Skip to main content
sharethis
  • สมช.แจงยิบกรณีรัฐไทยผลักดันกลุ่มต่อต้านเผด็จการ 'PDF' 3 ราย กลับไปเผชิญอันตรายที่เมียนมา ยันมีการจับกุม-ผลักดันกลับตามข้อหาเข้าเมืองผิด กม. เมื่อ 4 เม.ย. 66 อ้างไม่ได้รับแจ้งว่าเป็น PDF หรือมารักษาที่แม่สอด-ติงคนเผยแพร่ข้อมูลควรนำเสนอรอบด้าน หวั่นกระทบความสัมพันธ์ 
  • ภาคประชาชน โต้ สมช. ที่ระบุว่าไม่มีหน่วยงาน หรือองค์กรสิทธิมนุษยชน มาติดต่อความคุ้มครอง หรือแจ้งว่าชาวพม่า 3 คนเป็นสมาชิก PDF นั้น ภาคประชาชนมีการติดต่อและขอหารือแล้ว แต่ทางเจ้าหน้าที่แจ้งว่าให้มาอีกวัน แต่พอมาหาอีกวัน เจ้าหน้าที่รัฐไทยกลับผลักดันกลับไปแล้ว
  • ภาคประชาชนตั้งคำถามต่อการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐไทยว่า เรื่องการผลักดันทำไมต้องเร่งรีบเพราะมีระบบคัดกรองชาวต่างด้าว การส่งกลับเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ มีการประสานงานกับทหารพม่าล่วงหน้าหรือไม่ และในแถลงของ สมช.ไม่มีการระบุจุดส่งตัวกลับ 

 

สืบเนื่องจากกรณีที่พรรคการเมือง และสำนักข่าวต่างประเทศ เผยว่า เมื่อประมาณ 31 มี.ค. 2566 ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง จังหวัดตาก (ตม.จว.ตาก) ของรัฐบาลไทย ได้ทำการจับกุมนักสู้จากกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (People's Defence Force - PDF) จำนวน 3 ราย ขณะเข้ามารักษาตัวที่แม่สอด จ.ตาก อย่างไรก็ตาม ทั้ง 3 คนถูกผลักดันกลับไปเผชิญอันตรายที่ประเทศต้นทางในวันต่อมา และมีการคาดการณ์ว่า ทั้ง 3 คนอาจจะเสียชีวิตทั้งหมดแล้ว

สำหรับกองกำลังพิทักษ์ประชาชน หรือ People Defence Force - PDF ก่อตั้งครั้งแรกเมื่อ 5 พ.ค. 2564 หลังการทำรัฐประหารของกองทัพเมียนมา เป็นปีกทางการทหารของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ หรือ NUG มีหน้าที่สำคัญในการรบต่อสู้แบบกองโจรต่อกองทัพพม่าในเขตพื้นที่ต่างๆ และเคยถูกกองทัพพม่ากล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อการร้าย เมื่อ 8 พ.ค. 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

11 เม.ย. 2566 ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานวันนี้ (11 เม.ย.) กองประเมินภัยคุกคาม สมาความมั่นคงแห่งชาติ (กปภ. สมช.) ออกแถลงการณ์ชี้แจงเหตุการณ์กรณีดังกล่าว ดังนี้

สมช. ระบุว่ารับทราบว่ามีการส่งต่อข่าวสารที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาล ไทยจึงได้ประสานตรวจสอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับส่วนกลาง และในพื้นที่ เพื่อพิสูจน์ทราบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวโดยทันที 

บุคคลทั้ง 3 ราย ตามที่ปรากฏในข่าวสารที่ถูกส่งต่อได้ถูกหน่วยงานความมั่นคงของไทยควบคุมตัว เมื่อ 31 มี.ค. 2566 เมื่อเวลาประมาณ 14.00 น. ณ จุดตรวจบ้านห้วยหินฝน ระหว่างที่กําลังโดยสารรถประจําทาง ประกอบด้วย  1. โกตี้หะ (ไม่มีนามสกุล) อายุ 38 ปี  2. แทะแนวิน (ไม่มีนามสกุล) อายุ 31 ปี  และ 3. ซอเพียวเล (ไม่มีนามสกุล) อายุ 26 ปี

