Skip to main content
sharethis
  • สมาพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมฯ (CILT) เผยกรณีที่บริษัทวาย-เทค (Y-Tec) เคยปลดแกนนำสหภาพแรงงาน 5 รายเมื่อปี'65 แม้ทางบริษัทรับกลับทำงานตามคำสั่งของ ครส.แล้ว แต่มีรายงานพบการกลั่นแกล้ง-กดดันต่อเนื่อง ให้ทำงานที่บ้านอย่างเดียว ปัจจุบัน มีแรงงานทนไม่ไหว ลาออกเหลือไม่กี่ราย
  • สมาชิกสหภาพแรงงานอีก 30 ราย ถูกบริษัท Y-Tec ให้ย้ายแผนกไปทำงานจิปาถะ ดูทีวี ออกกำลังกาย สารคดี และอื่นๆ อ้างว่าเป็นการอบรมพัฒนาทักษะ ประเมินโบนัสเกรดต่ำสุด ห้ามทำ OT เบื้องต้น ครส.สั่งให้รับกลับทำงานตำแหน่งเดิม และประเมินโบนัสค่าเฉลี่ยกลาง และให้ทำ OT ตามเดิม แต่มีรายงานจาก CILT ว่า บ.ยังไม่ได้ทำตามแม้ผ่านมา 10 วันแล้ว

 

30 พ.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจาก ประสิทธิ์ ประสพสุข สมาชิกสมาพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (CILT) เมื่อ 28 พ.ค. 2566 เปิดเผยว่า กรณีสืบเนื่องจากเมื่อปลายปี 2565 บริษัท วาย-เทค จำกัด ซึ่งผลิตชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ เคยปลดแกนนำจัดตั้งสหภาพแรงงานจำนวน 5 ราย โดยอ้างปัญหาด้านเศรษฐกิจ ก่อนที่แรงงานแกนนำจัดตั้งสหภาพแรงงานจะไปร้องเรียนคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) ว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่ธรรมนั้น ล่าสุด ครส.นำสืบข้อเท็จจริง พบว่าเป็นการปลดพนักงานไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเลิกจ้างเพราะเป็นแกนนำสหภาพแรงงาน ไม่ใช่เรื่องของเศรษฐกิจแย่ หรือเรื่องของโควิด-19 จึงมีคำสั่งให้รับพนักงานทั้งหมดกลับเข้าทำงานตามเดิม 

ประสิทธิ์ ระบุว่า เมื่อรับพนักงานกลับเข้ามาทำงานแล้ว บริษัทกลับตั้งเงื่อนไขในการทำงาน โดยไม่ให้ทำงานในโรงงาน แต่ให้ทำงานที่บ้านเพียงอย่างเดียว ห้ามออกจากบ้าน และมีการโทรเรียกให้มารายงานตัวทุกเช้า และเย็น สั้นๆ และให้ลูกจ้างเดินทางกลับ ซึ่งสร้างความลำบากให้กับพนักงานในเรื่องการเดินทาง เนื่องจากต้องออกค่าใช้จ่ายเอง และบริษัทไม่ได้ช่วยเหลือเรื่องค่าเดินทางแต่อย่างใด

"นายจ้างก็เลยกลั่นแกล้ง…ให้ทำงานที่บ้าน และจ่ายเงินเดือนให้ แต่แกล้งโทร.ให้มารายงานตัวอยู่เรื่อยๆ เช่น 10 โมง คุณมารายงานตัว บ่ายสองเข้ามารายงานตัว ให้ลูกจ้างเดือดร้อน รำคาญ" ประสิทธิ์ กล่าว และระบุว่าตอนที่ลูกจ้างมาที่บริษัท นายจ้างจะพยายามเกลี้ยกล่อมให้ลูกจ้างสมัครใจลาออก และให้รับเงินชดเชยเลิกจ้างจากบริษัท 

