Skip to main content
sharethis

กลุ่มราษฎรหยุด APEC จ่อเดินทางไปศาลปกครอง ฟ้องกลับ สตช. เหตุตำรวจใช้กำลังสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง ละเมิดสิทธิ เมื่อปลายปี 2565 

 

4 ก.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งวันนี้ (4 ก.ค.) ราษฎรหยุด APEC 2022 เตรียมฟ้องกลับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ของวันที่ 5 ก.ค.นี้ จากเหตุการณ์การสลายการชุมนุมกลุ่มราษฎรหยุด APEC2022 เมื่อ 18 พ.ย. 2565 ในระหว่างที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC) ซึ่งมีการสลายการชุมนุมที่รุนแรง มีผู้ได้รับบาดเจ็บและถูกดำเนินคดีเป็นจำนวนมาก 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สมบูรณ์ คำแหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) หนึ่งในผู้ร่วมฟ้อง สตช. กล่าวถึงสาเหตุการฟ้องว่า เวทีประชุมกลุ่มประเทศ APEVC เมื่อปลายปี 2565 ปิดฉากด้วยภาพการสลายกลุ่มราษฎรหยุด APEC ที่ออกมาคัดค้านนโยบาย BCG ของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งถือเป็นการใช้ความรุนแรงอีกครั้งหนึ่งของฝ่ายรัฐที่กระทำกับประชาชน จนนำมาซึ่งการบาดเจ็บของชาวบ้านจำนวนมาก ซึ่งหนักที่สุดคือการยิงปืนด้วยกระสุนยางแบบประชิดจำทำให้พายุ บุญโสภณ หนึ่งในผู้ชุมนุม สูญเสียดวงตา และยังมีอีกหลายคนที่ถูกกระทืบ ถูกทุบตี และถูกยิงด้วยกระสุนยาง และยังมีการจับกุมชาวบ้านดำเนินคดีรวมหลายสิบราย โดยตนมองว่า การดำเนินการดังกล่าวผ่านสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถือเป็นการปิดกั้นเสรีภาพของประชาชนในการวิพากษ์นโยบายที่ไม่เป็นธรรมของรัฐ 

"การดำเนินการดังกล่าวของรัฐบาลผ่านสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นการปิดกั้นและริดลอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน และมีเจตนาที่จะจำกัดและกำจัดกลุ่มทางสังคมที่ออกมาแสดงความคิดที่แตกต่างกับแนวนโยบายของรัฐอย่างไร้มนุษยธรรม อันถือเป็นการไม่เคารพต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่ได้คุ้มครองไว้ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลเพียงพอที่พวกเราจะรวมตัวกัน “ฟ้องกลับ” สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ได้กระทำกับพวกเราทั้งทางร่างกาย จิตใจและสิทธิเสรีภาพทางสังคมการเมือง ทั้งนี้ เพื่อสร้างบรรทัดฐานอันดีงามของการปกครองภายใต้ระบบประชาธิปไตย ที่รัฐบาลจะต้องเคารพการแสดงออกของประชาชนทุกคนทุกกลุ่ม แม้จะมีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันก็ตาม" สมบูรณ์ กล่าว 

นอกจากนั้น สมบูรณ์ ยังย้ำว่า ประชาชนมีความชอบธรรมในการวิพากษ์เนื้อหาจากการประชุม APEC ที่สอดแทรกนโยบาย BCG Economy Model (เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว) ซึ่งเป็นเพียงพื้นที่ของนักการเมืองและกลุ่มทุนที่จัดขึ้นเพื่อต่อรองผลประโยชน์ทางธุรกิจ แล้วอ้างความชอบธรรมว่าเป็นการดำเนินงานของรัฐที่ทำไปเพื่อประโยชน์ประชาชน แต่กลับไม่ยอมรับฟังเสียงของภาคประชาชนในประเทศของตนเอง ซึ่งเห็นได้ว่าผลประโยชน์ชั้นต้นของการเจรจาเหล่านั้นไม่ได้ตั้งอยู่บนสมการที่มีประชาชนเป็นที่ตั้ง และเมื่อย้อนกลับไปดูรายละเอียดของโมเดลระบบเศรษฐกิจดังกล่าว ยิ่งเห็นได้ถึงความคิดของรัฐทีกำลังประเคนฐานทรัพยากรของแผ่นดินให้กับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ อันเชื่อว่าจะส่งผลกับประชาชนและชุมชนโดยตรงอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ 

"รัฐบาลประยุทธ์เลือกที่จะปิดหูปิดตามประชาชน ด้วยการไม่ยอมเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในเวทีการประชุมระดับโลก และที่หนักไปกว่านั้นคือการ “ปิดกั้น” การแสดงออกของภาคประชาชนที่พยายามส่งเสียงที่ไม่เห็นด้วยกับการนำนโยบาย BCG มาใช้ในประเทศ ด้วยเพราะเป็นนโยบาย “ฟองเขียว” ที่ไม่ได้นำไปสู่การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่กลับจะนำไปสู่การปล่อยให้มีการทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างชอบธรรมมากขึ้นของกลุ่มทุนบางกลุ่มที่ไร้ความรับผิดชอบ" สมบูรณ์ ย้ำ

ทั้งนี้ กิจกรรมการยื่นฟ้องกลับ สตช. ดังกล่าวจะจัดขึ้นในวันที่ 5 ก.ค. 2566 ณ ศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ตั้งแต่เวลา 10.30 น.เป็นต้นไป โดยจะมีการยื่นฟ้องต่อศาลให้ข้อมูลผลกระทบจากแนวคิดการพัฒนาแบบ BCG Model ซึ่งเป็นมรดกจากรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตามด้วยเวทีเสวนาและการอ่านแถลงการณ์ 'ฟ้องกลับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทวงคืนเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน' 

การยื่นฟ้องกลับ สตช. ครั้งนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2565 ราษฎรหยุด APEC 2022 ได้เคลื่อนไหวผลักดันข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ได้แก่ 1. ต้องยกเลิกนโยบาย BCG รวมถึงระเบียบกฎหมายใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายนี้ ที่พยายามนำเสนอให้ที่ประชุม APEC รอง 2. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่มีความชอบธรรมที่จะลงนามข้อตกลงร่วมกับผู้นำกลุ่ม APEC และจะต้องยุติบทบาทในการเป็นประธานการประชุม APEC โดยทันที และ 3. ประยุทธ์ต้องยุบสภาและเปิดทางให้มีการเลือกตั้ง พร้อมกับจัดให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยประชาชนเพื่อสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริง รวมถึงสะท้อนความไม่ชอบธรรมของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการเป็นประธานในที่ประชุม APEC โดยใช้เส้นทางถนนดินสอ ใกล้กับลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เพื่อไปยังศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เขตคลองเตย กรุงเทพฯ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนได้ใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุกับผู้ชุมนุม

ก่อนหน้านี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เคยรายงานเมื่อ 18 พ.ย. 2565 ระบุว่า มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุมราษฎรหยุด APEC 2022 จำนวนมาก และมีกรณีที่ พายุ บุณโสภณ หรือพายุ ดาวดิน ได้รับบาดเจ็บสาหัสจนสูญเสียการมองเห็น เนื่องจากถูกกระสุนยางยิงเข้าที่ลูกกระตาด้านขวา 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net