Skip to main content
sharethis

สื่อ Al Jazeera เผยกลุ่มแม่บ้านชาวฟิลิปปินส์ที่ยื่นฟ้องต่อศาลกล่าวหาว่าทูตสวิตเซอร์แลนด์ใช้แรงงานทาสโดยที่เธอไม่ได้รับค่าจ้างใดๆ ซึ่งในกรณีนี้นักการทูตอาศัยความคุ้มกันทางการทูตที่จะไม่ถูกดำเนินคดีและสถานะทางสังคมที่สูงในการเป็นเกราะป้องกันตนเอง สะท้อนให้เห็นปัญหาช่องโหว่ของระบบนี้ที่ทูตตะวันตกมักจะนำมาใช้กับแรงงานจากประเทศโลกที่สาม


เวอร์จิเนีย (คนซ้าย) แม่บ้านชาวฟิลิปปินส์ที่ฟ้องร้องในเรื่องที่ทูตสวิตเซอร์แลนด์ใช้แรงงานทาสกับแม่บ้าน | ที่มาภาพ: Nicolas Dupraz/Al Jazeera

เวอร์จิเนียเป็น 1 ใน 4 แม่บ้านชาวฟิลิปปินส์ที่ฟ้องร้องในเรื่องที่ทูตสวิตเซอร์แลนด์ใช้แรงงานทาสกับแม่บ้าน โดยมีการใช้แรงงานแม่บ้านผู้นี้โดยไม่ได้รับค่าจ้างในงานภารกิจปากีสถานที่กรุงเจนีวา เป็นเวลายาวนานมากกว่า 20 ปี

แม่บ้านเวอร์จิเนียอายุ 46 ปี กล่าวว่าเธอรู้สึกเป็นกังวลจนเกือบจะเกิดอาการแพนิคในช่วงเช้าหลังตื่นตอนก่อนที่จะต้องขึ้นศาลในคดีนี้ เธอไม่เคยคิดไม่เคยฝันมาก่อนว่าจะได้อยู่ในศาลที่ต้องเผชิญหน้ากับทนายความในต่างประเทศ มันทำให้เธอรู้สึกเป็นกังวลมากถึงแม้ว่าจะเคยเห็นฉากขึ้นศาลในละครโทรทัศน์มาบ้าง

เวอร์จิเนียเคยลงนามในสัญญาเมื่อปี 2542 ตอนที่เธออยู่ฟิลิปปินส์ ซึ่งในสัญญาจ้างมีการระบุถึงเงินเดือนไว้ว่าเธอจะได้รับเดือนละ 1,200 สวิสฟรังก์ (ราว 46,000 บาท ตามค่าเงินปัจจุบัน) โดยการทำงานเป็นเวลา 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ รวมถึงได้รับสวัสดิการอาหารและที่พักรวมถึงประกันสุขภาพ

แต่ในตอนนั้นหลังจากที่เวอร์จิเนียเดินทางไปทำงานที่เจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เธอก็ถูกคาดหวังให้ต้องทำงานให้กับภารกิจปากีสถาน 3 ครั้งต่อสัปดาห์โดยไม่ได้รับเงินเดือน และผลักให้เธอต้องตัดสินใจเองว่าจะทำงานอื่นเพื่อให้มีงานมากพอที่จะดำรงชีพได้หรือไม่

สปอนเซอร์วีซ่าของเธอเรียกร้องให้เธอปฏิบัติตามและขอให้เธออย่าพูดอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ นอกจากนี้ทูตที่เป็นนายจ้างของเธอยังมีความคุ้มกันทางการทูตที่ปกป้องจากการถูกดำเนินคดีด้วย เวอร์จิเนียบอกว่า "พวกเขามีอำนาจมาก พวกเขาแตะต้องไม่ได้"

