Skip to main content
sharethis

'ภาคีSaveบางกลอย' แถลงขอให้อัยการทบทวนไม่สั่งฟ้องชาวบางกลอย จ.เพชรบุรี 28 ราย กรณีอพยพกลับบางกลอยบนเมื่อปี'64 ชี้ซ้ำเติมความยากลำบากชาวบ้าน-การจับกุมละเมิดสิทธิหลายประการ สวนทางแนวโน้มการแก้ปัญหาของ คกก.แก้ปัญหาบางกลอย

2 พ.ค. 2566 ภาคีSaveบางกลอย ออกแถลงการณ์ภาคีเซฟบางกลอยบางกลอย คดีเดินหน้า ความยุติธรรมถอยหลัง โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

ยังจำกันได้หรือไม่?

เหตุการณ์เมื่อเดือน ก.พ. 2564 เกิดยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชรโดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดปฏิบัติการผลักดันชาวบ้านบางกลอยออกจากถิ่นฐานดั้งเดิม และเมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2564 เจ้าหน้าที่ได้สนธิกำลังกันอีกครั้งเพื่อเข้าควบคุมตัวชาวบ้านบางกลอยลงมาจากบ้านบางกลอยบน กว่า 80 ราย มีการออกหมายจับจำนวน 30 ราย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ หน่อแอะ มีมิ ลูกชายของปู่คออี้ มีการตั้งข้อกล่าวหาความผิดตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484

กลุ่มภาคีเซฟบางกลอย ได้มีการยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมถึงอัยการจังหวัดเพชรบุรี และอัยการสูงสุด เพื่อให้พิจารณาสั่งไม่ฟ้องคดี

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2566 ทางรองอัยการสูงสุด ได้พิจารณาหนังสือร้องขอความเป็นธรรม

“มีคำสั่งยุติเรื่องขอความเป็นธรรมในคดีนี้ของผู้ร้อง โดยมีความเห็นว่า การที่พนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องผู้ร้องทั้ง 28 คนตามข้อกล่าวหาโดยมีเหตุผลประกอบชอบด้วยข้อเท็จจริงแล้ว ข้ออ้างของผู้ร้องไม่อาจรับฟังหักล้างพยานหลักฐานตามข้อกล่าวหาได้” นั่นหมายความว่า จะมีการเดินหน้าสั่งฟ้องพี่น้องบางกลอยทั้งหมด

ในขณะที่ท่าทีรัฐบาลต่อการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ เป็นไปในทิศทางที่ดี มีการตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย และมีการทำข้อเสนอถึงนายกรัฐมนตรี มีการลงนามเห็นชอบเมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2566 ใน 2 ประเด็น

1. ข้อเสนอในการการแก้ไขปัญหา มี 2 แนวทาง

แนวทางที่ 1 : กรณีที่พี่น้องบางกลอยต้องการอยู่ในชุมชนปัจจุบัน ให้ใช้แนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตแลส่งเสริมอาชีพ

แนวทางที่ 2 : กรณีพี่น้องบางกลอยที่ต้องการกลับไปยังชุมชนดั้งเดิม (บางกลอยบน-ใจแผ่นดิน) เพื่อดำรงวิถีชีวิตด้วยระบบเกษตรแบบไร่หมุนเวียน ให้ใช้แนวทางพัฒนาพื้นที่ต้นแบบส่งเสริมระบบเกษตรแบบไร่หมุนเวียน ตามหลักการคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ถูกรับรองโดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 70 และมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553

2. ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่งตั้งคณะทำงานร่วม 3 ฝ่าย เพื่อดำเนินการสำรวจการใช้ประโยชน์พื้นที่ตามวิถีวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย

จะเห็นได้ว่า ท่าทีของภาครัฐต่อประเด็นปัญหาพี่น้องบางกลอย มีการยอมรับถึงที่อยู่อาศัยดั้งเดิม ซึ่งก็คือ บางกลอยบน-ใจแผ่นดิน มีการยอมรับในวิถีชีวิตระบบเกษตรแบบไร่หมุนเวียน มีแผนการดำเนินการที่จะให้พี่น้องบางกลอย กลับไปใช้ชีวิตในพื้นที่บ้านเกิด

ทิศทางดังกล่าว สวนทางกับท่าทีของสำนักงานอัยการที่ยังคงเดินหน้า ไม่ยุติการดำเนินคดีกับพี่น้องบางกลอย ซึ่งจุดเริ่มต้นของคดีก็มาจากการต่อสู้เพื่อให้กลับไปยังบ้านเกิด และเป็นคดีที่ถูกแจ้งถึงการบุกรุก เพียงเพราะกลับไปยังพื้นที่เดิม

