Skip to main content
sharethis

“Election Through Poster 2023 #ทราบแล้วโหวต” นักออกแบบร่วมกันส่งโปสเตอร์ชวนกันไปเลือกตั้งกว่า 60 ชิ้น เสวนาเปิดงานชวนสำรวจแลนด์สเคปการเมืองไทยและงานสื่อสารทางการเมืองของพรรคการเมือง "บัณฑิต" ชี้ศึกนางแบกกับติ่งพรรคเป็นเรื่องธรรมชาติของการแข่งขัน

23 เม.ย.2566 ที่กินใจ คอนเทมโพรารี่ Bangkok Through Poster และ iLaw ร่วมเปิดนิทรรศการ “Election Through Poster 2023 #ทราบแล้วโหวต” จัดแสดงโปสเตอร์รณรงค์ชวนคนไปเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 14 พ.ค.2566 นี้ โดยมีนักออกแบบและองค์กรที่ร่วมกันส่งงานเข้ามาจัดแสดงรวม 66 ชิ้น และยังมีเสวนาเปิดนิทรรศการ “The Parties Never End Re-Branding ปรับภาพลักษณ์ เปลี่ยนกลยุทธ์รับศึกเลือกตั้ง 66”

ก่อนเริ่มเสวนา ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จาก iLaw เล่าถึงปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นจากการทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ในช่วงที่ผ่านมาที่แสดงถึงความไม่พร้อมในการจัดเลือกตั้งครั้งนี้ เช่นปัญหาเว็บไซต์ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าล่มในคืนสุดท้ายของการลงทะเบียน แต่ กกต.ก็ไม่ขยายเวลาลงทะเบียนให้ประชาชนรวมถึงการไม่มีแผนรองรับกรณีเกิดปัญหา ซึ่งเขาตั้งข้อสังเกตว่าเหมือนไม่อยากให้มีเลือกตั้งแต่เมื่อสถานการณ์มาถึงให้ต้องจัดก็จัดแค่แค่ให้มีแต่ไม่ได้อำนวยความสะดวกให้กับประชาชน

นอกจากนั้นแม้กระทั่งกฎหมายเลือกตั้งที่ผ่านออกมาก็ยังเป็นกฎหมายที่ ครม.เสนอมาแล้วก็ไม่ได้ผ่านสภาแต่ผ่านออกมาครบกำหนดเวลา 90 วัน อีกทั้งหลังเลือกตั้งครั้งนี้การเลือกนายกรัฐมนตรีก็ยังต้องจับตาแม้ในส่วนของ ส.ส.อาจจะโหวตให้แคนดิเดตจากเพื่อไทยโดยที่เสียงไม่ถึง 376 เสียงซึ่งคือจำนวนกึ่งหนึ่งของสองสภาแล้ว ส.ว.เลือกที่งดออกเสียงเลยก็ทำให้ต้องโหวตรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ ทั้งหมดที่แต่ละพรรคเสนอมาไปเรื่อย หากสไม่มีใครที่เสียงถึง 376 เสียงเลยจนกระทั่งหมดจากบัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ ก็จะทำให้เหลือทางออกแค่มีนายกฯ คนนอกหรือวิธีการอื่น

ยิ่งชีพได้ย้ำให้เห็นว่าการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นนี้ยังอยู่ในสถานการณ์ที่ระบบเลือกตั้งและการเมืองยังไม่ปกติ ดังนั้นแม้ว่าผลโพลของแต่ละสำนักจะออกมาอย่างไรก็ยังไม่แน่ว่าพล.อ.ประยุทธ์จะไม่กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง และทำให้เห็นว่าพวกเขาไม่ได้อยากจะปล่อยอำนาจคืนมาให้กับประชาชน จึงเป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันจับตาเลือกตั้ง

จากนั้นในช่วงเสวนา บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปิยพงศ์ ภูมิจิตร จากบริษัทออกแบบ Shake & Bake Studio และ น้ำใส ศุภวงศ์ จากบริษัท WeVis ร่วมกันเสวนาแลกเปลี่ยนถึงงานสื่อสารทางการเมืองของพรรคการเมืองที่ร่วมลงรับเลือกตั้งครั้งนี้

