Skip to main content
sharethis

13 ก.ค. 2566 "คุยกับมนุษย์ม็อบ" ที่แฟลชม็อบสกายวอล์ก แยกปทุมวัน เมื่อ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา กับประเด็นเสียงของประชาชน ฝากถึงองค์กรอิสระและ ส.ว. ความกังวลและรับได้ไหมหากพิธา จะไม่ได้เป็นนายกฯ

สำหรับแฟลชม็อบดังกล่าวเกิดขึ้นหลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยสมาชิกภาพของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯ และ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล มีเหตุสิ้นสุดลงจากกรณีหุ้นไอทีวี หรือไม่

ประชาชนต้องหวงคะแนนที่เราได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

ป้าจิ๊ หญิงอายุ 67 ปี บอกกับผู้สื่อข่าวว่า วันนี้เธอเดินทางจากบ้านที่จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อมาร่วมชุมนุมและฟังปราศรัยที่สกายวอล์ก แยกปทุมวัน 

ป้าจิ๊ วัย 67 ปี

ป้าจิ๊ ระบุต่อว่า จริงๆ เธออยากไปร่วมชุมนุมวันพรุ่งนี้หน้ารัฐสภา แต่เหตุผลที่ทำให้เธอต้องเดินทางมาวันนี้ เนื่องจากข่าวเมื่อช่วงกลางวันที่ระบุว่าศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องร้องเรียนตรวจสอบคุณสมบัติ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ปมถือหุ้นสื่อไอทีวี และอาจจะกระทบกับการเลือกนายกฯ วันที่ 13 ก.ค. 2566 

"เขาทำเราโจ่งแจ้งเกินไป" ป้าจิ๊ กล่าว และระบุต่อว่า มันไม่เนียน สมัยก่อนมันยังพอเนียน แต่รู้สึกว่ายุคนี้เขาท้าทายประชาชนมาก คิดจะทำอะไรก็ทำ ก็เลยคิดว่าประชาชนต้องออกมาหวงแหนคะแนนที่เราให้ไป 

ที่บอกว่าโจ่งแจ้ง ก็คือคิดดูว่า กกต. เพิ่งเริ่มพิจารณาเรื่องได้สองวัน แต่เขาส่งศาลรัฐธรรมนูญ แล้วทำไมไม่ให้คนที่ถูกกล่าวหาไปชี้แจงเรื่องหุ้นสื่อไอทีวี ทุกคนก็ตัดสินว่ามันจบไปแล้ว ไม่ใช่สื่อแล้ว แล้วยังจะมาบอกว่าพิธาถือหุ้นสื่อ 

"ถามจริง ๆ เขาเป็น ส.ส.มาตั้งสมัยหนึ่งแล้ว ทำไมคุณไม่ทำอะไรเลย ตอนนี้คุณกำลังเล่นอะไรกันอยู่ ประชาชนก็อยากรู้ว่ากกต. จะเล่นอะไร ศาลรัฐธรรมนูญจะทำอะไร พรุ่งนี้ก็อยากรู้อีกว่าสว. จะทำอะไร หรือว่าต่างคนต่างได้รับหน้าที่กันมาแล้วก็มาช่วยกันจัดการ" ป้าจิ๊ กล่าว 

ถามว่ากังวลเรื่องโหวตนายกหรือไม่ ป้าจิ๊ กล่าวว่า จริงๆ พรรคที่ได้ชนะที่หนึ่ง ตามสากลก็ต้องเป็นรัฐบาล ควรจะเข้าไปนั่งทำเนียบตั้งนานแล้ว แต่นี่ 2 เดือนกว่าแล้ว แต่ถ้าถามว่ากังวลไหม "ก็อยู่ในประเทศไทย อะไรก็เกิดขึ้นได้ กังวลไปก็เท่านั้น นอกจากว่าประชาชนต้องร่วมมือกัน ออกมาหวงแหนคะแนนของเรา ทุกคะแนนที่เราให้ไปเมื่อวันที่ 14 (พฤษภาคม) เราต้องออกมารักษาคะแนนของเรา ถ้าออกมารักษาคะแนน คิดว่าเที่ยวนี้น่าจะพอสู้กันได้" 

