วยว่า นอกจากอัตลักษณ์ทับซ้อนที่เป็นเป้าโจมตี คุกคามในลักษณะเฉพาะแล้ว การที่ตนมีรูปลักษณ์ที่เป็นผู้หญิงแต่อาจไม่เรียบร้อยตามขนบ ‘ผู้หญิงที่ดี’ ก็ทำให้ถูกหยิบยกมาเป็นเป้าโจมตีด้วยเช่นกัน ว่าทำตัวแบบนี้จะไม่สามารถนำบาปที่มีอยู่ไปคุยกับพระเจ้าได้

ช่องว่างในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม

“จะไปแจ้งความหรืออะไรก็ลำบากอยู่พอสมควร ตำรวจไม่ค่อยอยากรับคดีพวกนี้เพราะโทษมันต่ำ”

นุ่น บอกพร้อมเสริมด้วยว่า ตอนที่มีประสบการณ์โดนขู่ฆ่า เคยยื่นเรื่องให้กระบวนการยุติธรรมจัดการกลายเป็นว่าเรื่องที่ยื่นไปกลายเป็นเพียงบันทึกประจำวัน

“เราว่าข้อเสียอย่างหนึ่งของประเทศไทย คือไม่ได้แจ้งให้เห็นว่ามันมีกฎหมายหรือกลไกไหนบ้างที่เราเข้าได้ถึงได้ง่าย คนทั่วไปไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามี พรบ.เหล่านี้เกิดขึ้นรู้ เราไม่รู้มากพอว่ากฎหมายฉบับไหนบ้างที่มันออกมาเพื่อที่จะปกป้องพวกเราจริงๆ ”

สำหรับนุ่นมองว่ากฎหมายควรจะสร้างเพื่อคุ้มครองโดยเฉพาะ กฎหมายในส่วนของไซเบอร์บูลลี่ หรือ การคุกคามออนไลน์ควรจะครอบคลุมเรื่องอื่นๆ ด้วย เช่น ความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ เป็นต้น

นาดากล่าวว่า ปัญหาการคุกคามทั้งกายภาพ และดิจิทัลเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ควรถูกยกระดับให้เป็นวาระแห่งชาติ แต่ละปีมีคนถูกล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศประมาณ 30,000 เคสแต่มีเพียง 164 เคสที่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมตลอด 3 ปีย้อนหลังไป

สัดส่วนตัวเลขที่ต่างกันเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่บอกว่า กระบวนการยุติธรรมยังไม่สามารถคุ้มครองคนจากการคุกคามหรือล่วงละเมิดทางเพศได้ 

“ทุกครั้งที่เราต้องไปร้องเรียน คือต้องแบกรับความเจ็บปวด เพราะฉะนั้นอะไรที่เราจัดการได้โดยที่ไม่เป็นเรื่องร้องเรียนเราก็พยายามจะจัดการให้มันอยู่แค่ตรงนั้น เว้นแต่ว่ามันคุกคามถึงชีวิต” นาดากล่าว

ประเด็นของการคุกคามออนไลน์ นาดากล่าวว่า การส่งข้อความคุกคามมีโทษต่ำ ทุกครั้งที่ร้องเรียนจะได้อย่างมากมักได้แค่ความผิดหมิ่นประมาทซึ่งหน้า ข่มขู่ให้เกิดความหวาดกลัว ซึ่งปรับเพียงหลักหมื่น หรือติดคุกเพียงหลักเดือน 

ควรจะพิจารณาเส้นแบ่งให้ดีระหว่างเสรีภาพในการแสดงออก และเฮทสปีช  ซึ่งหากเข้าข่ายเฮทสปีช เมื่อนั้นจะเป็นการคุกคาม 

สำหรับอั๊ส ในฐานะนักสื่อสารนโยบายแห่งศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต (Think Forward Center) มองว่า กฎหมายในเรื่องของการคุกคามทางออนไลน์ไม่ได้ถูกอัปเดตมาเป็นเวลานาน หากในอนาคตคนในพรรคเห็นพ้องร่วมกัน ตนจะพยายามทำงานในคณะทำงานเพื่อป้องกันอาชญากรรมทางออนไลน์ของพรรคให้หนักขึ้น ในตอนนี้ยังเป็นช่วงของการพิจารณาว่าทางพรรคจะเข็นร่างเดิมและปรับปรุงแก้ไข เพิ่มเติมส่วนออนไลน์เข้าไป หรืออาจเสนอเป็นร่างใหม่ ต้องรอดูกันต่อไป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net