Skip to main content
sharethis

องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.)-คณะกรรมการนิติศาสตร์ จุฬาฯ ออกแถลงการณ์ พรรคการเมือง-ส.ว. ตั้งรัฐบาลโดยเคารพเสียงของประชาชน

 

16 พ.ค. 2566 เพจเฟซบุ๊ก องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยแพร่แถลงการณ์วสนนี้ (15 พ.ค.) เมื่อเวลา 19.52 น. ออกแถลงการณ์ร่วมขององค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะกรรมการนักศึกษา 24 คณะ เพื่อแสดงเจตนารมณ์กดดันให้พรรคการเมือง และสมาชิกวุฒิสภา 250 คน จัดตั้งรัฐบาลโดยเคารพเจตนารมณ์ของประชาชน

 

รายละเอียดแถลงการณ์

แถลงการณ์ร่วมขององค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะกรรมการนักศึกษา 24 คณะ/สถาบัน/วิทยาลัย/หลักสูตร เรื่อง ขอให้พรรคการเมืองและวุฒิสภา 250 คน จัดตั้งรัฐบาลโดยเคารพเจตนารมณ์ของประชาชน

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 นับเป็นการเลือกตั้ง ครั้งที่ 2 ภายใต้การบังคับใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปีพุทธศักราช 2560 และเป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 2 ภายหลังการรัฐประหารในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2557

ผ่านพ้นมาแล้วเป็นเวลาเกือบทศวรรษแต่ประเทศไทยยังคงมีมรดกของการก่ออาชญากรรมรัฐประหารหลงเหลืออยู่กับระบอบประชาธิปไตย ทั้งการมีอยู่ของสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 250 คน และการควบคุม แทรกแซงองค์การอิสระ รวมไปถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งหมดนี้ยังคงสร้างปัญหาให้การเมืองไทยในรอบหลายปีที่ผ่านมา ที่ทำให้ประเทศไทยเต็มไปด้วยความวุ่นวาย และไม่สามารถทำให้ประชาชนมองเห็นความหวังที่จะใช้ชีวิตต่อไปในประเทศนี้

การเลือกตั้งจึงนับว่าเป็นเครื่องมือแห่งความหวังเพียงชิ้นเดียวในเวลานี้ที่ทุกคนต่างก็ให้การยอมรับ แม้ระหว่างทางจะเต็มไปด้วยอุปสรรคมากมาย โดยเฉพาะการทำงานที่ไม่เป็นมืออาชีพของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แต่เราต่างก็เข้าคูหากันด้วยความหวังที่ว่าเสียงของเราจะสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ได้

สุดท้ายนี้ เมื่อการเลือกตั้งได้สิ้นสุดลงแล้ว พวกเราหวังว่านักการเมือง และพรรคการเมืองจะปฏิบัติตนตามที่ได้ให้คำมั่นสัญญาไว้กับประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดตั้งรัฐบาลที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ ขอให้ท่านยึดมั่นเจตนารมณ์ ฟังเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนตามวิถีทางในระบอบประชาธิปไตย พวกเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเห็นสมาชิกวุฒิสภาที่เคารพมติของประชาชน และเชื่อเช่นกันว่าจะได้เห็นรัฐบาลชุดใหม่ที่สง่างาม มีที่มาอย่างถูกต้องไม่ฝืนธรรมชาติหรือใช้กลไกพิสดารเพียงเพื่อให้ตนเองได้ดำรงตำแหน่งต่อไป เรื่องราวเหล่านี้ควรยุติลง และเริ่มกระบวนการฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยให้อำนาจหวนคืนสู่ประชาชนอย่างแท้จริง 

เพจเฟซบุ๊ก 'คณะกรรมการนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย' ออกแถลงการณ์เช่นเดียวกัน เรียกร้องให้ทางสมาชิกวุฒิสภา และทุกพรรคการเมือง ยอมรับมติของประชาชนในการเลือกตั้ง 

รายละเอียดแถลงการณ์ของ คณะกรรมการนิติศาสตร์ จุฬาฯ

ตามที่ได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป ในวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา และคณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีการรายงานผลอย่างไม่เป็นทางการแล้ว ปรากฏว่าพรรคซึ่งได้รับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นอันดับที่ 1 คือ พรรคก้าวไกล จำนวน 152 ที่นั่ง และในวันต่อมา ก็ปรากฏว่าพรรคก้าวไกลสามารถรวมเสียงพรรคการเมืองซึ่งได้รับเลือกตั้งเป็นคะแนนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่กลับมีการรายงานข่าวว่าวุฒิสมาชิกบางรายอาจไม่เห็นชอบหรืองดออกเสียงในการลงมติของรัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี นั้น

ในระบอบประชาธิปไตย การเลือกตั้งเป็นการแสดงออกซึ่งอำนาจอธิปไตยโดยประชาชนโดยการไปเลือกตั้งผู้แทนของตน เนื่องจากระบอบประชาธิปไตยนั้นถือกันว่าประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ เจตจำนงของประชาชนซึ่งแสดงออกมาจึงเป็นเสมือนเสียงแห่งสวรรค์ที่ทุกฝ่ายควรเคารพ ดังสุภาษิตละตินที่ว่า "Vox populi, vox Dei" (The voice of the people is the voice of God) อีกทั้งตามธรรมเนียมการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของไทยนั้น มีธรรมเนียมปฏิบัติอยู่ประการหนึ่งว่า พรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่งนั้น สมควรเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล และมีสิทธิในการรวบรวมเสียงสนับสนุนเป็นพรรคแรก เพราะถือเป็นพรรคซึ่งได้รับฉันทานุมัติของประชาชนในการเป็นรัฐบาล

