Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

Ada Albuquerque da Silva แห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน กรุงซีแอตเติล (Redemptive Narratives in Marx and Nietzsche (อ้างในวารสาร Intersections, Spring 2009) อธิบายว่า “แม้วิธีการของเขาแตกต่างกัน คาร์ล มาร์กซ์ และนีทเชก็สัมพันธ์กันในประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่ง คือ การหักล้างศาสนา มาร์กซ์ อธิบายว่าศาสนาเป็นยาที่ใช้ผ่อนคลายความเศร้าโศกของมวลชน ขณะที่นิทเชเห็นว่าศาสนาเป็นเครื่องมือที่ใช้โดยผู้อ่อนแอเพื่อจัดการชนชั้นสูง ทั้งๆ ที่เขาไม่เชื่อเรื่องการมีอยู่เหนือธรรมชาติ นักปรัชญาทั้งสองแสดงตนสำหรับการหาทางออกโดยการไถ่บาปที่ไม่เกี่ยวกับศาสนา สะท้อนให้เห็นถึงหลักการทางศาสนาที่เขาถูกสอนตอนเป็นเด็ก” (“Though their methods differ, Karl Marx and Friedrich Nietzsche are allied on one major point: the refutation of religion. Marx describes religion as a drug used to sooth the misery of the masses, while Nietzsche considers it a tool employed by the weak to manipulate the mobility. Despite their shared disbelief in transcendent beings, both philosophers came to express themselves through a secular redemption; reflections of the religious doctrines they were taught as children.) ดา ซิลวา อธิบายต่อว่า การวิเคราะห์รัฐของมนุษย์ มาร์กซ์เห็นโอกาสสำหรับมนุษย์ที่จะเปลี่ยนสังคมช่วงชั้นไปเป็นสังคมที่มีความเสมอภาค ขณะที่นีทเชเห็นโอกาสเปลี่ยนกลับข้างความสัมพันธ์ระหว่างนายกับทาส (the master-slave relationship) เพื่อให้เกิดความแตกต่างกันชัดยิ่งขึ้น ด้วยการแยกออกเป็นสามัญชน (common man) กับเหนือมนุษย์ (the Overman) บนเส้นทางการไถ่บาปนั้น นีทเชประกาศถึงความตายของพระเจ้า ส่วนมาร์กซ์ ทำนายถึงความตายของทุนนิยม คำสอนของคนทั้งสองนี้มีเพื่อเป้าหมายสุดท้าย ได้แก่ การไถ่บาป

ข้อความข้างต้นชี้ให้เห็นชัดว่า “มาร์กซ์พูดถึงชนชั้น” ส่วนนีทเชไม่ได้สนใจ มาร์กซ์พูดทำนองว่าศาสนาเป็นเครื่องมือของชนชั้นที่ใช้ปลอบประโลมมวลชน ดังสมัยหนึ่งสังคมไทยนำคำกล่าวของมาร์กซ์มาเผยแพร่ว่า “ศาสนาคือยาพิษ” ส่วนนีทเช ตรงกันข้าม กลับมองว่า “ศาสนาเป็นเครื่องมือของคนอ่อนแอ” ที่ใช้ต่อสู้กับชนชั้นสูง ดังประวัติศาสตร์ที่เราทราบกันว่าศาสนาคริสต์ถือกำเนิดในสังคมฮิบรู แต่สามารถแผ่ขยายความคิดจนกระทั่งดูดกลืนสังคมโรมันให้รับเอาศาสนาคริสต์เป็นศาสนาประจำชาติได้เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 4 ทั้งมาร์กซ์และนิทเชปฏิเสธศาสนา แต่เขาได้รับอิทธิพลจากความคิดทางศาสนาในเรื่องการไถ่บาป หมายถึงการทำให้มวลมนุษยชาติพ้นจากทุกข์ เพียงแต่เขาทั้งสองเห็นว่าการไถ่บาปของเขาไม่ได้เกี่ยวกับศาสนาและทั้งสองมีแนวทางแตกต่างกัน มาร์กซ์มีแนวทางการต่อสู้ทางชนชั้น ส่วนนีทเชมีแนวทางการสอนให้คนตระหนักในคุณค่าของความเป็นมนุษย์ในโลกปัจจุบัน