โดยทั้ง 3 รายถูกจับกุมในข้อหา "เป็นบุคคลต่างด้าวเดินทางเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต" โดยทั้ง 3 รายไม่มีหนังสือเดินทางและเอกสารใดติดตัวมา

จากการสอบถามทั้ง 3 ราย ให้การตรงกันว่าพวกตน "เข้ามาทางช่องทางธรรมชาติ  เพื่อไปงานเผาศพเพื่อนที่แม่กาษา" โดยเจ้าหน้าที่ของไทยไม่ได้รับแจ้งจากทั้ง 3 รายว่า พวกตนได้ผ่านการสู้รบ หรือได้รับบาดเจ็บ และต้องการเข้ามารักษาตัวตามที่ปรากฏในข่าวสารที่ถูกส่งต่อกันแต่อย่างใด  

จากนั้นเจ้าหน้าที่จึงดําเนินการส่งทั้ง 3 ราย มาที่ห้องกัก ตม.จว.ตาก ตั้งอยู่ที่ ต.ท่าสาย ลวด อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อผลักดัน ตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 54  (มาตรา 54: คนต่างด้าวผู้ใดเข้ามาหรืออยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือการ อนุญาตนั้นสิ้นสุดหรือถูกเพิกถอนแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่จะส่งตัวคนต่างด้าวผู้นั้นกลับ ออกไปนอกราชอาณาจักรก็ได้) ต่อมาวันที่ 4 เม.ย. 66 จึงได้ทําการผลักดันผู้ถูกจับทั้ง 3 ราย รวมกับผู้ต้องกักสัญชาติพม่ารายอื่นๆ ด้วย (ดังที่ปรากฏตามภาพถ่าย) 

ในระหว่างวันที่ถูกจับกุมจนกระทั่งถึงวันที่ผลักดัน เจ้าหน้าที่ไทยไม่ได้รับการติดต่อ  ไม่ว่าจะทางช่องทางใดๆ อาทิ หนังสือแจ้งจากหน่วยงานใดๆ หรือองค์กรเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน หรือหนังสือแจ้งเพื่อทําการคุ้มครองผู้ถูกจับดังกล่าวว่า บุคคลดังกล่าวเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร หรือกลุ่มใดๆ ที่ต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า

ข้อมูลชี้แจงบทความเข้าใจเกี่ยวกับแนวปฏิบัติของไทยกรณีผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา และกลุ่มต่อต้านติดอาวุธทใช้ที่ไทยเป็นที่พักพิง 

กรณีผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา (ผภสม.) นั้น สมช.ได้กําหนดกรอบแนวทางการปฏิบัติ (SOP) ให้หน่วยงานในพื้นที่ทุกหน่วยยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ภายใต้การให้ความสําคัญสูงสุดกับหลักมนุษยธรรมสากล โดยการจัดพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว และพื้นที่พักรอ เพื่อรองรับ ผภสม.มาอย่างต่อเนื่องตั้ง แต่เริ่มปรากฏสถานการณ์การสู้รบจนมาถึงปัจจุบัน โดยทั้ง 2 พื้นที่ได้กําหนดให้มีการควบคุมดูแล และบริหารจัดการโดยภาคส่วนของรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งในมิติของฝ่ายทหาร ฝ่ายปกครอง และฝ่ายสาธารณสุข 

ถึงแม้ไทยมิได้เป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย แต่ไทยยึดมั่นและเคารพในหลักการไม่ผลักดันกลับ (Non-Refoulement) โดยที่ผ่านมา ผภสม.ที่เข้ามายังประเทศไทย ล้วนแล้วแต่ต้องการเดินทางกลับมาตุภูมิโดยความสมัครใจทั้งสิ้น
  
กรณีการตรวจพบ/จับกุมกลุ่มต่อต้านรัฐบาลเมียนมาที่มาพักพิง/หลบหนีพร้อมอาวุธ เช่น โดรน และกระสุนในประเทศไทย เป็นการปฏิบัติตามแนวทางด้านความมั่นคงปกติ เนื่องจากเป็นที่ประจักษ์ว่ากลุ่มดังกล่าวมิได้เข้ามาในประเทศไทยเนื่องจากต้องการหลบหนีภัยจากการสู้รบ หรือการประหัตประหาร แต่กลุ่มดังกล่าวมุ่งหวังที่จะใช้ไทยเป็นที่หลบซ่อนพักพิง เพื่อสนับสนุนการสู้รบกับรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยสาเหตุดังกล่าวจึงเป็นสิ่งจําเป็นที่ไทยจะต้องยึดมั่นในหลักการไม่อนุญาตให้กลุ่มดังกล่าวดําเนินการใดๆ ในไทยต่อไปได้ทั้งนี้การดําเนินการดังกล่าวอยู่บนพื้นฐานการพิจารณาโดยยึดหลัก ผลประโยชน์ของไทยและความปลอดภัยของประชาชนชาวไทยเป็นหลักทั้งสิ้น 

