Skip to main content
sharethis
  • จากกรณีสภาความมั่นคงแห่งชาติ ว่าจ้าง บริษัท ไชน่า เทเลคอม (ประเทศไทย) จำกัด ทำระบบดิจิทัล 66.3 ล้านบาท แล้วมีข้อกังวลเรื่องความเสี่ยงถูกจารกรรมข้อมูล อันเป็นเหตุให้ไชน่าเทเลคอมถูกแบนในสหรัฐฯ นั้น
  • สมช. ชี้แจงกับผู้สื่อข่าวว่า ไชน่าเทเลคอมไทยชนะเสนอราคาด้วยการคัดเลือกตามเกณฑ์ มีความเชี่ยวชาญ และมีผลงานกับหน่วยงานในไทย เช่น บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จํากัด (มหาชน), ทรูไอดีซี, เจดี เซ็นทรัล

4 ก.ค. 66 จากกรณีเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2565 เว็บไซต์สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ เผยแพร่ประกาศผู้ชนะการเสนอราคาซื้อโครงการพัฒนาระบบดิจิทัลเพื่อความมั่นคง ระบุว่า ซื้อโครงการดังกล่าวจาก บริษัท ไชน่า เทเลคอม (ประเทศไทย) จำกัด เป็นเงินทั้งสิ้น 66,300,000 บาทนั้น 

เมื่อตรวจสอบไปที่ เว็บไซต์ฐานข้อมูลกรมธุรกิจการค้า พบว่า บริษัท ไชน่า เทเลคอม (ประเทศไทย) มีกรรมการที่มีอำนาจแทนนิติบุคคลเป็นคนจีน (ชื่อจีน) ทั้งหมด

เมื่อเดือน ต.ค. ปี 2564 ไชน่า เทเลคอม ถูกสหรัฐอเมริกาเพิกถอนใบอนุญาตการประกอบธุรกิจในอเมริกา เนื่องจากข้อกังวลด้านความมั่นคง ด้วยเหตุว่าบริษัทถูกกำกับควบคุมโดยรัฐบาลจีน ส่งผลให้บริษัทต้องยุติกิจการภายใน 60 วัน หลังจากดำเนินให้บริการโทรคมนาคมในอเมริกามาเกือบ 20 ปี

สำหรับความเกี่ยวข้องของ ไชน่า เทเลคอม (ประเทศไทย) กับ ไชน่า เทเลคอม นั้นปรากฏภาพโลโก้บริษัทที่มีลักษณะตรงกัน

ภาพแคปจากวิดีโอประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ทางเว็บไซต์ของบริษัท

ภาพโลโก้ บริษัท ไชน่า เทเลคอม (ประเทศไทย) จำกัด 

ไชน่า เทเลคอม เป็นบริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดของจีน มีรัฐบาลจีนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ให้บริการด้านโทรคมนาคมพื้นฐาน เครือข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง โทรศัพท์มือถือ และโทรศัพท์บ้าน

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผู้สื่อข่าวติดต่อไปยัง สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ  และได้รับคำชี้แจงโดยสรุปดังนี้

สำหรับเหตุผลที่บริษัท ไชน่า เทเลคอม (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับการคัดเลือกนั้น

สำนักงานฯ ตอบว่า มีการตัดสินโดยใช้หลักเกณฑ์พิจารณารายละเอียด คุณลักษณะเฉพาะ และราคาตามลําดับ

ผู้สื่อข่าวถามด้วยว่ามีข้อกังวลหรือไม่ ที่เมื่อปี 64 บริษัท ไชน่า เทเลคอม ถูกสหรัฐฯ เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการในสหรัฐฯ โดยอ้างข้อกังวลเรื่องการถูกสอดแนมข้อมูล

สำนักงานฯ ตอบว่า บริษัท ไชน่า เทเลคอม (ประเทศไทย) จํากัด ถูกเชิญยื่นข้อเสนองานครั้งนี้เนื่องจาก บริษัท ไชน่า เทเลคอม (ประเทศไทย) จํากัด ได้นําเสนอผลงานและการดําเนินงานโดยบริษัทฯ แสดงให้เห็นความเชี่ยวชาญ ในงานด้านการสื่อสารและโครงสร้างพื้นฐานด้านสารสนเทศ รวมทั้งยังมีประวัติความร่วมมือกับหน่วยงานของไทย และมีผลงานอ้างอิง เช่น บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จํากัด (มหาชน), ทรูไอดีซี, เจดี เซ็นทรัล

ทั้งนี้บริษัท ไชน่า เทเลคอม (ประเทศไทย) จํากัด มี บริษัท ไชน่า เทเลคอมโกลบอล ลิมิเต็ด เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ สํานักงานฯ จึงพิจารณาว่าบริษัท ไชน่า เทเลคอม (ประเทศไทย) จํากัด สามารถให้บริการในประเทศไทยได้ โดยในการดำเนินโครงการร่วมกับ บริษัท ไชน่า เทเลคอม (ประเทศไทย) จํากัด  สำนักงานฯ มีการกําหนดนโยบายการรักษาความลับของข้อมูล ระบบและอุปกรณ์ที่จัดหาตามโครงการจะต้องได้รับมาตรฐานในระดับสากล

ผู้สื่อข่าวตรวจสอบไปที่เว็บไซต์ เว็บไซต์ บริษัท ไชน่า เทเลคอม (เอเชียแปซิฟิก) จำกัด พบข้อมูลระบุว่า ไชน่า เทเลคอม (เอเชียแปซิฟิก) จำกัด มีภารกิจดูแลธุรกิจครอบคลุม 15 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์  

สำหรับ บริษัท ไชน่า เทเลคอม (ประเทศไทย) จำกัด เป็นหนึ่งในเครือข่าย 15 แห่งที่กระจายไปตามประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก อาทิ สิงคโปร์ เมียนมา ฟิลิปปินส์ เวียดนาม กัมพูชา อินโดนีเซีย คาซัคสถาน ศรีลังกา อินเดีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย ปากีสถาน เกาหลีใต้

ทั้งนี้ ผังองค์กร ในเว็บไซต์บริษัทระบุว่า บริษัท ไชน่า เทเลคอม (เอเชียแปซิฟิก) อยู่ในเครือบริษัท ไชน่า โกลบอล ลิมิเต็ด (China Telecom Global Limited) ซึ่งเป็นหน่วยธุรกิจหนึ่งในกลุ่มไชน่า เทเลคอม

ผู้สื่อข่าวสอบถามด้วยว่า เพราะเหตุใดจึงมีบริษัทดังกล่าวเพียงบริษัทเดียว ทางสำนักงานฯ มีการพิจารณาบริษัทอื่นด้วยหรือไม่

สำนักงานฯ ตอบว่า การจัดซื้อโครงการดังกล่าว มีผู้ยื่นเอกสารการเสนอราคาอย่างถูกต้องครบถ้วนเป็นจํานวน 3 ราย

เมื่อตรวจสอบไปที่ข้อมูลจากเว็บไซต์ กองระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐและราคากลาง (กจร.) กรมบัญชีกลาง พบชื่อ 3 บริษัทที่มาเป็นคู่เทียบ ได้แก่ บริษัท ไชน่า เทเลคอม (ประเทศไทย) จํากัด บริษัท เลอ สยาม อินเตอร์เน็ทเวิร์ค จํากัด บริษัท ฟิวเจอร์เทเลคอม จํากัด

คำชี้แจงของ สมช. ฉบับเต็ม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net