Skip to main content
sharethis

'ชำนาญ จันทร์เรือง' ปาฐกถา 'ภาพรวมการกระจายอำนาจ' ในงานแห่ไม้ก้ำประชาธิปไตย ปักหมุดกระจายอำนาจ ไล่เรียงให้เห็นตั้งแต่ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จนถึงปัจจุบัน ระบุ เชียงใหม่มีการพูดถึงการเลือกตั้งผู้ว่าฯ มาตั้งแต่พ.ศ 2535 ย้ำ "ถ้าไม่มีรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เชียงใหม่อาจจะได้เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดไปแล้วก็ได้"

 

27 มิ.ย. 2566 เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. ที่ผ่านมา เวลา 12.30 – 17.00 น. 'คณะก่อการล้านนาใหม่' จัดกิจกรรมเสวนาวาระรัฐธรรมนูญ - กระจายอำนาจ “แห่ไม้ก้ำประชาธิปไตย ปักหมุดกระจายอำนาจ” ขึ้นที่โรงแรมไอบิสสไตล์ จ.เชียงใหม่

หลังการเปิดงานคณะผู้จัดงานได้ฉายคลิปวิดีโอจาก 'ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ' ซึ่งติดภารกิจด้านคดีความไม่สามารถมาร่วมงานได้ ธนาธรระบุ คณะก้าวหน้า พรรคก้าวไกล มีเจตจำนงปฏิรูประบบราการลดการรวมศูนย์อำนาจที่ส่วนกลาง ผลักดันให้เกิดการกระจายอำนาจ กระจายคน กระจายงบประมาณ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถทำหน้าที่ ทำภารกิจที่ได้รับมอบหมาย ได้อย่างมีอิสระ ได้อย่างมีงบประมาณพอเพียง เพื่อดูแลความเป็นอยู่ของพ่อแม่พี่น้องประชาชน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้ใกล้ชิดมากขึ้น ตนเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าเพื่อนๆ ที่พรรคก้าวไกลจะผลักดันวาระการกระจายอำนาจในสี่ปีข้างหน้าที่หากพวกเขาได้เป็นรัฐบาล 

พรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาล ใน 100 วันแรกจะเกิดการ RG หรือ Regulatory Guillotine นั้นก็คือการตัด-ยกเลิกกฎหมายที่ไม่จำเป็น กฎหมายที่ล้นเกินต่างๆ จะมีการแก้ไขยกเลิกเพื่อให้องค์กรส่วนท้องถิ่น มีอิสระในการดำเนินการของตนเองมากขึ้น ตนเชื่อว่าความสัมพันธ์ของกระทรวงมหาดไทย  กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น และอปท. ทั่วประเทศ จะเปลี่ยนไป บทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะสามารถส่งเสริม สนับสนุน ผลักดันให้เกิดความเจริญก้าวหน้าในองค์กรส่วนท้องถิ่นอย่างแท้จริง

การผลักดันงบประมาณจากภาษีประชาชน แต่เดิมจาก 70 เปอร์เซ็นต์เข้าสู่ส่วนกลาง 30 เปอร์เซ็นต์เข้าสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อัตราส่วนนี้ในสี่ปีข้างหน้า ภายใต้การบริหารงานของพรรคก้าวไกล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็จะได้ส่วนแบ่งเพิ่มมากขึ้น ตนเชื่อว่าจะมีแก้ไขกฎหมายในระดับรัฐธรรมนูญและในระดับพระราชบัญญัติหลายตัว ที่จะเอื้อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีอำนาจมีอิสระในการจัดการตนเองมากกขึ้น เชื่อว่าในสี่ปีข้างหน้าของการบริหารของพรรคก้าวไกลจะเป็นยุคทองของกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น จะเป็นยุคทองของการปฏิรูปรัฐราชการส่วนกลาง

ชำนาญ จันทร์เรือง : ปาฐกถาภาพรวมการกระจายอำนาจ 

ชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการด้านกฎหมายและการเมืองร่วมปาฐกถาในงาน “แห่ไม้ก้ำประชาธิปไตย ปักหมุดกระจายอำนาจ” โดยชำนาญเกริ่นนำถึง “มหาวิทยาลัยที่ไร้ซึ่งสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น คือมหาวิทยาลัยที่ตายแล้ว” จากนั้นได้เข้าสู่เนื้อหาว่าด้วยการกระจายอำนาจหรือการปกครองท้องถิ่นนั้นมีมานานแล้ว แต่ว่าในส่วนขององค์กรปกครองท้องถิ่น จะต้องมีองค์กรของตนเอง ซึ่งตนยืนยันมาเสมอว่าองค์กรปกครองท้องถิ่นของไทย เริ่มต้นตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในช่วงพ.ศ 2476

