Skip to main content
sharethis

ทุ่นระเบิดในพม่ากลายเป็นปัญหาต่อพลเรือน จากการที่ฝ่ายต่อต้านเผด็จการและฝ่ายกองทัพเผด็จการต่างก็ใช้ทุ่นระเบิดในการสู้รบทั้งคู่ มีกรณีที่กองกำลังฝ่ายเผด็จการใช้พลเรือนเป็นโล่มนุษย์และบังคับให้เก็บกู้ระเบิดซึ่งเป็นงานอันตราย มีจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตหลายร้อยรายจากทุ่นระเบิดนับตั้งแต่ที่มีการรัฐประหาร 2 ปีที่แล้ว

ความขัดแย้งจากการสู้รบที่พม่าดำเนินต่อเนื่องมาเป็นเวลา 2 ปีกว่าแล้ว และเขตพื้นที่ของการสู้รบก็ขยายตัวมากขึ้น พร้อมกับมีการวางทุ่นระเบิดกระจายไปตามที่ต่างๆ มากขึ้นด้วย โดยทั้งฝ่ายเผด็จการทหารพม่าและฝ่ายกองกำลังต่อต้านเผด็จการต่างก็ใช้ทุ่นระเบิดในการโจมตีอีกฝ่าย

ถึงแม้ว่าทุ่นระเบิดจะเป็นอาวุธที่สำคัญของฝ่ายต่อต้านฯ ที่มีสรรพาวุธด้อยกว่าฝ่ายเผด็จการ แต่คนที่ได้รับผลกระทบไปด้วยคือพลเรือน ทุ่นระเบิดเหล่านี้ทำอันตรายอย่างมากต่อพลเรือนที่ประสบกับความเจ็บปวดและความสูญเสียจากการสู้รบเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

จากเมืองทั้งหมดในพม่ารวม 330 เมือง มีอยู่ 78 เมืองที่มีรายงานเรื่องการระเบิดของทุ่นระเบิดนับตั้งแต่ที่มีการรัฐประหาร ก.พ. 2564 องค์กร UNICEF ระบุว่า มีประชาชน 241 ถูกสังหารและมีอยู่ 670 รายที่ได้รับบาดเจ็บจากทุ่นระเบิด จากสถิติตั้งแต่เดือน เม.ย. 2564 ถึง มี.ค. 2566

กองกำลังฝ่ายเผด็จการ ใช้พลเรือนเป็นโล่มนุษย์ สั่งเก็บกู้ทุ่นระเบิด

นอกจากกรณีเหล่านี้แล้วเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. ที่ผ่านมาสื่อมิซซิมายังรายงานว่า กองกำลังติดอาวุธฝ่ายสนับสนุนเผด็จการทหารที่ชื่อ Pyu Saw Htee ได้ใช้พลเรือนเป็นโล่มนุษย์โดยการบีบบังคับให้พลเรือนอย่างน้อย 2 คนจากทุกหมู่บ้านเป็นผู้ทำการเก็บกู้ทุ่นระเบิดและเป็นกำบังให้กองกำลัง Pyu Saw Htee เพื่อลดความสูญเสียจากฝ่ายกองกำลังสนับสนุนเผด็จการ

มีผู้อาศัยในหมู่บ้าน Pinthar หนึ่งในหมู่บ้านที่มีการบังคับเก็บทุ่นระเบิดกล่าวว่า ชาวบ้านจำนวนมากรู้สึกเป็นทุกข์พวกเขาไม่ต้องการเสี่ยงชีวิตตัวเองเพื่อช่วยเหลือเผด็จการทหาร ชาวบ้านจะหนีออกจากหมู่บ้านก็ไม่ได้เพราะมีสมาชิกกลุ่มติดอาวุธ Pyu Saw Htee คอยล้อมหมู่บ้านเอาไว้สั่งให้มีคนไปเก็บทุ่นระเบิด ชาวบ้านเล่าอีกว่า Pyu Saw Htee ยังทำการลักพาตัวชาวบ้านเพื่อให้เดินนำหน้าเป็นโล่มนุษย์ให้กับทหารของพวกเขาด้วย

