Skip to main content
sharethis

'ชลน่าน' ให้สัมภาษณ์กับ 'สรยุทธ' ยืนยันว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ใน MOU ระหว่างก้าวไกล และเพื่อไทย เน้นเฉพาะคดีการแสดงออกทางการเมือง การชุมนุม การประท้วง แต่ไม่รวมคดีมาตรา 112 และ 'ทักษิณ'

 

สืบเนื่องจากวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา พรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย ได้แถลงต่อสื่อร่วมกันถึงข้อตกลงร่วมกัน หรือ MOU เรื่องการเสนอชื่อประธานสภาฯ และข้อตกลงร่วมกันผลักดันร่างกฎหมาย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเฉพาะคดีการแสดงออกทางการเมือง โดยหลังจากมีการแถลงแล้ว ได้มีกระแสข่าวมีข้อสงสัยว่า เป็นความพยายามของพรรคเพื่อไทยในการนำตัว ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งปัจจุบัน ลี้ภัยอยู่ต่างแดน กลับเมืองไทยหรือไม่

5 ก.ค. 2566 ยูทูบ "สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว" เผยแพร่รายการ "Live "กรรมกรข่าว คุยนอกจอ" 05/07/66" โดยมี สรยุทธ สุทัศนะจินดา และ พิชญทัฬห์ จันทร์พุฒ ทำหน้าที่พิธีกร ได้สัมภาษณ์ ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ถึงที่มาที่ไปของข้อตกลง และการผลักดันเรื่อง ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเฉพาะคดีทางการเมือง ครอบคลุมคดีใดบ้าง

ชลน่าน ศรีแก้ว กล่าวถึงที่มาที่ไปของข้อตกลงระหว่างพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย ว่ามาจากคณะเจรจาของทั้ง 2 พรรคที่จะมีเรื่องเหล่านี้ เนื่องจากว่าประธานสภาฯ จะมาจากพรรคที่ 3 หรือพรรคประชาชาติ พรรคก้าวไกลกังวลว่าร่างกฎหมายต่างๆ ของเขาไม่ทราบว่าจะสำเร็จลุล่วงมากน้อยแค่ไหน เลยมีประสงค์ว่าจะเขียนในข้อตกลงตามที่ระบุใน MOU และให้พรรคเพื่อไทยช่วยกันให้ความเห็นชอบ ช่วยกันผลักดัน ช่วยกันยอมรับ ซึ่งคณะเจรจาของเพื่อไทยเราเอง ก็ได้ดูแล้ว แม้ว่าบางถ้อยคำจะสับสนกำกวมอยู่บ้าง แต่ถ้าดูในไส้ในในหลักการ มันไม่ได้เป็นประเด็น เขาใช้คำว่า เป็นคดีที่เกี่ยวกับคดีการแสดงออกทางการเมือง 

หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ระบุต่อว่า คณะเจรจามีข้อตกลงเรื่องนี้ พรรคก้าวไกลแจ้งเมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2566 เวลาประมาณ 15.00 น. ซึ่งเพื่อไทย พอรับได้ และงานใหญ่ที่สุดคือได้ประธานสภาฯ ที่เป็นคนกลาง และทำให้เราตั้งรัฐบาลประชาธิปไตย เราเลยรับได้ในมุมนั้น 

ชลน่าน เน้นย้ำว่าเป็นความร่วมมือระหว่าง 2 พรรคเท่านั้น ถ้าระบุเป็น MOU พรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมด อาจทำให้อีก 6 พรรคร่วมไม่สบายใจ เพราะเซ็น MOU ไปแล้วก่อนหน้านี้ ก็เลยให้เป็นข้อตกลงระหว่าง 2 พรรคเท่านั้น เป็นข้อผูกมัดระหว่างกัน อย่าเอาพรรคอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องมารวมด้วย เพราะเซ็น MOU ไปแล้ว

ชลน่าน ยืนยันว่า ได้สอบถามคณะเจรจาแล้ว ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเฉพาะคดีการเมือง ระบุชัดเจนว่าเกี่ยวกับการเรียกร้อง การประท้วง หรือการชุมนุม ไม่ครอบคลุมเรื่องทักษิณ และผู้ที่กระทำผิดคดีมาตรา 112

