Skip to main content
sharethis

จากกรณีเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ สตช. ห้ามนำเข้าหนังสือ "Rama X: The Thai Monarchy under King Vajiralongkorn" เขียนโดย ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการด้านการเมืองระหว่างประเทศ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาขายในประเทศ เหตุสื่อถึงทัศนคติผู้เขียนที่หมิ่นเบื้องสูง ฝ่าฝืนจำคุก 3 ปี/ปรับ 6 หมื่น หรือทั้งจำทั้งปรับ พร้อมให้อำนาจ ผบ.ตร.สามารถริบ และทำลายได้นั้น

หนังสือของปวินไม่ใช่เล่มแรกที่ถูกรัฐไทยสกัดกั้น โอกาสนี้ชวนสำรวจ 12 ‘หนังสือห้ามอ่าน’ ของการเมืองไทยในระยะ 20 ปีหลัง

2544

ห้ามเผยแพร่ หนังสือ “The Revolutionary King”

หนังสือ The Revolutionary King เขียนโดย วิลเลียม สตีเวนสัน นักเขียนชาวแคนาดา ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาให้เผยแพร่ในประเทศไทยในปี 2544 (ที่มา: บีบีซีไทย)
 

2549

ไม่ห้ามเต็มสูบ แต่บล็อกเว็บขาย “The King Never Smiles” 

หนังสือ The King Never Smiles เขียนโดย พอล แฮนด์ลีย์ นักเขียนชาวอเมริกัน เป็นเรื่องเกี่ยวกับพระราชประวัติอย่างไม่เป็นทางการของรัชกาลที่ 9 และราชวงศ์จักรี ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเยล ในปี 2549 

หนังสือเล่มนี้ถูกทางการไทยจัดให้เป็น “หนังสือต้องห้ามอย่างไม่เป็นทางการ” ตั้งแต่ก่อนตีพิมพ์ โดยมิได้มีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาตามหลักเกณฑ์และวิธีการในกฎหมายว่าด้วยการจดแจ้งการพิมพ์

โดยหนังสือกองบัญชาการตำรวจนครบาล ที่ ตช 0016.146/289 ลงวันที่ 18 ม.ค. 2551 อ้างว่าหนังสือเล่มนี้เป็น "หนังสือต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร"

และในเดือน ม.ค. 2549 ทางการไทยยังได้ปิดกั้นเว็บไซต์ที่โฆษณาหรือให้บริการสั่งซื้อหนังสือเล่มนี้ด้วย

นอกจากนี้ ยังมีการจับกุม โจ กอร์ดอน ชายเชื้อสายไทย-อเมริกันที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น ‘นายสิน แซ่จิ้ว’ ผู้แปลบางบทของหนังสือ The King Never Smiles ลงในบล็อกส่วนตัว หลังถูกคุมขังนานเกือบปี เขาตัดสินใจรับสารภาพ

2549
ห้ามขาย-แจก ฟ้าเดียวกัน "สถาบันกษัตริย์กับสังคมไทย"

วารสารฟ้าเดียวกันก็เคยมีฉบับหนึ่งที่ถูกสั่งห้ามจำหน่าย คือ ฉบับสถาบันกษัตริย์กับสังคมไทย โดยวางจำหน่ายเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2548 

จากนั้นวันที่ 28 มี.ค. 2549 มีคำสั่งจากเจ้าพนักงานการพิมพ์กรุงเทพมหานครสั่งห้ามขายหรือจ่ายแจก โดยลงประกาศคำสั่งดังกล่าวในราชกิจจานุเบกษา ในวันที่ 12 เม.ย. 2549


2549
ห้ามขาย-แจก หนังสือ “กงจักรปีศาจ" 

ในปี 2549 เช่นเดียวกัน ยังมีคำสั่งให้หนังสือ ‘กงจักรปีศาจ’ จัดเป็น ‘หนังสือต้องห้าม’ ตามคำสั่งที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ห้ามการขายหรือจ่ายแจกและให้ยึดสิ่งพิมพ์ โดยเจ้าพนักงานการพิมพ์ ลงวันที่ 31 พ.ค. 2549 ลงนามโดย พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ผบ.ตร.ในขณะนั้นด้วย

