Skip to main content
sharethis

นักเศรษฐศาสตร์หวังรัฐบาลใหม่สานต่อ EEC ขยายรถไฟความเร็วสูงเชื่อมกัมพูชา เวียดนาม สู่ทะเลจีนใต้ หากไม่จัดสมดุลพลังอำนาจทางเศรษฐกิจในพื้นที่ให้ดี EEC อาจมีสภาพเป็นพื้นที่ “กึ่งอาณานิคมทางเศรษฐกิจของกลุ่มทุนข้ามชาติ” แทนที่จะเป็น “หุ้นส่วนทางเศรษฐกิจกับกลุ่มทุนข้ามชาติ” รัฐบาลใหม่ควรต้องทบทวนแก้ไข “พระราชบัญญัติเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ EEC” ให้ดีขึ้น   
               
16 ก.ค. 2566 รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี  แสดงความเห็นต่อสถานการณ์ทางการเมืองว่าพรรคการเมือง 8 พรรคประชาธิปไตยควรยึดมั่นต่อเจตนารมณ์ของประชาชน โดยเฉพาะ พรรคก้าวไกล และ พรรคเพื่อไทย ต้องรักษาความเป็นเอกภาพและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการพยายามอย่างเต็มที่ในการจัดตั้งรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตยให้ได้ การจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้วจะทำให้ประชาชนเสียงข้างมากผิดหวังและทำให้ ขบวนการประชาธิปไตยทั้งขบวนอ่อนแอลง และพรรคการเมืองต่างๆต้องยืนยันไม่สนับสนุนจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยซึ่งผิดหลักการประชาธิปไตยและไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชนส่วนใหญ่ การแสวงหาทางออกจากข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญปี 2560 ต้องพยายามทำผ่านกลไกรัฐสภา หลีกเลี่ยงการชุมนุมทางการเมืองใดๆอันอาจนำไปสู่ความเสี่ยงวิกฤตการณ์ทางการเมืองหรือสร้างเงื่อนไขให้เกิดการรัฐประหารยึดอำนาจของประชาชนด้วยวิธีการต่างๆ หากพรรคก้าวไกลในฐานะแกนนำทำเต็มที่แล้วเพื่อจัดตั้งรัฐบาลและเลือกนายกรัฐมนตรีแล้วไม่ประสบความสำเร็จ ควรสลับให้ “พรรคเพื่อไทย” เป็นแกนนำ เพื่อรักษาเจตนารมณ์ของประชาชน 

การลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 ก.ค. ที่ผ่านมา สมาชิกวุฒิสภาส่วนใหญ่ได้ทำลายเจตจำนงของประชาชน ตามประชาธิปไตยไปอย่างสิ้นเชิง และทำให้ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ สร้างปัญหาต่อเศรษฐกิจและเกิดความล่าช้าในการแก้ไขปัญหาของประชาชน โดยใช้ข้ออ้างเรื่องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 สร้างความแตกแยกในสังคม ประเด็นดังกล่าวถูกนำมาเป็นประเด็นหลักในการสร้างเงื่อนไขทางการเมืองและทำให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเสื่อมเสีย การกล่าวหาว่าจะมีการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ก็เป็นการใช้กลเกมทางการเมืองที่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติและทำให้เกิดความขัดแย้งเผชิญหน้าในสังคมและอันอาจนำมาสู่ความรุนแรงได้ ความจริงแล้ว วุฒิสมาชิกที่มีวุฒิภาวะและเห็นแก่ประโยชน์สาธารณะ (โดยเฉพาะ 13 ท่านที่ลงคะแนนตามพรรคการเมืองเสียงข้างมาก) จะไม่ใช้วิธีการแบบนี้ในการต่อสู้ความเห็นต่างในประเด็นมาตรา 