Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในห้วงเวลาแห่งการนับถอยหลังสู่การเลือกตั้งทั่วไป (เลือกตั้งเพื่อให้ได้มาซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้มีสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ ที่จะทำหน้าที่ลงคะแนนเลือกบุคคลที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี)ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 นี้ นี่คือช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยบรรยากาศของการหาเสียง การมีเวทีดีเบตพรรคการเมือง รวมถึงการที่องค์การภาคประชาสังคมทั้งสายที่ทำงานด้านประชาธิปไตย การตรวจสอบการเลือกตั้งโดยตรง และภาคประชาสังคมที่ทำงานเฉพาะกลุ่มประเด็นทางสังคมต่างๆ ออกมาทำงานอย่างแข็งขัน เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการติดตามตรวจสอบการเลือกตั้ง พัฒนาข้อเสนอแนะนโยบายสาธารณะตามประเด็นหน้างานของแต่ละเครือข่ายเพื่อหวังให้นำไปสู่การพัฒนานโยบายของพรรคการเมือง 
  
อันที่จริง บรรยากาศการที่ประชาชนตื่นตัวเรื่องนโยบายพรรคการเมือง อาจกล่าวได้ว่า เริ่มต้นมาตั้งแต่เมื่อการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2544 แล้ว ที่มีพรรคการเมืองเกิดใหม่มาแรงในขณะนั้น ได้นำเสนอนโยบายที่ทำให้ประชาชนรู้สึกว่ามีความเป็นรูปธรรม อันนำไปสู่การชนะการเลือกตั้งถล่มทลาย ครั้นเมื่อได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแล้ว นโยบายที่ได้หาเสียงไว้ ก็ได้ถูกนำมาปฏิบัติจริง เช่น นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ประชาชนรู้จักในชื่อ “บัตรทอง”

เมื่อเกิดปรากฏการณ์ดังที่กล่าวมา ภูมิทัศน์การเมืองไทยกับการเลือกตั้ง จึงเปลี่ยนโฉมไปโดยสิ้นเชิง พรรคการเมืองต่างๆ ทั้งพรรคที่อยู่มาเก่าก่อนก็ดี พรรคที่เกิดในภายหลังก็ดี ต้องปรับตัว พัฒนานโยบายกันสุดฤทธิ์เพื่อแข่งขันกัน กลายเป็นบรรทัดฐานใหม่นับแต่นั้น 

แม้วันนี้ หลายคนอาจจะดูแคลนว่า เป็นยุคของนโยบายการเมือง “ประชานิยม” พรรคการเมืองแข่งกันขายฝันแบบลด แลก แจก แถม เหมือนแข่งกันขายสินค้า (ภาษาในวงการพริตตี้ เอ็มซี เรียกว่า “Hard Sale”) และยังไปไม่ถึงความคาดหวังส่วนตัวของผู้เขียน ที่อยากเห็นการมีพรรคการเมือง ที่มีอุดมคติทางการเมือง (Ideology)อย่างชัดเจน เพื่อให้ประชาชนได้ตัดสินใจเลือกแนวนโยบายจากIdeologyที่ตนเชื่อมั่น เช่น แนวอนุรักษ์นิยม แนวเสรีนิยม แนวสังคมนิยม ฯลฯ แต่อย่างน้อยๆ เราก็มาสู่จุดของการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญชัดเจน 

ในครั้งนี้ พลันที่พรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ได้ประกาศนโยบายหาเสียง ด้วยการให้ประชาชนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป มีเงินในกระเป๋าดิจิทัล (Digital Wallet) ที่สามารถใช้ได้ผ่านโทรศัพท์มือถือของตน เพื่อเป็นการส่งเสริมกระตุ้นการใช้เงินดิจิทัลตามแนวคิดสังคมไร้เงินสด (Cashless Society)

