Skip to main content
sharethis

ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการสารเสพติด ภาคเหนือชี้เรือนจำไม่ใช่ทางออกของการแก้ปัญหายาเสพติดเพราะคนที่ต้องโทษจนติดคุกไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตหาอาชีพสุจริตทำได้ทำให้เกิดการวนเวียนของวงจรการค้ายาเสพติดมากขึ้น พร้อมแนะนำว่าทางออกของปัญหาดังกล่าวคือ การปรับโครงสร้างสังคมพร้อมการใช้กฎหมายเพื่อการจับกุมผู้ค้ารายใหญ่อย่างมีประสิทธิภาพ

อภินันท์ อร่ามรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการสารเสพติด ภาคเหนือ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทยที่มีการพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวตามยุคสมัยของสังคมตั้งแต่การออกนโยบายปราบปราบ การพยายามสร้างความร่วมมือสอดส่องในชุมชน การแก้ปัญหาด้วยการรักษาบำบัด แต่ก็ไม่มีทีท่าว่าจำนวนผู้เสพยาเสพติดจะลดลงซ้ำยังทำให้เกิดปัญหานักโทษล้นคุกตามมาด้วย

วันที่ 30 มกราคม 2566 THE STANDARD รายงานว่า อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เตรียมออกร่างกฎกระทรวงเรื่องการถือครองยาบ้าฉบับใหม่ เพื่อปรับจำนวนการถือครองยาเสพติดหรือยาบ้าเกิน 1 เม็ดขึ้นไปให้ถือว่าเป็นผู้จำหน่าย

แม้เกิดข้อกังวลว่าการแก้ไขกฎกระทรวงดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยยาเสพติดที่ต้องการบำบัดรักษาและเพิ่มปัญหาคนล้นคุกหรือไม่ อนุทินมองว่าเป็นเรื่องของการดำเนินงานพร้อมเชื่อมั่นว่ากระทรวงสาธารณสุขจะสามารถหารือทางออกด้านศักยภาพในการบำบัดผู้ป่วยได้แน่นอน

การออกร่างกฎกระทรวงดังกล่าวขัดกับหลักคิดของกฎหมายยาเสพติดที่ถูกบังคับใช้ในปัจจุบัน คือ พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 และ พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 ซึ่งมีสาระสำคัญในการปรับมุมมองที่มีต่อประเด็นปัญหายาเสพติดจากเดิม คือ แก้ปัญหาผู้เสพยาเสพติดด้วยการบำบัดรักษามากกว่าการลงโทษทางอาญาและปรับแนวทางการลงโทษผู้กระทำผิดให้สมเหตุสมผลกับลักษณะการกระทำผิดมากขึ้น พร้อมมุ่งเน้นการปราบปรามผู้ค้ามากกว่าผู้เสพเพื่อแก้ปัญหาจำนวนผู้ต้องขังที่ล้นเรือนจำ

ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาใหญ่ของสังคม การปรับร่างกฎหมายควรมาจากทุกภาคส่วน 

อภินันท์ อร่ามรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการสารเสพติด ภาคเหนือ ได้ให้ความเห็นกับการออกร่างกฎกระทรวงเรื่องการถือครองยาบ้าฉบับใหม่ว่า ประเทศไทยเคยมีการบังคับใช้กฎหมายลักษณะดังกล่าว คือ กำหนดจำนวนขั้นต่ำของยาเสพติดที่มีในครอบครองแล้วเพิ่มโทษทางอาญา แต่การแก้ปัญหายาเสพติดควรเป็นการบังคับใช้กฎหมายที่ลดความเป็นอาญาตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 มากกว่า

พร้อมเสริมว่าการปรับร่างกฎหมายแต่ละฉบับควรมาจากการมีส่วนร่วมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกระดับไม่ใช่แค่บุคคลไม่กี่ร้อยคน การแก้กฎหมายดังกล่าวควรผ่านการพิจารณาของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่เปิดพื้นที่ให้ประชาชนและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นของการดูแลผู้เสพสารเสพติด 

“เพราะงั้นผมคิดว่าผมจะให้น้ำหนักกับกฎหมายที่มีการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนรอบด้านทุกระดับมากกว่ากฎหมายที่อาจใช้เวลาเพียงไม่นาน คนไม่กี่คน ใช้อำนาจที่มีอยู่มาเขียนโดยไม่ฟังความคิดเห็นของประชาชนหรือสังคมโดยรวมเลย การวางอาญาลักษณะดังกล่าวเราก็เห็นตัวอย่างในอดีตมากมายว่ามันล้มเหลวอย่างไรบ้าง” 