ทุ่นระเบิดขยายตัวไปตามการสู้รบ

สำหรับในพื้นที่ ซะไกง์, มะกเว และมัณฑะเลย์ นั้น ทุ่นระเบิดและสรรพาวุธระเบิดที่ยังไม่ระเบิด (UXO) เป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อนในพื้นที่เหล่านี้ พื้นที่เหล่านี้ไม่เคยเกิดการสู้รบก่อนหน้าที่จะมีการรัฐประหารครั้งล่าสุด พื้นที่เหล่านี้มีการสู้รบหนักขึ้นหลังจากที่ประชาชนลุกฮือขึ้นต่อต้านการรัฐประหารของกองทัพพม่าและสังหารผู้ชุมนุมที่ชุมนุมอย่างสันติ

ในภูมิภาคซะไกง์มีความเสี่ยงเรื่องทุ่นระเบิดพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก โดยที่ยูนิเซฟระบุว่าเป็นพื้นที่ๆ ทุ่นระเบิดเป็นเหตุให้คนเสียชีวิตรวม 29 รายและบาดเจ็บ 105 ราย นับเป็นจำนวนร้อยละ 38 ของความเสียหายทั้งหมด จากการสำรวจตั้งแต่เดือน ม.ค.-เม.ย. 2566

พื้นที่ซะไกง์เป็นฐานที่มั่นของกลุ่มต่อต้านเผด็จการ ฝ่ายเผด็จการได้ใช้ยุทธการผลาญแผ่นดิน ซึ่งเป็นยุทธการแบบเผาทำลายทุกอย่างที่จะเป็นประโยชน์กับข้าศึกเพื่อเป็นการจำกัดวงขบวนการต่อต้านรัฐบาล กรณีการระเบิดของทุ่นระเบิดในตอนกลางของพม่าเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกที่ซะไกง์ในเดือน ส.ค. 2564

Daw Aye May ผู้อาศัยในเมือง Paungpyin ในภูมิภาคซะไกง์กล่าวว่า ก่อนหน้านี้พวกเขาเคยเห็นทุ่นระเบิดแต่ในภาพยนตร์เท่านั้น แต่ในตอนนี้ผู้คนเริ่มเตือนกันไม่ให้เดินทางไปยังพื้นที่ๆ มีการสู้รบ และให้ระมัดระวังเวลาเดินทางด้วยถนนข้ามหมู่บ้านและทางหลวง

นอกจากนี้ยังมีพื้นที่อื่นๆ ที่กองกำลังต่อต้านเผด็จการภายในพื้นที่คอยเตือนให้ประชาชนระวังในเรื่องทุ่นระเบิดในช่วงที่มีการสู้รบอย่างหนัก

สำหรับในพื้นที่ซะไกง์นั้น มีกองกำลังพิทักษ์ประชาชนทั้งจากส่วนกลางและจากท้องถิ่น รวมถึงกองทัพเอกราชคะฉิ่น (Kachin Independence Army - KIA) ที่เป็นฝ่ายต่อต้านเผด็จการ กองกำลังเหล่านี้ล้วนใช้ทุ่นระเบิดในการสู้รบ โดยวางอยู่ใกล้กับหมู่บ้านและชายป่าที่คาดว่ากองทัพเผด็จการพม่าน่าจะใช้เดินทาง กองกำลังฝ่ายต่อต้านเผด็จการเตือนประชาชนไม่ให้เข้าใกล้ทุ่นระเบิด และบอกว่าถ้าใครทำให้ทุ่นระเบิดเกิดการระเบิดขึ้นหรือเกิดความเสียหายจะต้องชดใช้ให้กับกองกำลังฝ่ายต่อต้าน