แนวคิดที่เด่นที่สุดของนิทเชเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างนายกับทาส ต่อมา เขานำแนวคิดนี้มาใช้อธิบาย “สามัญชน” กับ “เหนือมนุษย์” เขาแยกพวก “เหนือมนุษย์” ออกไปจาก “สามัญชน” เพราะเห็นว่าเป็นพวกพิเศษเกิดมาเพื่อทำคุณประโยชน์ให้กับสังคม จึงไม่ต้องห่วงอะไร แต่พวก “สามัญชน” เป็นเป้าหมายของงานของนิทเช เนื่องจากนิทเชกังวลว่าคนจะทำตามกันโดยไม่มีเป้าหมายในชีวิต ยิ่งช่วงที่นีทเชมีชีวิตอยู่นั้น มนุษย์ให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์มาก จนกระทั่งนักปรัชญาสมัยนั้นหลายคนกังวลว่าวิทยาศาสตร์จะครอบงำมนุษย์ นอกจากนีทเชแล้ว ยังมีรุสโซ (Rousseau) ที่แสดงออกเรื่องนี้ด้วย งานของนีทเชเรื่อง “On genealogy of morality” จึงมีเนื้อหาว่าด้วยเรื่องศีลธรรมของฝูงสัตว์ (herd morality) เป็นหลัก ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบว่าคนส่วนใหญ่ทำตามกันโดยไม่ไตร่ตรอง ไม่ได้ต่างจากฝูงสัตว์ ตรงนี้เขาได้ขยายความไปถึงประเด็นการเพิ่มคุณค่าให้กับชีวิต (life-enhancement) กับการปฏิเสธชีวิต (life-denial) ซึ่งเป็นการอธิบายต่อว่าเราจะนำการวิเคราะห์ศีลธรรมนายกับศีลธรรมทาสมาใช้ในชีวิตจริงได้อย่างไร ซึ่งอาตมาจะได้ขยายความต่อไปในบทความนี้ แต่ชั้นนี้ อาตมาตระหนักว่านีทเชไม่ได้สนใจเรื่อง class (ชนชั้น) สำหรับคนที่อธิบายเรื่อง class คือ มาร์กซ์

อาตมามีความเห็นว่าการวิเคราะห์ทางปรัชญาก็เหมือนกับการพิสูจน์ทางกฎหมาย เราต้องอ้างตัวบทกฎหมายให้ถูกต้องก่อน หากเราจะวิเคราะห์ชนชั้นก็ควรอ้างมาร์กซ์ แต่ถ้าจะวิเคราะห์ศีลธรรมของฝูงสัตว์และการตั้งเป้าหมายเพื่อการใช้ชีวิตอย่างแยบคายในโลกปัจจุบัน เราก็ต้องอ้างนิทเช ทั้งหมดที่กล่าวเป็นประเด็นการอ้างหลักปรัชญาให้ถูกต้อง มิใช่พระรูปใดรูปหนึ่งเป็นผู้ได้รับชัยชนะในการตีความ หรือเป็นผู้ครอบครองความหมายของการตีความทางปรัชญาแล้วตัดสินว่าคนอื่นที่ตีความต่างไปจากตัวว่าตีความผิด แต่เป็นการถกแถลงกันว่าเนื้อหาปรัชญาของนิทเชเป็นอย่างไร เนื้อหาปรัชญาก็เหมือนตัวบทกฎหมาย ขณะที่ตัวบทกฎหมายมีประมวลกฎหมายหรือพระราชบัญญัติ ปรัชญาก็มีตัวบท (text) ที่สามารถอ้างอิงและพิสูจน์กันได้

นอกจากนีทเชไม่สนใจชนชั้นแล้ว ในทางตรงกันข้าม ตอนปลายศตวรรษที่ 19 ขณะที่คนพูดกันเรื่อง “ชนชั้นแรงงาน” (working class) ของมาร์กซ์ อยู่นั้น นิทเชกลับวิพากษ์ชนชั้นแรงงานว่าเป็นผลผลิตส่วนหนึ่งจากกรอบแนวคิดเรื่องฝูงสัตว์ (herd mentality) ของเขา เนื่องจากกระตุ้นให้คนทำตามความคาดหวังทางสังคมมากกว่าการต่อสู้เพื่อความยิ่งใหญ่ของมนุษย์ นิทเชยังเชื่อด้วยว่าบ่อยครั้งที่ชนชั้นแรงงานถูกใช้เป็นเครื่องมือของนักการเมืองหรือผู้มีอำนาจอื่นเพื่อการเอาเปรียบหรือควบคุมมวลชน อย่างไรก็ตาม ขอให้ข้อสังเกตไว้ด้วยว่าความคิดของนิทเชซับซ้อนและมีหลายแง่มุม งานทางปรัชญาของนิทเชไม่ได้มองแง่มุมเดียว ยิ่งกว่านั้นความคิดของเขายังได้รับอิทธิพลอย่างมากจากบริบททางประวัติศาสตร์ในช่วงระยะเวลาที่เขามีชีวิตอยู่ ดังนั้น จึงไม่อาจนำความคิดของเขามาประยุกต์ใช้เพื่อทำความเข้าใจเรื่องชนชั้นแรงงานในปัจจุบันได้ (อ้างจาก เว็บไซต์ปรัชญา Quora หัวข้อ “Why Nietzsche wasn’t interested in working class?”)