นอกจากนั้น อภินันท์ยังคิดว่าการเพิ่มโทษทางอาญาอาจเพิ่มความลำบากใจให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในการปฏิบัติหน้าที่ เพราะการกำหนดว่าผู้มียาบ้าในครอบครองหนึ่งเม็ดเป็นผู้ค้าก็ทำให้พวกเขาทำงานยากขึ้น คือ ตำรวจที่ไม่ดีอาจหาช่องทางในการหาผลประโยชน์ ส่วนตำรวจที่ดีก็อึดอัดใจที่ต้องทำงานภายใต้กฎหมายที่หมิ่นเหม่และอาจถูกมองว่าเป็นคนไม่ดีไปด้วย 

นโยบายกวาดล้างยาเสพติดทำนักโทษล้นคุก ส่งผลเชิงลบทั้งด้านสังคมและสาธารณสุข

อภินันท์มองว่าการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดผ่านนโยบายการกวาดล้างยาเสพติด ทำให้เกิดภาวะนักโทษล้นคุก คือ เรือนจำในประเทศไทยมีพื้นที่สำหรับการรองรับนักโทษประมาณแสนกว่าคน แต่ปัจจุบันมีนักโทษในเรือนจำมากถึงเกือบ 400,000 คน โดย 4 ใน 5 เป็นกลุ่มคดีเกี่ยวกับยาเสพติดทั้งจากการค้า เสพ และครอบครอง ซึ่งภาวะดังกล่าวไม่ได้มีผลเชิงลบแค่เรื่องการจัดการดูแลนักโทษในเรือนจำได้ไม่ทั่วถึงแต่ยังส่งผลกระทบทั้งด้านสังคมและสาธารณสุข

ปัญหาด้านสังคม คือ คุกกลายเป็นพื้นที่เรียนรู้การก่ออาชญากรรมสำหรับบางคน หรือเกิดเครือข่ายการค้ายาเสพติดในเรือนจำ เช่น บางกรณีถูกจับกุมจากการเสพอย่างเดียวไม่เคยเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ายาเสพติด แต่เมื่อถูกตัดสินจำคุกแล้วได้พบกับผู้ที่มีประสบการณ์ค้ายา เขาก็อาจได้เรียนรู้วิธีการหารายได้จากช่องทางดังกล่าว อภินันท์มองว่ายิ่งติดคุกนานเท่าไหร่พวกเขาก็ยิ่งมีเวลาเรียนรู้งานมากเท่านั้น

“แม้ว่าการตัดสินลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมจะจบสิ้นไปแล้ว คนที่เขาไม่ได้ตั้งใจเป็นอาชญากร แต่เมื่อได้ชื่อว่าโดนจำคุกแล้วก็อาจทำให้ครอบครัวแตกแยก โอกาสที่จะกลับมาใช้ชีวิตปกติหรือเป็นคนดีของสังคมก็น้อยลง เพราะไม่ได้รับความไว้วางใจจากสังคมและบางคนก็ไม่มีใครรับเข้าทำงาน” 

อภินันท์มองว่าการไม่ให้โอกาสผู้เคยกระทำความผิดก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ปัญหาอาชญากรรมเพิ่มขึ้น เพราะผู้ที่เคยถูกจำคุกมักกลายเป็นผู้ขาดโอกาสทางสังคม โดยเฉพาะบางคนที่ไม่ได้ตั้งใจเป็นอาชญากรแต่เมื่อเคยถูกตัดสินจำคุกแล้วก็หางานยากขึ้น แม้กระทั่งภาครัฐที่ออกนโยบายคืนคนดีสู่สังคมก็ไม่ยังรับผู้มีประวัติต้องคดีเข้าทำงานแม้รับโทษไปแล้วก็ตาม 

นอกจากนั้น การเอาคนจำนวนมากไปแออัดอยู่ในพื้นที่หนึ่งยังส่งผลต่อปัญหาด้านสาธารณะสุข คือ เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคและไม่สามารถจัดการดูแลได้ทั่วถึง โดยเฉพาะวัณโรคที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในเรือนจำทั่วประเทศ 

“เมื่อกล่าวถึงการแพร่ระบาดของวัณโรคในเรือนจำ คนก็อาจคิดว่าไม่เห็นเป็นไรและนี่อาจเป็นส่วนหนึ่งของการต้องโทษ แต่ความจริงแล้วคนที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว คือ เจ้าหน้าที่ราชฑัณฑ์”