ส่วนฝ่ายเผด็จการจะใช้ทุ่นระเบิดที่ทำจากโรงงานสรรพาวุธ วางทุ่นระเบิดไว้ในทุกหมู่บ้านที่พวกเขาทำการรุกราน นอกจากนี้ฝ่ายเผด็จการพม่ายังใช้ศพของเหยื่อพลเรือนที่พวกเขาสังหารมาทำเป็นกับดักระเบิดโดยการวางทุ่นระเบิดไว้ที่ตัวพวกเขาด้วย

เหยื่อของทุ่นระเบิด

เหยื่อของทุ่นระเบิดรายหนึ่งชื่อเดวิด อยู่ในเมืองทางตอนใต้ของรัฐฉาน เขาเหยียบทุ่นระเบิดโดยไม่ได้ตั้งใจในขณะที่กำลังหนีจากการสู้รบในพื้นที่จนทำให้สูญเสียขาข้างหนึ่งในปี 2565 ลูกชายของเขาที่ช่วยรบในหน่วย PDF เสียชีวิตในหน้าที่ ในปัจจุบันเดวิดมีอารมณ์ไม่มั่นคงและต้องให้พี่น้องช่วยดูแล เขาบอกว่าเขาสูญเสียบ้าน สูญเสียวิถีชีวิตความเป็นอยู่ รู้สึกซึมเศร้าหนักอยากฆ่าตัวตาย

มีบางกรณีที่พลเรือนเสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บจากทุ่นระเบิดในขณะที่พวกเขาทำการเกษตรหรือเข้าไปในป่า ในบางกรณีเป็นเด็กไปพบเจอระเบิดที่หลงเหลืออยู่จากการสู้รบแล้วเอามาเล่นจนเกิดระเบิดขึ้น ยูนิเซฟระบุว่าจากสถิติเดือน ม.ค.-เม.ย. 2566 มีเด็กที่บาดเจ็บจากทุ่นระเบิดรวม 59 ราย และเสียชีวิตรวม 26 ราย

บางครั้งนักรบฝ่ายต่อต้านเผด็จการพม่าก็เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บในขณะที่ทำการผลิตหรือทำการค้นหาและกำจัดทุ่นระเบิด ถึงกระนั้น Ko Myo รองหัวหน้าฝ่ายผลิตระเบิดแสวงเครื่องของ PDF ในซะไกง์ก็บอกว่าวัตถุระเบิดเหล่านี้มีความสำคัญต่อการสู้รบกับกองกำลังเผด็จการ และกลุ่มคนที่ผลิตมันก็รู้ดีถึงความเสี่ยงนี้ พวกเขาไม่มีทางเลือกอื่น กองกำลังฝ่ายต่อต้านรัฐบาลในมัณฑะเลย์และซะไกง์บอกว่ามีเหตุระเบิดจากการผลิตหรือการวางทุ่นระเบิดที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 20 กรณี ซึ่งตัวเลขการสูญเสียอาจจะมากกว่านี้

องค์การรรณรงค์นานาชาติเพื่อการห้ามใช้ทุ่นระเบิด ได้ผลักดันให้มีสนธิสัญญาห้ามทุ่นระเบิดที่มีประเทศ 164 ประเทศจากทั่วโลกร่วมให้สัตยาบันหรือลงนามในสนธิสัญญา แต่ในจำนวนประเทศเหล่านี้ไม่มีพม่าอยู่ด้วย

พม่ามีปัญหาทุ่นระเบิดมานานแล้ว และจะเกิดปัญหาทุ่นระเบิดตกค้างแม้การสู้รบสิ้นสุดลง

ข้อมูลจากรายงานของแลนด์ไมน์มอนิเตอร์ องค์กรจับตามองเรื่องทุ่นระเบิด แสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมผลิตอาวุธของพม่า Ka Pa Sa สร้างทุ่นระเบิดที่ใช้ต่อต้านหรือทำลายคนออกมาอย่างน้อย 6 ประเภท คือ MM1, MM2, MM3, MM4, MM5 และ MM6 ซึ่งมักจะนำมาใช้โดยทหารราบ และทหารกองพันอาวุธเบา ซึ่งทุ่นระเบิดที่ผลิตโดยกองทัพพม่าจะมีคุณภาพดีกว่าและแรงระเบิดหนักกว่าทุ่นระเบิดของฝ่ายต่อต้านเผด็จการพม่า