สำหรับศีลธรรมนายและศีลธรรมทาสของนีทเช แบ่งได้เป็นสองตอน ตอนแรก คือ ศีลธรรมนายและทาสในสังคมฮิบรูและโรมัน เรียกว่า “แนวคิดหลักและค่านิยมของศีลธรรมยูดาห์-คริสเตียนแบบดั้งเดิม” (key concept and value of traditional Judaeo-Christian Morality) กับตอนที่สองเป็น “จริยศาสตร์ที่ไม่ใช่ศีลธรรมหรือการไม่ยึดหลักศีลธรรม” (the non-moral ethics or immoralism) ซึ่งเป็นจริยศาสตร์ (ethics) ที่นีทเชใช้แทนที่ศีลธรรมแบบดั้งเดิมของศาสนา แนวคิดตอนหลังนี้เป็นการประยุกต์ศีลธรรมนายและทาสมาอธิบายใหม่เพื่อปรับใช้กับชีวิตจริงของมนุษย์ อันเกิดจากแยกศีลธรรมทางศาสนาออกจากจริยศาสตร์ โดยมีแก่นความคิดว่ามนุษย์ต้องไม่ปฏิเสธชีวิต (life-denying) หมายถึงการไม่ปฏิเสธคุณค่าของชีวิตของตนเองและผู้อื่น ตรงกันข้ามต้องมีค่านิยมเพิ่มคุณค่าให้กับชีวิต (life-enhancement) เช่น การยกย่องตนเอง (self-esteem) และความเชื่อมั่นในตัวเอง (self-confidence) สำหรับคำว่า “ค่านิยม” (value) ของนีทเชมีความหมายสองประการ ประการแรก หมายถึง จุดยืน (standpoint) และประการที่สอง หมายถึง ความต้องการหรือเงื่อนไข (demand or condition) ซึ่งเป็นธรรมชาติของการมีเป้าหมายของชีวิต

นีทเชกำหนดเกณฑ์วัดค่านิยมการเพิ่มคุณค่าให้กับชีวิตเอาไว้สามประการ ประการแรก คือ อำนาจ (power) เช่น ชนชั้นสูงในสังคมโรมันมีอำนาจ แต่ถ้ามีอำนาจอย่างเดียว ก็จะมีความสามารถเฉพาะการล่าเหยื่อ ประการที่สอง อำนาจในประการแรกต้องมีความสามารถเปลี่ยนอำนาจตามความอยากหรือความใคร่ของตนไปเป็นประโยชน์ต่อสังคม (sublimation of power) ด้วยการแสดงออกถึงความปรารถนาที่จะมีความรู้และยุติความโหดร้าย เช่น ทาสในสังคมฮิบรูมีความสามารถเปลี่ยนอำนาจไปในทางที่เป็นประโยชน์ คือ มีสติปัญญา และประการที่สาม การสร้างสรรค์รูปแบบ (form creation) หมายถึง การสร้างรัฐและสร้างสังคม

นีทเชเห็นว่าคนที่มีอำนาจสร้างรัฐ แต่ถ้าไม่สามารถเปลี่ยนอำนาจไปเพื่อประโยชน์สังคมได้ก็ไม่มีประโยชน์ เขาเห็นว่าเกณฑ์ของค่านิยมการเพิ่มคุณค่าให้กับชีวิตทั้งสามประการต้องไปด้วยกัน ยิ่งเกณฑ์ดังกล่าวมีค่าสูงสุดเท่าใด สังคมก็ยิ่งประสบความสำเร็จ เช่น มีค่านิยมที่ยึดมั่นในชีวิต การสร้างสรรค์ศิลปะ และมีวิถีชีวิตที่เป็นอิสระ ต่อมา เขาก็นำเอาเกณฑ์ของค่านิยมดังกล่าวมาประเมินมนุษย์ที่เป็นประเภทนายและประเภททาส รวมไปถึงตอบคำถามว่าค่านิยมดังกล่าวของนายกับทาสอยู่ด้วยกันได้หรือไม่ ซึ่งเขาตอบด้วยคำตอบที่ซับซ้อนมาก เพราะเขาเห็นว่าค่านิยมการเพิ่มคุณค่าให้กับชีวิตไม่ได้เป็นค่านิยมของนายอย่างตายตัว คนที่เป็นมนุษย์ประเภททาสอาจมีค่านิยมการเพิ่มคุณค่าให้กับชีวิตบางด้านก็ได้ เช่น การนิยมปัญญา