เมื่อถามว่าถ้านายกฯ ไม่ใช่พรรคอันดับหนึ่งแต่เป็นพรรคอันดับสอง โดยที่ 8 พรรคร่วมยังเหนี่ยวแน่นกันอยู่ จนนำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญ แก้มรดกรัฐประหาร จะรับได้มั้ย ป้าจิ๊ มองว่า "รับได้"  ตราบใดที่ 8 พรรคยังเหนียวแน่น แก้รัฐธรรมนูญให้เรียบร้อย ทำประชามติ ตั้ง ส.ส.ร. (สภาร่างรัฐธรรมนูญ) ร่างใหม่ 

"ถ้าให้ดีคือยกเลิก ส.ว. ไปเลย ไม่ต้องใช้ เพราะป้าคิดว่า ส.ส. เรา วุฒิภาวะเขาพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องมีพี่เลี้ยงหรอก พี่เลี้ยงเอาไว้ถ่วงเปล่าๆ ยกเลิกไปให้หมดเลย" ป้าจิ๊ กล่าว 

อย่างไรก็ตาม ป้าจิ๊ ระบุต่อว่า เธอไม่เห็นด้วย ไม่อยากให้ดึงพรรคเครือข่ายเผด็จการมาร่วมรัฐบาล ถ้ายังไม่มีเครือข่ายเผด็จการ ยังไงเธอก็รับได้ ไม่ว่าใครจะเป็นนายกฯ เมื่อถามว่าอย่างพรรคภูมิใจไทย ได้หรือไม่ ป้าจิ๊ ปฏิเสธทันทีว่าไม่ได้ เพราะภูมิใจไทย เบื้องหลังเรารู้ว่าเขาเป็นใคร และเขาก็เป็นนั่งร้านให้ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาหลายปีแล้ว 

ส.ว. ควรยกเลิก องค์กรอิสระต้องยึดโยงกับประชาชน

อยากฝากอะไรถึง ส.ว. หรือองค์กรอิสระไหม ป้าจิ๊ มองว่า ตัวเองคิดว่า ส.ว.ฝากอะไรยาก เพราะฐานรากเขาเป็นแบบนั้น แต่ก็มีบางกลุ่มที่คิดว่าเขายังมองเห็นเสียงประชาชน แล้วก็องค์กรอิสระ อันนี้ไม่หวังเลย ถ้าเป็นไปได้ขอให้เลือกตั้งจากประชาชนแท้ ๆ ไม่ต้องผ่านอะไรเลย คุณจัดเหมือนประชามติ กกต. ก็ควรจะมีการเลือกตั้งด้วย ให้มันยึดโยงกับประชาชนให้หมด ใครอยากเป็นกกต. ลงสมัคร แล้วให้ประชาชนซักฟอก พรีเซนต์ตัวเอง แล้วก็ให้ประชาชนลงคะแนนเลือกกัน ศาลรัฐธรรมนูญก็เหมือนกัน

"ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับประชาชน ป้าว่ามันต้องโยงกับประชาชน คุณจะมาโยงแค่ไม่กี่คน แล้วคุณก็เลือกใครก็ไม่รู้ แล้วเขาจะทำอะไรเพื่อประชาชน เขาก็ทำกับผลประโยชน์ ก็คือกลุ่มไหนเลือกเขามา เขาก็เอาผลประโยชน์กลุ่มนั้น" ป้าจิ๊ ทิ้งท้ายถึงองค์กรอิสระ

"กกต. I'm watching you เจอกันแน่" 

คังโป้ย อาชีพอิสระ มาร่วมเพราะวันนี้เป็นการจับตา รอดูท่าทีของฝั่งนั้นว่าเขาจะทำอะไร ต้องรอดูว่าพรุ่งนี้ ส.ว.จะโหวตให้เราไหม คิดว่ามวลชนวันนี้ไม่ได้อยากกดดัน แต่มาแสดงพลังว่าจุดยืนเป็นยังไง หลักการของประชาธิปไตยเป็นยังไง 