“ผมถามเลยว่ามันเกี่ยวไหม ก่อนที่จะแถลงข่าว (3 ก.ค.) นั่งพูดคุยกัน 2 พรรค ผมก็ถามเน้นย้ำเรื่องนี้ คนที่เจรจา คนที่นั่งพูดคุยกันทั้ง 2 พรรค ไม่ว่าจะเป็นคุณต๋อม ชัยธวัช คุณอ้วน ภูมิธรรม ที่เขานั่งคุยกันเขาบอกว่าไม่เกี่ยวกับ 112 ไม่เกี่ยวกับทักษิณ ผมถามย้ำเลย เพราะผมเป็นคนตั้งประเด็น” ชลน่าน กล่าว 

ทั้งนี้ ชลน่าน ระบุในรายการ “คุยนอกจอฯ” ของสรยุทธ ในวันเดียวกันด้วยว่า เดิมที พรรคก้าวไกล จะใส่เรื่องนี้ไว้ แต่พรรคเพื่อไทยขอในที่ประชุมพรรคร่วม เนื่องจากมีข้อกังวลว่าอาจมีคนนำไปใช้เป็นประเด็นว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เป็นความพยายามของพรรคเพื่อไทย เพื่อพาทักษิณ กลับมา และอาจกลายเป็นอุปสรรคในการจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยเท่านั้น ทางพรรคเพื่อไทย จึงไม่อยากให้ระบุใน MOU 

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์การเมือง และผู้ลี้ภัยทางการเมือง แสดงความคิดเห็นต่อประเด็น ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมดังกล่าว ผ่านเฟซบุ๊ก 'Somsak Jeamteerasakul' ด้วยว่า เมื่อคราวผ่านร่าง  MOU หรือข้อตกลงร่วม 8 พรรคที่ประกอบด้วยวาระ 23 ข้อ 5 แนวทางปฏิบัตินั้น ก็เถียงกันจนไม่สามารถผ่านได้ พรรคเพื่อไทยนั้นห้ามนักห้ามหนาว่า "นิรโทษกรรม" ต้องไม่รวมคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จนกระทั่งเลขาธิการพรรคก้าวไกลต้องยอมตัดข้อนิรโทษกรรมทั้งหมดออกไป  ครั้งนี้ จำเป็นต้องออกมานอกหน้า เพราะในคำที่ยอมให้วันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นประธานสภามีระบุไว้ แต่ความหมายก็ชัดเจน "ห้ามมี 112"

"ห่วยทั้งเพื่อไทย ห่วยทั้งก้าวไกล" สมศักดิ์ วิจารณ์

รายละเอียดข้อตกลงร่วม พรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย เมื่อ 3 ก.ค. 2566


ข้อตกลงร่วมระหว่างพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย
เรื่อง ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร

ตามที่พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคเป็นธรรม พรรคเพื่อไทยรวมพลัง และพรรคพลังสังคมใหม่ ได้ประชุมหารือร่วมกันกรณีตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยมอบหมายให้พรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย ไปเจรจาตกลงร่วมกันนั้น บัดนี้พรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย ได้ตกลงร่วมกัน ดังนี้

1. เสนอชื่อ นายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคก้าวไกล เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเพื่อไทย เป็นรองประธานสภาคนที่ 2 โดยพรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคเป็นธรรม พรรคเพื่อไทยรวมพลัง และพรรคพลังสังคมใหม่ พร้อมให้การสนับสนุนตามข้อตกลงนี้

2. บุคคลที่จะปฏิบัติหน้าที่เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร พร้อมผลักดันวาระที่ทำให้รัฐสภาไทยก้าวหน้า ให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีประสิทธิภาพ และเป็นของประชาชน

3. ข้อตกลงเรื่องตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรในครั้งนี้ เป็นไปเพื่อสร้างความเป็นเอกภาพระหว่าง 8 พรรคในการจัดตั้งรัฐบาล เสนอและสนับสนุนนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี อย่างสุดความสามารถ โดยดำเนินการตามข้อตกลง MOU ที่ได้แถลงร่วมกันเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2566

4. พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยยืนยันร่วมกันให้ความเห็นชอบกฎหมายสำคัญเพื่อประชาชน ซึ่งรวมถึงการนิรโทษกรรมคดีแสดงออกทางการเมือง และการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปกองทัพ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ร่างพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก และร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ตามที่พรรคก้าวไกลเสนอพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย เชื่อมั่นว่าข้อตกลงเรื่องประธานสภาผู้แทนราษฎรและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานร่วมกันเพื่อจัดตั้งรัฐบาลเข้าไปบริหารประเทศ ตามเจตนารมณ์ที่ประชาชนได้แสดงออกอย่างชัดเจนผ่านการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 

3 กรกฎาคม 2566

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net