Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

          “การเมืองคือการแบ่งสรรผลประโยชน์ว่าใครได้รับอะไร เมื่อไหร่ และอย่างไร”

                                                                                                                                           Harold Lasswell

ประโยคคลาสสิกของนักรัฐศาสตร์ชื่อดังผู้นี้สะท้อนให้เห็นภาพของการเมืองอย่างกว้างที่สุด และสะท้อนให้เห็นถึงปรากฏการณ์ที่เป็นแกนกลางของความขัดแย้งและความเห็นต่างในสังคมทุกๆ สังคมบนโลกใบนี้ ซึ่งการกำหนดว่าใครสมควรได้รับอะไรนั้นผูกโยงกับแนวคิดเรื่องความเป็นธรรม เสรีภาพ ความคู่ควร ความมานะพยายาม และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งแต่ละอย่างอาจไม่ได้เกี่ยวพันกันมากนัก แต่หากเจาะลึงลงไปในรายละเอียดของคุณค่าเหล่านี้ เราจะพบว่าการเมืองไม่เพียงแต่เป็นการจัดสรรผลประโยชน์แบบที่ Lasswell กล่าวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการจัดสรรความรู้สึกร่วมทางสังคม เกียรติ ศักดิ์ศรี ความไฝ่ฝัน และอำนาจการตัดสินใจอีกด้วย         

ในปีนี้ ประเทศไทยเรากำลังจะมีการเลือกตั้ง พิธีกรรมที่มีความสำคัญในฐานะสัญลักษณ์ของการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ระบอบที่ซึ่งทุกคนมีสิทธิในการกำหนดว่าใครควรได้รับอะไร เมื่อไหร่ และอย่างไร ตามคำถามของ Lasswell ด้านบน ซึ่งแม้ว่าพิธีกรรมดังกล่าวอาจไม่ค่อยศักดิ์สิทธิ์นักในสังคมกึ่งสุกกึ่งดิบที่ไม่ค่อยเป็นประชาธิปไตยแบบสังคมไทย เพราะผลของพิธีกรรมนั้นอาจถูกล้มได้ทุกเมื่อ แต่พิธีกรรมดังกล่าวก็ได้มอบแสงแห่งความหวังให้กับผู้คนจำนวนหนึ่ง ซึ่งเชื่อว่ามันจะช่วยเป็นทางออกให้กับความมืดมนที่พวกเขาเผชิญอยู่ในชีวิต ผมเองในฐานะผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรกก็อดตื่นเต้นกับเค้าไปด้วยไม่ได้

การเลือกตั้งครั้งนี้เกิดขึ้นภายหลังคลื่นลมแห่งความสงบของการเมืองไทยในปี 2565 ปีที่ซึ่งความรุนแรงของรัฐได้กดทับความไม่พอใจบนท้องถนนอันเกรี้ยวกราดให้หดหายไป เหลือทิ้งไว้แต่เพียงรอยประทับอันฝังรากลึกของความขัดแย้ง ที่ยากที่จะจบลงง่ายๆ และความเหลื่อมล้ำที่พุ่งสูงขึ้นจนคนจำนวนมากถูกทิ้งไว้ด้านหลัง ผู้คนจึงฝากความหวังไว้กับการเลือกตั้งว่าจะช่วยแก้ไขปัญหานี้ ทว่ามันไม่ได้ง่ายๆ ขนาดนั้น

นิธิ เอียวศรีวงศ์ ตั้งข้อสังเกตว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ราคาที่ต้องจ่ายของมันก็คือการที่จำเป็นต้องเลือกระหว่างการเลือกทางอุดมการณ์กับการเลือกทางนโยบาย ซึ่งทั้งสองอย่างไม่ได้ขัดแย้งกันด้วยตัวมันเอง แต่ถูกปัจจัยทางการเมืองของไทยทำให้มันขัดแย้งกัน ในขณะที่การเลือกทางอุดมการณ์หมายถึงการพยายามแก้ไขโครงสร้างเพื่อจัดสรรปันส่วนอำนาจและทรัพยากรให้เป็นธรรมมากขึ้น การเลือกทางนโยบายหมายถึงการลงทุนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนให้พ้นจากความหิวโหยและความมืดมน ซึ่งสิ่งที่การเมืองไทยตอนนี้เป็นก็คือ ผู้คนเชื่อมั่นในนโยบายของนักการเมืองที่ยืนยันว่าไม่ต้องการเปลี่ยนโครงสร้าง ในขณะที่อีกฝั่งที่ยืนยันจะเปลี่ยนโครงสร้าง แม้ว่าจะออกนโยบายมามากมาย แต่ก็ไม่ได้รับความเชื่อมั่นเท่าใดนัก