ประสิทธิ์ ระบุด้วยว่า การให้มารายงานตัวลักษณะนี้สร้างความเดือดร้อนแก่ลูกจ้าง เนื่องจากต้องออกค่าเดินทางด้วยตัวเอง และบริษัทปฏิเสธไม่ออกเงินให้ นอกจากนี้ บางวันบริษัทจะส่งคนมาเฝ้าสังเกตการณ์ด้วยว่าอยู่บ้านหรือไม่ หากพบว่าไม่ได้อยู่ที่บ้านก็จะมีการลงโทษ เนื่องจากเป็นละทิ้งการปฏิบัติหน้าที่ ทำให้ตอนนี้มีแกนนำสหภาพแรงงานทนไม่ไหว ลาออกแล้วจำนวน 2 ราย จากทั้งหมด 5 ราย เหลือแกนนำสหภาพฯ เพียง 3 รายเท่านั้นที่ยังทำงานอยู่ 

สมาชิกสหภาพฯ ถูกย้ายแผนก-แบน OT ลาออกเหลือ 6 คนจาก 30 คน

ประสิทธิ์ กล่าวว่า นอกจากกลุ่มแกนนำสหภาพแรงงานจำนวน 5 คนที่รายงานข้างต้น เมื่อปลายปีที่แล้ว (2565) มีสมาชิกสหภาพแรงงาน จำนวนประมาณ 30 คน เคยออกมาชุมนุมเรียกร้องให้บริษัทวาย-เทคที่หน้านิคมฯ เพื่อให้นายจ้างรับแกนนำสหภาพแรงงานกลับเข้ามาทำงาน แต่ปัจจุบันลาออกเหลือเพียง 6 คนเท่านั้น เหตุจากถูกนายจ้างกดดันสารพัด

ภาพบรรยากาศการชุมนุม เมื่อ 28 พ.ย. 2566 (ที่มา: CILT)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประสิทธิ์ ระบุว่า ก่อนหน้านี้ลูกจ้างที่ออกมาชุมนุมหน้านิคมอุตสาหกรรม ถูกนายจ้างย้ายแผนกให้ทำงานจิปาถะที่ไม่เกี่ยวข้องกับไลน์การผลิต เช่น ตัดกระดาษ ขัดสนิม ดูทีวีสารคดี ออกกำลังกาย และอื่นๆ โดยอ้างว่าเป็นการอบรมเพิ่มทักษะคนงาน นอกจากนี้ คนทำงานกลุ่มนี้ถูกสั่งห้ามไม่ให้ทำงานล่วงเวลา หรือ OT ตลอดจนถูกประเมินโบนัสประจำปีเกรดต่ำสุด ทำให้ลูกจ้างประสบปัญหาด้านรายได้ พนักงานเข้าโครงการให้สมัครใจออกหลายคน ก็ออกกันไปเหลือกันอยู่ 6 คน 

แรงงานทั้ง 6 คนก็ไปร้องเรียน ครส.จากกรณีนี้ และทาง ครส.มีคำสั่งออกมาเมื่อ 28 เม.ย. 2566 แต่ส่งมาถึงลูกจ้างเมื่อ 13 พ.ค. 2566 วินิจฉัยว่านายจ้างทำผิด เนื่องจากเป็นการกระทำที่ไม่ชอบธรรม เพราะว่าเป็นการกลั่นแกล้งด้วยเหตุว่าลูกจ้างมีส่วนร่วมในสหภาพแรงงาน จึงมีคำสั่งให้นายจ้าง หรือบริษัท วาย-เทค มอบหมายงานในตำแหน่งเดิมให้ลูกจ้าง และก็เรื่องของการกลั่นแกล้งเรื่องของโบนัส ให้จ่ายโบนัสที่ค่าเฉลี่ยกลางจากที่โดนโบนัสต่ำสุด และให้มอบหมาย OT ให้ทำตามเดิม

ก่อนหน้านี้แรงงานเดินทางไปร้องเรียนที่ ครส.แล้ว และทาง ครส.มีคำสั่งออกมาเมื่อ 28 เม.ย. 2566 แต่ส่งมาถึงลูกจ้างเมื่อ 13 พ.ค. 2566 โดยวินิจฉัยว่านายจ้างทำผิด เนื่องจากเป็นการกระทำอันไม่ชอบธรรม สั่งให้นายจ้างมอบหมายงานตามเดิม ส่วนประเด็นการกลั่นแกล้งเรื่องโบนัสให้จ่ายที่ค่าเฉลี่ยกลาง จากเดิมที่มีการประเมินเกรดต่ำสุด และต้องอนุญาตทำให้งานล่วงเวลาได้ 

"ข้อเท็จจริงก็ปรากฏว่านายจ้างเจตนาที่จะกลั่นแกล้งลูกจ้าง เพื่อไม่ให้ทำงานต่อไปได้ เพราะว่าเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสหภาพแรงงาน เพราะว่าคนกลุ่มนี้สมัครเข้าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน และก็มีหลักฐานเรื่องใบสมัคร มีใบเสร็จรับเงิน เรื่องการชำระค่าบำรุง" ประสิทธิ์ กล่าว 

อย่างไรก็ตาม ตามปกตินายจ้างต้องปฏิบัติตามคำสั่ง ครส.ภายใน 10 วัน แต่ตอนนี้ครบ 10 วันแล้ว นายจ้างยังไม่ได้ดำเนินการ และประสิทธิ์ ได้รับรายงานด้วยว่า นายจ้างไปอุทธรณ์เพิกถอนคำสั่งที่ศาลชำนาญการ ซึ่งจะมีการนัดไกล่เกลี่ยภายในวันที่ 19 มิ.ย. 2566 ทำให้กระบวนการบังคับใช้กฎหมายถูกเลื่อนออกไปอีกครั้ง 

ประสิทธิ์ แสดงความกังวลว่ายิ่งกระบวนการทางกฎหมายยืดเยื้อก็มีความเสี่ยงที่ลูกจ้างจะถูกกลั่นแกล้งมากขึ้น เนื่องจากยุ่งเกี่ยวกับสหภาพแรงงาน เพื่อที่ลูกจ้างจะได้ถอดใจ และรับเงินนายจ้าง สมัครใจยอมลาออกจากบริษัท ส่งผลต่อสหภาพแรงงานอ่อนแอลงตามไปด้วย 

นอกจากนี้ มีกรณีที่ลูกจ้างถูกบริษัทสั่งให้ทำงานที่บ้าน และไม่ให้ออกไปไหน เนื่องจากลูกจ้างไม่ยอมเข้าโครงการสมัครใจลาออก แต่ว่าเมื่อ 7 และ 9 พ.ค.ที่ผ่านมา ลูกจ้างคนนี้ต้องไปให้การที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ และวันถัดมา นายจ้างมีการเรียกลูกจ้างคนดังกล่าวไปคุย และลงโทษ เนื่องจากไปให้การกับคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์โดยไม่ได้ทำเรื่องลา ถือว่าเป็นการละทิ้งการปฏิบัติหน้าที่ และให้ใบเตือน โดยหากได้อีกครั้งถือว่าเลิกจ้าง

ถูกกฎหมาย แต่ไม่ชนะ

ประสิทธิ์ ระบุว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้สหภาพแรงงานไม่เติบโต เนื่องจากกระบวนการทางกฎหมายไม่สามารถบังคับใช้นายจ้าง แม้ว่า ครส.ออกคำสั่งแล้ว นายจ้างก็ยังปฏิเสธไม่ปฏิบัติตาม แล้วแรงงานจะทำอย่างไรต่อไปได้ ขนาดไม่ได้ทำอะไรผิด และชนะคดีแล้ว แต่นายจ้างก็ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ลูกจ้างหลายกรณีเลยรู้สึกท้อแท้ และอยากไปเริ่มงานที่ใหม่ 

นอกจากนี้ กลไกภาครัฐไม่สามารถบังคับใช้ได้แล้ว สมาชิก CILT ระบุว่ากระบวนการศาลเอง ก็มีส่วน สมาชิก CILT ระบวุ่า เวลาพิจารณาคดีทางศาล แม้ว่าจะมีคำพิพากษาว่านายจ้างผิดจริง แต่ศาลจะมาเกลี้ยกล่อมให้ยอมความนายจ้าง และรับเงินค่าชดเชยเลิกจ้าง 