ย้อนกลับไปในช่วง 2435 มีการปฏิรูปกระทรวง ทบวง กรม เป็นการเริ่มต้นของ Nation State หรือรัฐไทยเป็นการเริ่มต้นของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์โดยสมบูรณ์ ก่อนหน้านั้นมีกระทรวง, เวียง,วัง, คลัง,นา, สมุหนายก, สมุหกลาโหม

เมื่อมีการผนวกดินแดนต่างๆ เข้ามาเป็นรัฐชาติ เมื่อปีพ.ศ 2435 มีกระทรวงเริ่มแรกอยู่ 12 กระทรวง เรื่อยมาถึงปัจจุบันมีอยู่ 7 กระทรวง ใช้ชื่อเดิมอยู่ 4 กระทรวงคือกระทรวงมหาดไทย, กระทรวงกลาโหม, กระทรวงยุติธรรม, กระทรวงการต่างประเทศ อีก 3 กระทรวงเปลี่ยนชื่อไป เช่น กระทรวงเกษตรตราธิการ ทั้งนี้ปัจจุบันประเทศไทยมีอยู่ 20 กระทรวงมาถึงปีพ.ศ 2440 เริ่มมีสุขาภิบาลกรุงเทพฯ มีการทดลองให้บริการสาธารณะ เริ่มทำประปา จนถึงพ.ศ 2448 มีสุขาภิบาลท่าฉลอมเป็นสุขาภิบาลที่หัวเมืองหลายคนเข้าใจว่าเป็นการปกครองท้องถิ่น แต่ความจริงไม่ใช่เป็นเพียงการทดลองให้บริการสาธารณะในตอนนั้นสุขาภิบาลประกอบด้วยผู้ว่าราชการ, นายอำเภอ, กรรมการอำเภอ, กำนัน, ผู้ใหญ่บ้านเรียกว่ากรรมการสุขาภิบาล ซึ่งไม่มีประชาชนที่ได้รับการเลือกตั้งอยู่ในสุขาภิบาล เป็นการทดลองมาแต่ก็ไม่ได้ขยายอะไรไปมากมายนัก

ใน พ.ศ.2473 รัชกาลที่ 7 มีความคิดว่าน่าจะมีการทดลองการปกครองท้องถิ่น ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา นำโดยRichard D. Craig, พระกฤษณาพรพันธ์, พระยาจินดารักษ์, บุญเชย ปิตรชาติ ไปยุโรปศึกษาการปกครองท้องถิ่นที่เหมาะกับประเทศไทย ซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นเทศบาล จึงมีการนำเข้าที่ประชุมอภิรัฐมนตรี แต่ยังไม่ทันตราออกมาเป็นกฎหมาย ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475

พ.ศ. 2476 มีพระราชบัญญัติออกมา 2 ฉบับในเวลาใกล้เคียงกันก็คือฉบับแรก พระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแห่งราชอาณาจักรสยามแบ่งการจัดราชการออกเป็นส่วนกลาง, ราชการส่วนภูมิภาค, ราชการส่วนท้องถิ่น คำว่าราชการส่วนท้องถิ่นจึงเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศสยาม ราชการส่วนกลางก็คือกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ, ราชการส่วนภูมิภาคก็คือจังหวัด,อำเภอ, ในส่วนของราชการส่วนท้องถิ่นยังไม่มีอบจ”, อบต., ไม่มีกรุงเทพมหานคร ระบุไว้เพียงสภาจังหวัดและเทศบาล ซึ่งสภาจังหวัดอยู่ในส่วนของเทศบาล

ฉบับที่สอง พระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ. 2476 แบ่งเป็น เทศบาลตำบล, เทศบาลเมือง, เทศบาลนคร,สภาจังหวัด มีการจัดตั้งเทศบาลนครกรุงเทพ, เทศบาลนครธนบุรี, เทศบาลนครเชียงใหม่ ซึ่งต่อมาเทศบาลนครเชียงใหม่เป็นเทศบาลนครที่อายุยืนยาวที่สุดที่อยู่มาถึงในปัจจุบัน นับตั้งมาตั้งแต่ 2476 และเหลือเพียงหนึ่งเดียว