ผู้เขียนขอไม่ออกความเห็นเรื่องความเหมาะสมของนโยบายในที่นี้ เพราะสิ่งที่ผู้เขียนให้ความสนใจมากกว่าคือ พลันที่มีการประกาศหาเสียงด้วยนโยบายนี้ออกมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (เลขาธิการ กกต.) ได้มีหนังสือแจ้งไปยังพรรคการเมืองดังกล่าว โดยอ้างความตาม มาตรา 57 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2561 ว่าพรรคจะต้องดำเนินการตามมาตรา 57 วรรคหนึ่ง (1) ที่จะต้องมีการแจ้งต่อ กกต. ในรายละเอียดที่มาของเงินงบประมาณที่จะใช้ทำนโยบาย และวงเงินงบประมาณที่ต้องใช้ 

ผู้เขียนสารภาพตามตรงว่า ผู้เขียนเองซึ่งก็ขับเคลื่อนงานการเมืองภาคประชาชนมาตลอดตั้งแต่สมัยยังเรียนหนังสือจนทุกวันนี้ ทั้งยังเคยทำหน้าที่ผู้ประสานงานอาสาสมัครสังเกตการณ์การเลือกตั้ง (ปอส.) โดยคำสั่งแต่งตั้งของ กกต. มาตั้งแต่ยุครัฐธรรมนูญ2550ด้วย (ที่จริง ปอส. มีเก่าแก่มานานกว่านั้นตั้งแต่ยุค “คณะกรรมการองค์กรกลางการเลือกตั้ง” ที่ไว้จะกล่าวถึงต่อไป) ผู้เขียนยังเพิ่งทราบว่า ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มีการระบุให้ กกต. มีอำนาจหน้าที่เช่นนี้ !

จุดนี้ทำให้ผู้เขียนต้องตั้งคำถามขึ้นมาว่า การตรวจสอบรายละเอียดนโยบายหาเสียงอย่างลงลึกขนาดนี้ สมควรจะเป็นหน้าที่ของ กกต. หรือ??

เจตนารมณ์เดิมของ กกต. ต้องย้อนไปตั้งแต่ยุคสมัยหลังการรัฐประหารปี2534 ขณะที่คุณอานันท์ ปันยารชุน ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่1 โดยการแต่งตั้งจากคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) จนเมื่อช่วงที่จะเปลี่ยนผ่านสู่การเลือกตั้งทั่วไปในปี2535 หลังจากมีรัฐธรรมนูญใหม่ในปี2534แล้ว คุณอานันท์มองว่า การให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ดำเนินการจัดการเลือกตั้ง จะมีความไม่เป็นกลาง ขาดความน่าเชื่อถือ จึงเริ่มทดลองให้มี “คณะกรรมการติดตามและสอดส่องดูแลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” โดยแต่งตั้งด้วยคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2535 ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ เป็นที่รู้จักต่อสาธารณะในชื่อ “องค์กรกลางการเลือกตั้ง” 

กระทั่งเมื่อเกิดเหตุการณ์นองเลือด “พฤษภาทมิฬ 2535” จนทำให้นายกรัฐมนตรี ที่ไม่ได้มาจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ทั้งยังเป็นบุคคลในคณะรัฐประหารปี2534 ต้องยอมลาออกจากตำแหน่ง คุณอานันท์ กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกเป็นครั้งที่ 2 ในช่วงสุญญากาศนี้ (แทนบุคคลที่พรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล ซึ่งเป็นต้นเหตุความขัดแย้ง เตรียมจะเสนอชื่อขึ้นมา) ครั้งนี้คุณอานันท์มองเห็นว่า องค์กรกลางฯควรเน้นบทบาทการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนมากขึ้น จึงได้มีคำสั่งสำนักนายกฯ แต่งตั้ง “คณะกรรมการองค์กรกลางเพื่อการเลือกตั้ง” โดยมีตัวแทนนักวิชาการ คนทำงานภาคประชาสังคมเข้ามาเป็นหลักในคณะกรรมการองค์กรกลางฯ ขึ้นมาในวันที่ 8 กรกฎาคม 2535 ก่อนที่จะมี “องค์กรกลาง3” ในปี2538 (โดยในหนนี้ นอกจากบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิแล้ว ยังมีการเพิ่มให้ประธานสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน หรือ สสส. ที่ผู้เขียนเป็นกรรมการสมาคมฯในปัจจุบัน เป็นกรรมการองค์กรกลางฯ โดยตำแหน่งด้วย)