เวอร์จิเนียและแรงงานทำงานในบ้านชาวฟิลิปปินส์คนอื่นๆ อีก 3 ราย ร่วมกันฟ้องร้องทูต "ภารกิจปากีสถานต่อสหประชาชาติในสวิตเซอร์แลนด์" โดยเรียกร้องการชดเชยที่ไม่ได้รับค่าจ้าง และค่าชดเชยความเสียหายอื่นๆ

จากหลักฐานและคำให้การที่มีการรวบรวมในปี 2564 สนับสนุนข้อกล่าวหาที่ว่าทูตของแม่บ้านเหล่านี้ทำการละเมิดกฎหมายแรงงานสวิสเซอร์แลนด์, ทำการคุกคาม, บังคับขู่เข็ญ, ขูดรีดแรงงาน และการค้ามนุษย์

ทางองค์กร "ภารกิจสวิส" ระบุยืนยันว่ากำลังมีการสืบสวนสอบสวนคดีนี้ ซึ่งองค์กรภารกิจสวิสเป็นองค์กรที่ดูแลเรื่องการให้วีซ่าแก่แรงงานในบ้านพักของทูต และสอดส่องดูแลให้มีการปฏิบัติตามข้อตกลงที่ทำไว้กับลูกจ้าง

เปาลา เซเรเซตตี โฆษกของภารกิจสวิสกล่าวว่า ทางสวิสเซอร์แลนด์จะไม่ยอมให้มีการละเมิดสภาพการจ้างงานของลูกจ้างในบ้านของนักการทูตอย่างเด็ดขาด

ปัญหาช่องโหว่การอ้างใช้ 'ความคุ้มกันทางการทูต'

จากข้อมูลของภารกิจสวิสแสดงให้เห็นว่าพวกเขาทำการออกวีซ่าให้กับแรงงานต่างชาติที่ทำงานแม่บ้านเป็นจำนวน 102 ฉบับ ให้กับแรงงานจากแอฟริกา, อเมริกาใต้, เอเชีย และภูมิภาคอื่นๆ ตั้งแต่ช่วงปี 2562-2565

ภาคใต้ออนุสัญญาเวียนนาระบุเอาไว้ว่า ความคุ้มกันทางการทูตจะทำให้ทูตและคนทำงานองค์กรระหว่างประเทศสามารถปฏิบัติงานได้โดยไม่ต้องกลัวเรื่องการถูกเล่นงานจากรัฐบาลต่างประเทศ ด้วยการให้ความคุ้มครองพวกเขาไม่ต้องถูกดำเนินคดีทางแพ่งและทางอาญา

เบน ฟอนเปเปอร์สตราเต ที่ปรึกษาอาวุโสจากศูนย์ยุโรปเพื่อสิทธิตามรัฐธรรมนูญและสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นองค์กรเอ็นจีโอ กล่าวว่า ความคุ้มกันทางการทูตเป็นเรื่องสำคัญในการที่จะคงไว้ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตามความคุ้มกันทางการทูตก็มีปัญหาช่องโหว่ในเรื่องการคุ้มครองแรงงานทำงานในบ้านผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิฯ และถูกกดขี่จากนายจ้างที่เป็นทูต

นอกเหนือจากกรณีของเวอร์จิเนียและแม่บ้านอีก 3 รายแล้ว เอกสารของศาล, รายงานข่าว และสำนวนคดีจากเอ็นจีโอเปิดเผยให้เห็นว่า มีอีกมากกว่า 140 กรณีที่นักการทูตและลูกจ้างขององค์กรระหว่างประเทศมีส่วนพัวพันกับการกดขี่แรงงานทำงานในบ้านและการค้ามนุษย์ ตั้งแต่ปี 2539-2563

ข้อกล่าวหามีตั้งแต่การข่มขู่คุกคามและการบังคับขู่เข็ญ ไปจนถึงการทารุณกรรมร่างกาย การทารุณกรรมจิตใจ และการทารุณกรรมทางเพศ นอกจากนี้ยังมีกรณีที่จ่ายค่าจ้างน้อยหรือกระทั่งไม่จ่ายค่าจ้างเลยอีกด้วย ซึ่งเหยื่อแทบจะทั้งหมดเป็นผู้หญิงที่มาจากประเทศกำลังพัฒนา

