Skip to main content
sharethis

ฟังเสียง “มานพ สนิท” ชายผู้ทำงานขับเคลื่อนประเด็นทรัพยากรในพื้นที่ภาคตะวันออก มองผลกระทบจากโครงการพัฒนา Eastern SEAboard ยุคโชติช่วงชัชวาลย์ที่โครงการพัฒนาของรัฐมาลงในพื้นที่ภาคตะวันออก พร้อมกับทิ้งปัญหาเรื้อรังไว้ให้คนในพื้นที่อย่างยาวนาน เมื่อการเติบโตทางอุตสาหกรรม สวนทางกับคุณภาพชีวิตของคนภาคตะวันออก

 

31 ก.ค. 2566 ภาคตะวันออกในความคิดของใครหลายคนอาจจะเป็นทะเลและของกินขึ้นชื่อ แสงสีแห่งเมืองท่องเที่ยว เกาะแก่งแสนสวยงามในอ่าวไทย แต่ภายใต้สถานที่เหล่านี้ยังมีภาพซ้อนทับของการพัฒนาที่เกิดขึ้น อันจะเห็นได้จากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นเพื่อรองรับภาคอุตสาหกรรม อาทิ การพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก (ESB) และโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) แต่ภายใต้สถานการณ์เหล่านั้น ยังมีคนบางกลุ่มที่ถูกละเลยและนับถอยหลังรอวันที่จะสูญเสียวิถีชีวิตของพวกเขาไปตลอดกาล

Dot easterners พาทุกคนไปพบกับบทสัมภาษณ์ “มานพ สนิท” ผู้ประสานงานเครือข่ายชายฝั่งบูรพา 5 จังหวัดภาคตะวันออก (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด) ผู้ขับเคลื่อนเรื่องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ และชัยณรงค์ เครือนวน นักวิชาการภาควิชารัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องโครงการพัฒนาโดยรัฐในพื้นที่ภาคตะวันออก ผู้ซึ่งจะมาให้ความเห็นต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ จากอดีตถึงปัจจุบัน เพื่อประเมินฉากทัศน์ของภาพอนาคต อย่างที่การ “พัฒนาโดยรัฐ”ควรจะเป็น

มานพ สนิท 

ผู้ประสานงานเครือข่ายชายฝั่งบูรพา 5 จังหวัดภาคตะวันออก 

“เป็นคนระยองตั้งแต่กำเนิด แต่จะอยู่ในโซนของภาคเกษตรกรรม ก็คืออำเภอแกลง ซึ่งระยอง มี 8 อำเภอ ครึ่งหนึ่งจะเป็นภาคอุตสาหกรรม ส่วนอีกครึ่งวิถีชีวิตของผู้คนยังอยู่กับภาคเกษตรกรรมอยู่” มานพเล่าถึงถิ่นกำเนิดและวิถีชีวิตของคนในจังหวัดระยอง ซึ่งมีการแบ่งขอบเขตพื้นที่กันอย่างชัดเจนระหว่างพื้นที่ภาคเกษตรกรรม และภาคอุตสาหกรรม

“เราอยู่ภายใต้ ‘วาทกรรมการพัฒนา’ ซึ่งมีกลุ่มคนที่ได้ประโยชน์ และมีกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหรือเสียประโยชน์…คนจังหวัดระยองเรามักจะพูดว่าเราต้องเสียสละให้กับการพัฒนา ซึ่งการพัฒนาที่ว่าได้ทิ้งเศษซากแห่งความเจริญเอาไว้ คนตัวเล็กตัวน้อยมีปัญหา อาชีพประมงมีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป และไม่รู้ว่าจะมีใครมาสืบสานภูมิปัญญานี้หรือเปล่า” มานพ กล่าว

มานพสะท้อนภาพปัญหาในพื้นที่ที่ประชาชนต้องประสบพบเจอ ปัญหาเรื้อรังที่มีมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ก่อกำเนิด Eastern SEAboard โครงการพัฒนาในยุค ‘โชติช่วงชัชวาลย์’ ที่ในขณะนั้นประเทศไทยได้มีการขุดค้นพบก๊าซธรรมชาติกลางอ่าวไทย และกำหนดให้พื้นที่มาบตาพุด จ.ระยอง และแหลมฉบัง จ.ชลบุรี เป็นพื้นที่ใช้สำหรับการรองรับการพัฒนาที่กำลังจะเกิดขึ้น