จะเห็นได้ว่าความขัดแย้งในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกในปัจจุบัน จะมีปัจจัยเร่งประการหนึ่งที่ส่งผลโดยตรงต่อสถานการณ์ปัจจัยนั้น คือ “การนําเสนอข้อมูลข่าวสารที่เน้นตอบสนอง ความมุ่งหมายหรือความเชื่อในบางมุม มากกว่าการมุ่งเสนอข้อเท็จจริง” สําหรับกรณีในเมียนมา ถือเป็นเรื่องที่เปราะบางเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเมียนมามีสถานะเป็นประเทศเพื่อนบ้านของไทย การนําเสนอข้อมูลใดๆ โดยปราศจากการตรวจสอบอย่างเป็นทางการจากภาครัฐ จึงอาจก่อให้เกิดผลกระทบในหลายๆ มิติ และจะเป็นอุปสรรคให้การดําเนินการของภาครัฐ ไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้ตามที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้ ทั้งนี้ ขอให้เชื่อมั่นว่าการดําเนินการใดๆ ของภาครัฐของไทยอยู่บนพื้นฐานของการกระทํา เพื่อผลประโยชน์ของชาติไทย และความปลอดภัยของชาวไทยในพื้นที่ชายแดนเป็นหลัก  

'ภาคประชาสังคม' แสดงความเห็น-ข้อสังเกตแถลงของ สมช. 

วานนี้ (10 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานจากมูลนิธิศักยภาพชุมชน (People Empowerment Foundation) ออกแถลงการณ์ข้อสังเกตและความเห็นจากเอกสารชี้แจง กปภ. สมช. โดยตอบโต้ด้วยกันหลายประเด็น

ประเด็นแรกตามที่ สมช.กล่าวอ้างว่า มีการผลักดันสมาชิก PDF จำนวน 3 ราย กลับไปที่ประเทศต้นทาง พร้อมผู้ถูกกักรายอื่นๆ แต่จากภาพที่ สมช.นำมากล่าวอ้าง ไม่สามารถยืนยันเรื่องดังกล่าวได้ เนื่องจากมีเพียงแค่ภาพของเจ้าหน้าที่ไทย และสมาชิก PDF 3 รายเท่านั้น 

ตามที่แถลงการณ์ของ สมช.ชี้แจงว่าไม่ได้รับการติดต่อองค์กรมนุษยชน หรือหน่วยงานใดๆ ว่าเป็นทหาร หรือหน่วยงานต่อต้านกองทัพเมียนมานั้น ทางมูลนิธิฯ ระบุว่า มีการมาขอพบเจ้าหน้าที่ที่จับกุม และขอหารือ แต่เจ้าหน้าที่กลับแจ้งว่าให้มาใหม่วันรุ่งขึ้น (4 เม.ย.) และพอมาอีกครั้ง พบว่า PDF ทั้ง 3 คน ได้ถูกผลักดันกลับไปแล้ว

นอกจากนี้ ทางมูลนิธิศักยภาพชุมชน ตั้งข้อสังเกต และคำถามต่อการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐไทย เบื้องต้น มูลนิธิฯ มองว่าการส่งกลับผู้ลี้ภัย หรือกองกำลัง PDF ของรัฐไทยละเมิดต่อหลักการไม่ผลักดันกลับไปเผชิญอันตราย หรือ Non-Refoulement และไม่เคารพต่อมาตรา 3 ว่าด้วยอนุสัญญาการต่อต้านการซ้อมทรมาน