ฝ่ายต่อต้านเผด็จการพม่าจะได้รับทุ่นระเบิดมาได้ด้วย 5 วิธีการ คือการได้มาจากโรงงานอาวุธขององค์กรติดอาวุธชาติพันธุ์ รวมถึงกลุ่มที่ไม่ได้สู้รบกับเผด็จการโดยตรงด้วย, จากผู้ค้าอาวุธ, ทำการผลิตเอง, ยึดได้จากกองทัพเผด็จการพม่าในช่วงที่มีการสู้รบ หรือขุดเอาทุ่นระเบิดเก่าของกองกำลังเผด็จการกลับมาใช้ใหม่

สื่ออิระวดีระบุว่าปัญหาทุ่นระเบิดในพม่าเป็นปัญหาที่ไม่เคยได้รับการแก้ไข มีการใช้ทุ่นระเบิดมาตั้งแต่เริ่มมีสงครามกลางเมืองหลังจากที่พม่าได้รับอิสรภาพจากเจ้าอาณานิคมเมื่อปี 2527 มาจนถึงทุกวันนี้ กลุ่มที่ร่วมการสู้รบทุกกลุ่มต่างก็ใช้ทุ่นระเบิดกันหมด

พอล เจฟเฟอร์สัน ผู้เชี่ยวชาญด้านการเก็บกู้วัตถุระเบิดที่เคยทำงานให้กับกองทัพอังกฤษกล่าวว่า ทุ่นระเบิดเป็นอาวุธที่สะดวกเมื่อมองจากมุมมองด้านการทหาร มันสามารถนำมาใช้งานได้ในแบบที่อาวุธอื่นๆ ไม่สามารถทำได้

อาวุธทุ่นระเบิดที่เคยวางไว้ในรัฐกะเหรี่ยง, รัฐฉาน และคะฉิ่น ในช่วงที่มีการปฏิวัติพม่าเป็นครั้งแรกยังไม่ได้ถูกเก็บกู้มาจนถึงบัดนี้ ยิ่งการสู้รบแผ่ขยายไปทั่วประเทศในตอนนี้ยิ่งทำให้เกิดความเสี่ยงจากทุ่นระเบิดมากขึ้น

ทุ่นระเบิดแสวงเครื่องบางส่วนที่อาศัยการจุดระเบิดด้วยแบตเตอร์รี่อาจจะใช้งานไม่ได้ 6-12 เดือนหลังจากนั้น แต่ทุ่นระเบิดที่จัดทำอย่างมืออาชีพจะยังคงใช้งานได้และเป็นอันตรายไปอีกประมาณ 50 ปีหลังจากติดตั้ง

ดังนั้นแล้วทุ่นระเบิดที่ยังคงหลงเหลืออยู่จะยังกลายเป็นภัยต่อพลเรือนต่อเนื่องยาวนานแม้ความขัดแย้งจะจบลงไปแล้ว อิระวดีระบุว่ากลุ่มกองกำลังที่มีส่วนร่วมในการสู้รบมีส่วนรับผิดชอบในการที่จะเก็บกู้ทุ่นระเบิด และมีหน้าที่ที่จะไม่ใช้ทุ่นระเบิดมากเกินไปโดยต้องมีการคำนึงถึงพลเรือนด้วย


เรียบเรียงจาก
Civilians Pay the Price as Land Mines Play Growing Role in Myanmar’s Conflict, The Irrawaddy, 06-06-2023
Myanmar: Landmines / ERW Incidents Information (January - April 2023), Reliefweb, 08-06-2023
Pyu Saw Htee forces Sagaing villagers to clear mines and be human shields, Mizzima, 23-06-2023

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net