Skip to main content
sharethis

'ประชาธิปัตย์' หาเสียงนครสวรรค์ ย้ำนโยบายประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว และชาวนารับครัวเรือนละ 30,000 บาท - 'เพื่อไทย' รับฟังปัญหาจากกลุ่มเกษตรกร จ.แพร่ พร้อมแจงนโยบาย-แนวทางแก้ แจงแนวทางเติมเงินกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งประเทศเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ใส่กระเป๋าเงินคนไทยใช้จ่ายใกล้บ้าน 4 กิโลเมตร ระยะเวลา 6 เดือน

9 เม.ย. 2566 เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ รายงานว่าเวลา 13.00 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นำคณะ “จุรินทร์ ออนทัวร์ ภาคเหนือ” พร้อมกับผู้สมัคร ส.ส.จังหวัดนครสวรรค์ 6 เขต ประกอบด้วย เขต 1 นายสงกรานต์ จิตสุทธิภากร เบอร์ 9 เขต 2 นายจรูญ ลาโพธิ์ เบอร์ 7 เขต 3 นายมารุต โมราสุต เบอร์ 8 เขต 4 นายไพรัช ฤทธิ์บำรุง เบอร์ 7 เขต 5 นางคณิฏฐ์ษา ทองวงศ์พิทักษ์ เบอร์ 11 เขต 6

นางสาวสิริรักษ์ บัณฑิตศิละศักดิ์ เบอร์ 7 เดินทางไปที่วัดวรนาถบรรพต (วัดกบ) เพื่อเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และกราบนมัสการท่านเจ้าอาวาส โดยท่านเจ้าอาวาสได้ให้กำลังใจนายจุรินทร์ในการบริหารประเทศเพื่อเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และชาวไทยทุกคน พร้อมกับให้ทุกคนเชื่อมั่นในนโยบายของพรรคและประสบความสำเร็จ และอวยพรให้นายจุรินทร์ได้เป็นนายกรัฐมนตรี 

นายจุรินทร์ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงความมั่นใจในการสู้ศึกเลือกตั้งครั้งนี้ว่า สำหรับทีมนครสวรรค์ เรามั่นใจว่าเที่ยวนี้สามารถปักธงได้ แม้คราวที่แล้วเราไม่ได้ แต่เที่ยวนี้ตนมั่นใจ และมีหลายคนที่ยืนหยัดอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ อย่างท่านสงกรานต์ จิตสุทธิภากร ที่ไม่ไปไหน เป็นผู้แทนราษฎรมาแล้วถึง 2 สมัย รวมถึงผู้สมัครทุกคนล้วนมีคุณสมบัติที่จะเป็นผู้แทนได้ ดังนั้นจึงมั่นใจว่าเที่ยวนี้ นครสวรรค์ ประชาธิปัตย์ ปักธงได้แน่นอน ส่วนจะได้มากน้อยแค่ไหนนั้น เราจะพยายามอย่างสุดกำลัง และสู้ทุกเขต ทั้ง 6 เขต 

ผู้สื่อข่าวถามถึงการที่มีคนที่มั่นคงอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ ได้สะท้อนถึงเรื่องใด นายจุรินทร์ กล่าวว่า ได้สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ อุดมการณ์ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อุดมการณ์แห่งความซื่อสัตย์ สุจริต ซึ่งในยามนี้ก็เชื่อว่าประชาชนมีความเข้าใจมากขึ้น เรียกร้องมากขึ้น และต้องการเห็นบ้านเมืองเดินหน้าไปสู่ “ประชาธิปไตยสุจริต” “ประชาธิปไตยไม่โกง” ไม่เช่นนั้นบ้านเมืองจะไปต่อไม่ได้ 

“ถ้าเราได้ผู้แทนที่คดโกง สุดท้ายก็ไปตั้งรัฐบาลโกง แล้วถ้ารัฐบาลโกง สุดท้ายบ้านเมืองก็ไปไม่รอด ประชาธิปไตยก็ไปไม่รอด ต้องถอยหลังแล้วนับหนึ่งใหม่กันอีก บ้านเมืองก็กระท่อนกระแท่น เพราะฉะนั้นสิ่งเดียวที่จะพาประเทศไปข้างหน้าได้ คือต้องเป็นประชาธิปไตยเต็มใบ และประชาธิปไตยไม่โกง และประชาชนเข้าใจสิ่งนี้ รวมทั้งในเรื่องผู้สมัคร นโยบายพรรค แคนดิเดตนายกฯ” นายจุรินทร์กล่าว 