112 ความเห็นต่างทางการเมือง ความเห็นต่างในประเด็นมาตรา 112 สามารถหาทางออกอย่างสร้างสรรค์ได้ โดยไม่จำเป็นต้องไปสร้างเงื่อนไขความขัดแย้งรุนแรง เพราะเราต่างเป็นเพื่อนร่วมชาติ เป็นคนไทยด้วยกันทั้งสิ้น  ท่านสมาชิกวุฒิสภาต้องตระหนักว่า การกระทำที่ไม่ยอมรับฉันทามติของประชาชนจะก่อให้เกิดปัญหาต่างๆติดตามมาอีกมากมายต่อประเทศและประชาชน ระบบการเมืองอันบิดเบี้ยวภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 แนวทางเดียวที่วุฒิสมาชิกจะสร้างความชอบธรรมให้เกิดขึ้นกับรัฐบาลใหม่ ก็คือ การลงคะแนนเสียงที่สอดคล้องกับเสียงของสภาผู้แทนราษฎร ไม่ใช่การออกเสียงสวนทาง งดออกเสียงหรือขาดประชุม 

นอกจากนี้ เพื่อให้รัฐบาลใหม่สามารถบริหารงานโดยไม่ต้องเผชิญนิติสงครามและการใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรมผ่านองค์กรภายใต้รัฐธรรมนูญตลอดเวลา จึงเสนอให้รัฐสภาออกคำสั่งทางกฎหมาย ให้การดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กกต ปปช และกรรมการในองค์กรอิสระ ที่ดำรงตำแหน่งอยู่และมาจากระบบการคัดเลือกของ คสช. พ้นจากตำแหน่ง และให้มีกระบวนการสรรหาและคัดเลือกใหม่ ที่มีที่มาจากระบบการคัดเลือกที่ยึดโยงกับอำนาจของประชาชน การสรรหาใหม่ทั้งหมดเพื่อให้ได้กระบวนการที่เชื่อมโยงกับประชาชนมากขึ้น ป้องกันการใช้นิติสงครามสั่นคลอนเสถียรภาพรัฐบาลใหม่

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า รัฐบาลใหม่ควรเดินหน้าสานต่อนโยบายหรือโครงการของรัฐบาลประยุทธ์ที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศ และ พัฒนา ต่อยอดให้ดียิ่งขึ้น รัฐบาลใหม่ควรสานต่อ EEC และดูแลผลกระทบเรื่องสิ่งแวดล้อมและชุมชนให้ดีขึ้น ขยายรถไฟความเร็วสูงเชื่อมเขมรเวียดนามสู่ทะเลจีนใต้ การเชื่อมต่อทางด้านโลจิสติกส์ระหว่างประเทศสามารถสร้างความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจให้กับพื้นที่ดังกล่าวของไทยและประเทศเพื่อนบ้าน รัฐบาลใหม่ต้องมีมาตรการและนโยบายที่จะทำให้ความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจเหล่านี้กระจายมายังคนส่วนใหญ่ของประเทศด้วยกลไกภาษีและการจัดทำงบประมาณในปี พ.ศ. 2567-2571  ผลของ EEC ต่ออนาคตเศรษฐกิจไทยเป็นเรื่องที่ต้องมีศึกษาวิจัยเพิ่มเติมและเวลานี้เราได้เห็นผลกระทบทางบวกทางลบ (Positive and Negative Externalities) ในเชิงประจักษ์บ้างแล้ว หากนำเอากรอบเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ของสหประชาชาติที่มองการพัฒนาเป็นมิติ (Dimensions) แทนที่มองแบบแยกเป็นเสาหลัก (Pillars) ทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม แล้ว ก็จะพบว่า การพัฒนา EEC ยังคงมีลักษณะการพัฒนาแบบแยกส่วนตามกรอบความคิดแบบเสาหลักอยู่ ไม่ได้เชื่อมโยงทุกมิติให้เป็นเนื้อเดียวมากนัก โดยเฉพาะยังขาดมิติคุณภาพชีวิตคนในพื้นที่ คุณภาพชีวิตแรงงานและโครงสร้างดุลอำนาจ (มิติการเมือง) ของประเทศ 