“นี่คือดินแดนที่เราเคยต่อสู้เพื่อเสรีภาพ แต่ตอนนี้เราต่อสู้เพื่อขนมปัง นี่คือสัจธรรมเกี่ยวกับความเท่าเทียม ทุกคนเท่าเทียมกันเมื่อตายแล้ว”      

                                                                                                                                  Gavroche (Les Misérables 2012)

เชื่อว่าเมื่อหลายๆ คนอ่านประโยคของ Gavroche ตัวละครเด็กน้อยผู้เคี่ยวกรำจากภาพยนต์มิวสิคัล Les Misérables ย่อมต้องตั้งคำถามเกี่ยวกับสถานะทางคุณค่าของอุดมการณ์เป็นแน่ หรือว่าเรามาถึงจุดที่ทั้งเสรีภาพและความเท่าเทียมกลายเป็นสิ่งที่ตายไปแล้ว และเราทำได้เพียงต่อสู้เพื่อให้มีอาหารกินไปวันๆ เพื่อให้มีชีวิตรอดไปต่อสู้กับความมืดมนที่รอเราอยู่ข้างหน้า ทว่านั่นเป็นความคิดที่ผิดถนัดทีเดียว Gavroche ต้องการใช้ประโยคดังกล่าวเพื่อกระตุ้นเตือนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างคุณค่าต่างๆ กับประเด็นประเด็นปัญหาปากท้อง ทั้งในฐานะสาเหตุและเบื้องหลังของมัน ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งซึ่งปลุกเร้าพลังของมวลชนให้ขึ้นมาสุกสว่างอีกครั้ง

ย้อนกลับไปที่ประโยคของ Lasswell ที่ใช้ในการเปิดบทความนี้ จะเห็นว่าการเมืองคือการจัดสรรทรัพยากรอย่างหนึ่ง ว่าใครควรได้อะไร เมื่อไหร่ และอย่างไร ซึ่งในสังคมปัจจุบันคำถามทั้งหมดนี้ถูกตอบโดยเงื่อนไขทางโครงสร้างบางอย่าง คงปฏิเสธได้ยากว่าโครงสร้างของสถาบันการเมืองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ ข้าราชการระดับสูง กลุ่มทุนใหญ่ ศาล และมหาวิทยาลัย ต่างก็มีส่วนสำคัญในการจัดสรรปั่นส่วนของอำนาจ และทำหน้าที่เปรียบเสมือนตัวกรองที่คอยกำหนดคุณค่าต่างๆ ไม่ให้ผิดหูผิดตาผู้มีอำนาจมากเกินไป

ซึ่งการเลือกตั้งนั้น เป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบกับทั้งเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของคนในประเทศอย่างมหาศาลอย่างแน่นอน ตลาดนโยบายที่เห็นได้ชัดผ่านป้ายหาเสียงที่แปะอยู่ริมถนน มอบตัวเลขต่างๆ ให้กับเราเพื่อทำให้นโยบายของพวกเขาเป็นสิ่งที่จำง่าย และติดตา ทว่าหากมองลึกลงไปนั้น การจะพัฒนาคุณภาพชีวิตหรือสร้างการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจใดๆ จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากขาดการลงทุนและทรัพยากรที่จำเป็น ซึ่งทุนและทรัพยากรเหล่านั้นต่างก็ถูกควบคุมด้วยโครงสร้างอำนาจชุดปัจจุบันที่ครอบงำสังคมไทยอยู่ และนักการเมืองทุกคนที่อยู่ในสนามเลือกตั้ง หนีไม่พ้นที่จะต้องตอบคำถามข้อนี้ในวันใดวันหนึ่ง