ผู้สื่อข่าวถามว่าที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์ได้เปิดตัวผู้สมัครไปแล้ว แต่มีบางเขตที่เปลี่ยนตัวผู้สมัคร จะเป็นอุปสรรคต่อการหาเสียงในช่วงเวลาที่เหลืออยู่หรือไม่ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า อาจจะมีบ้างสำหรับผู้สมัครหน้าใหม่ การที่บางเขตมีคนของเราออกไปอยู่พรรคอื่นกะทันหัน ก็คิดว่าพี่น้องประชาชนเข้าใจว่าเหตุใดจึงต้องเอาคนใหม่เข้ามา 

“คนที่อยู่ๆ ไปกะทันหัน ก็ไม่ได้แปลว่าไปดีเสมอไป ผมคิดว่าชาวบ้านก็มองอยู่ และคิดว่าใครไม่มีอุดมการณ์กันแน่ พรรคไม่มี หรือคนที่อยู่ๆ ไปนั้นไม่มีอุดมการณ์ ผมคิดว่าเรื่องนี้ประชาชนตอบได้ และวันเลือกตั้งก็จะมีคำตอบนี้กลับมา แต่สำหรับท่านสงกรานต์ ได้ยืนหยัดชัดเจนว่า อยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ แม้จะมีความพยายามจากหลายพรรคที่ต้องการดึงตัวไป แต่สงกรานต์มีความหนักแน่น มั่นคง สิ่งนี้จะเป็นแต้มต่อให้ประชาชนมาลงคะแนนให้ เช่นเดียวกับผู้สมัครทุกคนทุกเขต ทำให้เรามั่นใจว่าเที่ยวนี้ เราปักธงได้และสู้ทุกเขตทั้ง 6 เขตที่นครสวรรค์” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าว 

นอกจากนี้ยังเพิ่มเติมถึงนโยบายประชาธิปัตย์ว่า เป็นนโยบายที่ตอบโจทย์โดนใจคนไทยทั้งประเทศ ทำให้มีเสียงสนับสนุนพรรคดีขึ้น โดยเฉพาะชาวนครสวรรค์ ที่พูดกันชัดเจนว่านโยบายประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว และชาวนารับครัวเรือนละ 30,000 บาท เป็นนโยบายที่ถูกใจชาวนครสวรรค์ซึ่งมีเกษตรกรปลูกข้าวเป็นจำนวนมาก รวมทั้งนโยบายเรียนฟรีถึงปริญญาตรี ในสาขาที่ตลาดต้องการ ซึ่งตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ รวมทั้งผู้ปกครองที่ต้องการให้บุตรหลานได้มีโอกาสเรียนจบแล้วไม่ต้องตกงาน และยังมีนโยบายอินเทอร์เน็ตฟรี 1 ล้านจุดทุกหมู่บ้าน/ชุมชน เพื่อต่อยอดการสร้างเงินให้กลุ่มแม่บ้าน วิสาหกิจชุมชน ให้สามารถทำการค้าออนไลน์ได้ 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากเดินพบปะพี่น้องประชาชนชาวนครสวรรค์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้นำคณะขึ้นปราศรัย แนะนำตัวผู้สมัครและนโยบายของพรรค โดยมีประชาชนสนใจเข้าฟังการปราศรัยครั้งนี้ กว่าหมื่นคน

'เพื่อไทย' รับฟังปัญหาจากกลุ่มเกษตรกร จ.แพร่ พร้อมแจงนโยบาย-แนวทางแก้

9 เม.ย. 2566 ทีมสื่อพรรคเพื่อไทยแจ้งข่าวว่า ที่สวนทุเรียนลุงดี อ.วังชิ้น จ.แพร่ นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดต นายกรัฐมนตรี และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย พร้อมด้วยนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย นายจักรพงษ์ แสงมณี นายทะเบียนพรรคเพื่อไทย นพ.ทศพร เสรีรักษ์ ผู้สมัคร ส.ส. แพร่ เบอร์ 4 เขต 1 และนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ผู้สมัคร ส.ส.แพร่ เบอร์ 5 เขต 3 ร่วมรับฟังปัญหาจากเกษตรกรกลุ่มต่างๆของจังหวัดแพร่ อาทิ กลุ่มชาวสวนทุเรียน กลุ่มชาวสวนกล้วย กลุ่มชาวสวนส้มเขียวหวาน กลุ่มผู้ปลูกถั่วลิสง กลุ่มชาวสวนส้มโอ เกษตรกรปลูกยางพารา และกลุ่มชาวนา