คังโป้ย

อยากสื่อถึง กกต.ว่าเรื่องหุ้นไอทีวี เหมือนมันถูกปัดตกไปตั้งนานแล้ว แล้วอยู่ๆ วันนี้มาหงายการ์ด มันแปลกๆ วันนี้ก็เลยรู้สึกว่าต้องออกมาแสดงพลังหน่อยว่าเรากำลังจับตาดู กกต.อยู่ ตอนแรกผมจะไปดูหนัง "Mission Impossible" ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิร์ล แต่ต้องมาที่นี่แทน เพราะรู้สึกว่านี่คือ Mission Impossible ของประชาชนที่พวกเราต้องคอยจับตาดูกัน

ทั้งนี้ ภาพยนตร์แอ็กชันเรื่อง "Mission Impossible" (มิชชั่น อิมพอสซิเบิล) นำแสดงโดย ทอม ครูซ ดารานักแสดงชาวอเมริกัน อายุ 61 ปี 

ต่อประเด็นที่ว่ากังวลหรือไม่ว่าพรรคอันดับหนึ่งจะไม่ได้นายกฯ คังโป้ย ตอบว่าก็กังวลอยู่ เพราะกติกาหรือองค์กรอิสระต่างๆ มันน่าสงสัย กับสิ่งที่เขาเคยทำกับฝั่งประชาชนในอดีต อยากให้ทุกคนจับตาดูให้ดี ช่วยกันเป็นพลัง

ถามว่าถ้าพรรคอันดับหนึ่งไม่ได้นายก แต่พรรคอันดับสองได้ โดยที่พรรคร่วมยังจับมือกัน ยังได้แก้ไขรัฐธรรมนูญ คังโป๊ย มองว่ายังโอเค ถ้าฝั่งที่ได้เป็นนายกฯ ยังเป็นฝั่งประชาธิปไตย แต่เบื้องต้นก็อยากให้ดันพิธา ให้เต็มที่ตามหลักการประชาธิปไตย 

"สู้กันให้เต็มที่ ถ้าไม่ได้ยังไงเดี๋ยวว่ากัน แต่ถ้าสุดท้ายฝั่งประชาธิปไตยไม่ได้จัดตั้งรัฐบาลจริง ๆ ผมเชื่อว่าประชาชนโกรธ และเราต้องออกไปแสดงพลังแน่นอน ลงถนนแน่นอน"

อยากบอกอะไรกับองค์กรอิสระ "กกต. I'm watching you เจอกันแน่" (กกต.เรากำลังจับตาดูคุณอยู่) คังโป้ย ทิ้งท้าย 

ประชาชนต้องแสดงพลัง หนทางที่จะไม่ให้เป็นไปตามแผนของชนชั้นนำ

ยามารุดดิน ทรงศิริ นิสิตปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า วันนี้มาร่วมชุมนุมเพราะเห็นด้วยในหลักการ ตอนนี้ประเทศเราไม่ปกติ คนตั้งคำถามว่าพรรคที่ได้คะแนนเสียงเยอะที่สุดจะได้เป็นรัฐบาลหรือไม่ โดยเฉพาะนักวิเคราะห์การเมือง ซึ่งหลายเสียงบอกว่าโอกาสที่พิธาจะได้เป็นรัฐบาลมันน้อยมาก มันสะท้อนให้เห็นว่าเราอยู่ในสภาวะไม่ปกติ อีกอย่างคือเชื่อว่าชนชั้นนำคิดมาแล้วว่าจะต้องทำอะไร แล้วถ้าหนึ่งไม่ได้ สองจะทำอะไรเพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปตามครรลองของเขา แต่หน้าที่ของเราในฐานะประชาชนคือทำยังไงก็ได้ให้แผนที่ชนชั้นนำวางไว้มันหลุด แล้วสุดท้ายไปอยู่เป้าหมายที่เขาไม่ได้เตรียมไว้ แต่สิ่งนี้จะทำได้เมื่อประชาชนรวมตัวกันมากๆ สะท้อนเสียงกันมากๆ ทำสิ่งที่เขาคิดไม่ถึงหรือไม่คาดคิด ก็เลยต้องร่วมกันออกมาแสดงจุดยืนวันนี้

