Skip to main content
sharethis

กลุ่มนักกิจกรรมรวมตัวรณรงค์ปัญหาคดี ม.112 ตามหาความรับผิดชอบจากอัยการสูงสุด ที่ปล่อยปละละเลยจนมีผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองจำนวนมาก

12 เม.ย. 2566 เกาะพญาไท ณ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เวลาประมาณ 17.14 น. เป็นต้นไป นักกิจกรรม นัดหมายโดย 'เก็ท' โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง สมาชิกโมกหลวงริมน้ำ กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) และทะลุวัง ร่วมทำกิจกรรมแจกใบปลิว ตามหาความรับผิดชอบจาก นารี ตัณฑเสถียร อัยการสูงสุด ที่ปล่อยปละละเลยจนมีผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองจำนวนมาก

ผู้สื่อข่าวได้รับใบปลิวจากนักกิจกรรม พบข้อความระบุถึงปัญหาการทำหน้าที่ของอัยการที่มีการสั่งฟ้องคดีอาญา ม.112 และ ม.116 แทบจะทุกคดี จนทำให้มีผู้ต้องหาคดีการเมืองจำนวนมาก

ใบปลิวของนักกิจกรรม กล่าวอ้างว่าเจตนาของอัยการที่เขียนคำร้องมุ่งลงโทษประชาชน โดยไม่ได้อ้างอิงหลักการตามกฎหมาย หรือคำพิพากษาก่อนหน้า อาทิ

คดี "การกล่าวถึง สิริวัณณวรี เป็นการดูหมิ่นรัชทายาท ทั้งที่ไม่เคยมีการแต่งตั้งรัชทายาทมาก่อน" หรือ "กรณี กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ" อัยการเขียนว่า เป็นการพูดซ้ำ เพื่อล้อเลียน อันเป็นการดูหมิ่น

ใบปลิว ระบุด้วยว่า อัยการเป็นจุดเริ่มต้นการถูกฝากขังระหว่างพิจารณาคดี การฟ้องคดีต้องมีจำเลยไปด้วยเสมอ และอัยการมักทำคำร้องฝากขัง โดยระบุว่ามีอัตราโทษสูง เกรงจะหลบหนี ซึ่งทำให้มองว่าอัยการเป็นผู้ทำให้ประชาชนถูกฝากขังระหว่างพิจารณาคดี

ในใบปลิวยังระบุถึงสถิติว่า นับตั้งแต่ พ.ย. 2563 จนถึง เม.ย. 2566 มีประชาชนถูกดำเนินคดีมาตรา 112 จำนวน 239 คน จากจำนวนคดีทั้งหมด 258 คดี 

เวลา 17.49 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นักกิจกรรมเริ่มเดินจากเกาะกลางพญาไท ขึ้นสกายวอล์ก และเดินไปที่ BTS อนุสาวรีย์ชัยฯ โดยระหว่างการเดินมีการแจกใบปลิว และมีการตะโกนตามหาอัยการที่หายไป

เวลา 17.56 น. กลุ่มนักกิจกรรม เดินไปที่สกายวอล์กมุ่งหน้าไปทางอนุสาวรีย์ชัยฯ และลงที่เกาะกลาง รพ.ราชวิถี จากนั้น เดินไปที่วงเวียนอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และประกาศยุติกิจกรรมเวลาประมาณ 18.13 น.

สำหรับ QR Code บนป้ายที่นักกิจกรรมถือนั้น เมื่อผู้สื่อข่าวลองสแกนเข้าไปแล้ว ปรากฏลิงก์ Change.org เชิญชวนประชาชนลงชื่อ ตามหาอัยการสูงสุด เพื่อให้ยุติการดำเนินคดีทางการเมืองในทุกกรณี

ทั้งนี้ เมื่อเวลา 18.25 น. มีตำรวจนอกเครื่องแบบ จำนวน 2 นาย จาก สน.พญาไท มาสอบถามเก็ท เรื่องการจัดกิจกรรมวันนี้

ทั้งนี้ ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า ล่าสุด เมื่อ 12 เม.ย. 2566 มีผู้ถูกคุมขังในคดีการเมือง และยังสู้คดีความอยู่ 7 คน ประกอบด้วย ถิรนัย-ชัยพร (คดีครอบครองวัตถุระเบิด) ชนะดล (ครอบครองวัตถุระเบิด) ทัตพงศ์ เขียวขาว (คดีครอบครองวัตถุระเบิด) วุฒิ (คดีมาตรา 112) และหิน 'ศิรานนท์' เยาวชนชายอายุ 19 ปี (ระหว่างเกิดเหตุอายุ 17 ปี) และ 'หยก' ธนลภย์ เยาวชนอายุ 15 ปี (คดีมาตรา 112)

สำหรับคดีครอบครองวัตถุระเบิด คทาธร สมาชิกอาชีวะพิทักษ์ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ถูกฝากขังมาตั้งแต่ 11 เม.ย. 2565 จนถึง 7 มี.ค. 2566 ศาลชั้นต้นตัดสินจำคุก 1 ปี 3 เดือน โดยคทาธร ประสงค์อุทธรณ์คำพิพากษาต่อ

แต่ต่อมา 'ออย ทะลุแก๊ส' นักกิจกรรมอิสระ แจ้งผ่านเฟซบุ๊กวานนี้ (11 เม.ย. 2566) ว่า คทาธร ประสงค์ไม่อุทธรณ์คำพิพากษาแล้ว เพราะต้องการทราบวันได้รับอิสรภาพที่แน่นอน จากการไม่อุทธรณ์คำพิพากษาทำให้คทาธร จะได้รับการปล่อยตัวเวลา 8.00 น. ของวันที่ 24 ก.ค. 2566

