Skip to main content
sharethis

ตัวแทนกลุ่มคนงานสิ่งทอในพม่าที่ทำงานให้สายการผลิตของเสื้อผ้ายี่ห้อดัง Zara ถูกจับขึ้นศาลทหารหลังจากที่มีการประท้วงเรียกร้องขึ้นค่าแรง ทำให้ในตอนนี้บริษัทสัญชาติสเปนเจ้าของ Zara กำลังหาทางเฟดตัวออกจากประเทศ หลังจากที่หลายๆ แบรนด์เฟดตัวออกมาจากพม่าตั้งแต่หลังรัฐประหารปี 2564 แล้ว

นักกิจกรรมด้านแรงงานในพม่าเปิดเผยว่า คนงานสิ่งทอและนักสหภาพแรงงาน 7 ราย กำลังจะต้องเผชิญกับการดำเนินคดีข้อหายุยงปลุกปั่นในศาลทหาร หลังจากที่พวกเขารณรงค์เรียกร้องให้มีการขึ้นค่าจ้างที่โรงงานสิ่งทอที่ผลิตป้อนให้กับบริษัท Inditex บริษัทสัญชาติสเปนเจ้าของแบรนด์ร้านค้าเสื้อผ้า Zara

คดีดังกล่าวนี้เปิดเผยให้เห็นถึงสภาพที่เลวร้ายที่คนงานพม่าต้องเผชิญในการทำงานภาคส่วนสิ่งทอ มีบริษัทหลายบริษัทที่ย้ายกิจการออกจากประเทศพม่าหลังจากที่มีการรัฐประหาร ก.พ. 2564 ซึ่งการรัฐประหารครั้งล่าสุดนี้ผลให้สิทธิแรงงานก็เลวร้ายลงกว่าเดิม

บริษัท Inditex มีแผนการจะเฟดตัวออกจากพม่าอย่างค่อยเป็นค่อยไป หลังจากที่มีการจับกุมตัวแรงงานสิ่งทอ 5 ราย และนักสหภาพแรงงาน 2 ราย เมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา พวกเขาเหล่านี้ทำงานอยู่ในโรงงานอุตสาหกรรมที่มีเจ้าของเป็นชาวจีนชื่อ บริษัท Hosheng Myanmar Garment จำกัด ในย่างกุ้ง กลุ่มคนงานโรงงานนี้ได้จัดตั้งสหภาพเมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมาเพื่อต่อรองให้ได้สภาพการจ้างงานที่ดีขึ้น

นักกิจกรรมรายหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับสหภาพบอกว่า ตำรวจยังทำการควบคุมตัวแรงงานทั้ง 7 คนไว้ที่สถานีตำรวจเมืองชเวปีทาร์ ด้วย ถึงแม้ว่าจะมีการนัดวันให้ผู้ต้องหารับฟังการพิจารณาคดีไว้แล้ว แต่ก็ยังคงมีการคุมขังบุคคลทั้ง 7 คนนี้เพื่อรอการพิจารณาคดีข้อหายุยงปลุกปั่น ซึ่งถ้าหากพวกเขาได้รับการตัดสินว่ามีความผิดก็อาจจะต้องเผชิญโทษจำคุกสูงสุด 2 ปี ตามกฎหมายอาญามาตรา 505 (a) ของพม่า

นักกิจกรรมแรงงานที่ไม่ประสงค์ออกนามเพราะเหตุผลเรื่องความปลอดภัยกล่าวว่า "ก่อนที่จะมีการจัดตั้งสหภาพแรงงานนั้น มีการตั้งกฎเงื่อนไขการทำงานเยอะมาก แรงงานไม่สามารถร้องเรียนได้ มีการบังคับให้ทำงานล่วงเวลา มีค่าแรงที่ต่ำมาก ... ทางโรงงานไม่ชอบให้มีสหภาพแรงงาน นั่นคือเหตุผลว่าทำไมสมาชิกสหภาพแรงงานทั้ง 7 รายถึงถูกไล่ออก"

นอกจากนี้การดำเนินคดีต่อแรงงานทั้ง 7 ราย ยังเป็นการดำเนินคดีแบบปิดที่ศาลทหารในชเวปีทาร์ ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ภายใต้กฎอัยการศึกอีกด้วย