“ยุคอีสเทิร์นซีบอร์ดเรามีการถมทะเลมาบตาพุดมาจนถึงการสร้างท่าเรือ และก็มาเจอเรื่องการเปลี่ยนสีผังเมือง กำหนดให้พื้นที่เกษตรกรรมถูกเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรม ภายใต้การเข้ามาของ EEC ซึ่งรุกล้ำไปจนถึงพื้นที่ชายทะเล และที่ทำมาหากินของประมงพื้นบ้าน ทำให้พื้นที่ในการทำประมงถูกจำกัดลง…ระบบผังเมืองควรจะต้องมาจากการมีส่วนร่วม แต่ที่ผ่านมากระบวนการการมีส่วนร่วมก็มีปัญหา การขีดเส้นผังเมือง การกำหนดสีผังเมือง อยู่ที่ภาครัฐมากกว่าประชาชน” มานพ กล่าว

มานพอธิบายถึงผลกระทบของที่เกิดขึ้น หลังการเข้ามาของการพัฒนา ซ้ำร้ายยังถูก พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งเป็นโครงการเมกะโปรเจกต์ที่รัฐคิดขึ้นเพื่อสนับสนุน GDP ของประเทศให้สูงขึ้น แต่กลับกลายเป็นว่าผลของกฎหมายฉบับนี้ คือการยกเลิกผังเมืองเดิมที่เป็นพื้นที่ภาคเกษตรกรรม และอนุมัติผังเมืองสำหรับการรองรับภาคอุตสาหกรรมทับลงไปที่ผังเมืองเดิม

“เรื่องการชดเชยเยียวยานี่ไม่ต้องพูดถึง ไม่เคยมีมาตั้งแต่ยุคถมทะเล มาจนมาบตาพุด เฟส 1 ,เฟส 2 จน เฟส 3 แล้ว ปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประมง วิถีชีวิต พื้นที่หาอยู่หากินไม่เคยได้รับการเยียวยาแก้ไข จนพี่น้องประมงต้องลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อเรียกร้องการชดเชยที่เป็นธรรม…เอาเข้าจริง ก็คิดว่าจำเป็นต้องพูดถึงเรื่องการรับผิดชอบของภาคส่วนต่างๆ เพื่อจะทำให้เกิดกองทุนสำหรับชดเชยให้กับผู้ได้รับผลกระทบ เป็นกองทุนของคนระยองจริงๆ ที่จะเอามาดูแลคนระยอง เพราะว่าการเติบโตทางอุตสาหกรรม สวนทางกับคุณภาพชีวิตของคนระยอง” มานพ กล่าว

ผู้ประสานงานเครือข่ายชายฝั่งบูรพา 5 จังหวัด ภาคตะวันออก ทิ้งท้ายด้วยข้อเสนอของภาคประชาสังคม ต่อปัญหาที่รอวันแก้ไขของกลุ่มคนผู้มีวิถีชีวิตผูกพันธ์กับทรัพยากรทางธรรมชาติมากที่สุด แต่การพัฒนากลับละทิ้งพวกเขาเหล่านี้ไป

‘ภาคประชาชนถูกทำให้ไม่เป็นเอกภาพจากการพัฒนา’ : ปัญหาเชิงโครงสร้าง ภายใต้โครงการพัฒนาขนาดใหญ่

จากการสัมภาษณ์ ชัยณรงค์ เครือนวน นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องโครงการพัฒนาโดยรัฐในพื้นที่ภาคตะวันออกต่อกรณีการพัฒนาในพื้นที่ภาคตะวันออกที่เกิดขึ้น ได้วิเคราะห์และให้ความเห็นว่า Stakeholder หรือ ‘ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย’ จากการพัฒนาโดยรัฐ มีทั้งหมดจำนวน 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มที่ 1 เกษตรกรรายย่อย กลุ่มที่ 2 ผู้ให้บริการรายย่อย กลุ่มที่ 3 กลุ่มทุนท้องถิ่นที่สามารถปรับการผลิตของตัวเองให้เชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรม และสุดท้ายกลุ่มที่ 4 แรงงานระดับล่าง