เจ้าหน้าที่ราชฑัณฑ์ คือ กลุ่มคนที่มีอัตราการติดเชื้อวัณโรคสูงกว่าประชาชนทั่วไปเพราะต้องทำงานอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีเชื้อโรคปะปน ขนาดเรือนจำที่มีจำกัดทำให้ไม่สามารถจัดการแบ่งพื้นที่ปลอดเชื้อได้ กรณีที่เห็นชัดที่สุดคือช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดวลี ‘คุกแตก’ จนมีการเสนอมาตรการระบายนักโทษออกจากเรือนจำ

ดังนั้น อภินันท์จึงให้ความเห็นว่าการที่คนในสังคมเข้าใจว่าการจับนักโทษยาเสพติดเข้าไปไว้ในเรือนจำแล้วสังคมจะปลอดภัยก็ไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด เพราะเมื่อไหร่ที่พวกเขาบังเอิญรับเชื้อโรคแล้วพ้นโทษออกมาใช้ชีวิตนอกเรือนจำก็อาจเพิ่มอัตราการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว

แม้ปัจจุบันจะยังไม่พบหลักฐานทางวิชาการที่เป็นทางออกที่ดีที่สุดแต่ยังพอมีหลักฐานชี้นโยบายที่เหมาะสมกับการแก้ไขปัญหายาเสพติด คือ การพยายามทำให้เกิดการดูแลกันภายในชุมชน นอกจากจะช่วยลดปัญหาข้างต้นแล้วยังเป็นการเพิ่มโอกาสให้บุคคลเหล่านั้นสามารถใช้ชีวิตปกติในชุมชนได้โดยไม่ถูกตีตราว่าเป็นคนที่เคยติดคุก

‘สร้างความเข้าใจและร่วมแก้ไขปัญหาในชุมชน’ ทางออกของปัญหายาเสพติดที่ดีกว่ากฎหมาย

“การแก้ปัญหาโดยหวังว่าคุกจะเป็นทางออกและคนจะกลัว ผมคิดว่าเรื่องเมาแล้วขับจากสุรามีผลกระทบมากมายอย่างอุบัติเหตุก็ไม่เห็นมีคนกลัว ดังนั้น การทำกฎหมายให้ร้ายแรงก็ไม่ได้แปลว่าคนจะกลัวเช่นกัน”

องค์การสหประชาชาติ (United Nations) ได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหายาเสพติดกับนักโทษล้นคุก คือ การลดทอนความเป็นอาญาและปรับวิธีการตอบสนองต่อการเสพหรือติดยาให้เป็นการช่วยเหลือด้านสุขภาพและสังคม ผ่านหลักคิดที่ว่าไม่มีใครเกิดมาเพื่อเสพยาหรือต้องการติดคุกแต่เกิดจากปัญหาชีวิตที่รุมเร้าและไม่สามารถหาทางออกได้ด้วยตนเองจึงหันมาพึ่งยาเสพติด สุรา บุหรี่ หรือการพนัน จึงจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจและการแก้ปัญหาร่วมกันในสังคม ชุมชน และครอบครัวเพื่อผลประโยชน์ระยะยาว คือ การได้ทรัพยากรบุคคลคืนสู่สังคมและตลาดแรงงาน

อภินันท์กล่าวว่า ประเทศไทยได้รับนโยบายจากองค์กรสหประชาชาติตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 และนำมาปรับใช้ในกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ดังนั้น การเพิ่มความเป็นอาญาในกฎกระทรวงยาเสพติดที่จะเกิดขึ้นจึงสวนทางกับเจตนารมณ์ของกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ ซึ่งประเทศไทยเคยได้รับการชื่นชมจากองค์กรสหประชาชาติในการปรับกฎหมายยาเสพติดให้สอดคล้องกับหลักสากล ดังนั้น เราจึงต้องทำงานในระดับชุมชนเพื่อสานต่อเจตนารมณ์ที่สอดคล้องกับทิศทางที่แก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างมากกว่าลงโทษ 

แนะนำมุ่งจับผู้ค้ารายใหญ่มากกว่ารายย่อยหรือผู้มียาเสพติดในครอบครองปริมาณน้อย

 

หากติดตามข่าวการจับกุมเล็กๆ หรือได้มีโอกาสเข้าไปพูดคุยกับผู้ต้องขังในเรือนจำหรือนักโทษที่ต้องโทษแล้ว จะช่วยให้เราเข้าใจว่าทำไมการแก้ปัญหายาเสพติดจึงไม่ควรเป็นการเพิ่มโทษอาญา เพราะเป็นปัญหาที่เกี่ยวพันกับโครงสร้างสังคมอย่างที่กล่าวไปข้างต้น