ทางภาคีเซฟบางกลอย มีความคิดเห็นต่ออัยการสูงสุด ดังนี้

1. ขอเรียกร้องให้มีการทบทวนความเห็น

ตามพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 21 อัยการมีอิสระในการพิจารณา และสามารถมีคำสั่งในการไม่ฟ้องดำเนินคดีกับพี่น้องบางกลอยได้

การเดินหน้าฟ้องคดีจะเป็นการซ้ำเติมปัญหาและสร้างภาระในการต่อสู้คดีในชั้นศาล ทั้งภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าอาหาร และพี่น้องอาจต้องสูญเสียอิสรภาพ เท่ากับเป็นการเพิ่มความทุกข์ยากในการดำเนินชีวิต ซึ่งในปัจจุบันพี่น้องบางกลอยก็ได้ดำเนินชีวิตด้วยความยากลำบากอย่างแสนสาหัสอยู่แล้ว

2. การดำเนินการจับกุมพี่น้องบางกลอย เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2564 นั้นมีการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอย จากการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พบว่า

2.1 มีการเก็บ DNA โดยแจ้งว่าเป็นการตรวจโรค ในกระบวนการไม่มีล่ามแปล ทำให้พี่น้องที่ถูกจับกุมเกือบทั้งหมดซึ่งสื่อสารภาษาไทยไม่ได้ ไม่เข้าใจวัตถุประสงค์ในการดำเนินการดังกล่าว

2.2 การดำเนินการสอบสวน มีการใช้ล่ามแปลภาษาซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่อุทยาน ที่เป็นคู่กรณีโดยตรงของพี่น้อง และทนายความที่เจ้าหน้าที่จัดหามาไม่ได้มีการให้คำแนะนำหรือช่วยเหลือใดๆ เลย

2.3 ไม่มีการอธิบายหรือแปลบันทึกการสอบสวนให้ฟังก่อนพิมพ์ลายนิ้วมือ ซึ่งทำให้พี่น้องมาทราบภายหลังว่า บันทึกการสอบสวนนั้นระบุว่า ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา

และในวันดังกล่าว ก่อนนำตัวพี่น้องลงมาจากบางกลอยบน เจ้าหน้าที่ได้แจ้งว่าหากยอมลงมากับเจ้าหน้าที่ จะมีการจัดพื้นที่ทำกินให้กับทุกครัวเรือน แต่เมื่อเจ้าหน้าที่พาพี่น้องมาถึงสำนักงานอุทยานแห่งชาติ กลับมีการควบคุมตัวส่งดำเนินคดี และส่งไปฝากขังยังศาลจังหวัดเพชรบุรีทันที ถูกควบคุมตัวที่เรือนจำ และปัจจุบันยังไม่มีการดำเนินการจัดสรรพื้นที่เพิ่มเติมให้แก่พี่น้องตามที่รับปากแต่อย่างใด

ยิ่งเวลาผ่านไปนานเท่าไร กระแสความสนใจต่อประเด็นนี้ในสังคม ยิ่งน้อยลงเรื่อยๆ ทางภาคีเซฟบางกลอย เราจะยืนเคียงข้างพี่น้องและสื่อสารกับผู้คนในสังคม เพื่อให้ประชาชนและสื่อมวลชน ร่วมกันติดตาม และยืนเคียงข้างพี่น้องชาวบ้านบางกลอย จนกว่าพวกเขาจะได้เดินทางกลับบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน

สำหรับคดีนี้เริ่มขึ้นเมื่อ 5 มี.ค. 2564 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานสนธิกำลังไปที่บางกลอยบน เพื่อควบคุมตัวและกวาดต้อนชาวบ้านลงมาได้ทั้งหมด 85 คน โดยมีหมายจับจากศาลจังหวัดเพชรบุรี 30 คน โดยในจำนวนนี้เป็นเยาวชน จำนวน 2 คน ในข้อหา มาตรา 19 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ และ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ 

ประเด็นการกลับไปที่บ้านบางกลอยบนของชาวบ้านนั้น สืบเนื่องจากช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศไทย ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ทำให้ชาวบ้านประสบปัญหาขาดแคลนอาหาร และรายได้อย่างหนัก ประกอบกับที่ดินที่รัฐจัดสรรให้ชาวบ้านที่บ้านบางกลอยล่าง ไม่สามารถเพาะปลูกพืชผลการเกษตรได้ ทำให้เมื่อช่วงต้นปี 2564 ชาวบ้านจึงตัดสินใจอพยพย้ายกลับขึ้นไปที่บ้านบางกลอยบน เพื่อทำการเกษตรในช่วงวิกฤต ก่อนที่เมื่อ มี.ค. 2564 เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปพาตัวชาวบ้านกลับลงมา พร้อมกับการดำเนินคดีบุกรุกป่าดังที่รายงานข้างต้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net