ดังนั้น หากมีการดำเนินการบิดเบือนเจตนารมณ์ของประชาชนเป็นประการอื่น เช่น การดำเนินการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย โดยที่พรรคการเมืองบางพรรคจะไปรวมกับวุฒิสมาชิกในการลงมติของรัฐสภาเพื่อให้ได้จัดตั้งรัฐบาล หรือการที่วุฒิสมาชิกจะลงมติไม่เห็นชอบหรืองดออกเสียงเพื่อขัดขวางการตั้งรัฐบาล โดยอ้างว่า “ถูกต้องชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ” นั้น การกระทำดังกล่าว ย่อมเป็นการกระทำที่ไม่อาจเป็นที่ยอมรับได้ในระบอบประชาธิปไตย และอาจนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองและความขัดแย้งรุนแรงในสังคมได้

คณะกรรมการนิสิตคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงขอเรียกร้องไปยังวุฒิสมาชิก 250 คน และพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งทุกพรรค ให้มีมารยาททางประชาธิปไตย ยอมรับมติของประชาชนในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านมา และเรียกร้องให้ประกาศต่อสาธารณชนโดยเร็วว่า จะลงมติให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกลเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อสร้างความชัดเจนต่อประชาชน และเพื่อให้พรรคการเมืองที่ได้รับฉันทานุมัติจากประชาชนได้จัดตั้งรัฐบาลและได้บริหารประเทศต่อไป การดำเนินการดังกล่าว นอกจากจะมีความสง่างามในทางประชาธิปไตยแล้ว ยังจะเป็นการเปิดโอกาสให้ประเทศได้เดินหน้าต่อไปในเส้นทางที่เป็นที่ยอมรับของประชาคมโลกอีกด้วยทั้งนี้ 

นอกจากนี้ ชมรมแพทย์ชนบท โพสต์เรียกร้องโหวตสนับสนุน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี ตามเจตนารมณ์เสียงส่วนใหญ่ของพี่น้องประชาชนคนไทย อันเป็นการเคารพต่อหลักการประชาธิปไตย

รายละเอียด

จากปรากฏการณ์การเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ที่สามารถสะท้อนเจตนารมณ์ของพี่น้องประชาชนไทยได้ชัดเจน อันเป็นสัญญาณความก้าวหน้าทางประชาธิปไตยที่สำคัญยิ่ง

ชมรมแพทย์ชนบท ขอเรียกร้องต่อ ส.ส.จากทุกพรรคการเมือง และ ส.ว.ทั้ง 250 คนให้ร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์ประชาธิปไตย เคารพในเจตนารมณ์เสียงส่วนใหญ่ของพี่น้องคนไทยทั้งประเทศ โหวตสนับสนุนให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ซึ่งได้ฉันทามติมีจำนวน ส.ส.มากที่สุด เป็นนายกรัฐมนตรี

นี่จะเป็นการก้าวข้ามความขัดแย้งที่ยาวนานได้ดีที่สุด เป็นการแสดงออกซึ่งชุดความคิดที่เคารพหลักการประชาธิปไตยเสียงข้างมาก เป็นการเคารพต่อเจตนารมณ์ และความหวังของผู้คนที่หวังจะเห็นการเปลี่ยนแปลง เพื่อนำประเทศเดินไปข้างหน้า

ชมรมแพทย์ชนบทหวังจะเห็นสถาบันรัฐสภาไทย เป็นเสาหลักของสังคมไทย ขอให้ ส.ส.ทุกพรรค และ ส.ว.ทุกคน ร่วมเป็นส่วนสำคัญของการเดินหน้าประชาธิปไตยไทย

ด้วยความหวังในสปิริตประชาธิปไตยของ ส.ส. และ ส.ว.ทุกคน

ชมรมแพทย์ชนบท 

16 พฤษภาคม 2566

แถลงการณ์ชมรมชมรมแพทย์ชนบท

การออกแถลงการณ์ทั้ง 3 แห่งเกิดขึ้น ข้อมูลจากเว็บไซต์คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เมื่อเวลา 14.00 น. ของวันที่ 16 พ.ค. 2566 และประธาน กกต. แถลงผลนับคะแนนการเลือกตั้งปี 2566 หลังนับคะแนนไปแล้ว 99 เปอน์เซ็นต์ เมื่อ 15 พ.ค. 2566

อันดับ 1 พรรคก้าวไกล จำนวน ส.ส. 152 ที่นั่ง รองลงมา เป็นพรรคเพื่อไทย ได้จำนวน ส.ส. 141 ที่นั่ง และอันดับที่ 3 คือพรรคภูมิใจไทย จำนวน 70 ที่นั่ง 

วานนี้ (15 พ.ค.) พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงหลังรับทราบผลการเลือกตั้งว่า พร้อมจัดตั้งรัฐบาล โดยรวมกับพรรคการเมือง อีก 3 พรรค ซึ่งเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้านเดิม ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ และพรรคเสรีรวมไทย และร่วมกับพรรคใหม่อีก 2 พรรค ได้แก่ พรรคเป็นธรรม และพรรคไทยสร้างไทย ซึ่งจะทำให้ได้จำนวนที่นั่ง ส.ส. ในรัฐสภารวม 310 ที่นั่ง จากจำนวน 750 ที่นั่ง (รวม ส.ว.) 

ถ้าพิธา ต้องการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของประเทศ ต้องได้เสียง 2 สภา เกินกึ่งหนึ่งคือ 367 เสียง หรือหมายความว่าพรรคก้าวไกล ต้องได้เสียงยกมือโหวตในรัฐสภาจากขั้วพรรคการเมืองอื่นๆ หรือเสียงของสมาชิกวุฒิสภา รวมกันอย่างน้อย 58 เสียง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net