อภินันท์ได้ยกตัวอย่างกรณีที่เขาได้มีโอกาสเข้าไปพูดคุยกับผู้ต้องโทษยาเสพติด คือ เขาถูกจับกุมจากการมียาบ้าในครอบครอง 2-3 เม็ด เพื่อใช้เสพและขับรถทำงานดึก ๆ และไม่ได้ใช้เพื่อทำร้ายใคร แต่เมื่อถูกจับกุมและกลายเป็นคดีอาญาที่ต้องติดคุกแล้วเมื่อออกมาเขาก็หางานทำยากขึ้นและเปลี่ยนวิถีเป็นอาชญากร ทำให้เกิดการสูญเสียในทรัพยากรบุคคลในประเทศ 

“คนที่หาเช้ากินค่ำ อะไรที่ทำให้เขาทำงานมากขึ้นและเป็นประโยชน์ต่อครอบครัวเขาก็ยินดีทำแม้จะดูหมิ่นเหม่ผิดกฎหมาย เรามีนักโทษแบบนี้เยอะมากหรือบางคนก็ยินดีเป็นเครือข่ายผู้ค้าเพื่อให้ได้เงินมา”

ตัวอย่างการใช้ยาเล็กน้อยตามวิถีไม่อาจสามารถแก้ไขได้ในช่วงเวลาอันสั้นหรือบางคนไม่มีทางเลือกในการประกอบอาชีพมากกว่านั้น นอกจากนั้นยังมีบางกรณีที่ยินดีเป็นผู้ต้องหาตามกฎหมายแทนสามีหรือลูก เช่น แม่ ยาย แฟนสาวบางคนที่ยอมรับสารภาพแทนคนรักของตนเองแล้วต้องอยู่ในเรือนจำเพราะคดียาเสพติด 

นามสมมติ

 

“เราคิดว่าการเอาคนอายุเกือบ 70-80 ปีไปขังคุกเพื่อทำให้สังคมปลอดภัย แค่ฟังก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ กรณีดังกล่าวเป็นสิ่งตัวอย่างที่สะท้อนความล้มเหลวของนโยบายที่เพิ่มความเป็นอาญาสำหรับปัญหาการเสพติดจริง ๆ”

อภินันท์ให้ความเห็นว่า หากต้องการใช้กฎหมายเพื่อแก้ปัญหายาเสพติดควรเน้นการจับกุมและเพิ่มโทษอาญากับผู้ค้ารายใหญ่มากกว่า เพราะถึงจับผู้ค้ารายย่อยได้เมื่อต้องโทษออกมาจากเรือนจำก็อาจกลายเป็นคนที่สังคมไม่ต้องการสุดท้ายพวกเขาก็ต้องกลับไปอยู่ในวงการค้ายาเสพติดอยู่ดี

การจับผู้ค้ารายใหญ่จะช่วยตัดต้นตอของปัญหายาเสพติดเนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีทรัพยากรอยู่ที่ตัวและไม่ได้เกิดขึ้นง่าย ๆ แบบรายย่อย ยกตัวอย่างกรณีไซซะนะ พ่อค้ายาเสพติดชาว สปป.ลาว ที่ถูกจับกุมเมื่อปีพ.ศ. 2560 ก็ทำให้การค้ายาบ้าลดลงเกือบ 30% แสดงให้เห็นว่าการจับกุมผู้ค้ารายใหญ่เพียงคนเดียวก็สามารถลดอัตราการไหลบ่าเข้ามาของยาเสพติดในสังคมไทย 

อภินันท์จึงสรุปว่าการเพิ่มความเป็นอาญาหรือสร้างความเป็นอาชญากรให้คนที่มีความผิดเล็กน้อยที่ใช้ยาเสพติดเพื่อเสพนั้นไม่สอดคล้องกับทิศทางการแก้ปัญหายาเสพติดในระดับสากล คือ ความล้มเหลวของนโยบายที่เน้นความเป็นอาญากับสารเสพติดที่มีผลวิจัยยืนยันว่ามีผลกระทบทางลบมากกว่าประโยชน์ 

เป็นที่ทราบกันในวงกว้างว่ารากของปัญหายาเสพติดคือปัญหาสังคม เพราะฉะนั้นหากสังคมได้รับการพัฒนาที่เข้มแข็งปัญหายาเสพติดก็จะลดลงไปด้วย การแก้ปัญหาดังกล่าวต้องได้รับความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและต้องรวบรวมรากของปัญหาอย่างถี่ถ้วนก่อนที่จะออกกฎหมายในการแก้ปัญหาด้วยความกลัว

 

หมายเหตุ : รายงานชิ้นนี้ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net