2550

ตร.ยึดหนังสือ ส.ศิวรักษ์ เกลี้ยงแผง อ้างขัดศีลธรรมอันดี

2 ต.ค. 2550 ตำรวจสันติบาลเก็บยึดหนังสือ "ค่อนศตวรรษ ประชาธิปไตยไทย ที่เต็มไปด้วยขวากหนาม" เขียนโดย สุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักคิดนักเขียนอาวุโส ออกจากแผงหนังสือด้วยข้อกล่าวหาว่า ลงข้อความอันอาจขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน อ้างตาม พ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ. 2484 โดยคำสั่งลงวันที่ 28 ก.ย. 50

2550
ศูนย์หนังสือจุฬา ห้ามขายหนังสือการเมือง อ.ใจ

ศูนย์หนังสือจุฬาฯ ได้สั่งระงับการขายหนังสือที่ชื่อว่า 'A Coup for the Rich' หรือ 'การทำรัฐประหารเพื่อคนรวย' เขียนเป็นภาษาอังกฤษ โดย รศ.ใจ อึ๊งภากรณ์ อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ลี้ภัยทางการเมือง

โดยทางศูนย์หนังสือฯ ให้เหตุผลว่าหนังสือดังกล่าวมีการอ้างอิงงานเขียนของ พอล แฮนด์ลีย์ ผู้เขียนหนังสือ The King Never Smile ที่ตั้งแต่เมื่อปี 2549 ก็ถูกแบนอย่างไม่เป็นทางการในไทยเช่นกัน

ทั้งนี้ หนังสือ 'A Coup For the Rich: Thailand"s political Crisis' นับเป็นหนังสือวิเคราะห์สถานการณ์วิกฤตการณ์การเมืองไทย ที่ต้องเผชิญหน้ากับทั้งวิกฤตจากทักษิณ วิกฤตจากคณะรัฐประหาร วิกฤตที่มาจากชนชั้นนำอันหลากหลายซึ่งรวมถึงระบอบราชาธิปไตย และยังมีสถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้

2554

ผบ.ตร.สั่งแบนหนังสือวิเคราะห์การเมืองของ อ.ใจ 

ผบ.ตร.สั่งห้ามนำเข้าหนังสือ Thailand's Crisis and the Fight for Democracy ของ ใจ อึ๊งภากรณ์ 

ระบุมีเนื้อหาพาดพิงสถาบันเบื้องสูง

คำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า ด้วยปรากฏว่าหนังสือดังกล่าว “มีข้อความที่มีลักษณะเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาท”

อาศัยอำนาจตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 ห้ามสั่งเข้า หรือนำเข้าเพื่อเผยแพร่ในราชอาณาจักร รวมทั้งให้ริบและทำลายซึ่งสิ่งพิมพ์ดังกล่าวข้างต้น

สั่ง ณ วันที่ 24 ธ.ค. 2553 ลงนามโดย พล.ต.อ วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติขณะนั้น

ทั้งนี้ ชื่อหนังสือ  Thailand's Crisis and the Fight for Democracy แปลความหมายเป็นภาษาไทยว่า "ภาวะวิกฤตของประเทศไทยและการต่อสู้เพื่อ ประชาธิปไตย" แบ่งเป็น 6 บท ประกอบด้วย บทที่ 1 เสื้อแดง vs เสื้อเหลือง บทที่ 2 พันธมิตรฯ เอ็นจีโอและขบวนการประชาชน บทที่ 3 วิกฤตของสถาบันกษัตริย์ บทที่ 4 การเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ของไทย บทที่ 5 สงครามกลางเมืองในภาคใต้ และบทที่ 6 บันทึกส่วนตัว

2557

ห้ามขาย-แจก หนังสือ “A Kingdom in Crisis” 

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่คำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 609/2557 เรื่อง ห้ามสั่งเข้าหรือนำเข้าสิ่งพิมพ์เพื่อเผยแพร่ในราชอาณาจักร ลงวันที่ 11 พ.ย. 2557 ลงนามโดย พล.ต.อ. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในขณะนั้น

