Skip to main content
sharethis

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแนะพิจารณาทบทวนมาตรการการกักขังแทนค่าปรับ หลัง ครม.พิจารณาเห็นว่าไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชน ไม่อาจทดแทนกันได้ เห็นสมควรให้ยกเลิก กฤษฎีการับให้เร่งแก้ไขกฎหมายโดยด่วน

เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2566 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เผยแพร่ การพิจารณาทบทวนมาตรการการกักขังแทนค่าปรับ ความว่า

ด้วยในคราวประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2566 คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นว่า การกักขังแทนค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญา เป็นมาตรการลงโทษที่ไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชน โดยการลงโทษปรับเป็นการบังคับเอาแก่ตัวทรัพย์สินของผู้ต้องโทษ แต่การกักขังเป็นการบังคับเอาแก่เสรีภาพของผู้ต้องโทษ จึงไม่อาจทดแทนกันได้ และหากมีการลงโทษปรับ ก็มีมาตรการรองรับเพื่อบังคับเอาแก่ทรัพย์สินของผู้ต้องโทษ รวมทั้งการทำงานบริการสังคมอยู่แล้ว สมควรพิจารณายกเลิกการกักขังแทนค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญาเพื่อให้สอดคล้องกับหลักนิติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชน และตามแนวทางการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม จึงลงมติมอบให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการับไปพิจารณาดำเนินการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยถือเป็นเรื่องด่วน
        
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งรับมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวมาปฏิบัติ จึงขอแจ้งเรื่องนี้เพื่อทราบทั่วกัน
        
จึงเรียนมาเพื่อทราบทั่วกัน
นายนพดล  เภรีฤกษ์
โฆษกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา 
7 ก.ค. 2566 

โฆษกรัฐบาลเผย ครม. มีมติพิจารณาทบทวนมาตรการกักขังแทนค่าปรับ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักนิติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชน มอบกฤษฎีกาฯ แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยถือเป็นเรื่องด่วน

8 ก.ค. 2566 เว็บไซต์สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล รายงานว่านายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเลยว่า รัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรีมีมติให้พิจารณาทบทวนมาตรการกักขังแทนค่าปรับ โดยเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 ครม.ได้ร่วมกันพิจารณาและมีมติเห็นว่าการกักขังแทนค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญา เป็นมาตรการลงโทษที่ไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชน โดยการลงโทษปรับเป็นการบังคับเอาแก่ตัวทรัพย์สินของผู้ต้องโทษ แต่การกักขัง เป็นการบังคับเอาแก่เสรีภาพของผู้ต้องโทษ จึงไม่อาจทดแทนกันได้ และหากมีการลงโทษปรับ ก็มีมาตรการ รองรับเพื่อบังคับเอาแก่ทรัพย์สินของผู้ต้องโทษ รวมทั้งการทำงานบริการสังคมอยู่แล้ว สมควรพิจารณายกเลิกการกักขังแทนค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญาเพื่อให้สอดคล้องกับหลักนิติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชน และตามแนวทางการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม จึงลงมติมอบให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการับไปพิจารณาดำเนินการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยถือเป็นเรื่องด่วน

“รัฐบาลให้ความสำคัญกับความเป็นธรรมตามหลักนิติธรรม และหลักสิทธิมนุษยชน โดยมีนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ วิเคราะห์ ตามหลักการ และความถูกต้อง รวมทั้งควรสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เหมาะสม เพื่อคงความยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญเพื่อความเป็นธรรมในสังคมไทย” นายอนุชาฯ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net