โดยตัวแทนกลุ่มสวนทุเรียน ได้สะท้อนปัญหาว่า เรื่องผลผลิตไม่มีปัญหา แต่มีปัญหาเรื่องเอกสารสิทธิ พื้นที่อุทยานเข้ามากินพื้นที่เรื่อยๆ และเรื่องน้ำ เราใช้น้ำธรรมชาติจาภูเขา ไม่ได้กั้นน้ำ ทำให้น้ำไม่เพียงพอ

ขณะที่ตัวแทนเกษตรกรชาวสวนส้ม และส้มโอสะท้อนปัญหาว่า ในการปลูกส้มมีปัญหาเรื่อง 1.เชื้อราที่ต้น และปัญหาเรื่องแมลง 2.เรื่องของตลาด ส้มมีผลผลิตมีจำนวนมากแต่ราคาถูก และปัจจุบันส้มราคราดิ่งเหลือกิโลกรัมละเพียง 3 บาทเท่านั้น ทั้งที่รสชาติดีมาก 3.เรื่องการพัฒนาการแปรรูปที่ยังขาด 4.เรื่องเอกสารสิทธิในที่ดินที่ใช้เพาะปลูก และ 5.เรื่องการขนส่งผลผลิตที่มีต้นทุนสูง

ตัวแทนกลุ่มชาวนา สะท้อนปัญหาว่า ข้าวราคาถูก ขณะที่ต้นทุนไม่ว่าจะปุ๋ย หรือน้ำมันที่ใช้ทำนา และใช้ขนส่งผลผลิตราคาสูง เช่นเดียวกับตัวแทนกลุ่มผู้ปลูกยางพาราที่สะท้อนปัญหาราคายางพาราที่ถูกมากๆ

นายเศรษฐา ระบุว่า ประเด็นเรื่องเชื้อรา และโรคที่เกิดกับต้นผลไม้ชนิดต่างๆ พรรคเพื่อไทยร่วมกับมหาวิทยาลัยแม้โจ้หาแนวทางแก้ไขเรื่องนี้ โดยการฉีดยาเข้าไปที่รากซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาเรื่องนี่อย่างถาวร ส่วนเรื่องตลาดพรรคเพื่อไทยมีนโยบายที่จะทำการขยายตลาด เราจะไปเปิดตลาดใหม่ในต่างประเทศ เราจะไปเจรจาขอโควต้าส่งทุเรียน ส้ม ส้มโอ ฯลฯ ไม่ใช่กับเพียงญี่ปุ่น จีน อียู แต่ต้องเปิดตลาดในทวีปนแอฟริกาซึ่งมีความต้องการทางด้านอาหารสูงด้วย นอกจากนี้เราจะมีการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม ขยายถนน ขยายรถไฟรางคู่ ทำการคมนาคมให้ดีแน่นอน ขณะที่ ขณะที่ปัญหาเรื่องต้นทุนเรื่องพลังงาน เช่น ค่าน้ำมัน ฯลฯ ประเทศไทยเรามีพลังงานทดแทนจำนวนมากที่จะดึงมาใช้ เราอาจจะมีมาตรการงดเว้นภาษีพลังงานบางจำพวกเพื่อให้ต้นทุนถูกลง และพรรคเพื่อไทยเรามีนโยบายลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ให้พี่น้องอยู่แล้ว สำหรับปัญหาเรื่องน้ำ พรรคเพื่อไทยมีนโยบายที่จะบริหารจัดการน้ำเพื่อให้นำไม่ท่วมในช่วงที่มีน้ำมาก และไม่แล้งในช่วงฤดูแล้งด้วย และหากพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล แน่นอนว่าเราจะต้องทำให้พี่น้องประชาชนมีสิทธิในที่ดินทำกิน

“วันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าพวกผมมาหาเสียง มาขอเสียงให้กับพรรคเพื่อไทย เราไม่ได้เสแสร้งใดๆทั้งสิ้น ซึ่งต้องบอกว่า หากอยากให้นโยบายของพรรคเพื่อไทยเป็นจริง ขอเสียงให้นายวรวัจน์ เบอร์ 5 ซึ่งเป็นคนในพื้นที่ ผูกพันธ์กันมานาน อยู่ด้วยกันมาตั้งแต่พรรคไทยรักไทย พรคพลังประชาชน มาจนพรรคเพื่อไทย เป็นกำลังสำคัญของพรรคเพื่อไทยมาโดยตลอดจากอดีตถึงปัจจุบัน เราตั้งใจแก้ปัญหาให้พี่น้องเกษตรกรชาวเมืองแพร่อย่างจริงจัง จึงต้องได้ ส.ส.แพร่ยกจังหวัดเลือกพรรคเพื่อไทยให้ถล่มทลาย เพื่อได้นายกฯจากพรรคเพื่อไทย” นายเศรษฐา กล่าว

ทำให้ชาวบ้านอวยพรว่า “ขอให้เจ้าป่าเจ้าเขาอวยพร และช่วยให้พรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลด้วย”

เติมเงินกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งประเทศเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ใส่กระเป๋าเงินคนไทยใช้จ่ายใกล้บ้าน 4 กิโลเมตร ระยะเวลา 6 เดือน

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองประธานคณะกรรมการเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึง มาตรการเติมเงินดิจิทัล เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2566 ว่าเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้กลับมาฟื้นขึ้นอีกครั้ง และมาตรการนี้ เป็นหนึ่งในชุดนโยบายเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย ที่จะดำเนินการเพื่อหยุดยั้งสถานการณ์ที่เลวร้าย กระตุ้นหัวใจ จากการบริหารด้านเศรษฐกิจที่ล้มเหลวของรัฐบาลชุดก่อน จนประเทศป่วยเรื้อรัง ดังนั้นการ “หยอดน้ำข้าวต้ม” หรือ “แจกเงิน” แบบกระปริบกระปรอยแบบที่เคยทำมา จึงไม่ทำให้ประเทศฟื้นตัว และคนไทยส่วนใหญ่หลุดพ้นความยากจนไม่ได้

นายกิตติรัตน์ กล่าวอีกว่า เศรษฐกิจไทยเติบโตช้าเกินไป เผชิญภาวะเงินฝืดราคาเฟ้อ (Stagflation) ความสามารถทางการแข่งขันของประเทศลดลง ความเหลื่อมล้ำรุนแรงขึ้น (รวยกระจุก จนกระจาย) หนี้สาธารณะสูงขึ้นมาก หนี้ครัวเรือนสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ ประชาชนส่วนใหญ่ยากจนลง (ค่าครองชีพสูงขึ้นมาก แต่รายได้ไม่เพิ่ม) NPL ในสถาบันการเงินไต่ระดับเพิ่มขึ้น ผู้สำเร็จการศึกษาหางานทำไม่ได้ และการส่งออกส่งสัญญาณอ่อนแรง ซึ่งน่าเสียดายที่รัฐบาลชุดก่อน แม้จะมีเวลาแก้ไข แต่กลับไม่รู้สึกตัวและไม่คิดแก้ไขอะไร ยังพอใจเพียงการ “แจกเงิน" แบบกระปริบกระปรอยจนกลายเป็นภาวะ "เรื้อรัง" มองไม่เห็นความหวังที่จะช่วยให้คนส่วนใหญ่ของประเทศหลุดพ้นความยากจน

ในฐานะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เห็นว่า มาตรการกระตุ้นด้วยการเติมเงินดิจิตอลของพรรคเพื่อไทยนี้ นอกจะสามารถป้องกันเศรษฐกิจจากความเสี่ยงที่จะซวนเซจนยากที่จะแก้ไขแล้ว ยังเป็นการสร้างความพร้อมให้กับการพลิกฟื้นเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เพราะการดำเนินการนี้ ยังประกอบด้วยชุดนโยบาย และมาตรการของพรรคเพื่อไทย ในการ "เพิ่มผลิตภาพ (Productivity) เพิ่มประสิทธิภาพ (Efficiency) และเพิ่มประสิทธิผล (Effectiveness)" ของทุกภาคส่วนอย่างสอดประสานกัน ทั้งด้านอุปสงค์ (Demand Side) ที่ประกอบด้วย การอุปโภคบริโภคภายในประเทศ การลงทุนของภาคเอกชน ดุลการส่งออก การท่องเที่ยว การบริการ และการใช้จ่ายของภาครัฐ คู่ขนานกับการทำงานอย่างหนัก ด้านอุปทาน (Supply Side) ของภาคอุตสาหกรรม ภาคการพาณิชย์ ภาคบริการ และภาคการเกษตร ซึ่งย่อมเป็นไปตามแนวทางหลักของพรรคเพื่อไทย คือลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส; ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้; เพิ่มรายได้จากการส่งออก และการท่องเที่ยว; เพิ่มผลิตภาพแรงงานจนค่าแรงขึ้นต่ำ และเงินเดือนผู้สำเร็จการศึกษาเพิ่มสูงขึ้นถึงระดับเป้าหมายในเวลาที่กำหนด; และเพิ่มรายได้เกษตรกร 3 เท่า จากราคาดี × ผลผลิตเพิ่ม - ต้นทุนลด