ยามารุดดิน ทรงศิริ

"ถ้า ส.ว. บอกว่า ถ้าเราโหวตแล้วจะนำไปสู่ความขัดแย้ง ผมว่าอันนี้เป็นข้ออ้างอย่างเห็นได้ชัดเจนที่สุด เพราะว่ามันจะเกิดความขัดแย้งได้อย่างไรในเมื่อเสียงส่วนใหญ่เกินครึ่งหนึ่งบอกว่าอยากได้ฝั่งประชาธิปไตยเป็นนายกฯ และก้าวไกล ได้คะแนนเสียงมากที่สุด การโหวตตามเสียงส่วนใหญ่ ตามประชาชนส่วนมาก โอกาสจะเกิดความขัดแย้งได้น้อยกว่าการโหวตสวนเสียงส่วนใหญ่" ยามารุดดิน กล่าว 

คิดว่าข้อเสนอหรือข้อกังวลของ ส.ว. เป็นข้ออ้างเพื่อจะไม่โหวต หรือเพื่อปฎิบัติตามคำสั่งของใครที่สั่ง ส.ว. ไม่ได้นำไปสู่ความไม่สงบ แต่การไม่โหวตให้พิธาในฐานะพรรคที่ได้เสียงส่วนใหญ่ มันจะนำไปสู่ความวุ่นวายในสังคม เพราะเมื่อสังคมมันมีการพัฒนาไปแล้วแต่กลไกของรัฐ คนที่อยู่ในอำนาจรัฐไม่ยอมปรับตัวตาม มันจะเกิดแรงปะทะขึ้น คิดว่าเงื่อนไขแบบนี้ทำให้เกิดความไม่สงบได้มากกว่าที่สว.อ้าง 

"ผมค่อนข้างหมดหวังกับ ส.ว. และผมไม่แน่ใจว่าผมฝากอะไรไปแล้ว ถึงแม้ท่านจะได้อ่านหรือได้ฟังสิ่งที่ผมเสนอไป ผมก็ไม่เชื่อ ไม่แน่ใจว่าจะปฏิบัติไหม ผมก็เลยอยากสื่อสารไปยังเพื่อนๆ ว่ายังไงก็ช่วยกันออกมา แสดงเสียงผ่านโซเชียล ผ่านพื้นที่จริงให้มากที่สุด เพื่อให้เห็นว่าเราอยากเห็นพิธา ในฐานะเป็นพรรคการเมืองที่ได้เสียงส่วนใหญ่เป็นนายกฯ ดังนั้น ผมฝากไปถึงเพื่อนๆ ประชาชน ดีกว่าฝากถึง ส.ว.เยอะเลยครับ" ยามารุดดิน กล่าว 

เชื่อมั่น พลังมวลชนจะสามารถกดดัน ส.ว. องค์กรอิสระได้

จิ นักศึกษาอายุ 22 ปี วันนี้เธอมาร่วมฟังปราศรัยที่สกายวอล์ก แยกปทุมวัน โดยเธอกล่าวว่า ที่มาร่วมวันนี้เนื่องจากรู้สึกว่า เธอต้องกลับไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่ศรีสะเกษ เมื่อ 14 พ.ค. 2566 แต่กลายเป็นว่าวันนี้มีเรื่องประกาศว่า พิธา อาจพ้นจากตำแหน่ง ส.ส. หรือยุติตำแหน่ง ส.ส.ชั่วคราว ไปก่อน มันทำให้เรารู้สึกว่า เสียงของเราถูกด้อยค่า ไปไม่ถึง

จิ นักศึกษาอายุ 22 ปี

จิ กล่าวต่อว่า หลังจากได้ฟังข่าวเรื่องศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของปมพิธา ถือหุ้นสื่อ จาก กกต. ก็รู้สึกโมโห เพราะว่าผ่านมา 9 ปีแล้วมันนานมาก ตั้งแต่เราอยู่ ม.2 มันนานมาก แต่เศรษฐกิจมันไม่ดีขึ้นเลยตั้งแต่มีการรัฐประหาร เราอยากให้ประเทศไทยเปลี่ยนไปสักที   

เมื่อถามเรื่องการเลือกนายกฯ วันที่ 13 ก.ค. 2566 นี้ จิ บอกว่าไม่กังวลมาก รู้สึกว่าถ้าเสียงมวลชนมากพอเราจะสามารถกดดัน กกต. หรือว่า ส.ว. หรือว่าผู้มีอำนาจได้ “อยากให้ทุกคนออกมากดดันด้วยกัน” 