ประเด็นท้ายๆ ของการวิเคราะห์ของนีทเชอ ได้แก่ การวิเคราะห์สำนึกผิดหรือสำนึกเลว (guilt and bad conscience) เปรียบเทียบระหว่างสังคมที่ยึดศีลธรรมทางศาสนากับสังคมที่ไม่ยึดศีลธรรมทางศาสนา แต่มีจริยศาสตร์ของตัวเอง สรุปว่า ในสังคมที่ไม่ยึดศีลธรรมทางศาสนา ค่านิยมการเพิ่มคุณค่าให้กับชีวิตเกิดจากวัฒนธรรมที่สูงกว่า (higher culture) ในที่สุดคนจะมีอำนาจสูงสุดในตัวเอง (sovereign individual) ส่วนค่านิยมการปฏิเสธชีวิตมาจากหลักศีลธรรมแบบดั้งเดิม หมายถึงมาจากศีลธรรมทางศาสนา แต่เขาไม่ได้โจมตีว่าเกิดจาก “แนวคิดพื้นฐาน” (basic concept) ของศาสนา แต่โจมตีว่าเกิดจาก “การใช้” (use) ในความหมายที่ทำให้คนปฏิเสธชีวิต หมายถึง การใช้คำสอนทางศาสนากดคนให้ยอมจำนนนั่นเอง (โปรดดูเพิ่มเติมใน Simon May, (1999), Nietzsche’s Ethics and his War on ‘Morality’ Oxford: Clarendon Press)

สำหรับประเด็นอุดมการณ์ “ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์” ของไทยนั้น เป็นอุดมการณ์ (ideology) ซึ่งสังคมไทยได้สร้างขึ้นหลังจากที่เข้าสู่สังคมสมัยใหม่ โดยหลักทั่วไปแล้ว อุดมการณ์เป็นโครงสร้างลึก (deep structure) ที่ฝังอยู่ในส่วนพื้นฐานและมีอำนาจนำ (hegemony) ซึ่งมีทั้งฝ่ายที่พยายามรักษาการครองอำนาจนำและฝ่ายที่พยายามรื้อถอดการครองอำนาจนำดังกล่าว การเปลี่ยนแปลงอุดมการณ์ย่อมขึ้นอยู่กับว่าอุดมการณ์ที่นำเสนอมาใหม่จะมีอำนาจเพียงใด ซึ่งขึ้นอยู่กับความรู้และความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ดังเช่นกรณีที่เป็นประเด็นปัญหาอยู่ในประเทศไทยในปัจจุบันว่าอุดมการณ์ชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ สอดคล้องกันกับอุดมการณ์ประชาธิไตยมากน้อยเพียงใดและสามารถประสานส่วนใดเข้าด้วยกันได้บ้าง หรือว่าต้องเปลี่ยนแปลง ส่วนใดบ้าง

กระบวนการรื้อถอดสามารถกระทำโดยการเสนอแนวคิดตอบโต้ (counter-concept) เช่น การนำเสนอว่าอุดมการณ์ชาติของไทยตีความคำว่า “ชาติ” หรือ “ความมั่นคง” แคบเกินไป หรือการนำเสนอว่าศาสนาพุทธไทยเป็นพุทธราชาชาตินิยมซึ่งมีที่มาจากงานพ่อขุนอุปถัมภ์ของอาจารย์ทักษ์ เฉลิมเตียรณ สมัยพ.ศ. 2520 เศษ กับงานใหม่ๆ บางชิ้นในยุคปัจจุบันที่นำเสนอว่ารัฐเข้าครอบงำศาสนาจากการจัดรูปแบบการปกครององค์กรสงฆ์ การเสนอแนวคิดตอบโต้ดังกล่าวล้วนมีเหตุผลที่น่ารับฟัง ประเด็นสำคัญอยู่ที่สังคมจะคล้อยตามเหตุผลของฝ่ายใดและมีมากน้อยเพียงใด ทั้งในแง่คุณภาพและปริมาณ และควรที่จะตัดสินกันด้วยกระบวนการประชาธิปไตย โดยให้ผู้ที่ได้รับมอบฉันทานุมัติจากประชาชนเป็นผู้พิจารณา