คทาธร ถูกคุมขังตั้งแต่ 11 เม.ย. 2565 ถึง 12 เม.ย. 2566 รวมระยะเวลา 366 วัน นานที่สุดที่เคยถูกคุมขังนับตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา

นิรโทษกรรม/ถอนฟ้องคดีการเมือง ดึงความเชื่อถือกลับระบบตุลาการไทย

เก็ท สมาชิกโมกหลวงริมน้ำ และเป็นผู้จัดกิจกรรม บอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นการสะท้อนปัญหาการปฏิบัติหน้าที่ของอัยการในคดีการเมืองว่า ช่วงที่ผ่านมาผู้ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองต้องเผชิญการถูกดำเนินคดีอย่างไม่ธรรม โดยเฉพาะจากมาตรา 112 พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือ ม.116 ดังนั้น การทำกิจกรรมครั้งนี้จึงเล็งไปที่การเรียกร้องให้มีการนิรโทษกรรมทางการเมืองทั้งหมด เพราะว่าคนที่โดนคดีเหล่านี้ ถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม และต้องประสบความยากลำบากในการใช้ชีวิต ซึ่งรวมทั้งผมและคนอื่นๆ ด้วย อย่างไรก็ตาม การนิรโทษกรรมอาจใช้ระยะเวลาที่นาน ทั้งขั้นตอนกว่าจะร่าง พ.ร.บ.ฯ ทำประชามติ และอื่นๆ ซึ่งอาจกินเวลา 1-2 ปี เขาจึงอยากเรียกร้องให้อัยการใช้วิธีการถอนฟ้อง ซึ่งสามารถทำได้เลยโดยไม่ต้องรอรัฐบาลใหม่

'เก็ท' โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง สมาชิกโมกหลวงริมน้ำ

สมาชิกโมกหลวงริมน้ำ ยกตัวอย่างผลกระทบจากการถูกดำเนินคดีการเมืองในชีวิตประจำวันด้วยว่า "แค่จะไปทำงานต่อนักรังสีหลายเดือน มันยังยากเลย เวลาเซ็นสัญญามันต้องเซ็นรายเดือน เช่น 3 เดือน หรือ 4 เดือน แต่เราไม่มั่นใจเลยว่า 3 เดือนข้างหน้า เรายังอยู่ข้างนอกอยู่ไหม เราโดนถอนประกันไหม เราจะยังอยู่ ศาลตัดสิน เราจะเข้าคุกไหม มันไม่อะไรแน่นอน 

"อย่างอาชีพผมเป็นอาชีพขาดแคลน ก็เลยไม่ค่อยมีคนต่อรองแม้ว่าจะมีประวัติคดีการเมือง แต่คนอื่นอีกมากมาย เขาไม่ได้ทำงานในอาชีพขาดแคลน เขาเป็นพนักงานทั่วไปอย่างนี้ พอเช็กประวัติมาตรวจบัตรประชาชน ประวัติขึ้นแล้ว รับราชการก็ลำบากแล้ว อาจจะไม่ได้ด้วยซ้ำ เอกชนก็ยังลำบาก ประวัติมันติดมันก็สู้ยาก" เก็ท กล่าว

อย่างไรก็ตาม สมาชิกโมกหลวงริมน้ำ กล่าวว่า แม้ว่าการนิรโทษกรรม หรือการที่อัยการถอนฟ้องคดีการเมือง ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่เรียกร้องกันมาตั้งแต่แรก แต่นิรโทษกรรมตรงนี้มันเหมือนกับให้ประชาชนได้กลับไปใช้ชีวิตของเขา และมองว่าเป็นการฟื้นคืนความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมของไทยในเวลาเดียวกัน 

"บางคนตั้งคำถามว่า คดีการเมืองพันแปดร้อยกว่าคน ประชากร 70 ล้านกว่าคน มันคือส่วนน้อย แต่ปัญหาตรงนี้เกิดจากโครงสร้างตั้งแต่แรก มันเกิดจากการใช้นิติสงคราม มันทำให้กระบวนการยุติธรรมไทยมันไม่น่าเชื่อถือ สถาบันกษัตริย์มันไม่น่าเชื่อถือ เพราะว่าคดีสถาบันกษัตริย์มันไม่ได้เป็นคนฟ้อง มันคือใครก็ได้ฟ้อง มันทำให้ระบบโครงสร้างทั้งสถาบันการเมือง สถาบันกษัตริย์ และสถาบันอื่นๆ การนิรโทษกรรมมันคือการดึงความน่าเชื่อถือกลับมาสู่กระบวนการตุลาการและนิติบัญญัติ"

"ทันทีที่อัยการถอนฟ้อง คดีการเมืองที่อยู่ในชั้นศาลจะจบไปเลย เพราะฉะนั้น มันคือโอกาสดึงความน่าเชื่อถือกลับมาสู่อัยการ กระบวนการนิติศาสตร์ กระบวนการตุลาการ" เก็ท กล่าว 

ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า นับตั้งแต่ พ.ย. 2563 จนถึงสิ้นเดือน มี.ค. 2566 มีคนถูกดำเนินคดีการเมืองทั้งสิ้นอย่างน้อย 1,898 คน จากจำนวนคดี 1,187 คดี โดยแบ่งเป็น

คดีมาตรา 112 มีผู้ถูกดำเนินคดีจำนวนอย่างน้อย 237 คน จากจำนวนคดี 256 คดี คดีมาตรา 116 จำนวน 130 คน จาก 40 คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 1,469 คน จาก 663 คดี พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ จำนวน 136 คน จาก 77 คดี คดี พ.ร.บ.คอมฯ 163 คน จาก 183 คดี และสุดท้าย คดีละเมิดอำนาจศาล 36 คน จาก 20 คดี  
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net