ต่อประเด็นที่ว่า ถ้าสุดท้ายแล้ว พรรคก้าวไกล ไม่ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล หรือผู้นำฝ่ายบริหาร ให้พรรคเพื่อไทย เป็นแทนรับได้หรือไม่ จิ บอกว่า เธอโอเค เพราะว่าฝั่งทางเพื่อไทยเขาก็เป็นฝั่งประชาธิปไตยเหมือนกัน เขาก็ มวลชนที่ร่วมสู้กับฝั่งเพื่อไทยมานานด้วย อย่างไรก็ตาม เธอไม่โอเค ถ้าจะให้ถึงพรรคภูมิใจไทย ร่วมรัฐบาล

“ไม่ค่ะ ไม่โอเค ทั้งกัญชาทั้งการจัดการโควิดของเขามันแย่มาก ทำให้ประเทศแบบว่าหยุดไปนานมาก อะไรอย่างนี้ การจัดการที่ผ่าน ๆ มาก็ไม่ดี ยาเสพติดก็ระบาดหนักมาก แถวบ้านหนูอะ ยาเสพติดระบาดหนักมาก ๆ กัญชาอะไรอย่างนี้ คนเสพยาเกินขนาดจนเป็นบ้า มันทำให้เรารู้สึกไม่ปลอดภัย”

“อยากให้ฟังเสียงประชาชนบ้างค่ะ ถ้าไม่ฟังแล้วประเทศไทยจะกลับมาเหมือนเดิมก็ระวังไว้ จะโดนเช็กบิล” นักศึกษา วัย 22 ปี ทิ้งท้าย 

จิ๊บ สมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม วัย 21 ปี กล่าวว่า เธออยากมาแสดงจุดยืนและก็อยากมีส่วนร่วมกับประชาชนคนอื่นๆ แล้วเป็นการส่งกำลังใจให้กับวันพรุ่งนี้ (13 ก.ค.) จะมีการโหวตเลือกนายกฯ ก็อยากเชียร์ให้พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ซึ่งได้เป็นพรรคอันดับ 1 ได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไปของประเทศไทย

จิ๊บ สมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม

ต่อประเด็นเรื่อง กกต. ส่งเรื่องถือหุ้นสื่อไอทีวีให้ศาลรัฐธรรมนูญนั้น จิ๊บ กล่าวว่า กกต. ทำหน้าที่เร็วผิดปกติ อยากพูดตามที่ชัยธวัช กล่าวเมื่อช่วงบ่ายว่า ถ้าราชการทำงานเร็วได้เท่า กกต. กรณีนี้ ประเทศชาติอาจจะเจริญรุ่งเรืองได้มากกว่านี้ไปแล้ว 

สมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ กล่าวว่า ต้องพูดตรงๆ ว่าเราก็มีความกังวลอยู่แล้ว ซึ่งก็ต้องเข้าใจว่าในประเทศเราตอนนี้สถานการณ์มันไม่ปกติเลย แล้วก็มีระบบปรสิตต่างๆ นาๆ ทุกอย่างที่มันเป็นองค์ประกอบที่มันไม่ใช่ระบอบที่มันควรจะเป็น มีส่วนเกินเต็มไปหมดเลยในสภา 250 คน (ส.ว.) เกินมาจากไหนไม่รู้ไม่มีใครเลือกขึ้นมา แต่งตั้งขึ้นมาเอง เราก็มีความกังวลว่าเขาจะมีอิทธิพลในการที่จะปัดตกนายกจากประชาชนไป 

"แต่ว่าเราก็ยังอยากที่จะส่งสารไปให้ส่วนเกินเหล่านั้น หรือพูดอย่างสุภาพคือ ส.ว. เราก็ยังอยากให้เขาโหวตให้ประชาชน โหวตให้นายกฯ ของประชาชนได้รับตำแหน่งนายกคนต่อไป อยากให้เขาทิ้งตำแหน่ง ทิ้งตำนานอย่างสวยงาม อย่าทิ้งความอุบาทว์ไว้เป็นเรื่องสุดท้ายก่อนออกจากตำแหน่งเลย" จิ๊บ กล่าว 