ประเด็นสำคัญอยู่ที่ความรอบคอบ ปัจจุบันคนทั่วไปยอมรับร่วมกันว่าไม่มีอุดมการณ์หรือวาทกรรมใดกำหนดขอบเขตของตัวเองเหนือไปกว่าความถูกต้อง และเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างไม่มากก็น้อยเป็นธรรมดา สำหรับการแยกศาสนาจากการเมือง (secularization) เป็นแนวคิดทางสังคมวิทยา ซึ่งเป็นทฤษฎีย่อยของการจำแนกแจกแจงทางสังคม (the sub-theory of social differentiation) การพิจารณามีพื้นฐาน มาจากหลักวิชาการ สังคมไทยจึงควรพิจารณาจากพื้นฐานดังกล่าวมากกว่าอารมณ์หรือความรู้สึก โดยเริ่มต้นจากการตั้งกรอบของการดีเบต ตัวอย่างเช่นที่ดีเบตกันอยู่ในปัจจุบันมาจากการเสนอกรอบแนวคิดของโรเบิร์ต ออดี (Robert Audi, “The Separation of Church and State and the Obligations of of Citizenship,” Philosophy & Public Affairs 18(3), (Summer 1989: 259-96) กรอบการวิเคราะห์ของออดีมีสามประการ ได้แก่ ประการแรก หลักที่ใช้กับการดำเนินกิจกรรมของสถาบันรัฐบาล (principles that apply to the activities of government) ประการที่สอง หลักที่ใช้กับศาสนา (principles that apply to churches) และประการที่สาม หลักที่ใช้กับพลเมือง (principle that apply to citizens)

หลักประการแรกใช้กับกิจกรรมของสถาบันรัฐบาล แยกย่อยออกเป็น (1) หลักเสรีภาพ (the libertarian principle) เป็นเงื่อนไขที่รัฐยินยอมให้ศาสนาต่างๆ ปฏิบัติตามศาสนาของตน (2) หลักความเสมอภาค (the equalitarian principle) รัฐต้องไม่ยินยอมให้ศาสนาหนึ่งมีอำนาจเหนือศาสนาอื่น (3) หลักความเป็นกลาง (the neutrality principle) รัฐต้องไม่แสดงความนิยมในศาสนาหนึ่งๆ เพียงเพราะการเป็นศาสนาหนึ่งหรือเขา นับถือศาสนานั้น

ส่วนหลักประการที่สองหลักที่ใช้กับศาสนา หมายถึงหลักการทางสถาบันของความเป็นกลางทางการเมืองของศาสนา (the neutrality principle of political neutrality) ศาสนาต้องหลีกเลี่ยงการสนับสนุนผู้สมัครทางการเมืองหรือการเสนอนโยบายใดของพรรคการเมือง

สำหรับหลักประการที่สามหลักที่ใช้กับพลเมือง แบ่งย่อยออกเป็น (1) หลักการแยกเหตุผลทางศาสนา (the principle of secular rationale) (2) หลักการแยกแรงจูงใจทางศาสนา (the principle of secular motivation) หมายถึงการที่พลเมืองสนับสนุนกฎหมายหรือนโยบายของรัฐบาลต้องไม่ใช่มาจากเหตุผลหรือแรงจูงใจทางศาสนา นอกจากนี้หลักการแยกศาสนาจากการเมืองยังขึ้นอยู่กับบริบททางสังคม เช่น หลักการแยกศาสนาจากการเมืองของจอห์น ล็อค (John Locke) ที่เขียนไว้ใน “On Toleration” เขาเรียกร้องให้คน tolerate กับทุกศาสนา แต่เขากลับยอมรับผู้ที่ไม่นับถือพระเจ้า ซึ่งเป็นไปตามบริบทของสังคมในยุคนั้น หรือการวิเคราะห์การแยกศาสนาจากการเมืองของศาสนาพุทธอาจต้องแตกต่างไปจากตะวันตกหรือไม่ เนื่องจากศาสนาพุทธไม่มีพระเจ้า และไม่มีปัญหาการเข้าแทรกแซงทางศาสนาจากต่างชาติเหมือนประเทศอื่น เช่น กรณีของญี่ปุ่น