“กลุ่มแรก แน่นอน เป็นกลุ่มคนที่สามารถที่จะรักษาหรือธำรงการเป็นผู้ผลิตอิสระรายย่อยได้ ก็มีชาวประมงและเกษตรกรบางส่วน แต่ต้องเข้าใจว่าคนกลุ่มนี้อยู่อย่างยากลำบากวิธีชีวิตการทำมาหากินของเกษตรกรรายย่อยถูกปิดล้อม พื้นที่ทำมาหากินลดน้อยถอยลงจากการเข้ามาของภาคอุตสาหกรรม แต่คนกลุ่มนี้ไม่มีทางเลือกก็พยายามทำให้ตัวเองอยู่ได้และอยู่รอดท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง ท่ามกลางอุตสาหกรรมที่เข้ามา ส่วนกลุ่มที่ 2 คนกลุ่มนี้เดิมอาจจะเป็นผู้ผลิตอิสระรายย่อย เป็นคนในภาคเกษตรกรรมแต่เมื่ออุตสาหกรรมเข้ามา เขาก็เปลี่ยนไปเป็นผู้ให้บริการรายย่อย วิถีชีวิตคนกลุ่มนี้จะสัมพันธ์กับแรงงานในภาคอุตสาหกรรม เช่น ทำบ้านเช่าที่ไม่ใช่บ้านเช่าขนาดใหญ่ บ้านเช่าราคา 2,000 - 3,000 บาท ให้แรงงานในภาคอุตสาหกรรม บางคนมีร้านโชว์ห่วยเล็กๆ ฐานของคนกลุ่มนี้จะไปสัมพันธ์กับแรงงานในภาคอุตสาหกรรม” ชัยณรงค์ กล่าว

 

ชัยณรงค์ เครือนวน

คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

“กลุ่มที่ 3 อันนี้อาจจะเป็นพวกกลุ่มทุน คนกลุ่มนี้สามารถที่จะปรับฐานในการประกอบธุรกิจของตัวเองให้เข้าไปสัมพันธ์กับภาคอุตสาหกรรมได้ บางคนได้รับสัมปทานเดินรถ บางคนได้สัมปทานบริษัทแม่บ้านเข้าไปอยู่ในโรงงาน บางคนมีรถเทรลเลอร์ขนของให้โรงงาน ขณะที่กลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มคนที่อาจจะเป็นเกษตรกรรายย่อย หรือผู้ให้บริการก็ได้ แต่การทำมาหากินลำบาก คนกลุ่มนี้ก็เริ่มปรับฐานเข้าไปสู่การเป็นแรงงานระดับล่างในโรงงานอุตสาหกรรม” ชัยณรงค์ กล่าว

นำไปสู่แนวคิดหรือข้อเสนอต่อภาคอุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน ซึ่งแบ่งได้เป็น 3 ประเภท 1.ต่อต้านการขยายตัวของอุตสาหกรรม 2.จัดโซนพื้นที่ระหว่างภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรม 3.อยู่ร่วมกับอุตสาหกรรมอย่างเป็นธรรม

“ความคิดหรือวิธีการจัดการของภาคประชาชนที่มีต่ออุตสาหกรรมมี 3 แนวคิดใหญ่ด้วยกัน แนวคิดแรกคือไม่เอา หมายถึงไม่เอาเลยทำยังไงก็ได้ที่จะควบคุมการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม วิธีการที่สองคือ Zoning พื้นที่ไหนควรที่จะเป็นอุตสาหกรรม พื้นที่ไหนควรที่จะเป็นภาคเกษตรกรรม สามมีคนกลุ่มหนึ่งก็บอกว่าตะวันออกโดยเฉพาะชายฝั่งทะเลคงไม่สามารถที่จะแยกอุตสาหกรรมกับเกษตรกรรมแยกคนออกจากโรงงานได้ ทำยังไงจะอยู่ร่วมกันได้ไปภายใต้ความเป็นธรรมหรือความยุติธรรมทางสังคม” ชัยณรงค์ กล่าว