ถ้าหากมีการฟ้องร้องคดีในเรื่องนี้ ก็มักจะมีการยกฟ้องเพราะทูตหรือลูกจ้างองค์กรระหว่างประเทศมีความคุ้มกันทางการทูตอยู่ และในคดีที่มีการระบุให้ต้องชดเชยแก่เหยื่อที่ถูกละเมิด ก็มักจะไม่มีการบังคับใช้คำสั่งให้ชดเชยเพราะทูตเหล่านั้นออกจากประเทศหรือถูกย้ายไปอยู่สถานทูตอื่นแล้ว

ฟอนเปเปอร์สตราเต กล่าวว่ามันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะใช้เครื่องมือด้านสิทธิแรงงานในแบบเดิมเพื่อลงโทษนักการทูตหรือเพื่อสอดส่องดูแลสภาพการจ้างงานของคนทำงานในบ้านทูต

เพิ่งจะมีกรณีที่ระบุว่าความคุ้มกันทางการทูตใช้ไม่ได้ผลเกิดขึ้นเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา จากการที่ศาลสูงสุดของอังกฤษตัดสินว่าการจ้างงานคนทำงานในบ้านของทูตนั้นถือเป็น กิจกรรมเชิงพาณิชย์ จึงไม่อยู่ในข่ายที่จะได้รับการคุ้มครองภายใต้ความคุ้มครองทางการทูต

กรณีที่ศาลอังกฤษตัดสินในปี 2565 นั้นคือกรณีที่แม่บ้าน โจเซฟิน หว่อง ฟ้องร้องทูตซาอุฯ คาลิด บัสฟาร์ ซึ่งถือเป็นคดีแรกของโลกที่มีแนวทางตัดสินเช่นนี้

อำนาจจากการเป็น 'สปอนเซอร์วีซ่า' ให้แรงงานข้ามชาติ

อีกเรื่องหนึ่งที่ส่งผลให้เกิดความไม่มั่นคงต่อสถานะของคนทำงานบ้านเหล่านี้คือการที่นายจ้างของพวกเขาเป็นสปอนเซอรืวีซ่า ซึ่งเป็นการอนุญาตให้พวกเขาอาศัยอยู่ในประเทศนั้นๆ ได้

มีกรณีที่เกิดขึ้นน้อยครั้งมากคือกรณีที่ประเทศที่เป็นเจ้าบ้านทำเรื่องขอละเว้นสิทธิคุ้มกันทางการทูตของนักการทูตที่กดขี่แรงงานได้ เช่นในปี 2550 มีหญิงชาวอินเดีย 3 รายในสหรัฐฯ ที่ฟ้องร้องทูตคูเวตชื่อ วาลีต อัล-ซาเลห์ กับภรรยาของเขาคือ เมย์ซา อัล-โอมาร์ กล่าวหาว่าพวกเขาทำการค้ามนุษย์ บังคับใช้แรงงาน และทารุณกรรมทางร่างกาย เช่น การนำหัวของหญิงรายหนึ่งโขกกับกำแพง

ในคดีดังกล่าวนี้สหรัฐฯ เรียกร้องให้มีทางการคูเวตละเว้นการคุ้มกันทางการทูตต่อทูตเหล่านี้ เมื่อคูเวตไม่ยอมทำตาม อัง-ซาเลห์ก็ถูกขับออกจากสหรัฐฯ และถูกห้ามไม่ให้เดินทางเข้าประเทศอีก