ที่กล่าวมา คือจุดเริ่มต้นที่นำมาสู่การมี กกต. ในปัจจุบัน ที่ผู้คนทั่วไปเข้าใจมาโดยตลอด แม้แต่ในเว็บไซต์ของ กกต. เองก็ยังระบุว่า กกต. มีจุดกำเนิดมาตั้งแต่ในรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปี 2540 ซึ่งในความเป็นจริงนั้น องค์กร กกต. หรือ “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” นั้น มีการระบุไว้ให้มีการจัดตั้ง มาตั้งแต่ใน “มาตรา 115 ของรัฐธรรมนูญปี 2534 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมปี 2538” แล้ว แต่เพราะยังไม่มีการอนุวัตกฎหมายให้สอดคล้องกับมาตรา 115 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมนี้ ทำให้ไม่สามารถจัดตั้ง กกต. ขึ้นมาได้ จึงต้องแต่งตั้งให้มี “องค์กรกลาง3” โดยคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีเช่นเดิม (ชวน หลักภัย นายกฯในขณะนั้นเป็นผู้ลงนาม) ให้ขึ้นมาทำหน้าที่แทน กกต. ไปก่อน ในการเลือกตั้งทั่วไปปี2538 (แต่ยังคงเป็นการทำงานในการติดตามตรวจสอบการทุจริตการเลือกตั้ง จัดตั้งอาสาสมัครสังเกตการณ์การเลือกตั้ง ดังเช่นยุคองค์กรกลางชุดที่2 ยังไม่ได้ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการเลือกตั้งแทนกระทรวงมหาดไทย) 

จากที่กล่าวมา อาจสรุปได้ว่า เจตนารมณ์ที่แท้จริงของการมี กกต. นั้น เป็นไปเพื่อให้มีองค์กรที่เป็นอิสระ ไม่ต้องขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ไม่อยู่ใต้อำนาจการเมืองของฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ขึ้นมาทำหน้าที่ในการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง การทำประชามติระดับชาติ ไปจนถึงระดับท้องถิ่นตั้งแต่กรุงเทพมหานคร จังหวัด เขต อำเภอ ตำบล โดยให้สามารถทำได้ด้วยความเป็นอิสระ ลำดับถัดมาคือการส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง ตั้งแต่ขั้นของการออกไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียง จนถึงการร่วมตรวจสอบการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรม สุดท้ายคืองานด้านการส่งเสริม คือการสร้างความรู้ ความตระหนักให้ประชาชนศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย เคารพและร่วมกันส่งเสริมกลไกการเลือกตั้ง 

ในวันนี้ยังมีคนตั้งคำถามกันด้วยซ้ำว่า ทำไมต้องมี กกต. ที่รับเงินเดือน365วัน ทั้งๆที่การเลือกตั้ง ไม่ได้มีทุกวัน ทุกปี จุดนี้ผู้เขียนตอบได้ว่า ช่วงระหว่างที่ไม่มีการจัดการเลือกตั้งใดๆ งานของ กกต. นอกจากการรณรงค์ส่งเสริม ให้ความรู้แก่ประชาชนเรื่องประชาธิปไตยกับการเลือกตั้งแล้ว กกต. พึงมีหน้าที่ในการพัฒนาระบบงานต่างๆให้พร้อม เพื่อให้การจัดการเลือกตั้งในครั้งต่อๆไปมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทบทวนแก้ไขข้อผิดพลาด หรือข้อประเด็นที่ควรต้องปรับปรุง เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิในการเลือกตั้งได้อย่างเต็มที่ และรักษาไว้ซึ่งเจตจำนงในการออกเสียงของประชาชน 

ที่อารัมภบทมายืดยาวนี้ ผู้เขียนเพียงอยากให้คนรุ่นหลังได้รู้จักที่มาที่ไปของการมี กกต. เกิดขึ้น และนัยยะสำคัญที่ต้องการบอกคือ “การตรวจสอบวิธีบริหารนโยบายสาธารณะ ไม่ใช่หน้าที่ตามจุดมุ่งหมายของการมี กกต.!!!”

