Skip to main content
sharethis

ชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ผู้สมัคร ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ จี้ กกต. เปิดอีก 129 รายถือครองหุ้นสื่อ หลังถูกแขวนอยู่คนเดียว โดยภายหลังศาลฎีกามีคำสั่งคืนสิทธิให้ เหตุสัดส่วนที่น้อยมาก ย่อมไม่มีอำนาจสั่งการ

10 พ.ค.2566 หลังจากสัปดาห์ก่อนศาลฎีกามีคำสั่งให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งที่ 2 จ.นครนายกคืนสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ให้กับ ชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ผู้สมัคร ส.ส.เขต 2 จ.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ โดยเห็นว่า การที่ผู้ร้องเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท AIS จำนวนดังกล่าว ถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก ย่อมไม่มีอำนาจสั่งการให้บริษัท AIS ดำเนินการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ร้องและพรรคการเมืองของผู้ร้องหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครและพรรคการเมืองอื่น เพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งของผู้ร้องหรือพรรคการเมืองของผู้ร้องได้นั้น

ล่าสุดวันนี้ (10 พ.ค.) สำนักข่าวไทย รายงานว่า ชาญชัย ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ขอให้ตีความเรื่องการถือครองหุ้นสื่อ หลังจากตกเป็น 1 ในผู้สมัคร 130 คนที่มีรายชื่อถือยื่นถือหุ้นสื่อ แต่ถูกแขวนเพียงคนเดียว โดยชาญชัย กล่าวว่า เป็นผู้สมัครเพียงคนเดียวใน 130 คนที่ถูกกกต.จังหวัดนครนายกตัดสิทธิ์การสมัคร ซึ่งศาลฎีกามีคำพิพากษาสั่งให้คืนสิทธิ์การสมัครกับตนแล้ว จึงขอทราบว่าอีก 129 คนที่กกต.มีรายงานว่าถือครองหุ้นนั้นถือหุ้นอะไร อย่างไร มีหุ้นโทรคมนาคมเช่นเดียวกับตนหรือไม่ และเหตุใดถึงไม่ถูกตัดสิทธิ์

ชาญชัย กล่าวว่า นอกจากนี้ ตามรายละเอียดปรากฏตามคำสั่งศาลฎีกา ที่วินิจฉัยให้เหตุผลประกอบกับความเห็นของ ผศ.กัญภัส อู่ตะเภา คณบดีวิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ที่เบิกความว่า ตามหลักวิชาการ คำว่า “สื่อมวลชน” หมายถึง “สื่อกลางที่นำข่าวสาร สาร และเนื้อหาสาระทุกประเภทไปสู่มวลชน หรือกลุ่มคนจำนวนมาก  ไม่ว่ารูปแบบใด สื่อดั้งเดิมมีเช่น หนังสือพิมพ์วิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ ปัจจุบันรวมถึงสื่อใหม่ หรือสื่อออนไลน์ด้วย เช่น เฟสบุ๊ก ยูทูบ ติ๊กต็อก หรือแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ หากบุคคล นิติบุคคล หรือองค์กรใดเป็นสื่อกลางในการนำข่าวสารหรือเนื้อหาไปยังผู้คนจำนวนมากได้ หรือถือครองสื่อที่เป็นช่องทางการสื่อสาร หรือผลิตเนื้อหาไปยังผู้คนจำนวนมาก และผู้คนจำนวนมากสามารถรับสารนั้นได้ ถือเป็นสื่อมวลชน”

ชาญชัย กล่าวว่า ขอถามกกต. กลางว่า ในกรณีที่พรรคการเมืองได้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ทั้ง เฟซบุ๊ก ยูทูป ติ๊กต็อก หรือแอปพลิเคชันต่างๆ ในการโฆษณาหาเสียงและเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์โดยตรงไปยังผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หรือผู้คนจำนวนมากให้รับทราบข่าวสารนั้นๆ ถือว่าเป็นเจ้าของสื่อมวลชนตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 98 (3) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. พ.ศ. 2561 มาตรา 42 (3) หรือไม่ และถ้า กกต.อนุญาตให้ใช้ได้ ต้องถามว่ากกต. มีอำนาจใดอนุมัติ อนุญาตเหนืออำนาจของรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้ง จึงขอให้กกต.กลางตอบให้ชัดว่าผิดหรือไม่ เพราะทั้งพรรคการเมืองและผู้สมัครส.ส.เกือบทุกคนใช้สื่อสังคมออนไลน์ หาเสียงในรูปแบบต่าง ทั้งผลิตเองและใช้จ้างผู้อื่นผลิตลงในระบบสื่อสังคมออนไลน์ ผิดรัฐธรรมนูญและกฎหมายหรือไม่ ต้องถูกยุบพรรค หรือตัดสิทธิ์หรือไม่  

“ตอนนี้ผมเป็นคนเดียวใน 130 คน ที่ถูก กกต.ชี้ว่าถือหุ้นสื่อ ก่อนที่ศาลจะสั่งให้คืนสิทธิ์ จึงขอให้ กกต.ชี้แจงของอีก 129 คนที่เหลือว่า เป็นอย่างไร โดยต้องตอบภายในวันที่ 14 พ.ค.ด้วย ถ้าไม่ตอบ แปลว่า กกต.ละเมิดผมเพียงคนเดียว หลังเลือกตั้งหมายศาลมาถึง กกต.แน่ อย่างไรก็ตามเรื่องนี้เป็นเรื่องเล็ก เรื่องที่ผมร้องวันนี้เป็นเรื่องใหญ่กว่าคือการที่พรรคการเมือง นักการเมืองที่เผยแพร่ข้อมูลต่างๆ ผ่านเฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์ ติ๊กต๊อก ถ้าผิดถือว่าต้องถูกถอดถอนหมด จะทำให้ กกต.ไม่สามารถประกาศผลการเลือกตั้งได้ แต่หากกกต.รับรอง ความซวยจะมาถึงกกต. แต่เชื่อว่าเรื่องนี้ศาลฎีกาจะมีทางออก” ชาญชัย กล่าว

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net