บัณฑิต ที่ศึกษาการสื่อสารทางการตลาดพรรคการเมืองและออกเป็นหนังสือ “ถอดรหัสพลิกสนามเลือกตั้ง” เล่าถึงสถานการณ์ในการเลือกตั้งครั้งนี้ที่เปลี่ยนไปทั้งเรื่องกติกาการเลือกตั้งและสัดส่วนของ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อและแบบเขตในครั้งนี้ที่เปลี่ยนแปลงจากตอนเลือกตั้งปี 62 ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ที่เมื่อปี 2562การเลือกตั้งโดยใช้บัตรใบเดียวแต่ก็มีปัญหาเรื่องการนับคะแนนที่ไม่ตรงกัน

นอกจากนั้นการกำหนดสัดส่วนคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อกับส.ส.เขต ที่มีปัญหา จนทำให้พรรคที่ได้คะแนนเป็นอันดับหนึ่งอย่างพรรคเพื่อไทยไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเลยเพราะได้ส.ส.เขตจนเต็มจำนวนแล้วจนต้องไปเกลี่ยสัดส่วนส.ส.บัญชีรายชื่อให้กับพรรคที่ได้คะแนนรองลงมาจนกระทั่งพรรคการเมืองบางพรรคที่ได้คะแนนเพียง 3-4 หมื่นคะแนนมีส.ส.บัญชีรายชื่อเข้ามาในสภาด้วยโดยที่เทียบกันไม่ได้กับ ส.ส.เขตที่ต้องต่อสู้กันมากกว่ากว่าจะได้คะแนนเสียงมา แต่ครั้งล่าสุดนี้พอมีการกำหนดสัดส่วนส.ส.ใหม่และเปลี่ยนเป็นบัตรสองใบแล้ว แต่ก็อาจจะมีการโกงกันตั้งแต่การแบ่งเขตเลือกตั้งเลยที่ครั้งนี้แสดงให้เห็นว่ามีการใช้วิธีการ gerrymandering ที่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคใดพรรคหนึ่ง

บัณฑิตกล่าวต่อประเด็นการโหวตเลือกนายกฯ ของปี 62 ที่ ส.ว.จากการแต่งตั้งร่วมโหวตเลือกนายกฯในครั้งนั้นด้วย แต่สถานการณ์ในการเลือกตั้งครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ก็ไม่ได้มีสถานะเหมือนเดิมแล้วและ ส.ว.เองก็ยังแสดงท่าทีว่าจะไม่โหวตให้

เขาชี้ให้เห็นภาพของสถานการณ์การแข่งขันของแต่ละพรรคว่า จากการพยายามทวงบัลลังค์ของพรรคเพื่อไทยที่ประกาศว่าจะแลนสไลด์จนตกกลายเป็นเป้าโจมตีจากพรรคต่างๆ เพราะมองเห็นเป็นภัยคุกคาม และยังมีสถานการณ์ที่ ส.ส.จากพรรคร่วมรัฐบาลเดิมและฝ่ายค้านไหลออกไปภูมิใจไทย นอกจากนั้นการแข่งขันของ ส.ส. เขตก็เพิ่มมากขึ้นด้วยเพราะการแบ่งเขตใหม่ก็ทำให้ ส.ส.เขตต้องไปต่อรองกับพรรคให้ส่งตัวเองลงด้วยเช่นกัน

บัณฑิตย้อนไปว่าในการเลือกตั้งปี 2562 จัดพรรคการเมืองได้ 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือพรรคที่มีของมาขาย เช่น พรรคอย่างพลังประชารัฐที่ตอนนั้นยังมีอำนาจรัฐอยู่หรืออาศัยคนในพรรคเป็นจุดขาย กลุ่มที่สองคือพรรคที่เน้นการขายตัวเอง พรรคการเมืองทั่วไป กลุ่มสามพรรคที่เน้นการตลาดคือมีการทำตลาดและแบรนดิ้งไปจนถึงการทำโพลล์ก่อนเอาส.ส.เขตลง ซึ่งแบ่งเป็นกลุ่มย่อยได้อีกสองกลุ่มคือเน้นตลาดอนาคต เช่น อนาคตใหม่หรือพรรคเพื่อไทยและกลุ่มที่ทำตลาดเฉพาะเช่น พรรคเศรษฐกิจใหม่ที่เน้นขายเรื่องเศรษฐกิจกับกลุ่มโหวตเตอร์ที่เบื่อความขัดแย้ง หรือเสรีรวมไทยที่จุดขายเป็นหัวหน้าพรรคอย่างเสรีพิสุทธ์ เตมียะเวช