มาตรา 57 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ที่ระบุให้พรรคการเมืองต้องระบุเรื่องที่มาของเงินงบประมาณ ที่พรรคการเมืองจะใช้ทำนโยบายที่หาเสียง เป็นเรื่องสุดแปลกประหลาดเกินที่จะให้ผู้เขียนเข้าใจได้

ก่อนจะเขียนบทความนี้ มีอดีต กกต. ท่านหนึ่ง ซึ่งเคยมีชื่อเป็นกรรมการองค์กรกลางฯในยุคที่2และ3ด้วย ออกมาตั้งข้อสังเกตว่า กกต. เองก็ไม่ได้มีผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจมหภาค ที่น่าเชื่อถือพอที่จะมาวิเคราะห์เรื่องภาระงบประมาณแผ่นดิน ความเสี่ยงในการดำเนินนโยบายได้ การใช้อำนาจหน้าที่ตามมาตรานี้ ควรประสานกระทรวงการคลัง หรือสำนักงบประมาณ มาช่วยวิเคราะห์ความเป็นไปได้จริงของนโยบายที่พรรคการเมืองกำลังแข่งกันนำเสนอแบบลด แลก แจก แถม รวมถึงประเมินความเสี่ยง การรักษาวินัยการเงิน การคลัง 

แต่สำหรับผู้เขียนนั้น ผู้เขียนมองว่า ทุกอย่างมันผิดตั้งแต่การมี พ.ร.ป.พรรคการเมืองฉบับนี้แล้ว !

ที่มองเช่นนั้น เพราะประการแรกคือ เรายังไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่า พรรคการเมืองที่นำเสนอนโยบาย จะมีโอกาสเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล หรือแม้กระทั่งได้เพียงมีผู้แทนเข้าไปอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่? เพราะมันเป็นเรื่องอนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้น แม้ต่อให้ผ่านวันเลือกตั้งไปแล้ว ปัจจัยตัวแปรในการเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร หรือการจัดตั้งรัฐบาล ก็ยังมีอีกมากมาย โดยเฉพาะภายใต้รัฐธรรมนูญปัจจุบัน ที่มีสารพัด “กับดัก” สำหรับพรรคการเมือง

ประการถัดมาที่พึงควรพิจารณาคือ เพราะเจตนารมณ์จริงๆของ กกต. คือการทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งให้เป็นอิสระ บริสุทธิ์ ยุติธรรมเท่านั้น ตามชื่อเต็มของ กกต. เลยคือ “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” การดำเนินนโยบายสาธารณะ เป็นเรื่องที่นอกเหนือไปจากกระบวนการการเลือกตั้งแล้ว 

ดังนั้น การพิจารณาในรายละเอียด วิธีการใช้งบประมาณแผ่นดินเพื่อดำเนินนโยบาย ในขั้นก่อนการลงคะแนนเลือกตั้ง จึงเป็นหน้าที่ของภาคประชาสังคม ภาควิชาการ ภาคสื่อมวลชน ในการที่จะตั้งข้อสังเกต วิเคราะห์ข้อมูล และผู้ที่จะตัดสินว่าสมควรทำหรือไม่คือ “ประชาชนผู้ลงคะแนนเสียง” 