เทศบาลรวมเป็นรูปแบบการจัดระเบียบราชการแผ่นดินเ ซึ่งเป็นแนวความคิดของอาจารย์ปรีดีพนมยงค์ได้เอาตัวอย่างมาจากประเทศฝรั่งเศส โดยในตอนนั้นมีอยู่ประมาณ 4,800 ตำบล มีความพยายามจะปรับให้เป็นเทศบาลทั้งหมด ในช่วงเริ่มแรกทำได้เพียง 35 เทศบาลจวบจนปี พ.ศ. 2488 ด้วยเหตุอยู่ในสภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดการผันผวนทางการเมือง จนถึงพ.ศ. 2490 เกิดการรัฐประหาร ปรากฏว่ามีเทศบาลรวมได้ 117 แห่งเท่านั้น จากที่ตั้งเป้าไว้ 4,800 แห่ง

ส่วนสุขาภิบาลที่ตั้งมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 นั้นก็ไม่ได้เจริญเติบโตเท่าไหร่ พอมาถึงรัชกาลที่ 6 ได้ให้ความสนใจกิจกรรมทำเมืองประชาธิปไตย-ดุสิตธานีเสียมากกว่า ทำให้เกิดการละเลยงานสุขาภิบาล จนมาถึงสมัยจอมพลปพิบูลสงครามได้เดินทางไปต่างประเทศบ่อย ทั้งยังเป็นนักเรียนนอก ได้มีการออกกฎหมายจัดตั้งสุขาภิบาลอีกครั้งซึ่งเป็นรูปแบบการปกครองจากต่างประเทศ ได้มีการออก พ.ร.บ. สุขาภิบาล พ.ศ. 2495 มีกรรมการสุขาภิบาล ฝ่ายบริหาร-สภาถูกรวมกันเป็นอันเดียว มีนายอำเภอเป็นประธาน มีสารวัตรใหญ่ มีศึกษาปลัดอำเภอเป็นเลขา

ต่อมาเกิดการเรียกร้องทำไมมีเทศบาล มีสุขาภิบาล จึงมีความต้องการ ของหลายๆ แห่ง ต้องการเป็นองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ต้องการบริการสาธารณะ มีไฟฟ้า-ประปา สาธารณูปโภคต่างๆ เลยมีการจัดตั้งได้จัดตั้ง พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด 2498 ซึ่งในตอนนั้นครอบคลุมนอกเหนือพื้นที่เขตเทศบาลและสุขาภิบาลเท่านั้น ไม่ได้ครอบคลุมทั้งจังหวัดเหมือนปัจจุบัน อบจ. มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บริหารสูงสุด กล่าวได้ว่าผู้ว่าราชการจังหวัดสวมหมวกบริหาร 2 ใบคือเป็นผู้ว่าภูมิภาค ใบนึงเป็นผู้ว่าอบจ. (ท้องถิ่น) ทั้งนี้มีสภาจังหวัดเลือกสมาชิกสภาจังหวัด, ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด ตอนนั้นคือปลัดจังหวัด

ช่วงปีพ.ศ. 2499 มี พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการส่วนตำบลอบต แต่ว่ามีองค์ประกอบที่ไม่ครบถ้วน มีกำนันเป็นประธาน ส่วนการประชุมมีนายอำเภอมาประชุม ในช่วงแรกไม่ค่อยเวิร์ค ปี พ.ศ. 2506 จอมพลถนอม จึงยกเลิกไปเพราะเกิดความสับสนขึ้น ต่อมา พ.ศ.2514 มีการออกประกาศคณะปฏิวัติยุบรวมจังหวัดกรุงเทพฯกับจังหวัดธนบุรีกลายเป็นนครหลวงกรุงเทพธนบุรี ถัดมาในอีกปีเกิดกรุงเทพมหานครตามคำสั่งคณะปฏิวัติฉบับที่ 335 ไม่น่าเชื่อว่าองค์กรปกครองท้องถิ่นเกิดจากคำสั่งคณะปฏิวัติมีผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานครคนแรกชื่อชำนาญ ยุวบูรณ์ มีพ.ร.บ. กทม. ออกมา ในปี พ.ศ. 2518 มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นครั้งแรก ธรรมนูญ เทียนเงิน เป็นผู้ว่าราชการคนแรกที่มาจากการเลือกตั้ง อยู่พรรคประชาธิปัตย์และถูกให้ออกในปี พ.ศ 2520 สาเหตุจากเหตุการณ์ตุลา 19 ต่อมาเกิดพ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2521 ใช้รูปแบการจัดการปกครองแบบผู้จัดการเมือง city manager ได้มีการเลือกสมาชิกสภาเมือง เป็นรูปแบบจากสหรัฐอเมริกาที่นำมาทดลองใช้