สำหรับผมแล้ว ผมมองว่าเป็นเรื่องเพ้อฝันที่จะมองเห็นการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจหรือการพัฒนาคุณภาพชีวิต หากไม่มีการเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจใดๆ เพราะมีแต่การแก้ไขโครงสร้างทางอำนาจเท่านั้น ที่จะตอบคำถามของ Lasswell ได้ ว่าใครสมควรจะได้รับอะไร เมื่อไหร่ และอย่างไร การจะพัฒนาคุณภาพชีวิตคนย่อมเป็นไปไม่ได้เลย หากไม่แตะต้องโครงสร้าง และปล่อยให้มันเป็นไปอย่างที่เป็นอยู่ ทุกคนถือทรัพยากรเท่าเดิม มีคุณภาพชีวิตแบบเดิม และเพียงรอคอยยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนถ่ายอำนาจอีกครั้ง

 

“แล้ว...ความหมายของการเลือกตั้งคืออะไรกันแน่”

 ผมเชื่อว่าหลายๆ คน ที่ไม่ได้มีความหวังกับการเลือกตั้งมากนักอาจกำลังตั้งคำถามนี้อยู่ในใจ บางคนอาจเป็นคนที่ผ่านชีวิตมายาวนาน และชินชากับการรัฐประหารที่ล้มล้างผลการเลือกตั้ง ในขณะที่บางคนที่คาดหวังจะเปลี่ยนแปลงประเทศ แต่มองไม่เห็นว่าการเลือกตั้งจะนำเราไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร ใจเย็นก่อนครับ ก่อนที่เราจะไปคุยกันว่าเราสามารถคาดหวังอะไรกับการเลือกตั้งได้บ้าง และได้มากแค่ไหน ผมขอชวนคิดเกี่ยวกับความหมายของการเลือกตั้งคร่าวๆ ก่อน

ทุกวันนี้มีการปลุกกระแสเรื่องของการโหวตเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Vote) ออกมาเป็นจำนวนมาก ทั้งสองขั้วการเมือง กระแสดังกล่าวทำงานบนความกลัวและความเกลียดชัง ว่าถ้าไม่เลือกพรรค.... สิ่งที่เรากลัวที่สุดคือการหวนคืนสู่อำนาจของนาย.....(ใส่ชื่อประยุทธ์หรือทักษิณ ตามแต่ท่านจะสมัครใจ) จะกลายเป็นความจริง เพราะฉะนั้นเราควรเลือกพรรค....(ใส่ชื่อพรรคที่อยากให้เลือก) ถ้าคุณอยู่ในสังคมการเมืองบนโลกออนไลน์ ผมเชื่อว่า Narrative นี้จะต้องเป็นหนึ่งในเรื่องเล่าหลักที่กล่อมประสาทคุณอยู่แน่นอน  

คู่ตรงข้ามของการโหวตเชิงยุทธศาสตร์คือการโหวตแบบจริงใจ (Sincere Vote) การเลือกตั้งในแบบดังกล่าวมาจากฐานคิดที่เราไม่รู้ว่าใครจะชนะหรือแพ้ เราจึงควรเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเราเอง โดยเลือกตามจุดยืนทางการเมืองของตนแบบไม่มีเป้าหมายใดๆ มาเจือปน การมองการเลือกตั้งแบบนี้จะช่วยให้เราเข้าใจจุดยืนของคนที่เลือกพรรคที่ได้คะแนนไม่ถึงเกณฑ์ที่จะได้ ส.ส. หรือคนที่เลือกช่องไม่เลือกผู้สมัครใดได้ เพราะทั้งสองกรณีเป็นตัวอย่างของการเลือกตั้งที่ผู้โหวตไม่ได้รับผลประโยชน์ใดๆ จากมัน