ทางมูลนิธิฯ ระบุต่อว่า ฝ่ายความมั่นคงไทยทราบดีอยู่แล้วว่า เขตแดนที่ส่งกลับไปเป็นเขตอิทธิพลของกลุ่มกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF - Border Guard Force) ซึ่งไม่ปลอดภัยต่อผู้ลี้ภัยชาวเมียนมา ดังนั้น การส่ง PDF ทั้ง 3 คนคือการส่งไปเพื่อเสียชีวิต หรือไปเผชิญการซ้อมทรมาน

ทางมูลนิธิศักยภาพชุมชน มีข้อสงสัยว่า การผลักดันกลับทำไมถึงรีบเร่งเพราะว่าไทยมีมาตรการคัดกรองผู้ลี้ภัย และตั้งคำถามว่าการผลักดันกลับเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ มีการติดต่อกับทหารพม่าก่อนส่งตัวกลับหรือไม่ และในแถลงการณ์ของ สมช. ไม่ได้ระบุจุดที่ใช้ในการส่งตัวกลับด้วย 

ท้ายที่สุด ทางมูลนิธิศักยภาพชุมชน แสดงความเสียใจต่อกลุ่มผู้เสียชีวิต และต่อรัฐไทยที่ไม่เคารพต่อแนวปฏิบัติที่ได้ให้คำมั่นไว้โดยละเมิดทุกข้อ การผลักดันกลับไม่มีความโปร่งใส และทำลายชื่อเสียงของประเทศไทย กับการที่ผู้นำประเทศได้ลงนามไว้ในระดับต่างๆ แต่ไม่มีการนำมาปฏิบัติที่แท้จริง หวังว่าจะไม่มีเรื่องเช่นนี้อีกในอนาคต 

ทั้งนี้ จากการสอบถาม ชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชน ได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า มีรายงานยืนยันว่ามีผู้เสียชีวิตแน่นอนแล้ว 1 ราย โดยถูกทหารพม่ายิง หลังพยายามหลบหนีระหว่างขึ้นเรือข้ามแม่น้ำเมย ส่งตัวกลับไปที่เขต BGF และอีก 2 คนมีรายงานว่าได้รับบาดเจ็บ และถูกส่งตัวไปที่ศูนย์สอบสวน ยังไม่ทราบชะตากรรมที่แน่ชัด

ภาพของ BGF ที่ทำการจับกุมตัวสมาชิก PDF จำนวน 2 ราย หลังจากทางการไทยส่งสมาชิก PDF ไปสู่ประเทศต้นทาง (ที่มา: มูลนิธิศักยภาพชุมชน)

รายละเอียดแถลงการณ์

แถลงการณ์
เรื่องการส่งกลับ PDF ชาวพม่า 3 คนสู่พื้นที่ควบคุมของทหารพม่า ทำให้ทั้งสามคนถึงแก่ชีวิต
ข้อสังเกตและความเห็นจากเอกสารชี้แจงของ กปภ. สมช.

จากเอกสารชี้แจงของ กปภ. สมช. (กองประเมินภัยคุกคาม สมาความมั่นคงแห่งชาติ) เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2566 ว่าทั้งสามคนถูกควบคุมตัวด้วยข้อหา “เป็นบุคคลต่างด้าวเดินทางเข้ามา และอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต” ถูกจับที่จุดตรวจบ้านห้วยหิน และถูกควบคุมตัวที่ห้องกัก ตม. จว.ตาก เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2566 และถูกผลักดันกลับเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2566 ในเอกสาร สมช. ชี้แจงว่าส่งกลับรวมกับผู้ต้องกักชาวพม่าอื่นๆ ตามภาพถ่ายที่ปรากฏมีเพียงชาวพม่า 3 คน และเจ้าหน้าที่ ไม่มีชาวพม่าคนอื่นๆ ดังนั้น การส่งกลับร่วมกับชาวพม่าอื่นๆ ไม่น่าจะเป็นเรื่องจริง 

ในเอกสารชี้แจงของ สมช. ข้อ 5 ว่า ไม่ได้รับการติดต่อไม่ว่าจากช่องทางใดๆ หรือจากองค์กรสิทธิมนุษยชน เพื่อคุ้มครองผู้ถูกจับกุมดังกล่าวข้อมูลจากองค์กรสิทธิในพื้นที่แจ้งว่าได้ขอเข้าพบเจ้าหน้าที่และขอหารือ แต่ได้รับแจ้งว่าให้กลับมาทำใหม่วันรุ่งขึ้น แต่วันรุ่งขึ้นทั้งสามคนถูกส่งข้ามแดนไปยังพื้นที่ควบคุมพม่า (BGF) สองคนถูกยิงโดยทหารพม่าระหว่างพยายามหลบหนี และถูกส่งตัวไปศูนย์สอบสวนของทหารพม่า คาดว่าทั้งสามคนเสียชีวิตแล้ว และอาจถูกซ้อมทรมานก่อนการเสียชีวิตด้วย