พ.ศ 2535 ก่อนหน้านั้นมีการพูดถึงการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด โดย ส.ส จากจังหวัดเชียงใหม่ ไกรสร ตันติพงษ์ มีการกล่าวถึงกรุงเทพฯ เลือกตั้งผู้ว่าได้ทำไมเราจะเลือกไม่ได้  น่าจะมีกฎหมายมหานครเชียงใหม่  ซึ่งถูกพูดมาตั้งแต่พ.ศ 2518 ต่อมาคนที่เริ่มรณรงค์มาอย่างจริงจัง คือถวิล ไพรสนฑ์, อุดร ตันติสุนทร ,ธเนศ เจริญเมือง ดังนั้นช่วงปี 2533 ถึง 34 ที่มีการพูดถึงรณรงค์เรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเพียงอย่างเดียวก็ยังมีกระแสต่อต้าน จนถึงพ.ศ 2535 เกิดพฤษภาคมประชาธรรม จำลองศรีเมืองร่วมกับชวน หลีกภัย จากพรรคประชาธิปปัตย์ ได้มีนโยบายแถลงต่อสภาในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด หลังจากที่มีการเจรจาในสภาสามวันสองคืน ได้ถูกขอเติมคำว่าเลือกตั้งผู้ว่าที่มีความพร้อม จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีจังหวัดไหนได้เลือกตั้งผู้ว่า ซึ่งมีการรณรงค์กันมากเรื่อยๆ

พ.ศ. 2551 ได้มี NGO ทำเรื่องชุมชนพึ่งตัวเอง ในเชียงใหม่เองก็มีการยกร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานครเกิดขึ้นในปีพ.ศ. 2552 มีการรวมรายชื่อได้กว่าหมื่นคน เสนอเข้าสภา ต่อมาสภาถูกยึดโดยคณะรัฐประหารทำให้สะดุดไป

ย้อนกลับไป ช่วง พ.ศ. 2533 ถึง 2535 ที่มีการรณรงค์เลือกผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ปรากฏว่าได้ พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ 2537 ในตอนแรกนั้นไม่มีนายกอบต. เรียกว่าประธานกรรมการบริหารอบต, ประธานสภาอบต. ต่อมาเมื่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มีการกำหนดว่าฝ่ายบริหารกับสภาจะต้องแยกกัน สภาจะต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรง ซึ่งผู้บริหารจะมาจากการเลือกตั้งโดยตรงหรือโดยอ้อมก็แล้วแต่ เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ประกาศวันที่ 11 ต.ค. 2540 ขณะที่ พ.ร.บ.อบจ. ก็ทำคู่ขนานกันมา ถูกประกาศวันที่ 12 ต.ค. 2540 ถัดไปเพียงวันเดียว ทำให้เห็นว่า พ.ร.บ.ทั้งหลายเราสามารถทำคู่กันไปได้ไม่ต้องรอรัฐธรรมนูญผ่านก่อน

จากผลพวงรัฐธรรมนูญปี 2540 ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสิ้นสภาพจากการเป็นผู้บริหารขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ก็หมดไป ได้มีการเลือกตั้งนายกอบจ. ขึ้นมาจากการเลือกตั้ง ตอนนั้นยังไม่ใช่โดยตรง ยังเป็นการเลือกสมาชิกสภาจังหวัด (สจ.), สมาชิกสภาเทศบาล (สท.) มาเลือกนายกและมีเทศมนตรี ยังไม่มีรองนายก ถัดมา พ.ศ. 2542 เมืองพัทยาได้มีการเปลี่ยนแก้กฎหมายใหม่ เป็น พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา ไม่มี city manager มีการเลือกนายกเมืองพัทยา ซึ่งในปัจจุบันสถานะเทียบเท่าเทศบาลนคร ยังใช้ระเบียบการเงินของกระทรวงมหาดไทย ใช้ระเบียบการบริหารบุคคลของเทศบาลเมืองพัทยา และยังอยู่ในสันนิบาตเทศบาล

พ.ศ. 2546 คณะกรรมการกระจายอำนาจมีการประกาศออกมาว่าให้มีการเลือกตั้งผู้บริหารโดยตรง โดยมีการเลือกนายกอบจ. โดยตรง มีการเลือกนายกเทศมนตรีโดยตรง เลือกนายกอบตโดยตรง นี่คือวิวัฒนาการที่มีมาเรื่อย ๆ มีอย่างการพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งเสนอเข้าสู่สภาเมื่อพฤศจิกายนปีที่แต่ไม่ผ่านเพราะสว. (สมาชิกวุฒิสภา) ชุดนี้ไม่ยอมให้ผ่าน

