Skip to main content
sharethis

ผสานวัฒนธรรม ขอรัฐไทยไม่ส่งตัวนักกิจกรรมทางการเมืองชาวกัมพูชา กลับประเทศต้นทาง เกรงภัยประหัตประหาร  หลังถูกจับกลางกรุงเทพฯ

ฝ่ายสื่อมูลนิธิผสานวัฒนธรรม แจ้งต่อผู้สื่อข่าวว่า เมื่อวันที่  7  ก.ค. 66 ธล สัมนัง นักกิจกรรมจากพรรคแสงเทียน (Candlelight) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลกัมพูชาและเป็นหัวหน้าเยาวชนของหมู่บ้านแห่งหนึ่งในจังหวัดกันดาล ประเทศกัมพูชาถูกจับกุมที่กรุงเทพบริเวณใกล้อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยกลุ่มบุคคลที่ไม่ได้ใส่เครื่องแบบ ปัจจุบันยังไม่ทราบว่าเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยหรือกัมพูชา

แต่ต่อมาในวันที่ 8 ก.ค.  66 ทราบว่า ธล สัมนัง ถูกส่งตัวมายังสถานีตำรวจแห่งหนึ่งในกรุงเทพก่อนจะส่งมากักตัวที่สถานกักตัวคนต่างด้าว สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ซอยสวนพลู กรุงเทพฯ  และในวันดังกล่าว ทนายความจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรมร่วมกับทนายความจากโครงการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ลี้ภัย (Refugee Rights Litigation Project) และองค์กรเครือข่าย ได้เข้าเยี่ยมและทราบจากธล สัมนัง ว่า ประสงค์จะขอลี้ภัยและไม่สมัครใจให้ทางการไทยส่งตนกลับไปประเทศกัมพูชา ทางทนายความจึงได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองทราบ พร้อมทั้งได้ยื่นคำขอให้ไม่ส่งตัวธล สัมนัง กลับประเทศกัมพูชา เพราะเขาอาจต้องเผชิญกับภัยประหารประหาร

ทั้งนี้มีพยานหลักฐานชัดเจน และยืนยันจากองค์กรสิทธิมนุษยชนในประเทศกัมพูชาและองค์การระหว่างประเทศ รวมทั้งองค์การสหประชาชาติ ว่านักการเมืองฝ่ายค้าน นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศกัมพูชาจำนวนมาก ต้องเผชิญภัยประหัตประหารจากการปราบปราม จับกุมคุมขัง และการดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรมจากทางการกัมพูชา 

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมด้วยโครงการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ลี้ภัย (Refugee Rights Litigation Project) และองค์กรเครือข่ายเมื่อได้รับข้อมูลดังกล่าวมีความห่วงกังวลว่าการจับกุมครั้งนี้อาจไม่ใช่การจับกุมผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายแบบปกติแต่อาจเป็นการจับกุมโดยมีเป้าหมายที่จะส่งตัวธล สัมนัง กลับไปประเทศกัมพูชาดังที่เคยปรากฏว่า ทางทหารไทยภายใต้รัฐบาล พลเอก ประยุทธ จันทร์โอชา ได้เคยมีส่งตัวนักกิจกรรมฝ่ายตรงข้ามให้กับทางการกัมพูชามาแล้วหลายราย ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดกับการคุ้มครองผู้แสวงหาที่ลี้ภัย สำหรับกรณีนี้ทางมูลนิธิฯ ได้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่าชาวกัมพูชาคนนี้   ได้หลบหนีออกมาจากจังหวัดกันดาลของประเทศกัมพูชาเมื่อวันอังคารที่ 5 ก.ค. 66 เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ตำรวจของจังหวัดกันดาลติดตามและได้ไปล้อมบ้านเขาแล้วเป็นเวลาสองวันแล้ว  ทำให้เขาต้องเดินทางหลบหนีภัยประหัตประหารมายังประเทศไทย ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนประสานขอการคุ้มครองระหว่างประเทศจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ว่าด้วยผู้ลี้ภัย องค์การสหประชาชาติที่มีสำนักงานอยู่ที่กรุงเทพฯ 

ยิ่งไปกว่านั้น ปัจจุบันประเทศไทยมีพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ. 66 เป็นการประกาศใช้กฎหมายตามพันธกรณีของประเทศไทยต่ออนุสัญญาต่อต้านการทรมาน (UNCAT)ที่จะไม่ส่งผู้ใดกลับไปเผชิญภัยประหัตประหาร บัญญัติไว้ในมาตรา 13 ว่า

“ห้ามมิให้หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐขับไล่ ส่งกลับ หรือส่งบุคคลเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปยังอีกรัฐหนึ่ง หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้น จะไปตกอยู่ในอันตรายที่จะถูกกระทำทรมาน ถูกกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือถูกกระทำให้สูญหาย”

ดังนั้นหากเจ้าหน้าที่ส่งตัวธล สัมนัง  ให้แก่ทางการกัมพูชา อาจเป็นการกระทำผิดต่อกฎหมายดังกล่าว 

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและโครงการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ลี้ภัย (Refugee Rights Litigation Project) ขอเรียกร้องให้ทางการไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เคารพต่อสิทธิในการแสวงหาที่ลี้ภัยของธล สัมนัง  และบุคคลในสถานะเดียวกันดังนี้

1. ห้ามส่งหรือผลักดันผู้ลี้ภัยกลับออกไปนอกราชอาณาจักรหากผู้ลี้ภัยอาจต้องเผชิญกับการทรมาน การกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือถูกกระทำให้สูญหาย หรือภัยประหัตประหารในรูปแบบใดๆก็ตาม

2. ขอให้องค์การสหประชาชาติและนานาชาติได้ใช้มาตรการที่จำเป็นเพื่อประกันว่าทางการไทยจะไม่ส่ง ธล สัมนัง กลับไป

3. ขอให้ทางการไทยปล่อยตัว ธล สัมนัง  โดยทันทีและเปิดโอกาสให้เขาสามารถลี้ภัยทางการเมืองได้ในประเทศไทยหรือเดินทางไปประเทศที่สาม

4. ขอให้ทางการไทยปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยและครอบครัวตามหลักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและหลักปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยโดยเคร่งครัด รวมทั้งปฏิบัติตามคำหมั้นสัญญาที่ทางการไทยได้ให้ไว้ต่อที่ประชุมสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาติ ณ นครนิวยอร์กอีกด้วย 

5. ขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด และฝ่ายปกครองตรวจสอบว่า การจับกุมและควบคุมตัว ธล สัมนัง  เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565  โดยเฉพาะมาตรา 22 และ 23

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net