หากไม่จัดสมดุลพลังอำนาจทางเศรษฐกิจในพื้นที่ให้ดี EEC อาจมีสภาพเป็นพื้นที่ “กึ่งอาณานิคมทางเศรษฐกิจของกลุ่มทุนข้ามชาติ” แทนที่จะเป็น “หุ้นส่วนทางเศรษฐกิจกับกลุ่มทุนข้ามชาติ”เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกถือเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สามารถเชื่อมต่อกับตลาดอินโดจีน 240 ล้านคนได้ โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกนั้นถือเป็นภาคต่อของโครงการ Eastern Seaboard ที่จะเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้สามารถแข่งขันและดึงดูดการลงทุนได้ในช่วง 10-20 ปีข้างหน้า โจทย์สำคัญ คือ จะทำอย่างไรให้ ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอันเกิดจาก “เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก” กระจายมายังคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่กระจุกอยู่เพียงกลุ่มทุนขนาดใหญ่ และ รายได้เม็ดเงินที่เกิดขึ้นจากการลงทุนในพื้นที่กลายเป็นเพียงเงินทุนส่งกลับไปยังประเทศต้นทางของบรรษัทข้ามชาติทั้งหลาย โดยประเทศไทยไม่ได้เกิดการพัฒนาก้าวหน้าขึ้นเท่าไหร่นัก  ฉะนั้น รัฐบาลใหม่ควรต้องทบทวนแก้ไข “พระราชบัญญัติเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ EEC” ให้ดีขึ้น   

การเปลี่ยนแปลงระดับฐานรากทางด้านเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ในทศวรรษข้างหน้านั้นจะมีความเร็ว ความกว้าง ความลึกและส่งผลต่อระบบต่างๆอย่างลึกซึ้งมากกว่าในช่วงเริ่มต้นของการอภิวัฒน์อุตสาหกรรมครั้งที่สี่เมื่อทศวรรษที่ผ่าน การแปลงเป็นดิจิทัลและเทคโนโลยียุคการอภิวัฒน์อุตสาหกรรมครั้งที่สี่ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงต่อระบบต่างๆอย่างรวดเร็วลึกซึ้งด้วยขนาดของผลกระทบที่ใหญ่และกว้างขวาง การเปลี่ยนแปลงเชิงระบบนี้ เขย่าฐานรากของระบบเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วิถีชีวิตและพฤติกรรมผู้บริโภคแบบเดิม การเปลี่ยนแปลงในระดับนี้ต้องให้ผู้นำทางการเมือง ผู้นำทางธุรกิจ ผู้วางแผนนโยบายในระดับต่างๆต้องร่วมกันออกแบบระบบใหม่เพื่อให้สามารถประเมินโอกาส ความเสี่ยงและประโยชน์ต่างๆพร้อมการตัดสินใจเลือกอย่างระมัดระวังเพื่อสร้างระบบที่จำกัดความเสี่ยงและผลกระทบทางลบให้ได้มากที่สุด เครื่องจักรอัตโนมัติ หุ่นยนต์สมองกลอัจฉริยะ จะเข้ามาพลิกโฉมหลากหลายอุตสาหกรรมทั้งการผลิตและการบริการ ในระยะ 5-10 ปีข้างหน้า ธุรกิจอุตสาหกรรม ตลาดแรงงานและการจ้างงานจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ในบางกิจการนั้น ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์จะเข้ามาแทนที่แรงงานคนได้มากกว่า 70% ประเทศที่มีค่าแรงสูงมากเกินไปและมีระบบคุ้มครองผู้ใช้แรงงานอ่อนแอจะเกิดการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดโดยเทคโนโลยีอัตโนมัติจะถูกนำมาใช้แทนที่แรงงานคนมากที่สุด และ ที่วิตกกังวลกันมาก คือ ผลกระทบต่อตลาดแรงงานและการจ้างงานจากเทคโนโลยี ขณะที่การทำงานร่วมกันระหว่างแรงงานมนุษย์กับหุ่นยนต์ สมองกลอัจฉริยะ และ เทคโนโลยี จะทำให้ผลิตภาพของแรงงาน ผลผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้นและขีดความสามารถในแข่งขันดีขึ้น ส่วนที่สำคัญที่สุดของ Digital Transformation ไม่ใช่เทคโนโลยี แต่เป็นเรื่องการปรับทักษะฝีมือของคนให้ทำงานกับเทคโนโลยีใหม่ๆให้ได้ การปรับเปลี่ยนทักษะแรงงานหรือทักษะของทุนมนุษย์ Human Capital Transformation จึงช่วยบรรเทาปัญหาการว่างงานและการถูกเลิกจ้างจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีด้วย หลายองค์กรประสบความล้มเหลวในการก้าวสู่ยุคดิจิทัล เพราะไม่สามารถจัดการกับช่องว่างระหว่างรุ่น (Intergenerational Gap) ในองค์กรได้ คนงานสูงวัยต่อต้านการเปลี่ยนแปลงและรอตัวเองเกษียณโดยไม่พยายามฝึกทักษะใหม่หรือแสวงหาความรู้ใหม่ๆ จะทำองค์กรปรับเปลี่ยนยาก อาจถดถอยเสื่อมทรุดลง เช่นเดียวกับประเทศ หากชนชั้นนำผู้บริหารประเทศไม่ปรับเปลี่ยนตัวเอง ไม่ปรับเปลี่ยนระบบต่างๆของประเทศให้สอดรับกับพลวัตใหม่ๆ หนทางข้างหน้าของประเทศย่อมตีบตัน ผู้กำหนดนโยบาย นายจ้าง ลูกจ้างและสถาบันฝึกอบรมต้องเร่งพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้สอดรับกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปและเตรียมรับมือกับผลกระทบของเทคโนโลยี หุ่นยนต์อัตโนมัติ อินเตอร์เน็ตของทุกสิ่ง (Internet of Things) และ การพิมพ์สามมิติ (3D Printing) เทคโนโลยีเหล่านี้จะกระทบต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอ เสื้อผ้า รองเท้า อุตสาหกรรมอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์และตลาดการจ้างงานโดยรวม    

งานวิจัยขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) คาดการณ์ว่า ในสองทศวรรษข้างหน้า ตำแหน่งงานและการจ้างงานในไทยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 44 (กว่า 17 ล้านตำแหน่ง) มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกแทนที่โดยระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์และเอไอ และ รัฐบาลใหม่จำเป็นต้องมีมาตรการหรือนโยบายรองรับแรงงานเหล่านี้และสร้างตลาดแรงงานใหม่ๆ โดยกลุ่มคนงานที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ พนักงานขายตามร้านหรือพนักงานบริการตามเครือข่ายสาขา พนักงานบริการอาหาร ภาคเกษตรกรรม แรงงานทักษะต่ำที่ทำงานซ้ำๆ คนงานโดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอ เสื้อผ้าและรองเท้าอาจได้รับผลกระทบสูงถึง 70-80% โจทย์เรื่องตลาดแรงงานที่กำลังว่างงานจากเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่รัฐบาลใหม่ต้องเอาใจใส่ ขณะเดียวกัน โอกาสของงานใหม่เกิดขึ้นเช่นเดียวกันแต่งานใหม่ๆเหล่านี้ต้องอาศัยแรงงานที่มีทักษะแบบใหม่ ช่วงสองสามทศวรรษที่ผ่านมา