จากการวิเคราะห์คนทั้ง 4 กลุ่ม ต่างมีผลประโยชน์และความต้องการไม่เหมือนกัน ส่งผลให้เกิดความยากลำบากในการสื่อสาร ประสานงาน เพื่อนำไปสู่การเกิดขึ้นของขบวนการภาคประชาชนต่อกรณีการพัฒนาในพื้นที่ เพื่อสร้างกลไกในการจัดการปัญหาร่วมกันระหว่างภาครัฐ

“ถามว่าคนท้องถิ่นดั้งเดิมคือคนกลุ่มไหน ก็คือคนกลุ่มที่ 1 เกษตรกรรายย่อย รองลงมาก็ผู้ให้บริการรายย่อย แล้วถามต่อไปว่าแล้วคนกลุ่มไหนได้รับผลกระทบหนักที่สุด ก็คือกลุ่มเกษตรกรรายย่อย ชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน ชาวประมง คนกลุ่มนี้เราคิดว่าเขาได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการพัฒนา ภาพการพัฒนาที่ผ่านมาเราก็มักจะโฟกัสไปที่ที่คนกลุ่มนี้เป็นหลัก แต่เรากำลังจะบอกว่าเอาเข้าจริงๆ มีความหลากหลายมากภายใต้การกระบวนการพัฒนาที่มันเกิดขึ้น มันเกิดการแตกตัวทางชนชั้นคนแบ่งเป็นกลุ่มเป็นก้อน เมื่อคนแบ่งเป็นกลุ่มเป็นก้อนเขาก็มีปฏิกิริยาต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมแตกต่างกันออกไป แต่แน่นอนมีคนกลุ่มหนึ่งได้ คนกลุ่มหนึ่งเสียการเข้ามาของอุตสาหกรรมทำให้เกิดการแตกตัว แบ่งคนออกเป็นกลุ่มเป็นก้อน กลุ่มคนหลากหลานกลุ่มก็มีปฏิกิริยาต่อการเข้ามาของภาคอุตสาหกรรมแตกต่างกัน พูดง่ายๆ คือภาคประชาชนถูกทำให้ไม่เป็นเอกภาพ” ชัยณรงค์ กล่าว

ชัยณรงค์เสนอให้มีการสร้างกลไกการมีส่วนร่วม อย่างเท่าเทียมในเชิงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเป็นธรรมต่อประชาชนท้องถิ่น หรือ ‘Collaborative Gorvenance’ “อาจจะพูดแบบแผ่นเสียงตกร่อง พูดกันมานานมาก คือปัญหาใหญ่ของโครงการพัฒนาที่เกิดขึ้นในภาคตะวันออก มันถูกบังคับให้เกิดจากส่วนกลางทั้งหมด ESB ก็มาจากส่วนกลาง EEC ได้มาจาก คสช. และเราไปเทียบกันดู เอ๊ะ มันเกิดในห้วงเวลาที่ทหารขึ้นมามีอำนาจ”

“ข้อเสนอที่เป็นนามธรรม แต่มันก็คง ‘ไม่พูดไม่ได้’ คิดว่าทำยังไงจะให้การมีส่วนร่วม แต่การมีส่วนร่วมของเราในที่นี้ มันต้องไปไกลกว่า โจทย์ใหญ่อยู่ตรงนั้น คือต้องระวังมากๆ เวลาเราพูดถึงการมีส่วนร่วม ที่ผ่านมาเวลาภาคประชาชนพูดถึงการมีส่วนร่วม เล่าถึงการมีส่วนร่วมในฐานะที่เอารัฐเป็นตัวตั้ง ประชาชนขอเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการของรัฐ หรือรัฐเปิดช่องทางกฎหมายให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม” ชัยณรงค์ กล่าว

“Collaborative Governance ต้องนำไปสู่การจัดการปกครองแบบร่วมคิดร่วมทำ และทำให้สถานสัมพันธภาพทางอำนาจระหว่างคนกลุ่มต่างๆ เท่ากัน ถ้ามองเชิงรัฐศาสตร์ ไม่ใช่มีใครเป็นคนนำและใครเป็นคนตาม แต่ทำยังไงอันนี้ยังเป็นปัญหาอยู่ เราจะสร้างกลไกแบบไหนที่นำไปสู่การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ” ชัยณรงค์ กล่าว

ชัยณรงค์ทิ้งท้ายด้วยการตั้งคำถามถึง ‘กลไก’ ที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาในพื้นที่ภาคตะวันออก

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net