ส่วนที่โจมตีว่ารัฐใช้งบประมาณของรัฐอุปถัมภ์ศาสนาพุทธ ศาสนาพุทธมีองค์กรกลางในการปกครองสงฆ์และการมียศ สัญญาบัตร กับชั้นบังคับบัญชานั้น จะขัดกับหลักการแยกศาสนาออกจากการเมืองหรือไม่ มากน้อยเพียงใด ย่อมขึ้นอยู่การถกแถลงกันว่าศาสนาพุทธเป็นกลางทางการเมืองเพียงใด รัฐไทยอุปถัมภ์ศาสนาอื่นอย่างเสมอภาคเพียงใด รวมทั้งการปกครองสงฆ์มีปัญหายศ สัญญาบัตรและชั้นบังคับบัญชามากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตาม ไม่ควรนำประเด็นการแยกศาสนาออกจากการเมืองไปกล่าวรวมกับอุดมการณ์ “ชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์” เนื่องจากอุดมการณ์ดังกล่าวเกิดจากรัฐไทยเข้าสู่สังคมสมัยใหม่เมื่อประมาณร้อยปีมานี้ หรือไม่ควรเสนอว่าให้รัฐเลิกอุปถัมภ์ศาสนา หรือเลิกการปกครองสงฆ์ หรือเลิกกรมการศาสนา เพราะเราต้องยึดหลักการมากกว่าเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นที่เป็นข้อยกเว้น

ประกอบกับสาเหตุของปัญหาที่เกิดจากโครงสร้างการปกครองกับอุดมการณ์ของรัฐเป็นคนละส่วนกัน คณะสงฆ์เป็นสังคมรวมหมู่ประกอบด้วยกลุ่มคนและคณะบุคคลจำนวนมาก ต้องมีการจัดระเบียบโครงสร้างของกลุ่มคนเป็นธรรมดา เพียงแต่ว่าการจัดระเบียบโครงสร้างดังกล่าวเกิดเป็นปัญหาในประเด็น ก็ควรพิจารณาและแก้ไขเป็นกรณีไป เช่น การที่รัฐให้เงินอุดหนุนศาสนาพุทธปีละห้าพันล้านบาทมากหรือน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับจำนวนงบประมาณของรัฐปีละสามแสนกว่าล้านล้านบาท หรือกฎหมายของคณะสงฆ์ข้อใดมีปัญหาและควรแก้ไขอย่างไร ก็ควรพิจารณาเป็นประเด็นๆ

สุดท้าย เราไม่ควรกล่าวโทษว่าเป็นเพราะระบบพ่อขุนอุปถัมภ์ที่มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยหรือแม้แต่ลำเลิกว่าปัญหาของศาสนามาจากคำสอนของพระไตรภูมิพระร่วงหรือโองการแช่งน้ำ เนื่องจากบริบทสังคมแตกต่างกัน การนำเอาเหตุผลของปัจจุบันไปใช้วิเคราะห์สังคมในอดีตอาจเป็นเรื่องที่เปรียบเทียบกันไม่ได้ เช่น สมัยโบราณ รัฐอาจจำเป็นต้องใช้ความเชื่อและศรัทธานำทาง รวมถึงการอธิบายเรื่องนรก-สวรรค์ประกอบการอธิบายหลักศาสนา ขณะที่ปัจจุบันคนมีเหตุผลมากกว่าอดีตและมีกลุ่มปัญญาชนที่ถกเถียงกันถึงหลักคำสอนของศาสนาอย่างมีเหตุผล เช่น กรณี พระเนติวิทย์หรือ ส.ศิวรักษ์ กล่าวถึง “Socially Engaged Buddhism” หรือสังคมอินเดีย ญี่ปุ่น และตะวันตก กล่าวถึง “Critical Buddhism” การกล่าวโทษอดีต รังแต่จะทำให้สังคมร้าวฉาน เราไม่มีไทม์แมชชีนกลับไปแก้ไขอดีตได้ เราต้องมีชีวิตอยู่กับปัจจุบัน การเจริญสติอยู่กับปัจจุบันน่าจะเป็นทางออกที่ถูกต้องที่สุด และน่าจะได้ข้อยุติว่าเราไม่มีทางรื้อโครงสร้างที่มีมาแล้วทุกอย่างได้ทั้งหมด แม้กระบวนการทางสังคมจะทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดนิ่งก็ตาม.
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net