การสร้างเครือข่ายการผลิตผ่านห่วงโซ่อุปทานเป็นปรากฎการณ์ปรกติของบรรษัทข้ามชาติทั้งหลาย รถยนต์ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ไอโฟนมีห่วงโซ่การผลิตกระจายอยู่ในหลายประเทศ มีสายห่วงโซ่อุปทานที่ยาว ผลิตรถยนต์ มือถือหรือคอมพิวเตอร์ก็ก่อให้เกิดการส่งออกนำเข้าการค้าระหว่างประเทศกลับไปกลับมาภายในธุรกรรมของบรรษัทข้ามชาติ อนาคตแนวโน้มนี้จะเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยีหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ เมื่อต้นทุนแรงงานถูกไม่ใช่ข้อได้เปรียบ การแยกส่วนเพื่อไปผลิตตามประเทศต่างๆที่มีค่าแรงถูกจึงมีจำเป็นน้อยลง การตั้งโรงงานผลิตกระจายในหลายๆประเทศแบบโลกาภิวัฒน์ในยุคสองสามทศวรรษที่ผ่านมามีความจำเป็นน้อยลง เทคโนโลยี 3D Printing สามารถลัดขั้นตอนการผลิตจากการดีไซน์สู่การผลิตได้เลย ผู้ผลิตจะตั้งโรงงานผลิตใกล้ๆกับประเทศที่มีตลาดขนาดใหญ่ โลกาภิวัฒน์ในยุคต่อไปอาจไม่ใช่ยุคของ MNC อุตสาหกรรมการผลิตทั้งหลาย แต่จะเป็นยุคสมัยของบริษัทเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดธุรกิจ Platform เป็นเจ้าของเครือข่ายข้อมูลขนาดใหญ่และสร้างมูลค่าธุรกิจจาก Big Data ดังกล่าว ธุรกิจ Platform พวกนี้จะสร้างพื้นที่ให้ผู้ซื้อผู้ขาย ผู้บริโภคและผู้ผลิตมาเจอกัน เวลานี้ บริษัทเทคโนโลยีดิจิทัลเหล่านี้มีมูลค่าทางธุรกิจแซงหน้าอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมไปแล้ว  สถาบันการเงินธนาคารแบบเดิมกำลังถูกท้าทายจากฟินเทคที่ใช้เทคโนโลยีในการทำธุรกรรมทางการเงิน สามารถให้บริการทางการเงินด้วยต้นทุนต่ำไม่ต้องมีเครือข่ายสาขา 

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า กิจการไทยไม่ได้เป็นผู้คิดค้นนวัตกรรมและพัฒนาเทคโนโลยีด้วยตัวเอง ไทยเป็น “ผู้ซื้อ” และ “ผู้รับ” เทคโนโลยีมากกว่าเป็น “ผู้ขาย” และ “ผู้สร้าง” เทคโนโลยี กิจการธุรกิจต่างๆก็ไม่ได้ลงทุนทางด้านการวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมมากนัก ต่อไปธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆก็จะอยู่ภายใต้การครอบงำของบรรษัทข้ามชาติเจ้าของเทคโนโลยี โดยเราอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการผลิตหรือห่วงโซ่ธุรกิจที่อาจไม่ได้มูลค่าเพิ่มสูงนักก็ได้ ส่วนอุตสาหกรรมจำนวนไม่น้อยยังหวังพึ่งพาฐานทรัพยากรธรรมชาติ (ซึ่งก็ร่อยหรอลง) และค่าแรงราคาถูก (ซึ่งตอนนี้ก็ไม่ถูกแล้ว) ต่อไป และ ความได้เปรียบเรื่องแรงงานราคาถูกไม่ใช่ปัจจัยสำคัญอีกต่อไปในโลกยุคหุ่นยนต์และสมองกลอัจฉริยะ  แรงงานที่มีการศึกษาต่ำและทักษะต่ำจะมีความเสี่ยงในการถูกเลิกจ้างสูงและจะถูกทดแทนโดยเทคโนโลยีการผลิตมากยิ่งขึ้นในอนาคต ฉะนั้นต้องเตรียมความพร้อมและรับมือกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้วยการเตรียมทักษะให้สามารถทำงานกับนวัตกรรมเทคโนโลยีเหล่านี้
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net