ส่วนกรณีถ้านายกมาจากพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ นั้น สมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ระบุว่า อาจจะยังตอบไม่ได้ตอนนี้ คือเราเองก็ยังต้องการเห็นอยู่ว่าเขาพยายามมาสุดทางแล้วจริงๆ แล้วก็มันออกมาจากฉันทามติของทั้ง 8 พรรคแล้วจริงๆ แล้วก็ก้าวไกลก็ยอมแล้วจริงๆ รวมถึงประชาชนก็เห็นด้วยแล้วจริงๆ คือถ้ามามัดมือชกแล้วจะขึ้นมาเป็นนายกฯ เองเลย พรรคอันดับ 2 เสนอขึ้นมาเลยโดยที่ประชาชนหลายๆ คนก็ยังไม่ได้โอเค หรือว่าพรรคร่วมก็ยังไม่ได้มีมติ เราก็อาจจะรู้สึกไม่ได้พอใจขนาดนั้น แต่ว่าถ้าสังคม ประชาชน แล้วก็ 8 พรรค พูดคุยกันแล้ว แล้วก็ลงมติกันแล้วว่า พรรคอันดับ 2 ขึ้นแทนก็ได้ เราก็พร้อมที่จะรับมติประชาชน แล้วก็พร้อมที่จะรับมติ 8 พรรคร่วมนั้นเหมือนกัน

"สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงมันก็พัดแรงมาก แล้วก็มาถึงที่นี่แล้ว ก็ไม่อยากให้พวกท่านทั้งหลายที่กำลังอยู่ในช่วงบั้นปลายของอำนาจแล้วต้องลงจากอำนาจอย่างทุลักทุเล แล้วก็หมดสภาพ ก็อยากให้ทุกท่านลงอย่างมีเกียรติยศ และศักดิ์ศรี แล้วก็น้อมรับความคิดทุกอย่างไป ส.ว.ก็ขอให้ ก็เข้าใจว่าปีหน้าก็หมดวาระแล้ว ก็อยากให้จบวาระ จบตำแหน่งอย่างสวยงาม โหวตพิธาเป็นนายกเพื่อให้ประเทศไทยก้าวเดินต่อไปข้างหน้าได้ แล้วก็องค์กรอิสระทั้งหลายก็ขอให้หยุดทำตัวไร้สาระสักที แล้วก็ให้ประเทศนี้มันขยับ เดินไปข้างหน้าได้สักที" จิ๊บ ทิ้งท้าย

อยากให้ประชาชนออกมาร่วมปกป้องประชาธิปไตย เพื่อคนข้างหลัง

เต๊ะ นักศึกษาวัย 21 ปี และสมาชิกองค์กรสังคมนิยมแรงงาน วันนี้มาร่วมกิจกรรมแฟลชม็อบที่สกายวอล์ก แยกปทุมวัน เต๊ะ เผยว่า เขาออกมา เพราะรู้สึกว่า กกต. (คณะกรรมการการเลือกตั้ง) กลั่นแกล้งพิธา ไม่ให้เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งตนเองสังเกตมานานแล้ว จึงจำเป็นต้องออกมาเคลื่อนไหว

เต๊ะ นักศึกษาปี 4

ถ้าหากว่า ‘พิธา’ ไม่ได้เป็นนายกฯ ซึ่งเป็นผลกระทบหลังศาลรัฐธรรมนูญรับฟ้อง มาตรา 112 และปมหุ้นสื่อนั้น เต๊ะ มองว่า อาจต้องปรึกษากันว่าจะมีการจัดม็อบ หรืออะไรแบบนี้ไหม ซึ่งในอนาคตยังบอกไม่ได้ 

"แต่ยังไงก็ต้องต่อสู้ให้ถึงที่สุด เพื่อไม่ให้ กกต.มาขัดขวาง ทำลายระบอบประชาธิปไตย" เต๊ะ กล่าว 

"ผมจะบอกว่าประชาชนทุกคนเขาเลือกพรรคก้าวไกล เพื่อมารับใช้ประชาชน ไม่ใช่รับใช้อำนาจเผด็จการ ผมในฐานะประชาชนคนไทยก็อยากให้ประชาชนร่วมประท้วงออกถนน เพื่อปกป้องประชาธิปไตย เพื่อปกป้องลูกหลานในอนาคตของเรา" เต๊ะ ทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net