น้ำใส ศุภวงศ์ นำข้อมูลทางสถิติการใช้โซเชียลมีเดียของช่องทางสื่อสารหลักอย่างแฟนเพจกลางของแต่ละพรรคทั้งยอดใช้จ่ายในการซื้อโฆษณากับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ปริมาณการโพสต์ เนื้อหาที่ถูกพูดถึงของแต่ละพรรค และเรื่องแนวทางการสื่อสารของพรรคด้วย เช่นภาพแบนเนอร์เฟซบุ๊กที่พรรคส่วนใหญ่เอาแคนดิเดตนากยฯ ของพรรคมาขึ้น อย่างไรก็ตามยอดเอนเกจเมนต์หรือยอดวิวบนโซเชียลมีเดียก็ยังไม่สามารถพิสูจน์ความนิยมของพรรคหรือนักการเมืองได้เพราะเป็นได้ทั้งการดูหรือแชร์เพื่อชื่นชมก็ได้หรือแชร์ไปเพื่อวิจารณ์ก็ได้เช่นกัน

ปริมาณการโพสต์ในแต่ละวันบนเฟซบุ๊กทางการของแต่ละพรรคนับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2566 ถึง 20 เม.ย.2566

น้ำใส ข้อจำกัดของการดูความนิยมของแต่ละพรรคจากการเก็บข้อมูลบนโซเชียลมีเดีย ปัจจัยเรื่องภาษาไทยก็มีความยากคือไม่รู้ว่าคำที่เอามาใช้เป็นไปเพื่อการประชดประชันหรือว่าเป็นความหมายตรงๆ ของคำนั้นๆ

ความสัมพันธ์กันระหว่างจำนวนโพสต์ของแต่ละพรรคกับเอนเกจเมนต์ต่อโพสต์

ปิยพงศ์ ภูมิจิตร เล่าว่าตัวเขาเองติดตามดูแคมเปญของพรรคเพื่อไทยและก้าวไกลเป็นหลัก เขาเห็นว่ามีการเตรียมการในการหาเสียงมานานกว่า 1 ปีแล้ว และแต่ละพรรคก็รู้แล้วว่าไม่สามารถดึงเสียงจากคนที่ไม่เห็นด้วยกับพรรคให้หันมาเห็นด้วย และสำหรับเพื่อไทยเองก็มองก้าวไกลเป็นภัยคุกคามด้วยเหมือนกันเพราะจะมาแย่งฐานเสียงของตัวเองไป ทางเพื่อไทยเองจึงมีการปรับภาพลักษณ์พรรคให้เด็กลงทั้งการหาคนใหม่ๆ มาเข้าพรรคผ่านแคมเปญ Change Maker หรือการจัด “นิทรรศกี” ที่เป็นนิทรรศการที่พูดถึงนโยบายผ้าอนามัย ที่จะมาดึงคนรุ่นใหม่และกลุ่ม LGBTQ+

สำหรับก้าวไกลช่วงที่ผ่านมีการไปออกบู๊ทที่งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ปีล่าสุดก็มีเพื่อไทยมาออกบู๊ทด้วยพร้อมกับมีหนังสือที่มีเรื่องราวของทักษิณ ชินวัตรมาขายหลังจากเพิ่งมียูทูปเบอร์ฟาร์โรสไปสัมภาษณ์ถึงดูไบ

นอกจากแคมเปญที่เป็นทางการแล้ว ปิยพงศ์ยังพบว่ายังเกิดกลุ่มแฟนด้อมของนักการเมืองเพื่อไทยอย่าง เช่น ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ หรือ จิราพร สินธุไพร ที่นอกจากจะมีการทำการ์ดสติ๊กเกอร์ให้แล้วยังมีการทำให้ทั้งสองคนนี้เป็นคู่ “จิ้น” กันด้วย

บัณฑิตเสริมในประเด็นนี้ว่าคนที่เป็นนักการเมืองเองก็ต้องเล่นกับกระแสเป็นด้วยเพราะถ้าไม่เป็นก็จะไม่ไปกับกระแส