สำหรับคดีของ 4 แม่บ้านฟิลิปปินส์ในเจนีวานี้ ทางภาคกิจสวิสระบุว่าการขอละเว้นความคุ้มกันทางการทูตเป็นหนึ่งในมาตรการที่สามารถนำมาใช้ได้ แต่ทว่า ฟอนเปเปอร์สสตราเตก็บอกว่า สิ่งที่มักจะเกิดขึ้นคือมีการหมุนเวียนย้ายทูตที่กระทำผิดออกไปแล้วส่งตัวทูตนั้นกลับประเทศตัวเอง

ที่น่าย้อนแย้งคือ ในบางกรณีมีทูตที่พูดเรื่องเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนเป็นผู้กระทำความผิดเช่นนี้เสียเองแต่กลับรอดพ้นเพราะความคุ้มกันทางการทูต เช่น กรณีปี 2560 ที่มีคนทำงานในบ้านชาวฟิลิปปินส์ 2 ราย ที่ฟ้องร้อง ที่ปรึกษาภารกิจเยอรมนีต่อสหประชาชาติในนิวยอร์ก พิต โคห์เลอร์ และ ภรรยาของเขาในข้อหาค้ามนุษย์และบังคับใช้แรงงาน โดยที่ทั้งคู่รอดเพราะความคุ้มกันทางการทูต ทั้งนี้ โคห์เลอร์เคยเป็นตัวแทนของสำนักงานการต่างประเทศเยอรมนีไปพูดในงานของเอ็นจีโอและงานวิชาการเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน

นอกเหนือจากช่องจากศาล

นอกเหนือจากช่องจากศาลแล้ว บางครั้ง คดีเช่นนี้ก็ถูกผลักไปให้ศาลแรงงานหรือหน่วยงานเจรจาไกล่เกลี่ยที่ทำการเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง โดยที่ฝ่ายนายจ้างคือผู้ที่ได้เปรียบจากอภิสิทธิทางการทูต

มาร์ติเน บรุนชวิก ประธานสำนักงานอนุญาโตตุลาการที่ไม่ใช้กฎหมาย (BAC) ในเจนีวากล่าวว่าระหว่างปี 2538-2565 ทาง BAC ได้้แทรกแซงจนทำให้เกิดการจ่ายเงินค่าชดเชยจากนายจ้างให้กับลูกจ้างโดยเฉลี่ยประมาณ 128,000 สวิสฟรังก์ต่อปี (ราว 4.9 ล้านบาท)

อย่างไรก็ตาม เลีย ราคอฟสกี ผู้ประสานงานจากองค์กรเอ็นจีโอ Ban Ying ในกรุงเบอร์ลิน ที่เชี่ยวชาญคดีการขูดรีดแรงงานในบ้านทูต กล่าวว่า ไม่เคยมีกรณีใดเลยที่แรงงานในบ้านทูตจะได้รับค่าจ้างชดเชยแบบเต็มจำนวนที่นายจ้างติดค้างไว้ ส่วนใหญ่แล้ว จะแค่ได้รับส่วนหนึ่งที่มาจากตัวทูตเองหรือจากสถานทูตจ่ายให้

มีการตั้งข้อสังเกตจาก Ban Ying อีกว่า ในบ้านทูตเหล่านี้มักจะมีการใช้แรงงานในบ้านที่มาจากประเทศโลกที่สาม โดยในจำนวนบ้านทูตประมาณ 200 หลังในเยอรมนีนั้น มีประมาณ หนึ่งในสาม ที่แรงงานทำงานในบ้านมาจากฟิลิปปินส์ มีบางส่วนในจำนวนน้อยกว่ามาจากประเทศในแถบแอฟริกาและอินโดนีเซีย โดยที่แรงงานเหล่านี้มาทำงานต่างประเทสเพื่อหวังว่าจะมีชีวิตที่ดีกว่าที่บ้านเกิด แต่กลับพอเจอกับการขูดรีดเช่นนี้แล้วก็ชวนให้รู้สึกว่าไม่มีอะไรต่างกันแลย


เรียบเรียงจาก
Four Filipinas sue diplomat employers in Switzerland for slavery, Aljazeera, 24-05-2023

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net