อย่างไรก็ตาม แผนสร้างการเจริญเติบโต GDP ของพรรคเพื่อไทย ให้ถึงและเกินอัตราที่จำเป็น คือปีละ 5% อย่างมีการกระจายรายได้ที่ดี และมีเสถียรภาพของราคาสินค้า ย่อมทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะ / GDP ดีขึ้น; สัดส่วนหนี้ครัวเรือน / GDP ดีขึ้น; ภาคธุรกิจทั้งรายย่อย รายใหญ่มีกำไร และเติบโต; ผู้คนมีงานทำ ค่าแรงและค่าตอบแทนจากการทำงานสูงขึ้น; ความสามารถในการชำระหนี้ครัวเรือนของภาคประชาชนดีขึ้นเรื่อยๆ; รัฐบาลมีรายได้เพื่มขึ้น ความสามารถในการเพิ่มงบประมาณ ทั้งเพื่อชำระหนี้ และเพื่อรายจ่ายรวม ที่ครอบคลุมสวัสดิการต่างๆ จะดีขึ้น และความสามารถในการชำระ "หนี้สาธารณะของภาครัฐ" จะดีขึ้น

นายกิตติรัตน์ กล่าวปิดท้ายว่า กรณีผู้พยายามผูกโยง การวิจารณ์ของอดีตนายกรัฐมนตรี ดร.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อต้นปี 2565 ว่าการแจกเงินสดแบบทีละน้อยๆ แจกไปเรื่อยๆ จนใช้เงินรวมกันไปแล้วมากมาย แต่ไม่เกิดผลดีอะไรกับเศรษฐกิจเป็นเรื่อง “ปัญญาอ่อน” นั้น ตนก็เห็นว่าคำวิจารณ์ ยังคงเป็นความจริงเช่นนั้นอย่างไม่อาจเปลี่ยนแปลง แต่บริบทนั้น เกิดขึ้นเพื่อวิจารณ์วิธีการแจกเงินแบบกระปริบกระปอย และกระทำต่อเนื่องเป็นเวลานาน จนใช้งบประมาณมากมายแต่ไม่เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจ ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิง กับจากการที่พรรคเพื่อไทยประกาศว่าจะเสริมพลังทางเศรษฐกิจด้วยการกระตุ้น ‘เติมเงินดิจิทัลใส่กระเป๋าเงินคนไทย’ ที่คุณเศรษฐาประกาศเมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2566 เพราะมาตรการนี้คือการกระกระตุกกระตุ้นหัวใจเศรษฐกิจ หยุดยั้งสถานการณ์เลวร้ายของรัฐบาลชุดก่อน

“ถ้ารัฐบาลชุดก่อนใช้เวลาที่เคยมี คิดแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจประเทศอย่างชาญฉลาด และจริงจัง พรรคเพื่อไทย ก็ไม่จำเป็นต้องประกาศ ‘เติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ใส่กระเป๋าเงินคนไทย’ เพราะเหตุผลการประกาศใช้มาตรการนี้ ก็เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้แรงพอ และทันเหตุการณ์ ไม่ปล่อยให้ภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และแม้แต่ภาคสถาบันการเงิน เสี่ยงที่จะซวนเซป่วยเรื้อรังไปทั้งระบบ จนยากที่จะแก้ไข ให้เศรษฐกิจประเทศไทยกลับมาฟื้นแข็งแรงอีกครั้ง ประชาชนส่วนใหญ่ จะหลุดพ้นความยากจนเสียที” รองประธานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าว

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net