การโหวตแบบจริงใจนี่แหละครับ คือสิ่งที่ทำให้การเลือกตั้งมีความหมาย เพราะนี่คือเวทีให้ประชาชนได้ส่งเสียงที่ตัวเองคิดออกมา ว่าต้องการให้ประเทศเดินทางไปในทิศทางไหนอย่างไร ในขณะที่การเลือกตั้งแบบที่เลือกด้วยความกลัวและความเกลียดชัง มีแต่จะทำลายความหมายของการเลือกตั้ง เพราะเป็นการบิดเบือนเจตจำนงที่แท้จริงของประชาชน ให้เฉไฉออกจากความต้องการที่แท้จริงของพวกเขา ฉะนั้นก่อนจะเข้าสู่เรื่องของความหวังและอนาคต ผมคิดว่าสิ่งที่เราพอหวังได้ขั้นต่ำที่สุดจากการเลือกตั้งครั้งนี้ คือการได้เห็นผู้คนสลัดหลุดจากม่านหมอกแห่งความเกลียดชังและความกลัว และแสดงความกล้าหาญของตนเองในฐานะพลเมืองตื่นรู้ที่ต้องการจะขับเคลื่อนสังคม

 

เรามีความหวังได้มากแค่ไหน และสังคมไทยกำลังเดินทางไปสู่อะไร

นี่คือคำถามที่จั่วอยู่บนหัวของบทความๆ นี้ ใช่แล้ว เราพาทุกท่านออกทะเลไปไกลมาก แต่ก่อนจะกลับเข้าหัวเรื่องหลัก ผมคิดว่ามีคำถามที่สำคัญที่ทุกคนควรจะตอบให้ได้ นั่นคือเราคาดหวังอะไรกับการเลือกตั้ง

ในหัวข้อที่สอง เราได้พูดถึงโจทย์ปัญหาที่สังคมไทยเผชิญอยู่ ซึ่งเอาเข้าจริงก็คือโจทย์พื้นฐานของการเมืองดังที่ Lasswell ได้กล่าวไว้ นั่นคือใครควรได้รับอะไร เมื่อไหร่ และอย่างไร การจะตอบคำถามนี้ได้จำเป็นจะต้องมีการแก้ไขโครงสร้างอำนาจที่ตกอยู่ในความผิดเพี้ยนและบิดเบี้ยว รวมถึงพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนให้หลุดพ้นจากการดิ้นรนปากกัดตีนถีบเพื่อมีชีวิตรอดจากความหิวโหยที่กำลังหลอกหลอนอยู่ ทว่า หากเราคาดหวังว่าเราจะตอบคำถามของ Lasswell ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้าง หรือได้เห็นผู้คนหลุดพ้นจากความหิวโหย ผมบอกเลยว่าอย่าได้มีความหวังกับการเลือกตั้งเป็นอันขาด เพราะลำพังการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถที่จะแก้ไขอะไรที่กล่าวไปข้างต้นได้เลย มันจำเป็นต้องอาศัยปัจจัยทางการเมืองที่มากกว่านั้น

แต่หากเราลองลดเพดานลงมา และมองว่าการเลือกตั้งเป็นกระบวนการในการสร้างพลเมืองตื่นรู้ เป็นพื้นที่ให้คนได้ถกเถียงกันทั้งในทางอุดมการณ์และในทางนโยบาย เป็นพื้นที่ที่ให้คนได้ทดลองตอบคำถามว่าอะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับชีวิต และนำมาถกเถียงกันเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ ผมคิดว่าหากเรามองการเลือกตั้งแบบนี้ การเลือกตั้งจะกลายเป็นสิ่งที่เต็มไปด้วยความหวัง และเติมเต็มแสงสว่างให้กับสังคม ไม่ว่าใครจะชนะเลือกตั้งก็ตาม ถ้าหากว่าไม่มีการบิดเบือนผลของการเลือกตั้งไปซะก่อนอ่ะนะ

ผมจะไม่ตอบคำถามว่าประเทศไทยจะเดินทางไปสู่อะไร เพราะผมคิดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะตอบคำถามดังกล่าวด้วยตัวมันเอง ณ วันนี้เราพูดได้แต่เพียงว่าสังคมไทยเดินทางมาถึงจุดที่ความขัดแย้งทางการเมืองเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และพร้อมจะระเบิดปะทุขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ได้ ซึ่งความขัดแย้งดังกล่าวจะจบลงด้วยการแก้ไขโครงสร้างเพื่อตอบโจทย์พื้นฐานทางการเมืองของ Lasswell ใหม่ หรือจบลงด้วยโศกนาฏกรรมการนองเลือดบนท้องถนนแบบที่เคยเป็นมา ผมคิดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้สามารถให้คำตอบเบื้องต้นกับทุกคนได้ครับ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net