ในเวทียังมีการกล่าวถึงการวิวาทะกันระหว่างกองเชียร์ของพรรคเพื่อไทยที่เรียกว่า “นางแบก” และพรรคก้าวไกลที่เรียกว่า “ติ่งส้ม” ด้วย

บัณฑิตมองเรื่องนี้ว่าเป็นเรื่องธรรมชาติที่แต่ละพรรคการเมืองจะต้องแข่งขันกันอยู่แล้ว โดยเฉพาะเมื่อเพื่อไทยเดินยุทธศาสตร์แลนด์สไลด์ทำให้พรรคอื่นๆ มองเป็นภัยคุกคามต่อฐานเสียงของตัวเองเพราะก็คงไม่มีพรรคไหนไปบอกผู้มีสิทธิเลือกตั้งว่าให้ไปเลือกพรรคคู่แข่งของตัวเอง แต่เมื่อการต่อสู้กันรุนแรงมากก็ยิ่งทำให้การใช้เหตุผลพังลงเองซึ่งเป็นเรื่องเข้าใจได้ แต่การด่ากันไปมาไม่ได้ทำให้มารวมตัวกันหลังเลือกตั้งไม่ได้ ซึ่งเรียกว่าเป็นศิลปะของความเป็นไปได้

ทั้งนี้บัณฑิตยังเปรียบเปรยว่าพรรคก้าวไกลเหมือนวัยรุ่นสร้างตัวมีภาพลักษณ์แบบดับเครื่องชนในเรื่องต่างๆ แต่เพื่อไทยที่แม้ว่าจะมีภาพลักษณ์องค์กรที่แข็งแรงมากกว่า แต่ก้าวไกลเองก็ยังเป็นภัยคุกคามต่อเพื่อไทยอยู่เพราะความประนีประนอมของพรรคเพื่อไทยเองก็เป็นจุดอ่อนที่ถูกวิจารณ์อยู่เสมอ

ปิยพงศ์ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมถึงเรื่องนโยบายของเพื่อไทยเรื่องค่าแรงรายวัน 600 บาทเงินเดือนป.ตรี 25,000 และเรื่องดิจิทัลวอลเลตว่าเป็นการตลาดที่เพื่อไทยเปิดขึ้นมาแล้วก็ทำให้พรรคอื่นๆ ต้องมาเล่นเกมแข่งตัวเลขกับเพื่อไทย

บัณฑิตกล่าวถึงปัญหาของการศึกษาเรื่องการสื่อสารทางการตลาดทางการเมืองว่าทำได้ยากเนื่องจากการแบ่งเขตเลือกตั้งมีการเปลี่ยนไปมาทุกครั้งทำให้ไม่สามารถเก็บข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของเขตทุกครั้งเพื่อนำมาวิเคราะห์ต่อเนื่องได้จึงทำได้แค่การวิเคราะห์ในภาพรวมระดับจังหวัด นอกจากนั้นการเปลี่ยนแปลงของการกำหนดลักษณะสื่อเช่นป้ายหาเสียงที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่ทำขนาดเท่าไหร่ก็ได้ แล้วต่อมา กกต.ก็มีการออกเป็นกฎหมายเรื่องขนาดของป้าย และล่าสุดในการเลือกตั้งผู้ว่า กทม.ที่มีการเปลี่ยนขนาดลงมาให้ความกว้างเหลือแค่ประมาณฟุตเศษก็เพียงพอจะนำเสนอนโยบายแล้วเพราะเป้าหมายของการสื่อสารกับคนเดินป้ายขนาดเล็กก็สามารถอ่านได้ไม่เหมือนการต้องทำป้ายใหญ่เพื่อให้คนขับรถอ่านได้เช่นป้ายขนาดใหญ่บนไฮเวย์เป็นต้น ซึ่งก็ถือเป็นความเปลี่ยนแปลงในการสื่อสารเหมือนกัน

สามารถดูงานเสวนาเต็มๆ ได้ที่ BANGKOK THROUGH POSTER

สำหรับนิทรรศการ “Election Through Poster 2023 #ทราบแล้วโหวต ” จัดแสดงวันที่ 23-30 เมษายน 2566 ทุกวัน(หยุดวันจันทร์) เวลา 11.00-19.00 น. ณ KINJAI CONTEMPORARY สามารถเดินทางไปด้วย MRT สถานีสิรินธรแล้วเดินออกทางออกที่ 1

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net