สื่ออิระวดีรายงานว่าก่อนหน้านี้ในช่วงเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา นักสหภาพแรงงาน 5 รายแรก ถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นละการชุมนุมอย่างผิดกฎหมาย หลังจากที่พวกเขาประท่วงเรียกร้องให้มีการขึ้นค่าแรงจากเดิมคือ 4.800 จ๊าดต่อวัน (ราว 79 บาท) เป็น 5,600 จ๊าดต่อวัน (ราว 92 บาท) เพิ่มขึ้นจากเดิม 800 จ๊าตต่อวัน (ราว 13 บาท) โดยที่พวกเขาทำงานในโรงงานผลิตสิ่งทอที่มีชาวจีนเป็นเจ้าของเป็นโรงงานที่ผลิตป้อนให้กับแบรนด์ของ Inditex ตือ Zara และ Pull & Bear ก่อนที่ต่อมาสื่อเรดิโอฟรีเอเชียจะรายงานเรื่องที่นักกิจกรรมแรงงานถูกจับกุมรวม 7 ราย

กลุ่มแรงงานสงสัย ทำไมการพิพาทแรงงานที่ไม่เกี่ยวกับการเมือง กลับพิจารณาในศาลทหาร?

นักกิจกรรมด้านสิทธิแรงงานระบุว่า โรงงานสัญชาติจีนที่ผลิตเสื้อผ้าให้กับบริษัทสัญชาติสเปนแห่งนี้มีการจ้างงานแรงงานมากกว่า 1,000 ราย และมีประวัติละเมิดสิทธิแรงงานอย่างชัดเจน

โฆษกขององค์กรสิทธิแรงงาน แอกชั่นเลเบอร์ไรท์ ระบุว่า แรงงานกลุ่มนี้ไม่ได้เรียกร้องอะไรทางการเมืองเลย แต่มันเป็นเรื่องของการพิพาทแรงงาน เขาไม่เข้าใจว่าทำไมรัฐบาลพม่าถึงต้องใช้ข้อกล่าวหาทางการเมืองกับพวกเขาด้วย เป็นเรื่องน่าสงสัยว่ารัฐบาลพม่ามีจุดประสงค์อะไร หรือรัฐบาลพม่าจะมีจุดประสงค์ในการปกป้องนายจ้างที่ละเมิดสิทธิของพวกเขา

สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมก่อสร้างและป่าไม้ของพม่าที่เป็นสหภาพแรงงานกลุ่มหนึ่งเปิดเผยว่าพวกเขาได้ร้องเรียนเรื่องการจับกุมแรงงานที่เกิดขึ้นนี้ไปยังองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) แล้ว

นอกจากนี้ ผู้แทนจากสหภาพยุโรปก็ได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับการจับกุมที่เกิดขึ้นระบุว่าพวกเขารู้สึกเป็นห่วงเกี่ยวกับการคุมขังที่กำลังเกิดขึ้นและเป็นห่วงเรื่องสวัสดิการของแรงงานและสิทธิของนักกิจกรรมแรงงานในภาคส่วนสิ่งทอที่ถูกคุมขัง หลังจากมีการพิพาทแรงงานที่โรงงาน Hosheng

ผู้แทนรัฐบาลเงาพลัดถิ่นของพม่าคือรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) กลุ่มองค์กรชาติพันธุ์ และสมาพันธ์สหภาพแรงงานพม่า ได้ประชุมกันที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. ที่ผ่านมา เพื่อหารือในเรื่องที่เผด็จการทหารพม่าละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงาน รวมถึงเรียกร้องให้มีการคว่ำบาตรอย่างเห็นผลต่อเผด็จการทหาร

สิทธิแรงงานที่ถูกคุกคามหลังรัฐประหารในพม่า

ในพม่ามีผู้เป็นลูกจ้างในภาคส่วนสิ่งทอเกือบ 500,000 ราย นักกิจกรรมแรงงานบอกว่าหลังจากที่เผด็จการพม่ารัฐประหารยึดอำนาจก็ทำให้มีการละเลยเรื่องการกำกับดูแลสิทธิแรงงาน ทำให้แรงงานมีอำนาจในการต่อรองกับนายจ้างลดลงและขาดทรัพยากรในกรณีที่มีการละเมิดแรงงานเกิดขึ้น แต่ผู้คนก็กำลังเผชิญกับการขาดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจทำให้บางคนรู้สึกว่าพวกเขาไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการยอมทำงานที่มีอยู่