ความเห็นต่อกรณีนี้ 

1. สมช. ชี้แจงแนวการปฏิบัติต่อผู้หนีภัยความไม่สงบเมียนมาว่ายึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดและให้ความสำคัญสูงสุดกับหลักมนุษยธรรมสากล ไทยยึดมั่นและเคารพในหลักการการไม่ผลักดันกลับไปสู่อันตราย (Non-Refoulement) การเดินทางกลับมาตุภูมิเป็นโดยความสมัครใจ แต่การส่งกลับทั้งสามคนขัดต่อหลักมนุษยธรรมสากลอย่างมาก ประเทศไทยไม่เคารพในการลงนามอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการซ้อมทรมานมาตรา 3 พูดถึงการไม่ส่งกลับไปเผชิญอันตราย

2. รัฐบาลไทยให้คำมั่นสัญญาในที่ต่างๆ เช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ คุณดอน ปรมัตถ์ ได้ให้คำมั่นและลงนามในเอกสารความเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกา (United State - Thailand communique on strategy Alliance and Partnership) เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2022 ว่าจะคุ้มครองความมั่นคงของมนุษย์ ยึดมั่นในหลักการมนุษยธรรมและหลักการห้ามผลักดันกลับไปเผชิญอันตราย ท่านนายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เข้าร่วมประชุม ASEAN U.S. - Special Leader' Summit เมื่อวันที่ 15-16 กุมภาพันธ์ 2016 ที่ Sunnylands อเมริกา ยืนยันในหลักการ ‘ที่จะให้โอกาสประชาชนทุกคนโดยสร้างความเข้มแข็งในระบอบประชาธิปไตย ธรรมาภิบาลปกครองโดยกฎหมายที่เป็นธรรม ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพพื้นฐาน 

3. เจ้าหน้าที่ความมั่นคงชายแดนไทยทราบดีว่า BGF เป็นเขตไม่ปลอดภัยต่อผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา การส่งชาวพม่าสามคนไปในพื้นที่ BGF คือการส่งไปเพื่อการเสียชีวิต โดยการถูกซ้อมทรมานอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ทำไมเจ้าหน้าที่ความมั่นคงไทยจึงต้องรีบผลักดันกลับ ไทยมีระบบการคัดกรองคนต่างด้าว เพื่อให้ได้รับการคุ้มครองตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2562 ประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา หน้า 35 เล่ม 140 ตอนพิเศษ 72 ง ประกาศเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2566 เจ้าหน้าที่ได้ใช้ระบบคัดกรองนี้ไหม ตกลงว่าการผลักดันกลับใช้ระบบตามกฎหมายหรือไม่ มีการติดต่อกับรัฐบาลทหารพม่าหรือไม่ และในแถลงการณ์ไม่ได้ระบุจุดที่ใช้ในการส่งตัวกลับ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้ใช้อำนาจรัฐ จะไม่กระทำให้รัฐไทย เป็นเครื่องมือของความขัดแย้ง

4. ภาคประชาสังคมไทยเสียใจอย่างมากที่เจ้าหน้าที่ของไทยไม่ปฏิบัติตามแนวปฏิบัติที่ได้ให้คำมั่นไว้โดยละเมิดทุกข้อ การผลักดันกลับไม่มีความโปร่งใส และทำลายชื่อเสียงของประเทศไทย กับการที่ผู้นำประเทศได้ลงนามไว้ในระดับต่างๆ แต่ไม่มีการนำมาปฏิบัติที่แท้จริง หวังว่าจะไม่มีเรื่องเช่นนี้อีกในอนาคต 

มูลนิธิศักยภาพชุมชนขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของ PDF (People’s Defend Force) ทั้งสามคนที่ถูกส่งกลับไปในเขตควบคุมของพม่า BGF (Border Guard Force) และเสียชีวิตในที่สุด

แถลงการณ์ของมูลนิธิ People Empowerment Foundation

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net