เนื้อหาของคำสั่งในราชกิจจานุเบกษา ระบุถึงสาเหตุการห้ามนำเข้าที่อ้างถึง “ข้อความจากผู้เขียนบทวิจารณ์ที่สื่อถึงทัศนคติของผู้เขียนหนังสือ” ทำให้ ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการวารสารฟ้าเดียวกันโพสต์เฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็นว่า ในฐานะคนที่ตามเรื่องการแบนหนังสือมาบ้าง นี่คือนวัตกรรมใหม่ของการแบนหนังสือในเมืองไทย คือแบนจากบทวิจารณ์ มิได้แบนจากตัวบท

2563 

ยึดหนังสือ "ประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง" ไปสอบสวน อ้างเข้าข่ายผิดกม.

ที่มา: ทวิตเตอร์ สนพ. ฟ้าเดียวกัน

2563

ยึดหนังสือชื่อ "ปรากฏการณ์สะท้านฟ้า 10 สิงหา ข้อเรียกร้องว่าด้วยสถาบันกษัตริย์"

ตำรวจ สภ.คลองหลวง ปทุมธานีนำกำลังพร้อมฝ่ายปกครอง เข้ายึดหนังสือชื่อ "ปรากฏการณ์สะท้านฟ้า 10 สิงหา ข้อเรียกร้องว่าด้วยสถาบันกษัตริย์" กว่า 40,000 เล่ม ที่แกนนำกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เตรียมนำไปแจกในการชุมนุม เมื่อ 19 ก.ย. 2563 (ที่มา:ไทยพีบีเอส)

 

2564

ตำรวจค้น-ยึดหนังสือ 'สถาบันพระมหากษัตริย์กับสังคมไทย' ที่สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน

ตำรวจ.สภ.รัตนาธิเบศร์ นนทบุรี นำหมายค้นของศาลจังหวัดนนทบุรี เข้าค้นออฟฟิศของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน โดยระบุว่าเพื่อพบและยึดหนังสือสถาบันพระมหากษัตริย์กับสังคมไทย (ที่มา: ศูนย์ทนายฯ )

2565 

ตร.ยึด ‘นิทานวาดหวัง’ โดยไม่มีหมาย อ้างลูกชอบอ่านการ์ตูน

ตำรวจฝ่ายสืบสวนจาก สน.สมเด็จเจ้าพระยา บุกตรวจค้น สอบถามข้อมูล และยึดหนังสือนิทานวาดหวัง “10 ราษฎร”- สติกเกอร์คัดค้าน112 ที่ห้องสมุดประชาชน “1932 People Space” วัดทองนพคุณ เขตคลองสาน โดยไม่มีหมาย อ้างจะเอาไปเป็นหลักฐาน ก่อนกลับลำนำของที่ยึดมาคืน อ้างเอาไปเพราะลูกชอบหนังสือการ์ตูน

ตำรวจบุกห้องสมุด ปชช.ที่วัดทองนพคุณ ยึดนิทานวาดหวัง-สติกเกอร์ ‘คัดค้าน 112’ โดยไม่มีหมาย

2566

ห้ามนำเข้า-แจก ‘หนังสือปวิน’ ตั้งแต่ยังไม่ตีพิมพ์

ประชาไทปรับแก้รูปภาพ ตรงชื่อหนังสือ เมื่อ 15 ก.ค. 21.24 น.

ราชกิจจาฯ เผยแพร่ประกาศ สตช.ห้ามนำเข้าหนังสือ "Rama X: The Thai Monarchy under King Vajiralongkorn" เขียนโดย 'ปวิน' มาขายในประเทศ เหตุสื่อถึงทัศนคติผู้เขียนที่หมิ่นเบื้องสูง ฝ่าฝืนจำคุก 3 ปี/ปรับ 6 หมื่น หรือทั้งจำทั้งปรับ พร้อมให้อำนาจ ผบ.ตร.สามารถริบ และทำลายได้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net