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หลังจากที่เกิดความขังแย้งภายในประเทศจากการรัฐประหาร และมีการประณามจากนานาชาติมากขึ้นเรื่อยๆ บริษัทต่างๆ รวมถึง Inditex ก็ตัดสินใจจะย้ายกิจการออกจากพม่า เช่น บริษัท เทสโก พีแอลซี ที่มาจากอังกฤษ และ มาร์ค แอนด์ สเปนเซอร์

ตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2565 สหภาพยุโรปและห้างร้านนานาชาติได้ร่วมกันลงทุนในโครงการ สหพันธ์ผู้ถือหุ้นหลายภาคส่วนเพื่อการจ้างงานที่ดีในพม่า (MADE) ซึ่งเป็นกลุ่มที่สร้างความตรวจสอบได้ต่อสภาพในโรงงานที่ผลิตสิ่งทอส่งออก ซึ่งเป็นการขยายผลจากโครงการเดิม มีโรงงานงานด้านสิ่งทอ 380,000 แห่งที่ต้องพึ่งพาการค้าของอียู

อย่างไรก็ตามนักกิจกรรมแรงงานเรียกร้องให้มีการยกเลิกโครงการดังกล่าวนี้เพราะแบรนด์ต่างๆ ที่ยังคงปฏิบัติการในพม่าไม่สามารถคุ้มครองคนงานในโรงงานได้ ในจำนวนแบรนด์ 37 แบรนด์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดแรงงานในพม่าหลังการรัฐประหาร มีบริษัท inditex รวมอยู่ด้วยโดยที่มีรายงานระบุว่าบริษัทนี้วมีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดแรงงานมากที่สุด ตามมาด้วย H&M และ Bestseller

นอกจากนี้ยังมีองค์กรสิทธิมนุษยชนที่ระบุว่าภายใต้การปกครองของเผด็จการทหารพม่านั้น เสรีภาพในการชุมนุม "แทบจะไม่มีอยู่เลย" และมีความร่วมมือกันระหว่างกลุ่มธุรกิจและกองทัพอยู่ร้อยละ 16 กรณี จากทั้งหมด แม้แต่ที่โรงงานเสื้อผ้า Hosheng เองก็มีกรณีที่ทหารไล่กลุ่มคนงานบอกว่าห้ามไม่ให้มีสหภาพแรงงานภายใต้การปกครองของกองทัพ มีการอัดเสียงเหตุการณ์นี้เอาไว้และมีการเผยแพร่ผ่านทางยูทูบ

เมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมาสหพันธ์แรงงานพม่าที่ประกอบด้วยสหภาพแรงงาน 16 สหภาพ ส่งจดหมายถึงอียูเรียกร้องให้ยกเลิกให้งบประมาณต่อโครงการ MADE โดยระบุว่าการฝึกอบรมคณะกรรมการประสานงานในที่ทำงานกลายเป็นส่วนที่ทำลายสหภาพและการอนุญาตให้ฝ่ายผู้บริหารจัดการลงมติคัดเลือกกันเองได้เสี่ยงต่อการกีดกันสหภาพแรงงานให้หายไป

สหพันธ์แรงงานพม่าระบุอีกว่านับตั้งแต่ที่มีการรัฐประหาร 2564 มีนักสหภาพแรงงานและนักกิจกรรมแรงงานถูกสังหารรวมแล้ว 53 ราย ถูกจับกุม 300 ราย อีกทั้งแบรนด์ต่างๆ ยังไม่สามารถเข้ามากำกับดูแลในเรื่องสภาพการจ้างงานภายในพม่าเองได้ ทำให้แรงงานขาดกลไกในการต่อสู้ เพราะไม่มีกลไกทางกฎหมายใดๆ รองรับพวกเขา

อย่างไรก็ตามทาง อียู ระบุว่าพวกเขาจะยังจัดให้มีโครงการ MADE ต่อไป โดยอ้างว่ามันเป็นช่องทางให้คนงานแจ้งเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับสภาพการจ้างงาน และจัดให้มีการเจรจาหารือกันระหว่างนายจ้าง คนงาน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระดับนานาชาติ ในขณะเดียวกันทางอียูก็ยอมรับว่าพม่าในตอนนี้อยู่ในสภาพที่ถูกจำกัดเรื่องเสรีภาพในการชุมนุม


เรียบเรียงจาก
Myanmar garment workers to face military court after forming union, Radio Free Asia, 07-07-2023
Zara Factory Staff Face Prison in Myanmar After Protest For Wage Rise, The Irrrawaddy, 28-06-2023

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net