ในอนาคตการปกครองท้องถิ่นจะไปทางไหน เชื่อว่าในการจัดตั้งรัฐบาลประธานสภาและนายกรัฐมนตรีจะต้องมาจากพรรคก้าวไกล ที่ผ่านมามีการทำ workshop กับ 3 สมาคมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ อบต., เทศบาล, อบจ. เมื่อวันที่ 1,15, 16 มิ.ย. ที่ผ่านมา สอบถามว่าท้องถิ่นต้องการอะไร ต้องการแบบไหน ใน 100 วันแรกก็คือยกเลิกระเบียบกระทรวงมหาดไทย ส่วนอื่นๆ ด้วย ที่เป็นอุปสรรคอำนาจของฝ่ายบริหาร ซึ่งสามารถแก้ได้โดยมติครม., รัฐมนตรีอะไรก็แล้วแต่ ซึ่งจะต้องทำใน 100 วันแรก อย่างการยกเลิกคำสั่งคสช. 8/2560 จะเอาเข้าคณะรัฐมนตรีก่อนแล้วค่อยเอาเข้าสภาเพราะคำสั่งคสช.มีศักดิ์เทียบเท่ากับพระราชบัญญัติ

เนื่องจากการทำประชามติมีการใช้งบประมาณสูง ทำไวไปก็ไม่ดีเพราะต้องให้ความรู้อย่างครบถ้วน สมบูรณ์ มีการถกเถียงกัน เนื่องจากการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดหรือการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคเป็นเรื่องใหญ่ กระทบต่อโครงสร้าง ทั้งในความเป็นจริงผ่านรัฐสภาก็ออกมาได้ แต่ว่าจะไม่มีความชอบธรรมและไม่เกิดฉันทามติ อาจจะมีความขัดแย้งสูง เราก็จะทำประชามติถามประชาชน ว่าท่านเห็นด้วยหรือไหม ถ้าจะมีการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค โดยมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรง เป็นคำถามทำนองนี้ wording อาจจะเปลี่ยนไป เนื่องจากว่าการทำประชามติต้องใช้งบประมาณประมาณ 3,000 ล้านต่อครั้ง ก็จะทำพร้อมกับการเลือกตั้งอบจ. ทั้งนี้ วาระอบจ. จะครบธันวาคมปีหน้า จะมีการหยอดใบลงคะแนน,ความคิดเห็น 4 กล่อง คือ เลือกตั้งนายกอบจ.และส.อบจ. มีกล่องสำหรับลงประชามติเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ส่วนในกล่องสุดท้ายคือการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ยกร่างทั้งฉบับ เชื่อว่าจะเกิดการตื่นตัว เรียนรู้ ทางประชาธิปไตยอย่างมากมาย

สุดท้ายก็จะมีการถ่ายโอนงบประมาณบุคลากรงบประมาณ 200,000 ล้านบาทอย่างที่ธนาธรพูดว่าร้อยละ 30 ความจริงไม่น่าจะถึงนะ ร้อยละ 29.7 ค่าใช้จ่ายที่ท้องถิ่นได้ใช้จริงๆ เพียงร้อยละ 18 เท่านั้นที่เหลือเป็นงบฝาก, นมโรงเรียน และอะไรอื่นๆ ทั้งนี้การกระจายอำนาจเป็นวิถีทางประชาธิปไตย ไม่มีรัฐไหนที่เจริญรุ่งเรือง เข้มแข็ง โดยการปราศจากการปกครองท้องถิ่นที่เข้มแข็ง มีคำกล่าวของปรมาจารย์นักรัฐศาสตร์บางคนพูดกันว่า No State Without City (ไม่มีประเทศใดศิวิไลซ์หากไร้ท้องถิ่นเข้มแข็ง) ประเทศไทยเราไม่ไปไหนสักทีเพราะว่าท้องถิ่นเราไม่เจริญ ท้องถิ่นเราไม่เข้มแข็ง ท้องถิ่นเราถูกตัด ถูกตอน ถูกตัดอำนาจ รัฐประหารทีนึงก็ถอยหลังทีนึง

"ถ้าไม่มีรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เชียงใหม่อาจจะได้เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดไปแล้วก็ได้" ชำนาญย้ำก่อนจบการปาฐกถา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net