ประสิทธิ์ เผยว่าศาลมักจะพูดประมาณว่าต่อให้ลูกจ้างกลับไปทำงาน นายจ้างก็ไม่รับกลับทำงานอยู่แล้ว กลับเข้าไปนายจ้างเขาก็จะหาเหตุเลิกจ้างให้ได้ และถ้าถูกไล่ออก ลูกจ้างจะไม่ได้รับเงินชดเชยจากการเลิกจ้าง สู้รับเงินจากนายจ้างและลาออกเองดีกว่า โดยศาลมักระบุว่าเขายินดีเป็นตัวแทนเจรจากับบริษัทให้ยอมจ่ายเงินให้ลูกจ้างเพื่อจบปัญหาด้วย

"เราดำเนินการตามสิทธิแรงงานตามกฎหมายที่ให้มีคือ การรวมตัวการจัดตั้งสหภาพฯ รวมตัวกันเป็นสมาชิกสหภาพฯ และยังไม่ได้สร้างความเสียหาย ยังไม่ได้มีการเรียกข้อเรียกร้อง ยังไม่ได้มีการเจรจาต่อรองอะไรเลย …แต่เมื่อนายจ้างทราบ ก็ต้องการทำลายสหภาพแรงงานก่อนเลย พอถูกกระทำแบบนี้ ไม่มีใครช่วยเขาได้" ประสิทธิ์ กล่าว 

ต้องแก้กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ 

ประสิทธิ์ เสนอว่า อยากให้กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ทันสมัยมากขึ้น เนื่องจากตอนนี้บทลงโทษเบา และไม่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการมากกมาย ต้องพึ่งกระบวนการศาลในการพิจาณาคดีความ แต่ก็ใช้ระยะเวลานานกว่าจะสิ้นสุดอย่างต่ำต้องใช้เวลา 5 ปี โดยลูกจ้างต้องรับภาระเรื่องค่าเดินทาง สภาพจิตใจ และอื่นๆ ติดตามมาระหว่างการต่อสู้เพื่อสิทธิ

สมาชิก CILT อยากให้เจ้าหน้าที่รัฐมีระบบติดตามว่าหลังออกคำสั่งไปแล้วนายจ้างปฏิบัติตามคำสั่งหรือไม่ เพราะกรณีข้างต้นสั่งแล้วแต่ถ้าลูกจ้างไม่มีร้องเรียนว่านายจ้างไม่ปฏิบัติตาม เจ้าหน้าที่เขาก็ไม่ทราบ และส่วนใหญ่ลูกจ้างไม่ค่อยไปร้องเรียน เพราะว่านายจ้างบางทีก็ใช้เงินแก้ปัญหา โดยการให้ลูกจ้างที่มีปัญหาลาออกโดยสมัครใจ และจ่ายเงินชดเชยให้ เพื่อตัดปัญหา

ท้ายที่สุด สมาชิก CILT เสนอด้วยว่าต้องแก้ไขกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ เมื่อ 2518 ซึ่งมีความล้าหลัง และไม่ทันสมัย เรียกร้องให้รัฐบาลรับอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO ฉบับที่ 87 และ 98 เพื่อสร้างอำนาจการรวมตัวต่อรองกับนายจ้าง รวมถึงแก้ไขกฎหมายแรงงานให้เข้มแข็ง และป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน

สำหรับบริษัท วาย-เทค จำกัด ประกอบกิจการผลิตอะไหล่รถยนต์จากญี่ปุ่น ตั้งอยู่ที่ นิคมอุตสาหกรรม 304 จ.ปราจีนบุรี และเป็นบริษัทลูกของ บริษัท ยามาชิตะ รับเบอร์ และมีบริษัทคาร์แบรนด์ ‘ฮอนด้า’ เป็นลูกค้ารายใหญ่ 

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่บริษัท วาย-เทค เลิกจ้างพนักงานที่ก่อตั้งและมีส่วนร่วมกับสหภาพแรงงาน เพราะย้อนไปเมื่อ ต.ค. 2560 เว็บไซต์ "IndustriALL Global Union" (อินดัสเทรียลโกลบอลยูเนียน) ระบุว่า บริษัทวาย-เทค เคยไล่พนักงาน 30 คนที่มีส่วนร่วมกับสหภาพแรงงานออกจากบริษัท และเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นหนึ่งในกรณีที่ทำให้ประเทศไทยถูกตัดสิทธิพิเศษทางศุลกากรสหรัฐฯ หรือ GSP เมื่อปี 2562

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net