และหากว่า ประชาชนได้ตัดสินผ่านการลงคะแนนเลือกตั้งไปแล้ว ได้มีการจัดตั้งรัฐบาลแล้ว นั่นคือความรับผิดชอบของผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งและเข้าไปจัดตั้งรัฐบาล โดยที่สำนักงบประมาณ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ซึ่งเป็นฝ่ายข้าราชการประจำ พึงควรทำหน้าที่นี้ ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อช่วยเหลือให้การดำเนินนโยบายของรัฐบาล สอดคล้องกับหลักวินัยทางการคลัง

นอกจากนี้ เรายังมีทั้งกลไกการตรวจสอบ ที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนเช่นกัน คือ “ฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร” ซ้ำทุกวันนี้ ยังมีกลไกตรวจสอบ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนร่วมด้วยอีกมากมาย ตั้งแต่ “วุฒิสภา” ที่ทุกวันนี้ นายกรัฐมนตรีไม่ได้เป็นคนแต่งตั้ง และไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง หรือจากการสรรหาโดยประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง แต่รับเงินเดือนเท่ากับผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้ง มีอำนาจล้มกระดานผู้แทนที่ประชาชนเลือกตั้งเข้ามาได้ ยังไม่นับกลไกอื่นๆ ทั้งสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ผู้ตรวจการแผ่นดินอีก 

ทั้งหากกลไกเหล่านี้ มองเห็นว่านโยบายที่รัฐบาลจะทำตามที่หาเสียงไว้จะก่อปัญหาทางการคลัง ก็สามารถตรวจสอบได้ หากกลไกการถ่วงดุลในสภาทำไม่ได้ด้วยเพราะเสียงในสภาไม่เพียงพอ เราก็ยังมีกลไกที่มีอำนาจสั่งการยับยั้ง อย่าง “ศาลปกครอง” รวมถึงกลไกลงดาบอย่าง “ศาลรัฐธรรมนูญ” “ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” อีก ซึ่งการลงดาบด้วยเหตุแห่งการดำเนินนโยบายสาธารณะที่พรรคการเมืองได้หาเสียงเอาไว้ ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นในการพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงการดำเนินนโยบายในตำนานอย่าง “จำนำข้าว” (รายละเอียดเรื่องความผิด-ถูก เหมาะสม-ไม่เหมาะสม ขอไม่กล่าวในที่นี้) 

กระนั้น ในเมื่อกติกาหลักของประเทศ ที่ประชาชนถูก “บังคับให้เลือก” กำหนดไว้เช่นนี้ ประชาชนอย่างผู้เขียน คงทำได้เพียงเรียกร้องให้ กกต. ดำเนินการเท่าที่เหมาะสม และอาจทำตามวิธีที่อดีต กกต. ได้ออกมาแนะนำดังที่กล่าวไปแล้ว และผู้เขียนก็คงได้แต่รอวันที่จะมีโอกาส “รื้อ / สังคายนา” กลไกรัฐธรรมนูญทั้งองคาพยพ 

และสำหรับส่วนตัวผู้เขียนเอง สิ่งที่อยากเรียกร้องให้ กกต. ทำในตอนนี้ ณ วันที่เขียน (13เม.ย.) คือ ไปจัดการแก้ปัญหาเรื่องประชาชนที่เสียสิทธิในการลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า อันเกิดจากการที่ระบบเว็บไซต์ของ กกต. ล่ม ก่อนจะดีกว่ามากๆ หน้าที่ กกต. ในด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมืองตามICCPRคือ การต้องทำให้เสียงของประชาชนทุกเสียงต้องมีความหมาย ไม่หล่นหายไปจากระบบการเลือกตั้งโดยเด็ดขาด!

ตั้งแต่การเลือกตั้ง 2562 กรณีบัตรเลือกตั้งจากคนไทยในต่างประเทศ ที่ไม่ถูกนำมานับเป็นคะแนนในการเลือกตั้ง จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ประชาชนอย่างผู้เขียนยังถามหาความรับผิดชอบจากใครไม่ได้เลย !!!
  
    
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net